คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่เด็กคนหนึ่งที่จบการศึกษาเบื้องต้นในสาขา “อาชีวศึกษาเกษตร” จะประสบความสำเร็จในชีวิต และก้าวขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ แต่สำหรับ “โอภาส สืบสาย” แล้ว ต้องบอกว่า นี่เป็นเรื่องจริง
โอภาส จบ ปวช.จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ ม.แม่โจ้ และปริญญาโท สาขาปฐพีวิทยา ม.เกษตรกร เสร็จแล้วมาเป็นอาจารย์ระดับ 7 สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีของที่นี่อีกต่างหาก
แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง “กุ้งขาว” ที่ได้นำวิชาความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกังหันตีน้ำ หรือเทคนิคในการเลี้ยงกุ้งต่างๆ จนได้รับการกล่าวขานว่า เป็น “กูรู” คนสำคัญในการเลี้ยงกุ้งขาวในเขตภาคใต้และภาคตะวันออกด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น
“สิ่งสำคัญที่ผมได้จากการเรียนในวิทยาเกษตรฯ และการเป็นสมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ ก็คือ ทำให้เรารู้จักทำงานหาเงินตั้งแต่เรียน รู้จักพึ่งพาตนเองและทำให้คิดเป็น ตอนที่ผมไปเป็นลูกจ้างเลี้ยงไก่ของวิทยาลัย พอเลี้ยงเป็นก็มาเลี้ยงไก่เนื้อของตนเองแล้วก็ชำแหละขายเอง แล้วก็พัฒนาไปทำไก่อบฟางขาย”
“ส่วนการเข้ามาเลี้ยงกุ้งเป็นความบังเอิญมากกว่า คือ มีคนชวนผมไปร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ปรากฏว่า ยังไม่ได้ทันเลี้ยง คนชวนก็หนีไปเสียก่อน ผมเลยตกกระไดพลอยโจนต้องเรียนรู้เอง ต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้ ไม่งั้นเจ๊ง แต่โชคดีที่การเลี้ยงครั้งแรกประสบความสำเร็จ จากนั้นก็พัฒนาการเลี้ยงและเปลี่ยนมาเป็นกุ้งขาว ผมเป็นรู้จักในวงการเลี้ยงกุ้งขาวประมาณปี 2545 และเริ่มเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับผู้เลี้ยงกุ้งขาวในเขตภาคตะวันออกและภาคใต้ในปี 2546 จนถึงปัจจุบัน”
สำหรับผลงานการคิดค้นนวัตกรรมในการเลี้ยงกุ้งที่สำคัญของโอภาสนั้น มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การคิดค้นกังหันตีน้ำในนากุ้งที่สามารถให้ออกซิเจนได้มากกว่ากังหันตีน้ำแบบเก่าถึง 200% รวมทั้งทำให้ประหยัดพลังงาน ซึ่งขณะนี้โอภาสได้นำไปจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
เรื่องที่สองคือ การประยุกต์นำระบบ DVRNET มาใช้ในการควบคุมและจัดการฟาร์ม โดยนำระบบวงจรปิดมาติดตั้งในนากุ้งแล้วเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ผ่านดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งสามารถทำให้ควบคุมการเลี้ยงกุ้ง การให้อาหาร ตรวจฟาร์ม รวมถึงรักษาความปลอดภัยจากโจรขโมยกุ้งได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
และสุดท้ายเรื่องสาม คือ เทคนิคการชำกุ้ง โดยในระยะเริ่มต้นเขาจะนำกุ้งรวมกันในบ่อที่อัตรา 7 แสนตัวต่อบ่อชำที่ปูพื้นด้วยพลาสติกพีอีเป็นเวลา 5 เดือน จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ในบ่อเลี้ยงอีก 2-3 เดือน ซึ่งทำให้กุ้งมีความแข็งแรงและได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 35-40 ตัวต่อกิโลกรัม และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรในการจัดการ
“การชำก่อนเพราะผมต้องการรู้ว่าสายพันธุ์ของกุ้งเป็นอย่างไร เติบโตได้ดีไหม ปลอดโรคไหม จะได้ไม่เสียโอกาส ถ้าจะเสียก็เสียบ่อเดียว ไม่ต้องเสียทั้งหมด แล้วทำให้เรามีรอบในการเลี้ยงมากกว่าปกติ คือการเลี้ยงกุ้งทั่วไปจะทำได้แค่ 2 รอบต่อปี แต่การเลี้ยงแบบนี้ทำให้ถึง 4 รอบต่อปี”
ที่น่าดีใจคือ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โอภาส และศิษย์เก่าอีก 3 คน คือ นรินทร์ศักดิ์ พัวตระกูล ศิริพงศ์ มกรพงศ์ และ เรวดี ศรีบุญเรืองได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่า อกท.ดีเด่น พร้อมเข้ารับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“ปัจจุบันเด็กสนใจเรียนทางด้านเกษตรน้อยลง ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุน เด็กก็ยิ่งไม่มี เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องให้งบประมาณอุดหนุน เนื่องจากเด็กที่เรียนส่วนใหญ่ก็เป็นลูกเกษตร ถ้าใครไม่มีเงินก็ต้องให้ทุน ถ้าไม่มีที่ดินและอยากประกอบอาชีพเกษตรกรก็ต้องจัดหาที่ดินให้” โอภาสแสดงความคิดเห็นดีๆ ทิ้งท้าย