xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกลงทุนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด สรุป 4 พื้นที่ใหม่รับอุตฯ เหล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดผลศึกษาสศช.จัด 4 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมพัฒนาภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว แปรรุปเกษตรและพืชพลังงาน,กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานและ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ที่ศึกษาเพิ่มเติมอีก 4 พื้นที่นอกเหนือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่มีศักยภาพได้แก่ บริเวณเขาแดง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหลมช่องปะทิว จ.ชุมพร บ้านแหลมทวด จ.สุราษฎร์ธานี และบ้านบางปอ จ.นครศรีธรรมราช เล็งเสนอครม.ตั้งคณะทำงาน 19 คนดึงปตท.-กนอ.ร่วม นายกฯนั่งหัวโต๊ะกำกับดูแลเพื่อสร้างความต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการที่มีศักยภาพของประเทศในอนาคตเบื้องต้นสรุปได้ว่าพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทั้งสองด้านมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ(Cluster) ที่สำคัญ 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว,อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ,กลุ่มแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน และปิโตรเคมีและพลังงาน

ทั้งนี้พื้นที่ในการรองรับ 4 คลัสเตอร์การลงทุนดังกล่าวประกอบด้วย 1. กลุ่มการท่องเที่ยวได้แก่ กลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต กระบี่ พังงา) ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก และกลุ่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สามารถพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก 2. กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ พื้นที่เบื้องต้นมีเพิ่มเติม 4 พื้นที่ในการรองรับอุตสาหกรรมเหล็กและการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก นอกเหนือจากอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่มีโรงงานเหล็กของกลุ่มสหวิริยาตั้งอยู่แล้ว ได้แก่

1. บริเวณเขาแดง ตำบลกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2. แหลมช่องพระ อ.ปะทิว จ.ชุมพร 3. บ้านแหลมทวด อำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และ 4. บ้านบางปอ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 4 แห่งจะต้องมีการลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ตั้งโรงงาน นอกจากนี้จะต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่ต้องเร่งดำเนินการ

“ ปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก 4 รายแสดงความสนใจลงทุนที่จะตั้งโรงถลุงแบบครบวงจรในไทยคือ บ.อาซีลอร์ มิททัล จากเนเธอแลนด์และลักซัมเบอร์ก ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก ,บ.นิปปอนสตีล ของญี่ปุ่น ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 2 ของโลก ,บริษัท JFE สตีล จากญี่ปุ่น อยู่อันดับ 3 ของโลก และ บ.บาวสตีล(Basteel) ของจีน อันดับ 5 ของโลกซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นการส่งเสริมกิจการเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูงนั้นมีความจำเป็นต่อประเทศไทยเนื่องจากมีความต้องการเหล็กคุณภาพสูงมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ”แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามสศช.ได้ระบุว่า การสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากชุมชนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ให้เห็นว่าการตั้งโรงงานผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยจะสามารถควบคุมผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่จะต้องร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน พร้อมกับจะต้องพิจารณาผลกระทบกรณีที่ประเทศเวียดนามและจีนอาจจะมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพสูงในระยะเวลาอันใกล้ด้วยเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่อไป

3. กลุ่มแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน โดยเฉพาะการแปรรูปยางพารา การผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันในกลุ่มจังหวัดฝั่งทะเลอ่าวไทย กระบี่- และกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นฐานการผลิตแบบครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้

4. กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช-สงขลา-ปัตตานี มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งติดทะเลและมีพื้นที่ผืนใหญ่ที่สามารถพัฒนาได้ รวมทั้งสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม สามารถพัฒนาเป็นฐานรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ในอนาคต
 
สำหรับกลไกการดำเนินงานเพื่อให้การวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มีความต่อเนื่องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งสร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและจากต่างประเทศ สศช.จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง” คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือกพต.” โดยมีองค์ประกอบที่ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย รมว.คลัง,รมว.คมนาคม,ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม,ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ,ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,ปลัดกระทรวงคมนาคม

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ,เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ,ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ,กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) และผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีเลขาธิการสศช.เป็นเลขานุการและ รองเลขาธิการสศช.(นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รวมกรรมการทั้งสิ้น 19 คน

“กรอบแนวคิดนั้นได้ใช้ศักยภาพด้านที่ตั้งของภาคใต้ในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ หรือ Landbridge เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ด้วยระบบคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งระบบถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน ท่าเรือ และท่าอากาศยาน โดยส่วนของพลังงานจะใช้ปตท.เป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนเพื่อเน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในการขยายมูลค่าเพิ่ม และกิจกรรมทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลระหว่างอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและชุมชน”แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น