xs
xsm
sm
md
lg

เปิดค่าย "อิตุท่า" รับกะเหรี่ยงลี้ภัย ผลพวงเผด็จการทหารพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายฝ่ายกำลังกังวลว่าพิษภัยพิบัติของไซโคลนนาร์กิสกำลังจะผลักดันผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมหาศาลหลั่งไหลมายังชายแดนไทย ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ต่อเนื่องจากความล้มเหลวในการรับมือกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของรัฐบาลพม่า แม้ว่าจะมีองค์กรหลากหลายชาติยื่นมือเข้าช่วยเหลือก็ตาม แรงผลักดันสำคัญไม่ใช่สงครามกลางเมืองและการกดขี่ขูดรีดของทหารพม่าเหมือนดังอดีตเท่านั้น หากแต่เวลานี้ท้องที่ร้องดังและโรคระบาดที่กำลังก่อตัวเป็นตัวเร่งให้ประชาชนนับหมื่นแสนค้นหาทางเลือกของผู้รอดชีวิต

ขณะที่ความคาดหวังต่อรัฐบาลให้เข้าช่วยเหลือพวกเขาอย่างที่ควรเป็นดูจะริบหรี่ ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เกินความคาดหมายไปมากนัก ในเมื่อพื้นที่ราบลุ่มอิรวดีซึ่งเป็นจุดที่เสียหายมากที่สุดเป็นพื้นที่ของประชาชนเชื้อสายกะเหรี่ยงประมาณ 80%

ความเลวร้ายของระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารพม่าเผยโฉมหน้าในชาวโลกตระหนักอีกครั้งว่า ประชาชนผู้ทุกข์ยากและไร้เสียงไม่ได้ถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรก แม้ว่าจะอยู่ในยามวิกฤตเพียงใดก็ตาม หากแต่การรักษาฐานอำนาจผ่านกระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่างหากที่ผู้นำเผด็จการเหล่านั้นสนใจ ยิ่งหาก "ประชาชน" ในที่นี้หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วยแล้ว พวกเขายิ่งมองไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลืออะไรมากนัก

ที่กล่าวมาคงไม่เกินเลยไปนัก หากมองเห็นภาพของผู้ลี้ภัยภายใน หรือ IDPs (Internally displaced persons) ที่ถูกทหารพม่ากดดันนานาวิธีจนทำให้ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่หลายแสนคน ส่วนใหญ่ของพวกเขาเดินเท้าเข้าป่าเพื่อหลบเลี่ยงการพบเจอโดยกองกำลังทหารพม่าโดยมีที่หมายสำคัญคือชายแดนฝั่งประเทศไทย เพียงฝ่าฝันมาชิดขอบตะวันออกได้ก็น่าจะปลอดภัยแล้ว

เมื่อสองปีก่อน การเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างเมืองหลวงใหม่นาม "เนปิดอว์" ได้นำไปสู่โครงการพัฒนาเขตพิเศษ โดยการเคลียร์พื้นที่ในแถบชานเมืองตองอู (Toungoo) ซึ่งสอดประสานไปกับนโยบายตัด 4 (Four Cuts) คือ ตัดเงินทุน ตัดเสบียง ตัดอาวุธ และตัดข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากเขตดังกล่าวเป็นเขตรอยต่อระหว่างเขตอิทธิพลของกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU - Karen National Union) ทางการพม่าเชื่อว่าการกดดันต่อประชาชนเท่ากับเป็นทำลายกองกำลังชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นศัตรูของตนด้วย

ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงต้องพลัดถิ่นที่อยู่เดิม หลังจากกองกำลังทหารพม่าเข้าบุกหมู่บ้าน ตั้งค่ายทหาร เกณฑ์แรงงานคนหนุ่ม ข่มขืนคนสาว เก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน รวมถึงสังหารประชาชนจำนวนมาก ผู้คนจำนวนอีกนับแสนถูกเกณฑ์เข้าสู่สถานที่ที่เรียกว่า "แปลงอพยพ (Relocation Sites)" เพื่อใช้แรงงานและทำการผลิตให้กับกองกำลังของทางการ อีกส่วนหนึ่งหลบหนีเข้าป่าเพื่อซุ่มซ่อนและโยกย้ายสู่ทิศตะวันออก

