xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์สื่อยุคการเมืองครอบ แบ่งพวก-โฆษณาชวนเชื่อ- สู่ความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- นักวิชาการชี้สังคมไทยขัดแย้งเรื่องพวกมากกว่าประเด็น "นิธิ"ชี้เป็นสังคมอัมพฤต ไม่สามารถขยับตัวออกจากความขัดแย้ง "ชัยวัฒน์" ย้ำผลจากการแบ่งพวก ทำให้สื่อเป็นเครื่องมือผลิตความรุนแรง อ.นิเทศน์ชี้อำนาจรัฐทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ แนะให้ยึดมั่นในวิชาชีพ ขณะที่ "ประสงค์"ระบุ ผู้มีอำนาจมักใช้ท่าทีดูถูดเหยียดหยามสื่อ
เวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องกระจกบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อวานนี้ (18 พ.ค.)
นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะประหลาด กล่าวคือ ไม่ได้ขัดแย้งในเรื่องประเด็น แต่ขัดแย้งในเรื่องพวกส่วนตัวมากว่า ทำให้เรื่องประเด็นมีความสำคัญน้อยลง
ทั้งนี้ ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องพวก ดังเคยเกิดขึ้นในสังคมมาแล้ว แต่เมื่อไรที่เกิดความขัดแย้งเรื่องพวก แล้วความขัดแย้งดังกล่าวก็จะเข้าไปครอบงำความคิดที่ทำสื่อ และคนใช้สื่อตลอดเวลา ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในความขัดแย้งเรื่องพวก แต่มันครอบงำสื่อมาก จึงเหมือนถูกบังคับไปโดยปริยาย แม้แต่จะพูดอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวเรื่องพวก แต่ก็ถูกเหมารวมไปอยู่ในเรื่องพวก แม้ว่าคนทำข่าวเองตอนที่ทำข่าวอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องพวก มันเท่ากับบังคับให้เราเข้าไปสู่ความขัดแย้งที่แก้ไม่ออก คือ ความขัดแย้งเรื่องพวก
นายนิธิ อธิบายว่า บรรยากาศของความขัดแย้งเรื่องพวก เข้าไปบังคับโดยไม่รู้สึกตัว หรือตั้งใจ ในระดับหัวหน้าข่าว นักข่าว หรือแม้แต่ บก. โดยสถานการณ์ให้ตั้งตำถามบางอย่างไปในเชิงพวก ไล่ไปถึง บก. ข่าว ที่มีหน้าที่คัดอะไรมาเป็นข่าว อาจนำข่าวขัดแย้งเชิงพวก ไม่ใช่ประเด็นมานำเสนอ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ความหวาดระแวงต่อคนที่ 3 คือ ใครที่เสนอความเห็นอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่เกี่ยวเรื่องพวก ก็จะถูกสงสัย หวาดระแวงจากคนอีกกลุ่มหนึ่งว่า นี่เป็นเรื่องพวกนั้น พวกนี้ หรือถ้าพูดฝ่ายที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องก็จะถูกมองว่า รับเงินทักษิณ มาพูดหรือเปล่า ประเด็นแม้จะพูดให้ตาย ก็ไม่มีคนฟัง ไม่มีคนสนใจเรื่อง แต่สนใจเพียงแค่ว่าสังกัดในกลุ่มใด
"ตัวสังคมขณะนี้ ผมขอเรียกว่า เป็นสังคมอัมพฤต คือไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ตึงเครียด คล้ายๆ กับจะถึงทางตัน ไม่สามารถขยับตัวเพื่อหลุดความขัดแย้งไปได้ ซึ่งเมื่อไรก็ตามแต่ ที่สังคมเข้าไปสู่การเมืองแบบสุดโต่ง"
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น โอกาสคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีเสียงดังขึ้นมานั้นยากมาก และหากคุณคิดว่าจะมีเสียงดัง คุณก็จะเหมือนกับ อาจารย์ป๋วย (อึ้งภากรณ์) คือ ถูกไล่ออกไป ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในระบบการเมืองแบบสุดโต่ง เสียงของคุณที่อยู่ตรงกลางก็จะเบา และคนที่แย่ที่สุดคือ คนที่ไม่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
"ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมเห็นใจสื่อ ว่าสื่อก็คือมนุษย์ธรรมดา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพอะไร ก็จะถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่รู้สึกตัวตอลดเวลา ทั้งนี้ ส่วนตัวก็มองว่า สื่อส่วนใหญ่ก็พยายามจะฝืนเท่าที่จะฝืนได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ ก็ยากที่จะฝืนได้" นายนิธิกล่าว
