xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนชีวิต...คนทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลุ่มทะเลสาบสงขลามีพื้นที่กว้างขวาง ครอบคลุมพัทลุงทั้งจังหวัด สงขลา 12 อำเภอ และนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร รายได้ และความเป็นชุมชนให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัย จนเป็นที่บ่มเพาะวัฒนธรรมและมีวิถีชีวิตผูกพันกับนิเวศของลุ่มทะเลสาบอย่างแยกไม่ออก

อย่างไรก็ตาม วันนี้กระแสโลกาภิวัตน์ การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาของสังคมเมืองสู่ท้องทะเลสาบ ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลสาบถูกทำลาย อีกทั้งทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

**ทะเลสาบตื้นเขิน ผลกระทบมาเยือน
คณิตา ศรีประสม ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา เล่าว่า เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอาชีพการเกษตรเชิงเดี่ยวโดยให้มีการทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ในแถบ อ.ระโนด เกษตรกรจึงมีความต้องการใช้น้ำสูง เกิดการสร้างฝ่ายกั้นน้ำจำนวนหลายฝายปิดปากคลองปากระวะทั้งหมดทำให้กระแสน้ำไม่ไหลเวียน จากนั้นตามมาด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกและคันกั้นคลื่นบริเวณปากร่องน้ำหัวเขาแดง อ.สิงหนคร ที่เป็นช่องทางน้ำทางเดียวที่เชื่อมต่ออ่าวไทย ทำให้กระแสน้ำไหลช้าลง และยังเพิ่มปัญหากีดขวางการเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อนยิ่งขึ้น สัตว์น้ำในทะเลสาบเริ่มร่อยหรอลง

ขณะเดียวกัน จากลักษณะพิเศษของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่เป็นทะเลสาบ 3 น้ำ (จืด เค็ม กร่อย) ที่มีความสมบูรณ์ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำที่มีถึง 700 ชนิด และมีมูลล่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำให้ตัวเลขประชากรรอบทะเลสาบในพื้นที่ 3 จังหวัด เพิ่มเป็น 2 ล้านคน โดยต่างอาศัยทรัพยากรดังกล่าวเป็นหม้อข้าวหม้อแกงในการดำรงชีวิต มีการใช้เครื่องมือประมงเป็นจำนวนมากและใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนรุน ยาเบื่อ

“เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นเกิดสาเหตุหนึ่งที่ตามมา คือ ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและนากุ้ง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมได้ปล่อยน้ำทิ้งวันละประมาณ 3 หมื่นกว่าคิว ถึงแม้โรงงานจะมีระบบบำบัดน้ำเสียแต่ก็ไม่ได้ใช้ทั้งหมด ทำให้มีปัญหาคาราคาซังเพราะมีการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นมากมายทั้งโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและโรงงานยางพารา”

คณิตา ยังบอกถึงสาเหตุของทะเลสาบตื้นเขินอีกว่า เป็นเพราะประชาชนส่วนหนึ่งนิยมปลูกยางพาราเนื่องจากราคาสูง ป่าธรรมชาติจึงถูกทำลายลงและแปรเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สวนยางเป็นจำนวนมาก เมื่อฝนตกลงมาทำให้น้ำพัดพาเอาหน้าดินไหลลงสูงคลองและทะเลสาบอย่างรวดเร็ว เมื่อเจอกับระบบน้ำที่ไหลช้าในทะเลสาบทำให้เกิดการตกตะกอนจนตื้นเขิน ซึ่งในปัจจุบันเหลือเมตรครึ่งเท่านั้น

**ข้อเสนอของชาวบ้านกับการฟื้นฟู
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อน่าจะเข้ามาฟื้นฟู เพราะที่ผ่านมาเป็นบทบาทการฟื้นฟูของชาวบ้านที่ทำได้เอง”

“บังหมัก” สมัคร พิทักษ์นิติธรรม ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านหัวเขา เอ่ยขึ้น และเล่าต่อว่า ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมชาวประมงทะเลสาบ 5 ชมรม เช่น ชมรมชาวประมงรักษ์ทะเลน้อย ชมรมชาวประมงสนบางแก้ว ชมรมชาวประมงปากพะยูน ชมรมชาวประมง อ.สทิงพระ และชมรมชาวทะเลสาบตอนล่าง ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลาซึ่งมีกิจกรรมการฟื้นฟูทะเลสาบ 3 กิจกรรมด้วยคือ

1.การทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้ปลาได้ฟื้นและเป็นที่ปล่อยกุ้ง เพราะกุ้งปลาธรรมชาติที่มีอยู่นั้นลดน้อยลงมาก 2.การฟื้นฟูป่าชายเลนรอบทะเลสาบเพราะเหลือป่าชายเลนไม่ถึงหนึ่งหมื่นไร่ และ3.การตั้งกองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อฟื้นฟูทะเลสาบ

บังหมัก บอกอีกว่า นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาที่สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐ เช่น ต้องการให้เปิดปากระวะและรื้อท่าเรือน้ำลึก ต้องการให้เปิดคลองเชื่อมระหว่างทะเลสาบและอ่าวไทยเพื่อให้น้ำไหลเวียนได้สะดวก ทว่า ข้อเรียกร้องนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น