xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจวางทุ่นเขตอนุรักษ์โลมาฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

ความหลากหลายในระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ถึง 636,800 ไร่ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด รวมทั้งโลมาอิรวดี และโลมาหัวบาตร ที่อยู่ในภาวะวิกฤตอาจจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยภายใน 5 ปี

จากการที่โลมาตกลูกเพียงครั้งละตัวเดียว การผสมพันธุ์ในฝูงเดียวกันทำให้ทายาทไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะโลมาไม่สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างทะเลสาบ กับอ่าวไทยได้ และการติดอวนของชาวประมง

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับชุมชนเร่งแสวงหาแนวทางอนุรักษ์ปลาโลมา ณ วัดป่าลิไลย์ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง กระตุ้นจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยถ่ายทอดเสียงผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา

“โลมาอิรวดี” หรือที่ชาวบ้านเรียก “เจ้าหัวหมอน” มีอยู่อย่างชุกชุมในอดีต ณ ทะเลสาบตอนในหรือทะเลสาบลำปำ ในเขตจังหวัดพัทลุง มักว่ายอยู่ข้างเรือประมงยามเช้า

ผู้ใหญ่บ้านสมนึก แห่ง ต.ลำป่า จ.พัทลุง กล่าวว่า “เมื่อก่อน มีโลมามากมาย 200-300 ตัว ตอนออกไปหากุ้งหาปลา เมื่อโลมามามันจะไล่กุ้งหนีหมด ชาวประมงจึงนำจอบเสียมไปเคาะที่ขอบเรือเพื่อให้มันหนีไป ชาวบ้านไม่นิยมกิน เพราะเนื้อไม่อร่อย และมีความเชื่อว่ากินเนื้อโลมาจะมีอันเป็นไป”

นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง อธิบายว่า โลมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นวิวัฒนาการมาจากสัตว์บก ใช้ปอดหายใจ มีตา หู จมูก และลิ้นเหมือนคน จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในที่โล่ง และน้ำตื้น

โลมาไม่มีตาอยู่ด้านหน้าจึงไม่สามารถกะระยะทางได้ดี มีตาขนาดเล็กใกล้กับริมฝีปาก อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ปี แรกเกิดจะยาวประมาณ 1 เมตร และโตเต็มวัย 2-2.75 เมตร หนัก 115-130 กิโลกรัม จมูกของโลมาจะปิด ดังนั้นมันจะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย แต่ลิ้นสามารถรับรสได้ดี

การรับเสียงด้วยคลื่นสะท้อนแบบเรดาร์ของโลมา ใช้ล่าเหยื่อ ทั้งยังส่งเสียงสื่อสารกับโลมาตัวอื่น อาหารโปรด ได้แก่ ปลาดุก หมึก และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ หลังจากผสมพันธุ์ ราว 9 เดือน แม่โลมาจะให้ของขวัญแก่ท้องทะเลสาบ ลูกโลมาจะคลอเคลียกินนมแม่เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

โลมาอิรวดี เป็นโลมาหัวบาตร ชนิดหนึ่ง ต่างตรงที่ โลมาอิรวดีตัวใหญ่กว่า และมีครีบหลังรูปสามเหลี่ยมโค้งมน สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำเงินเทาตลอดตัว แต่โลมาหัวบาตรชนิดอื่นไม่มีครีบหลัง และมีขนาดใหญ่กว่า

จำนวนโลมาลดลง เพราะการผสมพันธุ์ในฝูงเดียวกัน ทำให้ทายาทไม่สมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากมันไม่สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างทะเลสาบ กับอ่าวไทยได้อย่างแต่ก่อน เพราะว่าบริเวณนี้เต็มไปด้วยเครื่องมือประมงจำนวนมาก เมื่อมีการตายเกิดขึ้นโลมาก็จะไม่เดินทางไปยังบริเวณที่มีอันตรายอีก