ค่ายอิตุท่า (Ei Tu Hta) ริมแม่น้ำสาละวินจึงก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2549 ห่างจากบ้านแม่สามแลบขึ้นไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ภายหลังผู้คนหลั่งไหลอพยพพลัดถิ่นที่อยู่เดิม แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางการไทยในการรับผู้คนกลุ่มดังกล่าวให้ข้ามฝั่งมายังค่ายผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ก่อนแล้วริมตะเข็บชายแดน เนื่องจากทางการไทยระบุว่าค่ายที่มีอยู่เต็มเกินกำลังและไม่มีนโยบายเปิดศูนย์อพยพแห่งใหม่

"เขาให้เหตุผลว่าผู้อพยพกลุ่มนี้ไม่ได้ลี้ภัยมาจากพื้นที่สงคราม" ชายวัยกลางคนผู้เป็นหัวหน้าค่ายอิตุท่าเอ่ยถึงเหตุผลที่ทางการไทยปฏิเสธการช่วยเหลือดังกล่าว แม้ว่าจะมีข้อตกลงกับผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอนในขณะนั้นว่าในกรณีที่มีภัยสู้รบเท่านั้นที่ชาวกะเหรี่ยงนับพันเหล่านี้จะสามารถข้ามฝั่งมาได้ ค่ายอิตุท่าจึงถูกจัดตั้งขึ้นในฝั่งพม่า โดยมีค่ายทหารพรานจากกองกำลังทหารพรานที่ 36 ตั้งคุมเชิงอยู่ที่เนินเขาฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำสาละวิน

เขาบอกว่า สมาชิกค่ายส่วนใหญ่โยกย้ายมาจากแถบรัฐกะเหรี่ยงฝั่งตะวันตกในเขตตองอู ซึ่งเดิมเคยเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยง เรียกได้ว่าปัจจุบันทหารพม่าแทบจะยึดได้เกือบทั้งหมด ในหมู่บ้านยังเหลือชาวบ้านเดิมอยู่น้อยมาก เพราะหากไม่ได้อยู่ใน "แปลงอพยพ" ของทหารพม่าก็ต้องหลบลี้เข้าป่าหรือเดินหน้ามายังชายแดนเสียหมด

มีการประมาณการณ์โดยองค์กร Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ระบุว่าในปี 2550 ผู้ลี้ภัยภายใน (IDPs) ตลอดแนวชายแดนไทย - พม่า สูงถึง 503,000 คน เป็นอย่างน้อย โดยอยู่ในเขตป่าตะวันออกของพม่า (รวมทั้งค่ายอพยพ) จำนวน 99,000 คน อยู่ใน "แปลงอพยพ" ของทางการพม่าจำนวน 109,000 คน และอยู่ในเขตเจรจาหยุดยิงอีกจำนวน 295,000 คน ในจำนวนเหล่านี้มีชาวกะเหรี่ยงจำนวน 116,900 คน

"เป้าหมายของทหารพม่าคือการทำลายเคเอ็นยู พวกเขาคิดว่าหากประชาชนอยู่ได้ เคเอ็นยูก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำลายประชาชนก่อน" หัวหน้าค่ายฯ วิเคราะห์แรงผลักสำคัญและบอกว่าทุกวันนี้ยังมีผู้คนทยอยอพยพมายังค่ายอิตุท่าไม่หยุดหย่อน

ชาวบ้าน 2 ครอบครัวจากหมู่บ้านดู บ่อ ลู ทางตอนใต้ของเมืองตองอูเป็นสมาชิกใหม่ของค่ายอิตุท่า พวกเขาออกเดินเท้ามาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ทหารพม่ามาตั้งฐานทหารย่อยใกล้หมู่บ้านและเก็บเอาข้าวสารซึ่งเป็นผลผลิตของพวกเขาไป พร้อมทั้งเผายุ้งฉาง คนหนุ่มสาวต้องหลบหนีเข้าป่าไม่กล้ากลับหมู่บ้าน เพื่อนบ้านของพวกเขาส่วนใหญ่ยังรอดูสถานการณ์ แต่ปล่อยให้พวกเขาทั้งสองครอบครัวซึ่งมีเด็กเล็กๆ หลายคนล่วงหน้ามายังค่ายอิตุท่าก่อน ซึ่งรับรู้กันปากต่อปากก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นสถานที่รองรับชาวบ้านที่ได้รับเคราะห์กรรมเช่นพวกเขา

