xs
xsm
sm
md
lg

Referendum ร่างรัฐธรรมนูญ ชะตากรรมและอนาคตในมือคนพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นางออง ซาน ซูจี ผู้ที่ควรจะได้เป็นผู้นำของประเทศพม่าตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หลังจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หลังเหตุการณ์นองเลือดในปี 1988 แต่กลับลงเอยด้วยการปล้นชัยชนะและถูกกักบริเวณมานานกว่า 13 ปี

รัฐบาลทหารพม่าที่ปกครองประเทศเพื่อนบ้านของไทยแห่งนี้มายาวนานด้วยอำนาจจากกระบอกปืน ถึงตอนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญพม่าที่ทหารเป็นคนเขียนเอง โดยเกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนพม่าน้อยถึงน้อยที่สุดก็เสร็จสรรพ หลังจากที่ใช้เวลาร่างกันอย่างมาราธอนนานถึง 14 ปี พร้อมจะเปิดให้มีการลงประชามติในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยรัฐบาลทหารพม่าจะเป็นผู้ดูแลการลงประชามติครั้งนี้แต่เพียงผู้เดียว

นึกถึงอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนดาลา แห่งแอฟริกาใต้ ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในคุก เมื่อได้รับอิสรภาพก็ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถ้าใครจะจินตนาการว่านางออง ซาน ซูจี คงมีเส้นทางเช่นเนลสัน แมนดาลา ...ก็ดูจะเป็นจินตนาการที่โรแมนติกและมองรัฐบาลทหารพม่าในแง่ดีเกินไป

1

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าเนื่องจากพิษราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจนประชาชนชาวพม่าเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า พระสงฆ์ซึ่งอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพม่า จึงจำต้องออกหน้าร่วมชุมนุม เหตุหนึ่งก็ด้วยหวังว่าผ้ากาสาวพัสตร์คงจะช่วยปกป้องประชาชนพม่า และเหนี่ยวหัวใจทหารไว้ก่อนที่จะตัดสินใจเหนี่ยวไกปืน

แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่ว่า สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งก็ลงเอยด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม มีพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากถูกสังหาร โดยที่...โดยที่สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และโดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธสำคัญของโลก ไม่ทำอะไรเลย นอกจาก ‘บ่น’

แม้ว่าภาพการชุมนุมใหญ่ครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการวิเคราะห์จากหลายสำนักว่า น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพม่า แต่เมื่อสิ้นเสียงปืน อะไรๆ ก็เหมือนจะกลับไปเป็นแบบเดิม ทำไม?

คำอธิบายหนึ่งก็คือแม้ว่าการชุมนุมครั้งนั้นจะเคลื่อนด้วยพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด และถึงที่สุดแล้ว ภาคประชาชนของพม่ากลับยังไม่มีองค์กร หน่วยงาน หรือกลไกใดๆ ที่จะก้าวเข้ามารองรับและสานต่อสถานการณ์ ในทางกลับกัน รัฐบาลทหารพม่ากลับเรียนรู้ว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อประชาชนถึงขีดสุดและลุกฮือขึ้นมา

“ตามที่ดิฉันดู มันมีอยู่ 2 อย่าง คือทางภาคประชาชนพม่าก็ไม่มีการเรียนรู้ว่าจะรับมือกับเหตุการณ์ประมาณนี้อย่างไร และถ้าตราบใดที่ยังไม่มีการเรียนรู้หรือการเตรียมตัว มันก็จะเป็นการจุดไฟ ไหม้ฟาง แล้วก็หายไปอยู่เรื่อยๆ ประการที่ 2 ดิฉันเข้าใจได้ว่าถึงแม้จะมีความพยายามก็ตาม แต่มันไม่มากพอ จำนวนไม่มากพอ จนกระทั่งรัฐควบคุมไม่ได้ การควบคุมของรัฐมันทำให้กระบวนการที่จะมารองรับการเคลื่อนไหว การเติบโต หรือการต่อยอดของประชาชนมันไม่มี มันก็เลยดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไร”

นักวิจัย (ชำนาญการ) พรพิมล ตรีโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา หนึ่งในนักวิชาการด้านพม่าอันดับต้นๆ ของไทย แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามการวิเคราะห์ของหลายสำนักข่าว

