xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเห็นใจสื่อนำเสนอข่าวในภาวะสังคมอัมพฤกษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2551 หัวข้อ ส่องกระจกบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยมีนักวิชาการและสื่อมวลชนร่วมการเสวนา ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นักวิชาการเรียกร้องให้สื่อวางตัวเป็นกลาง แม้จะทำหน้าที่ได้ลำบากในภาวะสังคมอัมพฤกษ์ ยอมรับสื่อมีอิทธพล จึงต้องระมัดระวังการเสนอข่าวในลักษณะแบ่งขั้ว แขวะ “สมัคร” พูดซ้ำซาก เลิกฟังสัก 5 อาทิตย์ ก็ไม่มีประเด็นใหม่

วันนี้ (18 พ.ค.) ในการเสวนาเรื่อง “ส่องกระจกบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนยึดมั่นในหลักการวิชาชีพของตนเองอย่างมั่นคง เพราะสภาพสังคมไทยในปัจจุบันกำลังเกิดความขัดแย้งที่มีลักษณะประหลาด คือ ไม่ใช่ความขัดแย้งในเรื่องของประเด็น แต่เป็นลักษณะการแบ่งพวก ซึ่งทำให้คนที่อยู่ตรงกลาง รวมทั้งสื่อทำงานค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ว่าจะเสนอข่าวอะไรจะถูกมองว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ตลอดเวลา ทั้งที่อาจไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นพวกไหน

“สังคมไทยในปัจจุบันกำลังเป็นสังคมที่เป็นอัมพฤกษ์ เพราะจะเคลื่อนตัวหรือเคลื่อนไหวอะไรก็ไม่สะดวก จะถูกมองว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ตลอด ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้จึงอยากให้สื่อยึดมั่นในหลักการวิชาชีพของตนเองอย่างมั่นคง ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะไม่มีทางออก” นายนิธิกล่าว

นายนิธิ ยังเห็นว่า การนำเสนอข่าวของสื่อในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในบ้านเมืองเท่าที่ควร และเห็นว่า ปัญหามาจากบรรณาธิการ หรือเจ้าของสื่อที่คิดว่า การนำเสนอข่าว เช่น ในปัจจุบันสามารถขายได้ แต่ตนคิดว่าไม่จริง โดยเห็นว่า ขณะนี้คนไทยกำลังหิวกระหายกับความรู้ ว่ามีอะไรคืบหน้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาบ้าง เช่น นโยบายข้าวที่ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร มากกว่าคำสัมภาษณ์ของคนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่ได้ให้ความรู้เพิ่มขึ้น นอกจากความสะใจ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้สื่อข่าวไปทำสงครามกับบรรณาธิการหรือเจ้าของสื่อ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอข่าว เพื่อเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากขึ้น แทนที่จะนำเสนอข่าวของพวกนั้นพวกนี้

“วันนี้ หากเราไม่อ่านหนังสือพิมพ์สักเดือนหนึ่ง แล้วกลับไปอ่านอีกที ถามว่า จะรู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมว่าไม่ เหมือนกับฟังคุณสมัคร (สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี) ไม่ว่าคุณสมัครจะพูดหรือไม่พูดอะไรก็แล้วแต่ หากไม่ฟังสัก 5 อาทิตย์ แล้วไปฟังใหม่อีกที มันก็ซ้ำกับที่ฟังไปครั้งที่แล้ว เพียงแต่ประเด็นที่ยกมาพูด อาจคนละเรื่องกัน แต่ไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าผมเป็นนักธุรกิจ ผมจะไม่รับสื่อเพราะทำให้เสียเวลา เนื่องจากไม่สามารถทำให้ผมเข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองรอบข้างเพิ่มพูนขึ้น จนพอที่ผมจะวางแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของผมได้” นายนิธิ กล่าว

ด้าน นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเช่นกันว่า การแบ่งพวกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสังคมถูกบังคับให้เลือกพวก ดังนั้น สื่อจะต้องมีความเป็นมืออาชีพสูง เป็นสื่อที่มีมารยาท ไม่ทำให้คนเกลียดกันหรือฆ่ากัน เพราะสื่อถือเป็นอาวุธทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่อาจส่งเสริมให้ความขัดแย้งขยาบยวงกว้างขึ้นได้ เห็นได้จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศรวันดา ที่มีการฆ่ากันตายถึง 5 แสนคน ภายใน 2 เดือน ซึ่งสื่อก็มีส่วนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการฆ่ากันดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น