องค์กรสื่อ 3 สถาบันผนึกกำลังออกแถลงการณ์จี้ “รัฐบาลลูกกรอก” หยุดคะนองอำนาจคุกคามสื่อทุกรูปแบบโดบทันทีโดยเฉพาะการคุกคามรูปแบบใหม่ลักษณะ “บิดเบือน ชวนทะเลาะ” ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ขณะเดียวกันเรียกร้อง “เพ็ญ” เลิกใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงในทุกรูปแบบด้วย
วันนี้ (3 พ.ค.) องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 3 องค์กร อันประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ย้ำเจตนารมณ์เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสะท้อนถึงประชาชนมีเสรีภาพ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช หยุดคุกคามสื่อในรูปแบบใหม่โดยทันที
ในคำแถลงขององค์กรวิชาชีพสื่อดังกล่าวระบุว่า เนื่องจาก องค์การยูเนสโก หรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมกันความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนดังกล่าว พร้อมทั้งขอเรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมหรือจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังนี้
1. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จะมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจน แต่ภายใต้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกลับมีบรรยากาศของการ “คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ” ต่อสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยคำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย การตอบโต้การทำหน้าที่สื่อมวลชนผ่านสื่อของรัฐโดยเฉพาะในรายการสนทนาประสาสมัคร ที่มักโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งการชวนทะเลาะ กับสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ รายการบางรายการของวิทยุและโทรทัศน์ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคนในวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีความเข้าใจในพฤติกรรมของนายกรัฐมตรีคนนี้ที่มีปัญหากับสื่อมวลชนมาตลอดกว่า 30 ปีแต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ ยังคงมีเป้าหมายชัดเจ! นที่ต้องการลดความน่าเชื่อของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่เป็นปัญหาของประเทศ ที่สำคัญเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะใช้สื่อของรัฐตอบโต้สื่อเอกชน เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมถูกสั่นคลอน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
องค์กรวิชาชีพสื่อ เห็นว่าพฤติกรรมการสื่อสารของนายสมัคร สุนทรเวช แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อในสังคมประชาธิปไตย ด้วยการไม่เคารพศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ
2. จากกรณีที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะจัดระเบียบสื่อของรัฐ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์โดยได้ใช้อำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงสื่อที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ กดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน อสมท. และล่าสุดได้จัดโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชนขึ้น โดยเสนอว่าจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ละเว้นการจับกุมสถานีวิทยุชุมชนที่จัดสรรเวลาออกอากาศแก่รายการของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ บีบบังคับทางอ้อมให้สถานีวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นพวกพ้อง เพื่อรายงานข่าวของรัฐบาลเป็นหลัก กีดกันผู้มีความเห็นที่แตกต่างและปฏิเสธความหลากหลายของสื่อ
ทั้งการต่อรองว่าจะไม่จับกุมนั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มากำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อแก้ปัญหาวิทยุชุมชนโดยเร็ว และหยุดพฤติกรรมประวิงเวลาการบังคับ! ใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยมีเจตนาแอบแฝง เพื่อให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่อไป
3. ตลอดช่วงเวลาหลายปีนักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐและข้าราชการชั้นสูง ได้ใช้กลไกทางกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อมิให้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ แต่ในขณะนี้ปรากฎว่ามีกลุ่มบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือเช่นกัน พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายทางแพ่งทั้งรวมเป็นมูลค่าสูงนับพันล้านบาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการค่าชดเชย แต่มุ่งหวังให้หยุดการนำเสนอข่าวการกระทำเช่นนี้ เป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอเรียกร้องให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งนักการเมือง และองค์กรธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ยุติการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อม! วลชนดังกล่าว
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เราเชื่อว่า การกระทำใดๆ ที่ขัดขวางเสรีภาพการแสดงออก ย่อมได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างแน่นอน หากการแสดงออกนั้นอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามของปวงชนชาวไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย www.thaibja.org
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.ctj.in.th
3 พฤษภาคม 2551
/0110