xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผยคนไทยร้อยละ 62 ดูดายผู้หญิงถูกทำร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลสำรวจชี้ คนไทย 62% เมินผู้หญิงถูกทำร้าย อ้างเป็นเรื่องครอบครัว ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ แจงตำรวจคือตัวหลักที่ต้องช่วยกัน อย่าละเลยหน้าที่ ด้าน อ.วิลาสินี เผยอย่านิ่งเฉยต่อความรุนแรง และคิดว่าเป็นเรื่องสามี-ภรรยาอีกต่อไป

วันที่ 24 พ.ย.51 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แถลงข่าวเปิดเผยผลการสำรวจวิจัย เรื่อง “สำรวจภาวะความรุนแรงในครอบครัว” จากประชากรกล่มเป้าหมายที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,021 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2551 โดยมี สสส.กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มูลนิธิเพื่อนหญิง เป็นผู้ร่วมแถลง

นายนพดล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวทั้งที่เคยเกิดกับตัวเอง หรือที่เคยพบเห็นจากคนในละแวกบ้านพักอาศัย หรือที่อื่นๆ มีอยู่ร้อยละ 40.1 โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 22.2 เป็นความรุนแรงที่เกี่ยวกับการทอดทิ้ง ละเลยไม่รับผิดชอบต่อคนในครอบครัว รองลงมาคือร้อยละ 18.5 เป็นความรุนแรงที่เกิดทางด้านร่างกาย และจิตใจในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 0.9 เป็นความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในครอบครัวตามลำดับ

นอกจากนี้พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากสามีกระทำต่อภรรยามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35.6 ซึ่งสาเหตุเกิดจากการนอกใจ การเมาสุรา ปัญหาความยากจน รองลงมาคือร้อยละ 10.8 เป็นความรุนแรงที่เกิดจากพ่อกระทำต่อลูก สาเหตุสำคัญเกิดจากการเมาสุรา การทะเลาะกัน และปัญหาความยากจน ส่วนร้อยละ 7.8 เป็นความรุนแรงที่แม่กระทำต่อลูกซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากลูกไม่เชื่อฟัง สามีนอกใจ และการทะเลาะกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว พบว่า สื่อเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.6 ดังนั้นจึงต้องควบคุมการนำเสนอของสื่อไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ที่นำเสนอความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น รองลงมาคือเรื่อบงทัศนคติของผู้ชายเป็นใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 37.2 นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการมีกฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง หรือมีตัวอย่างจากครอบครัวตัวเอง และผู้หญิงรู้สึกว่าต้องอดทน เป็นต้น

“ที่น่าสนใจ เมื่อถามถึงประสบการณ์เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น พบว่า เกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 62 ไม่สนใจ แต่จะนิ่งเฉย เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องภายในครอบครัว ไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือไม่ใช่เรื่องของตัวเอง”ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าว

นายนพดล กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลที่ค้นพบ คิดว่าเกินขอบเขตความสามารถที่จะจัดการอย่างจริงจัง สังคมต้องมีระบบ และกลไลในการจัดการที่เข้มงวด เป็นรูปธรรม ถ้าผลออกมา แล้วหยุดแค่นี้ คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และคาดว่าตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาความรุนแรงสมาชิกในครอบครัว ตำรวจต้องเป็นตัวหลักในการช่วยเหลือ รวมถึงทุกคนในสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และยุติการกระทำความรุนแรงต่อครอบครัว ตลอดจนผู้นำชุมชนต้องสนับสนุน และผลักดันให้ความรุนแรงลดน้อยลงเพื่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชน ที่สำคัญอยากให้มีกลุ่มยุวชนเพื่อนหญิง เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยตรง

ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์ และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ปัญความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าเป็นห่วง เช่น การทำร้ายกันในครอบครัว โดยจากสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ร้อยละ 60 ของประชากรทั่วโลก มีสตรีถูกกระทำความรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งสตรีตั้งครรภ์ สำหรับประเทศไทย จากผลสำรวจ คิดแล้วน่าใจหาย เพราะพบว่า ร้อยละ 40 พบเห็นความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้ง 2 ใน 3 ไม่สนใจ หรือนิ่งเฉยต่อการกระทำความรุนแรง ดังนั้น อยากให้เปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยการกระทำความรุนแรงต่อสตรีไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องในครอบครัวอีกต่อไป พบเห็นที่ไหนต้องช่วยกัน

ขณะที่นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากที่ได้อ่านผลการวิจัย กลุ่มที่หนักใจมากที่สุดคือ กลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ เพราะเป็นกลุ่มที่มีเรื่องของความรุนแรงในครอบมากที่สุด รวมถึงกลุ่มที่ถูกกระทำจากสมาชิกในครอบครัวเอง เช่น พ่อข่มขืนลูก น้าข่มขืนหลาน เป็นต้น จากกรณีดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนที่ถูกกระทำเหล่านี้ ไม่กล้าที่จะต่อสู้ เพราะถูกข่มขู่ หรือทำให้เกิดความอับอายด้วยวิธีต่างๆ เช่น ถูกถ่ายคลิปประจาน เป็นต้น

“เมื่อก่อนเราเคยคิดกันว่ากลุ่มคนระดับรากหญ้าเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความรุนแรงมากที่สุด แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว คนที่มีระดับการศึกษาสูง เช่น ปริญญาโท ปริญญาเอกกลับมีความรุนแรง ควบคุมอารมณ์โกรธได้น้อยลง ซึ่งน่าเป็นห่วง รวมทั้งอยากให้ทุกคนเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าผู้ชายเป็นใหญ่ การกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องของครอบครัว เราต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเรา” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น