ดังนั้น สำหรับพรพิมล เธอมองว่าในอนาคตข้างหน้า (ซึ่งก็อาจจะไม่ไกล) หากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนากลไกต่างๆ ขึ้นมารองรับสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องหายุทธศาสตร์เพื่อดึงกลุ่มข้าราชาการ ทั้งพลเรื่อนและทหารที่ได้รับความเดือดร้อนและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเข้ามาเป็นพวก

2

กลับมาดูที่ตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับท็อปบู๊ตนี้

พอจะเดาออกหรือไม่ว่าเมื่อสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่รัฐบาลทหารพม่าแต่งตั้งขึ้น รูปร่างหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะเป็นเช่นไร

ใช่, เป็นไปไม่ได้ที่ทหารจะโยนอำนาจที่ตนกำเอาไว้กว่า 2 ทศวรรษทิ้งให้พลเรือน แล้วเดินกลับเข้ากรมกองเป็นทหารนิสัยดีและอ่อนโยนต่อประชาชนพม่า แต่ดุดันต่ออริศัตรู เพราะหากดูตั้งแต่ที่มาและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าทหารยังคงเป็นผู้กุมอำนาจ

-ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ซึ่งขณะนี้ก็คือ นายพลตัน ฉ่วย) สามารถแต่งตั้งสภาประชาชน (People’s Parliament) ได้ 110 คนจาก 440 คน และแต่งตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ (National Parliament) ได้ 56 คน จาก 224 คน ย่อมหมายความว่าสมาชิกถึง 1 ใน 4 ของทั้งสองสภาคือคนของทหาร ซ้ำยังล็อกไว้ด้วยว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้น ร่างแก้ไขจะผ่านสภาได้ต้องใช้เสียง 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ...แต่ว่า 25 เปอร์เซ็นต์กลับเป็นคนของทหารไปแล้ว

-ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกิจการทหาร และระบุด้วยว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

-รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบกิจการทหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณหรือการบังคับใช้กฎหมายต่อกำลังพล

-กองทัพสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อถึงตอนนั้น อำนาจทั้ง 3-บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ-ก็จะถูกถ่ายโอนกลับไปเป็นของทหารทันที

ถามว่า แล้วนางออง ซาน ซูจีจะสามารถลงเลือกตั้งที่กำหนดจะให้เกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าได้หรือไม่

คำตอบคือไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล็อกสเปกไว้ว่า ห้ามบุคคลที่สมรสกับชาวต่างประเทศลงสมัครรับเลือกตั้ง

3

“ความพร้อมที่จะมีการลงประชามติ เราก็เห็นว่ามันไม่พร้อม เนื่องจากการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชนยังไม่กว้างขวางพอ เราไม่ได้อยากเห็นว่าคนพม่าต้องมารับหรือไม่รับ แต่เราอยากให้คนพม่ามาลงประชามติจากความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การให้ศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ มันคืออนาคตของคนพม่าทั้งมวล จึงควรให้พวกเขาได้รับรู้ มีส่วนร่วม และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะลงไปทำความเข้าใจแบบเปิดกว้าง และควรจะมีคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นอิสระในการจัดการลงประชามติ แต่เราไม่เห็นตรงจุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากๆ เพราะเขาไม่มีองค์กรอิสระในการจัดการลงประชามติ กลายเป็นว่าผู้ที่ร่างคือผู้จัดการเสียเอง มันก็จะเกิดการชี้นำและการข่มขู่เกิดขึ้นแน่นอน”

สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการคณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า ตั้งข้อสังเกตกับเราหลังกลับจากการไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ประเทศเนปาล เธอยังบอกอีกว่าเท่าติดตามดู รัฐบาลทหารพม่าคงไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนต่างประเทศเข้าไปสังเกตการณ์การลงประชามติ ขณะที่ข่าวการข่มขู่แกนนำในการต้านรัฐธรรมนูญก็มีให้ได้ยินบ้างแล้ว เธอบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับมัดมือชก เพราะไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลทหารพม่าก็คงต้องเข็นให้ผ่านไปให้ได้

