ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมพลัง 22 องค์กร จัดงาน “รวมพลคนรักษ์ทะเลสาบ” วันที่ 24-26 ม.ค.51 ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา เชิญล่องทะเลสาบสงขลาพร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ในตลาดนัดชุมชนคนลุ่มน้ำ ประกวดทำอาหาร ของดีคนลุ่มน้ำทะเลสาบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ดร.มณฑิทย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีความสำคัญกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน เปรียบได้ดั่ง “หม้อข้าวหม้อแกง” ของคนสองล้านคน ในจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา รวมถึง 2 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช คืออำเภอหัวไทร และอำเภอชะอวด รวมทั้งหล่อเลี้ยงชาวไทยทั้งประเทศ
ด้วยลักษณะพิเศษของทะเลสาบสงขลาที่เป็นทะเลสาบ 3 น้ำ คือจืด เค็ม กร่อย มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำที่มีถึง 700 ชนิด การขยายตัวของชุมชนและการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลง ส่งผลให้เกิดการลดลงของความหลากหลายดังกล่าว สาเหตุสำคัญ ได้แก่ ความตื้นเขิน, น้ำเสีย, เครื่องมือประมงทำลายล้าง (อวนรุน, อวนลาก) ตลอดจนการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิต และอาชีพของคนในชุมชนรอบทะเลสาบ 8,500 ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนประมงที่ต้องอาศัยฐานทรัพยากรทางทะเลเป็น “หม้อข้าวหม้อแกง” ในการดำรงชีวิต ส่งผลให้ต้องไปออกไปขายแรงงานตามโรงงาน
ชุมชนเองก็พยายามหาทางออกและได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายต่างๆ เช่น สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา เครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน เครือข่ายสตรีรอบทะเลสาบ และมีความเห็นที่จะจัดกิจกรรม”รวมพลคนรักษ์ทะเลสาบ”ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่การดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รณรงค์ให้ผู้คนที่อยู่ตามแนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลสาบสงขลา หันมาสนใจปัญหาทรัพยากรที่เสื่อมโทรมลงอย่างจริงจัง เพื่อให้ความสมบูรณ์กลับคืนมาสู่ทะเลสาบสงขลาตราบนานเท่านานชั่วลูกชั่วหลาน
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยต่อไปถึงงานรวมพลคนรักทะเลสาบว่าประกอบด้วย ตลาดนัดชุมชน การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาจำหน่าย นิทรรศการกิจกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกวดโรงเรียนรักษาสิ่งแวดล้อม ประกวดการวาดภาพทะเลสาบสำหรับเยาวชน และประกวดทำอาหารพื้นบ้าน จัดทำคู่มือการปรุงอาหารจากปลาและวัตถุดิบในท้องถิ่น มาเป็นหนังสือที่สะดวกแก่การพกพาและจัดจำหน่ายในราคาพิเศษ การแสดง การละเล่นพื้นบ้านและประเพณี ซึ่งสะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับลุ่มทะเลสาบสงขลา เสวนา เวทีเรียนรู้เรื่องลุ่มทะเลสาบสงขลาสำหรับนักเรียน เยาวชน ร่วมกันปล่อยปลา โดยจะมีการถ่ายทอดออกอากาศในรายการ “ถามตรงตอบชัด” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.สงขลา และสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
ผศ.ดร.โรจนัจฉริย์ ด่านสวัสดิ์ คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึง กิจกรรมที่น่าสนใจของงานรวมพลคนรักษ์ทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย การสัมมนาซึ่งจัดที่ เวทีเสวนาห้องประชุมใหญ่ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยวันที่ 24 มกราคม 2551 เป็นการเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือพหุภาคี และการบูรณาการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคใต้” และกิจกรรมลงเรือล่องทะเลสาบสงขลา การแสดงบนเวที การละเล่นพื้นบ้าน และแสดงโขน จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ พัทลุง และตลาดชุมชนคนลุ่มน้ำ ณ ริมทะเลสาบ
วันที่ 25 มกราคม 2551 ร่วมเรียนรู้ “ธรรมาภิบาลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ร่วมเสวนา”บทบาทผู้หญิงและเยาวชนกับการพิทักษ์ทะเลสาบสงขลา” และมีพิธีเปิดงานณรงค์ รักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : วาระประชาชน โดยคุณหญิงมณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการแสดง วิถีคนลุ่มน้ำทะเลสาบ สลับการเสวนาของปราชญ์ลุ่มน้ำ และการประกวดทำอาหาร ของดีคนลุ่มน้ำทะเลสาบ
วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2551 ร่วมกิจกรรมปล่อยปลาบริเวณริมทะเลสาบสงขลา ร่วมเรียนรู้”บทเรียนองค์ความรู้ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” โดยตัวแทนโซน 7 โซน คือ โซนพรุควนเคร็ง โซนทะเลน้อย โซนคาบสมุทรสทิงพระ โซนพื้นที่ป่าต้นน้ำ โซนทะเลสาบฝั่งตะวันตก โซนเมือง และตัวแทนโซนลุ่มน้ำทะเลสาบตอนล่าง
และพิธีมอบรางวัล การประกวดทำอาหาร และกิจกรรมการแสดงบนเวที การแสดงเจตนารมณ์ ประกาศตัวตนคนลุ่มน้ำทะเลสาบ พิธีปิดงานรณรงค์ รวมพลคนรักษ์ทะเลสาบ โดย นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ผลของการจัดกิจกรรมนี้คาดว่าจะเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของคนในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาและชุมชนใกล้เคียง ตลอดถึงทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน สามารถเป็นแบบอย่างและขยายผลในระยะยาว เห็นบทบาทสตรีและเยาวชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทะเลสาบ ชุมชนต่างๆ รอบทะเลสาบสงขลา รู้สึกเป็นเจ้าของและเกิดความตระหนักในการเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาลุ่มทะเลสาบสงขลาร่วมกัน
สามารถดูกำหนดการจัดกิจกรรมได้ที่ www. psu.ac.th สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.08-1543-0033 หรือสมาคมรักษ์ทะเลไทย โทร.08-1898-2842