xs
xsm
sm
md
lg

เป่าหวีด-ยุติความรุนแรงต่อสตรี 1 เสียงช่วยพวก “เธอ” ให้หลุดพ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉันไม่ใช่ กระสอบทราย ของผู้ชาย
"เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้หญิงชาวโดมินิแกน 3 คน ซึ่งถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการเมื่อปี พ.ศ. 2503" องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

สำหรับไทย จากข้อมูลสถิติเมื่อปี 2550 จากการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในไทยของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัด 297 แห่ง มีเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ที่ถูกกระทำทารุณเข้ารับบริการจำนวน 19,068 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 8,172 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าตั้งแต่ พ.ศ.2547-2550 การกระทำความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยพบความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เป็นการกระทำของคนใกล้ชิด แฟน และสามี มากกว่าคนไม่รู้จักกัน หรือคนแปลกหน้า ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

ขณะที่ข้อมูลสถิติของกองวิจัย และวางแผนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2551 พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีการแจ้งความดำเนินคดีการทำร้ายร่างกาย และข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง 18,1910 ราย และ 4,359 รายตามลำดับ

แม้ว่าการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จะได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยได้รับการเอาใจใส่ จนถูกเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และมีอคติว่าเป็นความผิดของฝ่ายหญิงที่ถูกกระทำ ทั้งที่ความจริงแล้ว ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงไม่ว่ารูปแบบใด มาจากทัศนคติ และค่านิยมที่ผิดของผู้ชาย ที่มองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ด้อยกว่าผู้ชาย และมองว่า ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ภรรยาเป็นสมบัติของสามีที่จะทำอะไรก็ได้

“ร้อยละ 62 ของคนไทย มีความนิ่งเฉยเมื่อพบเห็นความรุนแรง เพราะเห็นเป็นเรื่องของคนในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 65.7 ในขณะที่มีคนเข้าไปช่วยเหลือเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพียงร้อยละ 38 ด้วยวิธีการโทรศัพท์แจ้งตำรวจ คิดเป็นร้อยละ 45.9”ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัญสัมชัญ เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง สภาวะความรุนแรงในครอบครัวของคนไทย จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,021 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2551
ผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมส่วนหนึ่งยังมองว่าความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรุนแรงต่อผู้หญิง ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ควรนิ่งเฉย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาเด็กเร่ร่อน ปัญหาโรคเอดส์ ลุกลามไปถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มองว่า จากที่ได้อ่านผลการวิจัย กลุ่มที่หนักใจมากที่สุดคือ กลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ เพราะเป็นกลุ่มที่มีเรื่องของความรุนแรงในครอบมากที่สุด รวมถึงกลุ่มที่ถูกกระทำจากสมาชิกในครอบครัวเอง เช่น พ่อข่มขืนลูก น้าข่มขืนหลาน เป็นต้น จากกรณีดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนที่ถูกกระทำเหล่านี้ ไม่กล้าที่จะต่อสู้ เพราะถูกข่มขู่ หรือทำให้เกิดความอับอาย

"เมื่อก่อนเราเคยคิดกันว่า กลุ่มคนระดับรากหญ้าเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความรุนแรงมากที่สุด แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว คนที่มีระดับการศึกษาสูง เช่น ปริญญาโท ปริญญาเอกกลับมีความรุนแรง ควบคุมอารมณ์โกรธได้น้อยลง ซึ่งน่าเป็นห่วง รวมทั้งอยากให้ทุกคนเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าผู้ชายเป็นใหญ่ การกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องของครอบครัว เราต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเรา" หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิงสรุปทิ้งท้าย

ทั้งนี้ หากพบเจอความรุนแรงต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะในครอบครัว หรือในที่สาธารณะ สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์ประชาบดี โทร. 1130 หรือโทรแจ้งไปที่ 1669 ทันที มีรถพยาบาลออกปฏิบัติการนำผู้ป่วยไปส่งต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่สุดภายในเวลา 15 นาที หรือมูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-513-1001 เพราะเสียงหลายๆ เสียงของคุณ สามารถช่วยฉุดร่างเธอขึ้นจากเหวนรกจากการถูกกระทำความรุนแรงอย่างทารุณได้
เจ้าสาวอย่างฉันก็มีจิตใจเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น