“สมมติว่าเกิดมีเซอร์ไพรส์จริงๆ ว่าเกิน 60-70 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่รับ มันก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนบัตร เปลี่ยนหีบเลือกตั้งได้ เพราะว่ามันอยู่ในมือของผู้ร่างทุกอย่างที่จะทำอะไรก็ได้ สิ่งที่เราเห็นจากภาพภายนอกนั้นเราตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการสร้างฉากขึ้นมาเพื่อให้นานาอารยประเทศรับรองเท่านั้น ให้รู้สึกว่ามีความชอบธรรมแล้ว ถ้ามีการรับก็ต้องยอมรับนะ ต่างประเทศจะมาพูดอะไรอีกไม่ได้แล้ว เพราะเห็นแล้วว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบันนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2010 ดิฉันคิดว่าก็คงออกมาในรูปแบบที่เขาต้องการนั่นแหละ แต่ประชาชนก็คงต้องไปสู้กันอีกทีในช่วง 2 ปีที่คอยการเลือกตั้ง”

ประเด็นที่น่าห่วงใยก็ต้องตรงที่ว่าหากเกิดการชุมนุมประท้วงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะผ่านการลงประชามติแล้ว ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตามแต่ รัฐบาลทหารพม่าก็จะสามารถอ้างความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าปราบปรามทันที

ในมุมมองของ แสงน้อง ชาวไทใหญ่ จากกลุ่ม เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Shan Women’s Action Network-SWAN) บอกว่า

“เท่าที่ทราบ รัฐบาลทหารพม่าก็บังคับให้ชาวบ้านรับรัฐธรรมนูญ เพราะเขาเคยทำมาตลอด ไม่ให้ข้อมูลชาวบ้าน ชาวบ้านนี้ไม่ใช่ชาวบ้านในเมือง แต่เป็นชาวบ้านในชนบทซึ่งคงไม่ค่อยรู้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลทหารพม่าเองก็ยังมีการจัดองค์กรให้ชาวบ้านสนับสนุน ถ้าไม่สนับสนุนก็จะโดนจับ ตอนนี้หลายกลุ่มก็พยายามรณรงค์ให้โหวตโน แต่ผลจะออกมายังไงก็ยังไม่แน่ เพราะฝ่ายทหารก็บังคับอยู่”

แสงน้องบอกว่าการรณรงค์โหวตโนในตอนนี้มีทั้งแบบปิดลับและเปิดเผย ทั้งจากพรรคเอ็นแอลดี และพรรคเอสเอ็นแอลดีซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ยอมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาในรูปไหน เธอก็อยากให้คนพม่าออกมาลงประชามติครั้งนี้ให้มากๆ

เธอสารภาพกับเราว่า เป็นไปได้มากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านไปได้ เพราะรัฐบาลทหารพม่าคงทำทุกวิถีทาง สิ่งที่น่าห่วงหลังจากนั้นก็คือการชุมนุมประท้วงที่จะนำไปสู่การนองเลือด ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

4

สำหรับพรพิมล เธอมีข้อสังเกตบางประการต่อการลงประชามติครั้งนี้ว่า

“การเมืองพม่าเป็นสิ่งที่คาดเดาลำบาก ตอนช่วงปี 1990 ที่เพิ่งผ่านความรุนแรงมา แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคเอ็นแอลดีก็ยังชนะอย่างถล่มทลาย ฉะนั้น การลงประชามติครั้งนี้ เรายังไม่แน่ใจหรอกว่าผลจะออกมาอย่างไร เพียงแต่ว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทหารก็ยังชนะอยู่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือจะทำให้ทหารได้ตระหนักว่ายังไงๆ ประชาชนก็ไม่เอาทหารอยู่ดี ดิฉันเชื่อว่าประชาชนพม่าจะแสดงพลังอีกครั้งในการลงประชามติ อันนี้เป็นความหวังเล็กๆ เพราะเป็นโอกาสเล็กๆ อีกครั้งหนึ่งที่คนพม่าจะได้แสดงว่าเขาไม่ชอบรัฐบาลนี้และรัฐธรรมนูญนี้”

แต่ถ้าผลออกมาว่า ‘ไม่รับ’ ล่ะ ...ก็ต้องย้อนกลับไปที่ข้อวิเคราะห์ของพรพิมลในตอนต้นว่า จะมีการก่อรูปองค์กรหรือกลไกใดมารองรับสถานการณ์ต่อจากนั้นหรือไม่

มองในแง่ดี หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้ เกิดการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้าตามที่วางไว้ มีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหารประเทศ (ส่วนจะเป็นนอมินีของใครหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็จะมีพื้นที่ มีช่องว่างเล็กๆ ให้เข้าไปเล่นในเกมและช่วงชิงพื้นที่จากรัฐบาล ซึ่งพรพิมลก็ตั้งเงื่อนไขว่าทั้งนี้ทั้งนั้นภาคประชาชนของพม่าจำเป็นยิ่งที่จะต้องตั้งหลักให้ได้และทำงานให้หนักกว่าที่เป็นอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าการเลือกตั้งในปี 2010 ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลทหารพม่าต้องการ จะนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งเหมือนในอดีต ข้อนี้พรพิมลมีความเห็นว่าการเมืองพม่าไม่น่าจะย้อนกลับไปเช่นครั้งนั้นอีก