ส่วนทางด้านเหนือของทะเลสาบซึ่งมีคลองปากระวะเชื่อมต่อกับทะเล ก็มีเขื่อนปากระวะขวางทางเดินของน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่ทะเลสาบ มันจึงเหมือนถูกกักขัง อีกทั้งน้ำเสียจากนากุ้ง สารเคมีจากโรงงาน ตลอดจนขยะจากชุมชนจะถูกปล่อยลงสู่ทะเลสาบ เจ้าบ้านอย่างโลมาที่ชอบน้ำสะอาด อากาศที่บริสุทธิ์จึงไม่สามารถทานทนได้ รายงานปี พ.ศ.2533 พบซากโลมาอิรวดีรวม 45 ตัว

โลมาจะออกมาให้พบเห็นบ่อยๆ คือ บริเวณตรงร่องกลางทะเลสาบที่มีความลึกประมาณ 2.4-4 เมตร ที่บ้านลำปำ ตรงบริเวณที่เรียกว่า “ลับห้า” ซึ่งหมายถึง บริเวณที่เกาะใหญ่บดบังเกาะสี่เกาะห้ามิดพอดี

ผู้ใหญ่จิต รอดเพชร ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า “ปัญหาอวนปลาบึกถือเป็นปัญหาสำคัญ ฝากให้ราชการใช้มาตรการเด็ดขาด เก็บอวนปลาบึกขึ้นมาให้หมด นอกจากนี้การเปิดทางระบายน้ำที่ปากระวะ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์โลมาเอาไว้ได้ เพราะจะช่วยระบายน้ำเสียออกไป และทำให้อาหารโลมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น”

พระอาจารย์วนิชย์ วรธัมโม วัดป่าลิไลย์ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า เราทุกคนโชคดีที่มีโลมาอิรวดีเป็นแห่งที่สองของโลก การฟื้นฟูทะเลสาบให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมก็จะช่วยได้

จ่าเอกมนตรี หามนตรี ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า” บางครั้งโลมาก็เกยตื้นตายที่ชายฝั่ง อาจเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเค็มของน้ำทะเลหนุนในทะเลสาบตอนบน เพราะน้ำจืดที่น้อยลงเนื่องจากการทำลายป่าไม้ ฝนแล้งจัด และการสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย ที่มีมากในจังหวัดพัทลุง ทำให้ในทะเลสาบมีน้ำจืดไม่เพียงพอต่อระบบนิเวศ บางปีความแปรปรวนของกระแสน้ำรวดเร็วจนโลมาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน”

วิธีการที่จะอนุรักษ์ปลาโลมาฝูงสุดท้าย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ ได้แก่ 1.ให้มีการวางแนวทุ่นบริเวณลับห้า อยู่ทางด้านเหนือเกาะใหญ่ พื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของโลมาเพื่อไม่ให้ชาวประมงวางอวนในบริเวณดังกล่าว 2.ให้มีการทำแพชั่วคราวบริเวณที่มีการวางทุ่น เพื่อให้ชาวประมงได้เฝ้าระวัง หากโลมาติดอวน สามารถช่วยเหลือชีวิตได้ 3. ให้ชาวประมง นอกเขตวางทุ่นจัดเวรยามเฝ้าระวัง

“นอกจากนี้ จะจัดกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ และแจ้งเหตุได้ทันท่วงที รวมทั้งจัดทำจะโครงการค่ายเยาวชนรักทะเลไทยสำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ให้ร่วมกันดูแลโลมาเอาไว้”

ตามกฎหมายไทย โลมาอิรวดีได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 138 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชประสงค์ให้ช่่วยกันอนุรักษ์โลมาอิรวดีสัตว์หายาก พร้อมทั้งทรงรับไว้เป็นสัตว์ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ได้มีการออกประกาศจังหวัดพัทลุงห้ามมิให้ผู้ใดล่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งโลมาอิรวดีและซากของโลมาอิรวดีหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ ก็จัดให้โลมาอิรวดีอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต

จำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง ทำให้โลมาเข้าใกล้อวนเพื่อกินกุ้ง และปลาที่ติดอยู่กับอวน ทำให้ต้องติดพันธนาการไปด้วย ยิ่งดิ้นรนก็ถึงจุดจบของชีวิตเร็วขึ้น เพราะโลมาจะต้องขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำทุกๆ 70-150 วินาที

“ชะตากรรมการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์เล็กๆ อย่างโลมากับชะตากรรมของทะเลสาบสงขลาคือสิ่งเดียวกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น