"ลูกร้องระหว่างทางก็ไม่รู้ทำไง ต้องเสี่ยงกันมาเรื่อย" หนึ่งในสมาชิกใหม่บอกกล่าว เขาเดินป่ามาพร้อมลูกแฝดอายุ 2 เดือนและลูกชายวัย 3 ขวบที่เกือบโดนต้นไม้ล้มทับระหว่างพายุซัดกลางทาง แต่ก็เชื่อว่าจะปลอดภัยเมื่อถึงเป้าหมาย แม้ระหว่างทางจะต้องคอยหลบทหารพม่าให้ดี

"ถ้าเจอเขาจะยิงหมด เด็กยังเคยถูกยิง ถ้าหนีไม่รอด แม้จะมอบตัวก็อาจถูกยิงทิ้งได้" เขาบอก

หัวหน้าครอบครัวอีกคนจากหมู่บ้านนะโยทะ เล่าว่า ระหว่างหลบหนีเข้าป่า เขาต้องสูญเสียพี่ชายไป 2 คน ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเส้นทางหลบหนีและตั้งแนวสกัดทหารพม่า หลังจากทหารกลุ่มดังกล่าวบุกเข้ายึดผลผลิตในยุ้งฉาง ถึงเอาไปไม่หมดก็เผาส่วนที่เหลือทิ้งหมด พวกเขาจึงต้องหนีมา หอบเอาของจำเป็นมาได้ เดินเท้าเป็นเวลา 5 วันเพื่อมายังชายแดน หลบเลี่ยงถนนใหญ่และที่ราบ เพราะถ้าหมาของทหารพม่าเห่าก็เป็นอันจบ

จากกลุ่มบุกเบิกที่เริ่มต้นเพียง 30 ครอบครัว ก่อร่างสร้างบ้านและอาคารส่วนกลางด้วยกระท่อมไม้ไผ่ หลังคามุงใบตองตึง เรียงร้อยไปตามลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวิน ปัจจุบันได้ขยายเขตค่ายอิตุท่าไปไกลถึง 3 กิโลเมตร ล่าสุดรองรับผู้ลี้ภัยภายในถึง 3,915 คน ซึ่งอพยพมาจาก 3 เขตการปกครองหลัก ได้แก่ เขตตองอู (Toungoo) เขตผาปูน (Hpapun) และเขตยองเลบิน (Nyunnglebin) ในจำนวนนี้มีเด็กก่อนวัยเรียนที่อายุไม่ถึง 5 ขวบจำนวน 543 คน และเด็กที่อยู่ในวัยเรียนซึ่งมีโรงเรียนที่สอนถึงเกรด 10 จำนวน 1,127 คน ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง แต่ก็มีชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้วยไม่มาก ทั้งคะเรนนีหรือคะยา ไทยใหญ่ หรือแม้แต่ชาวพม่า

นอกจากโรงเรียนแล้ว ค่ายอิตุท่ายังมีโบสถ์คาทอลิก 1 แห่ง โบสถ์คริสเตียน 2 แห่ง วัดพุทธ 1 แห่ง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลขนาดเล็ก 2 แห่ง เพื่อรักษาโรคภัยพื้นฐานทั่วไปจำพวกไข้หวัด ไข้มาลาเรีย และการทำคลอด มีหมอและผู้ช่วยจำนวนทั้งสิ้น 38 คน การช่วยเหลือด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเหล่านี้ได้รับมาจาก "ส่วนกลาง" หรือในที่นี้คือ ฝ่ายบริหารของเคเอ็นยู