นายนิธิ เสนอว่า สื่อต้องเข้าใจความตึงเครียด ของสถานการณ์สังคมไทยที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ และคงไม่มีครั้งไหนที่การยึดมั่นในวิชาชีพของตนเองอย่างเที่ยงตรง จะมีความสำคัญไปยิ่งกว่าครั้งนี้ ซึ่งหากสื่อไม่หันกลับไปยึดมั่นในวิชาชีพให้ดีโอกาสที่สังคมที่จะเสื่อมลง และ อาจจะทำให้สังคม เสียใจภายหลัง นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ได้แก้อะไรเลย
"ปัญหาซับซ้อนขึ้น สื่อต้องสำนึกในวิกฤตให้ดี ยึดหลักวิชาชีพตัวเองให้ดี ไม่เช่นนั้น สังคมจะไม่มีทางออกของสังคมแบบนี้"
นายนิธิ มีความเห็นว่า ทุกวันนี้มีประเด็นที่สังคมไทยควรได้รับฟังการถกเถียงเยอะ เช่น สถานการณ์ราคาข้าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อน เพราะแทนที่ราคาข้าวแพงชาวนาจะดี แต่ก็ไม่ดี สำหรับกรรมกรขณะที่เรามีกรรมกรมากกว่าชาวนา จะจัดการอย่างไรให้สมประโยชน์กับทุกฝ่าย
หรือปัญหาพลังงานน้ำมัน ที่ผันผวนตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ หรือบรรเทาความขัดแย้งได้ เพราะเราไม่ได้เอาประเด็นมาถกเถียงกัน มาเสนอกัน แต่กลายเป็นว่าคุณจะเอาพวกใคร

ด้านนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ ขอแยกเป็น 3 เรื่อง โครงสร้างสื่อมีสภาพเป็นธุรกิจ เพราะระบบทุนเป็นเช่นนี้ สำหรับประเด็นบริบท สภาพความขัดแย้งในสังคม การเมืองแหลมคมในพื้นที่ สื่อตัดเอาส่วนอื่นทิ้งหมด เหลือเพียงว่าคุณอยู่ข้างไหน ที่สุดกลายเป็นพวกเขา ซึ่งกลายเป็นศัตรู การเมืองในเวลานี้ครอบงำสภาพสังคมไทย
"สื่อหลบไม่พ้น เพราะอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงถูกอิทธิพลของสิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่ประด็นที่จะบอก หรือไม่บอกความจริง วันนี้กลายเป็อาวุธทิ่มแทงคน จึงเปลี่ยนสถานการณ์ของสื่อในปัจจุบัน"
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยเวลานี้อ่านหนังสือพิมพ์เครียด ปัญหาที่น่าสนใจ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เครียดเนื่องจากการรับสื่อคงต้องเครียด คนทำสื่อคงเครียด เนื่องจากอยู่ในสถานกาณณ์ความขัดแย้ง คนที่ทำสื่อฐานะเป็นมนุษย์ อยู่ภายใต้ความเครียดทางการเมือง อิทธิพลของความขัดแย้งแหลมคมที่มีบทบาท
"วันนี้สื่อไม่ได้บอกแค่ข้อเท็จจริง แต่เหมือนกับบอกเรื่องอื่นๆ เหมือนบังคับให้ประชาชนเลือก และทำตาม จึงเกิดความเครียด จึงเป็นบทบาทที่สั่นคลอนความเป็นสื่อเอง"
สำหรับความรู้เกี่ยวกับสื่อ และความรุนแรงนั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่าใน ระยะหลัง เหตุที่ไปทำความรุนแรงลงไป เพราะได้รับการบอกเล่าโดยสื่อมวลชน ซึ่งแปลได้ว่า เวลานี้มองสื่อเป็นอาวุธทางการเมือง เมื่อสื่อเป็นอาวุธ อันตรายยิ่งกว่าลูกปืน ระเบิด แต่สื่อทำให้คนไปทำอย่างอื่น
สื่อกับความรุนแรง มี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1. สื่อฐานะอาวุธผลิตความเกลียดชัง และความกลัว 2. สื่อเปลี่ยนหน้าที่จากตัวถ่ายทอด เป็นศูนย์บัญชาการ เกิดในสถานการณ์ความรุนแรง เชื่อมระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น กับเครือข่ายในสังคม 3. สื่อทำให้สังคมนี้ รู้สึกว่าไม่มีทางออก ต้องใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งสังคมไทยมีความแหลมคมมากในเรื่องนี้
นายชัยวัฒน์ ได้เสนอทางออก คือ ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งพูดง่าย แต่ทำยาก เพราะโครงสร้าง และสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น ตัวโครงสร้างสื่อที่เป็นระบบราชการ อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จะเป็นมืออาชีพได้อย่างไร คิดว่าถ้าเป็นนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ก็คงต่างจากนักข่าวไทยรัฐ ดังนั้น องค์กรสื่อ ต้องคุยว่าสถานการ์เช่นนี้ ความเป็นมืออาชีพ คือ อะไร
"สิ่งที่อยากจะเรียกร้อง อยากเห็นสื่ออารยะ หมายความว่า สื่อที่มีมารยาท แต่ วันนี้หนังสือสมบัติผู้ดีไม่ได้ อะไรคือ มารยาทของสื่อในยุคอินเตอร์เน็ต ต้องลองคิดอย่างจริงจัง จะตัดสินอย่างไร ที่ทำให้คนไม่ฆ่ากัน" นายชัยวัฒน์กล่าว