“ดิฉันคิดว่าครั้งนี้รัฐบาลทหารพม่าคงบล็อกเอาไว้ ไม่ให้เกิดเหมือนปี 1990 อีกแล้ว ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ตั้ง USDA (สมาคมแห่งเอกภาพและการพัฒนาสหภาพ-Union Solidarity Development Association) ขึ้นมา จึงน่าสนใจว่าพรรคที่จะได้เข้าไปจะมีหน้าตาเป็นยังไง

“เพราะคิดว่าทหารคงไม่กลับไปอยู่ในยุค 1990 อีกแล้ว เขาต้องดันพรรคการเมืองที่หน้าตาพอดูได้ในสายตาโลกขึ้นมา ตั้งความหวังไว้อย่างนี้ดีกว่า และมันน่าจะมีแนวโน้มไปทางนั้น เพราะหากย้อนกลับไปอยู่ในปี 1990 จะลำบาก เนื่องจากตอนนี้เขาก็พาประเทศไปอยู่ในมุมอับ ไปอยู่ภายใต้จีน อินเดีย จนแทบจะสูญเสียอธิปไตย คือเขาก็ไม่ได้มีทางเลือกที่ดีเลย ฉะนั้น การที่เขาจะเปิดโอกาสให้ทางประเทศตะวันตกเข้าไปบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี เขาคงคิดหาช่องทางฉีกตัวออกจากจีนในอนาคต”


ส่วนสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่านั้น การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญน่าจะยังไม่มีผลสะเทือนอะไรมากนัก แต่เส้นทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง เราอาจจะเห็นการทำงาน การขับเคลื่อนใหม่ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น เพื่อเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองในอนาคต อย่างไรก็ตาม นั่นคงเป็นเรื่องในอนาคตไกลๆ เพราะสำหรับคนพม่าแล้ว เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ยังถือว่าอยู่ในลำดับความสำคัญท้ายๆ เฉพาะหน้านี้คงเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากกว่า

5

ด้านความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ ล่าสุด สหรัฐอเมริกาได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อพม่าไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วน Human Right Watch ก็ออกมาเรียกร้องต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย และไทย ไม่ให้ยอมรับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก Human Right Watch มองว่าเป็นเพียงกระบวนการตบตาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ทหารเท่านั้น

ไม่ต้องพูดถึงอาเซียนที่ยังไม่ได้มีกลไกใดๆ สำหรับจัดการกับกรณีพม่า แม้ว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน จะพยายามผลักดันอยู่ก็ตาม และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงว่าไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์สำคัญในประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ก็เพิ่งจะกล่าวชมเชยนายพลตัน ฉ่วย ไปเมื่อไม่นานนี้ ซ้ำยังมีการรื้อฟื้นนโยบายเดิมในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาใช้

ขณะที่ผลประโยชน์มากมายที่เรามีกับพม่า โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือไฟฟ้า ที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่และทรงอิทธิพลของไทยอย่าง ปตท. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าไปดำเนินการกับพม่า โดยไม่ต้องรู้สึกลำบากใจใดๆ ว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น จะถูกรัฐบาลทหารพม่านำไปกดขี่ทารุณผู้คนที่นั่นอย่างไร

“ประเด็นมีอยู่ว่าการสัมพันธ์กับพม่าจะใช้แค่ภาครัฐบาลภาคเดียวอย่างนั้นหรือ มันมีภาคอื่นหรือเปล่าที่จะสัมพันธ์กับพม่าและสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่ควรจะเป็นได้ ดิฉันคิดว่าต้องไปกระตุ้นต่อมของภาคประชาสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชนด้วย” พรพิมลกล่าวปิดท้าย

เมื่อทุกประเทศต่างก็มีวาระและผลประโยชน์กับพม่า สถานการณ์ก็คงดำเนินไปในรูปลักษณ์อย่างที่เคยเป็น คงได้แต่ภาวนาว่าจะไม่เกิดการฆ่าแกงซ้ำรอยอีก

***************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล












กำลังโหลดความคิดเห็น