xs
xsm
sm
md
lg

‘คมนาคม’ขยายท่าเรือสงขลาขัดมติครม. บอร์ดทะเลสาบ– ชาวบ้านเตรียมต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เตือนกระทรวงคมนาคมเล็งขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา จะก่อให้เกิดผลกระทบตามาอีกมหาศาลในขณะที่ปัญหาเดิมยังแก้ไขไม่ไหมด ระบุหากรัฐยังดื้อก็จะเกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ขณะที่คณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ชี้การขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาขัดต่อมติ ครม.ยุค ‘ทักษิณ’ เชื่อไม่คุ้มการลงทุน เพราะต้องทำ EIA และประชาพิจารณ์อีกครั้ง อัด รมช.คมนาคม อย่าแสดงความคิดเห็นมั่วๆ

จากกรณีที่นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้แก่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เรื่องการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และพัฒนาการขนส่งทางน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีโครงการที่สำคัญคือโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งในฝั่งอ่าวไทยจะมีการขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา 1 ให้มีขีดความสามารถรองรับสินค้าได้มากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางคณิตา ศรีประสม ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา อดีตผู้ประสานงานโครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีทะเลสาบสงขลา กล่าวว่า ประเด็นนี้จะทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้ท่าเรือน้ำลึก และชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินอยู่รอบๆ ทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือพัทลุง สงขลา และ นครศรีธรรมราช อย่างแน่นอน เนื่องจากการขยายท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ซ้ำยังเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ไม่ให้มีการขยายท่าเรือน้ำลึกด้วย

“ก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาไม่มีการคัดค้านจากชาวบ้าน เนื่องจากยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง แต่เมื่อก่อสร้างท่าเรือแล้วเสร็จผลกระทบก็เกิดตามมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นที่ท่าเรือซึ่งมี ขนาด 60 ไร่ ได้ไปกีดขวางทางน้ำที่ไหลออกจากทะเลสาบสู่อ่าวไทย ทำให้ทะเลสาบตื้นเขิน ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านเป็นวงกว้าง” นางคณิตา กล่าวและว่า

จนกระทั่งปี 2546 ผลกระทบก็เริ่มหนักขึ้นเมื่อมีการสร้างแนวกันคลื่น ระยะทาง 460 เมตร ทำให้ทางน้ำถูกปิดโดยสิ้นเชิง สัตว์น้ำไม่สามารถเข้าออกระหว่างอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลาได้ตามธรรมชาติ เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามมาในที่สุด กลายเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในขณะนี้

“จากนั้นมีความพยายามจากภาครัฐที่จะขยายพื้นที่ท่าเรือเพิ่มอีก 60 ไร่ สร้างเขื่อนหิน รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ยื่นออกไปในทะเล แต่กลุ่มชาวบ้านและนักวิชาการได้คัดค้านเนื่องจากจะมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย พร้อมมีการเสนอเรื่องเข้าไปยังคณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้มีการรื้อเขื่อนกันคลื่นออกเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวก และไม่ให้มีการขยายท่าเรือเพิ่มเติม จนในที่สุดบอร์ดทะเลสาบมีมติเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยที่จะไม่ให้ขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา แต่ยังไม่มีการรื้อเขื่อนหินออกแต่อย่างใด หากรัฐบาลชุดนี้จะขยายท่าเรือก็ถือว่าขัดต่อมติ ครม.เดิม และจะเกิดการต่อต้านอย่างแน่นอน” นางคณิตา กล่าว

ในขณะที่นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ คณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม จะมาดำเนินการขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาโดยพลการไม่ได้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นชอบที่จะไม่ให้มีการขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาเพิ่มเติม อันเป็นผลมาจากการคัดค้านของชาวบ้านและนักวิชาการ ซึ่งเสนอผ่านคณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานบอร์ดในขณะนั้น

“รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ควรแสดงความคิดเห็นมั่วๆ โดยไม่ศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา การขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาจะเกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน และเชื่อว่าแม้ขยายก็จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ต้องมีการทำ EIA ใหม่ ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด และการจะยกเลิกมติ ครม.เดิม ก็ต้องใช้เหตุผลที่ประชาชนสามารถรับฟังได้ ไม่ใช่คิดจะทำก็ทำ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และเปิดเวทีระดมความคิดเห็นในวงกว้าง” นายนฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลของผู้สื่อข่าวพบว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เรื่องการพิจารณามติคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 2/2548 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 2/2548 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เสนอ โดย มติที่ 1.9 โครงการขยายท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลา มติที่ประชุม รับทราบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ที่จะไม่ขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาระยะที่ 2

สำหรับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามัน – อ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์ ในส่วนของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี มีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ 2 แห่งคือท่าเรือน้ำลึกปากบารา มูลค่า 5,500 ล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล 4.5 กิโลเมตรเชื่อมด้วยสะพาน 4 เลนจากชายฝั่ง ตามกำหนดการเดิมจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2554 จะมีการก่อสร้างเป็นเฟส โดยในช่วงแรกจะสร้างท่าเรือหน้ากว้าง 750 เมตร รองรับตู้สินค้าได้ 5 แสนตู้ และจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีก

ส่วนโครงการก่อสร้าง ท่าเรือสงขลา 2 มูลค่า 5,040 ล้านบาท ซึ่งรวมโครงการก่อสร้างทางรถไฟและถนนที่เกี่ยวเนื่อง โดยพื้นที่โครงการอยู่ที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ลักษณะท่าเรือคล้ายกับโครงการท่าเรือน้ำลึกบางสะพาน อ.บางสะพานใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัทในเครือสหวิริยา เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 300,000 ตัน มีการสร้างสะพานเชื่อมไปยังท่าเรือที่อยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะ ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว รูปแบบมีการตั้งท่าเรือนอกชายฝั่ง แล้วสร้างสะพานเชื่อม โดยมีระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 700 เมตร

จุดประสงค์เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ทดแทนการขยายท่าเรือสงขลาที่มีการใช้งานจนใกล้ขีดความสามารถรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าได้สะดวกตลอดเวลา และมีเส้นทางรถไฟเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล
กำลังโหลดความคิดเห็น