**สื่อกำลังทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อ
ด้าน รศ. ดร. อุบลรัตน์ สิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แต่สื่อไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเดียว แต่เป็นปัจจัยสำคัญในองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่างในสังคม สื่อเลือกข้างอยู่ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง และลึกเรื่อยๆ กระแสตรงนี้ไม่ใช่แค่เรืองเลือกข้าง สิ่งที่ผิด หรือถูก อย่างเดียว แต่มีลักษณะที่ผิด ถูก ผสมผเส กับผลประโยชน์ ความเชื่อ สื่อได้มีบทบาททางการเมือง แม้ว่าเราต้องการให้ทุกฝ่ายใช้เวทีกลางให้มากที่สุด สร้างสมดุลของข่าวสาร และความเห็น แต่ในบริบทสื่อส่วนใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นสื่อการเมือง ผลักเวทีเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า เลือกข้าง สูงกว่าการทำหน้าที่ เพราะในภาวะขัดแย้งทางการเมือง มีกลุ่มการเมือง มีความคิด และความเชื่อทางการเมืองที่เผชิญหน้ากัน สื่อจึงตกอยู่ในภาวะที่เป็นสื่อากรเมืองสูงขึ้น
สื่อในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องบอกว่า เป็นสื่อการเมืองสูง สื่อกำลังย้ายตัวเองมาสู่รูปแบบการทำงานสื่อโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น จากการที่ทำหน้าที่เป็นนายทวาร ให้หลายๆ ฝ่ายมาเสวนา อภิปราย
อาจารย์อุบลรัตน์ อธิบายว่า เดิมเราบอกว่า สื่อมีอำนาจรัฐ การเมืองในมือ หากโฆษณาชวนเชื่อจะครอบงำสูง แต่ตอนนี้สื่อที่อิสระจากอำนาจรัฐ ก็กระโจมเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย ต่างฝ่ายต่างสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับฝ่ายตัวเอง ซึ่งในขณะนี้ สื่อได้โฆษณาความเชื่อมากกว่าการสื่อสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น กรณีสงครามอิรัก ที่ถูกสร้างให้เป็นศัตรู และนำไปสู่ประชามติเพื่อทำสงคราม
หรือสื่อไทย การใช้ภาษาการพาดหัวมี ดีกรีเข้มขึ้น ให้สมญานามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อยู่ในกระแสของการตอบโต้ทางการเมือง สภาพการณ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดความห่วงว่า การปลูกฝังความเชื่อระยะยาวมีปัญหา

**ผู้กุมอำนาจเหยียดหยามสื่อ
ทางด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บรรยากาศหากไม่มีการดูถูกซึ่งกันและกัน จะไม่มีปัญหา แต่คนกลับไปดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง จึงมีปัญหาการแบ่งข้างมีมานานแล้ว ดังเช่นตอนทำข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่องซุกหุ้น จนป.ป.ช. วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณซุกหุ้น บรรยากาศในขณะนั้น มีการปลุกระดมทางการเมือง ตนกลายเป็นคนส่วนน้อยทันที มีการโจมตี น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ
"ทั้งที่ผมมองว่า ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง และมีการวิจารณ์ว่า สมัยนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรมว.คลัง บริหารประเทศมีปัญหา ทำไมไม่ขุดคุ้ย บรรยากาศตอนนั้น ใครวิพากษ์ทักษิณ จะถูกอัดติดดิน กลายเป็นตัวตลก ไม่มีความหมาย"
สำหรับการเกิดขึ้นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เกิดจากรธน.40 เสนอให้มีสภาวิชาชีพในรัฐธรรมนูญ พวกเราคิดว่า หากไม่คุมกันเอง อาจเป็นช่องรัฐบาลจะเข้าคุมสื่อ แต่โครงสร้างสภาการหนังสือพิมพ์ ก็มีปัญหา เนื่องจากมีตัวแทนบรรณาธิการ นักข่าว นายทุน เข้ามาร่าง จึงมีการต่อรองกัน การจัดการกันเอง เพียง 9 ปีกว่าที่ผ่านมา การควบคุมกันเองไม่มีผลมากนัก แต่หากเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมชัดเจน การประณามจากสภาการหนังสือพิมพ์ มีผลจากการบอยคอตไม่ให้อยู่ในวงการได้ แต่การประนามหนังสือพิมพ์ ยังมี ข้อบกพร่องสภาการเชิงโครงสร้าง อยู่การปรับเปลี่ยนวงการสื่อต้องอาศัยพลังคนนอก มาตรวจสอบอย่างเข้มข้น
กำลังโหลดความคิดเห็น