หัวหน้าค่ายฯ บอกว่า ความต้องการของพวกเขาโดยส่วนใหญ่แล้วยังคาดหวังที่จะกลับไปยังหมู่บ้านของตนเองหลังจากสถานการณ์สงบและดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่ทหารพม่าไม่ได้เข้ามาวุ่นวายอีก ระหว่างนี้คงต้องอยู่ที่ค่ายนี้กันไม่ก่อน ไม่ได้คาดหวังว่าจะข้ามฝั่งมายังประเทศไทยหรือการย้ายตัวเองไปยังประเทศที่สามเหมือนผู้ลี้ภัยจำนวนมากฝั่งไทย

"มันไม่ใช่บ้านเมืองของเรา ถึงไปอยู่ก็ไม่มีความสุข" หัวหน้าค่ายฯ กล่าว

หากเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยภายในในฝั่งพม่าอย่างอิตุท่ากับค่ายผู้อพยพในฝั่งไทยแล้วอาจเรียกได้ว่าต่างกันลิบลับ เพราะสภาพไม่แออัดยัดเยียด ยังพอมีพื้นที่ให้ชาวค่ายทำกิจกรรมได้มากหน่อย สามารถทำการผลิตได้บ้าง ไม่ว่าจะเลี้ยงไก่ หมูและแพะ ปลูกผักหญ้าได้ตามสมควร แม้ว่าจะไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ยังต้องพึ่งการบริจาคจากองค์กรเอกชนภายนอกอยู่ดี แต่ถึงกระนั้น ความมั่นคงปลอดภัยดูจะต่างกันลิบลับ เพราะขนาบเหนือใต้ยังมีค่ายทหารพม่าคุมเชิงอยู่ ไม่รู้วันคืนไหนจะรุกเข้าตี

ถึงแม้สภาพชีวิตจะดีกว่าค่ายอพยพในฝั่งไทย แต่ปัญหาปากท้องของผู้อพยพยังมีอยู่ไม่น้อย พวกเขาได้รับการสนับสนุนเสบียงจากองค์กรเอกชนภายนอกสม่ำเสมอ แม้ไม่มากแต่ก็พออยู่ได้ แต่เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในระยะหลังทำให้เงินบริจาคที่ได้รับเป็นดอลลาร์ซึ่งผันเป็นเงินไทยมีค่าน้อยลง ประกอบกับข้าวของและน้ำมันมีราคาสูงขึ้นทำให้พวกเขาต้องจัดการงบประมาณภายใต้ข้อจำกัด โดยตัดถั่วเหลือง น้ำมันพืช ปลาร้า และพริก ได้รับเพียงข้าวสารและเกลืออย่างละนิดเท่านั้น

แม้จะช่วยตัวเองไม่ได้มาก หัวหน้าค่ายฯ ยังบอกว่าไม่ได้คาดหวังมากนักกับการช่วยเหลือจากประเทศไทย เพราะถึงจะช่วยก็ไม่สามารถออกหน้าได้มากนัก เนื่องจากล่าสุดทางการไทยยังออกปากปกป้องรัฐบาลพม่า ห่วงเพียงว่าผู้อพยพเช่นพวกเขาและคนไทยทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวสารที่สูงขึ้น แต่รัฐบาลไทยกลับมุ่งหวังรายได้เข้าประเทศโดยการขายข้าวไปยังต่างประเทศเหมือนที่รัฐบาลพม่ากำลังทำอยู่

การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าโดยไม่สนใจชีวิตและชะตากรรมของประชาชนเป็นความเลวร้ายที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือการมุ่งทำลายล้างกองกำลังชนกลุ่มน้อยและสร้างเสถียรภาพของเขตเมืองหลวงใหม่โดยไม่เห็นหัวเคราะห์กรรมของประชาชน

หวังเพียงว่ารัฐบาลไทยจะไม่เดินตามเส้นทางทมิฬเหล่านี้เพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่คนไทยบางคนได้รับ ไม่นิ่งเฉยต่อการรับมือวิกฤตทะลักล้นของผู้ประสบภัยไซโคลนที่ขาดการช่วยเหลือจำนวนมหาศาลในเร็ววันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น