xs
xsm
sm
md
lg

แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี 20 พ.ค.51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (20 พ.ค.) พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ และ น.ส.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ครม.อนุมัติงบรายจ่ายปี 52 กว่า 1,800 ล้านบาท
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ แถลงว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ปีนี้ อนุมัติทั้งสิ้น 1,835,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายงบประมาณขาดดุลจำนวน 249,500 ล้านบาท เป็นรายได้จำนวน 1,585,500 ล้านบาท สำหรับงบประมาณในปี 52 เป็นงบประมาณซึ่งเพิ่มจากปี 51 งบประมาณ 1,660,000 บาทถ้วน ในปี 52 นี้ 1,835,000 ล้านบาทถ้วน ก็เพิ่มขึ้นจากปี 51 เป็นเงิน 175,000 ล้านบาท คือ เพิ่มร้อยละ 10.5 สำหรับกระทรวงซึ่งได้รับงบประมาณมากที่สุดในปี 52 คือกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับ 33,069.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของงบประมาณของประเทศ ส่วนกระทรวงซึ่งได้รับน้อยที่สุดคือกระทรวงพลังงาน ได้รับ 2,523 ล้านบาท เท่ากับ 0.1 ของงบประมาณประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้รับ 169,092 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของงบประมาณประเทศ แต่ในปีงบประมาณ 52 จะมีแปลกกว่าปี 51 อยู่เรื่องนึงคือในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้กำหนดให้รัฐสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัดเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นในงบปี 52 จึงได้มีงบที่เรียกว่างบพัฒนาจังหวัดขึ้นมาเป็นครั้งแรก จำนวน 18,000 ล้านบาท เพื่อจะให้จังหวัดมีงบประมาณไปดำเนินการในโครงการพัฒนาจังหวัดที่ตอบสนองต่อทิศทางต่างๆ ของจังหวัดเอง ในจำนวน 75 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณนั้น นครราชสีมาได้มากที่สุดคือ 451,717,800 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้น้อยที่สุดคือจังหวัดตราด ได้160,498,000 บาท ครม.ก็อนุมัติตามที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้เสนอ

“สมัคร” มอบหมาย “สุวิทย์” ดูแลปัญหาภัยพิบัติ
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ แถลงว่า เรื่องที่สองเป็นเรื่องแรกที่ท่านนายกฯ ได้พูดในที่ประชุม ครม.ในวันนี้คือเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะว่าขณะนี้เริ่มมีฝนตก มีน้ำท่วมฉับพลัน มีน้ำป่าไหลหลาก มีท่อนซุงลอยมา หลายเรื่องด้วยกัน ท่านนายกฯ ก็เป็นห่วงว่าเราอาจจะมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นก็ได้มีการสอบถามท่านรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบแต่ละกระทรวง ขณะนี้ก็มีการเตรียมพร้อมที่ผ่านมามีประมาณ 10 กว่าจังหวัดที่มีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากทางกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือขนอพยพคนออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุ มีการส่งเรือท้องแบนเข้าไป ส่งอาหาร ถุงยังชีพ ถุงพระราชทานเข้าไป ก็ช่วยกันตลอดเวลาขณะที่เราก็ช่วยต่างประเทศด้วย ช่วยพม่าด้วยช่วยประเทศจีนด้วยเราก็ช่วยประเทศไทย

ขณะนี้ที่ช่วยประเทศไทยนั้น ปรากฏว่า น้ำก็ได้ลดลงอยู่ในระดับปกติแล้วทุกจังหวัดแต่ขณะเดียวกันก็ได้มีการเตรียมการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการแถลงเตือนเป็นระยะๆ ก็อยากจะฝากให้กับประชาชนได้ช่วยกรุณาเปิดเครื่องรับวิทยุหรือเครื่องรับโทรทัศน์ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของอากาศต่างๆ ด้วยเพราะว่าในพื้นที่บางแห่งนั้นก็ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดภัยพิบัติซ้ำซากอยู่ เพราะว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นยังไม่มีการป้องกันเท่าที่ควร ขณะนี้ท่านนายกฯ ได้กำชับโดยมีการตั้งคณะทำงานครบวงจรขึ้นเนื่องจากคณะทำงานชุดเดิมนั้นซึ่งแต่งตั้งไว้นานแล้ว ต่างกระทรวงต่างก็แยกย้ายไปทำงาน

ท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้ท่านรองสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นประธานคณะทำงาน แล้วนำกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัตินั้นเข้ามารวมกันว่าให้ทำชาร์ตไปเลยว่าถ้าจังหวัดนี้เกิดอะไรบ้าง ให้ดำเนินการอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอน งบประมาณใครเป็นคนเบิกจ่าย ใครเป็นคนใช้ และสิ่งของช่วยเหลือในการยังชีพนั้นจะนำมาจากหน่วยงานไหน ท่านนายกรัฐมนตรีใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อจะดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมและให้มีการเตรียมการต่างๆ รวมทั้งเรื่องอาจจะมีแผ่นดินไหวหรือมีรอยแยกอะไรก็แล้วแต่ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นซึ่งเราก็ไม่มีความประมาทในเรื่องนี้ หรือในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับทะเลอาจจะมีลมทะเล มีมรสุมมีดีเปรสชันอะไรก็แล้วแต่ก็ให้เตรียมการให้พร้อม และให้รายงานกับท่านนายกฯ เป็นระยะๆ คือ เรื่องนี้เราไม่ประมาทถึงแม้ว่าเราจะเคยมีประสบการณ์ตอนที่มีคลื่นสึนามิแล้วก็ตาม แต่ท่านนายกฯ ก็เร่งกำชับให้คณะรัฐมนตรีได้ดูแลเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ

หมัก เตรียมบินเยือนตากาล็อก 22 พ.ค.นี้
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ แถลงว่า ในวันที่ 22 วันมะรืนนี้ วันพฤหัสฯ ท่านนายกฯ และคณะ จะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ โดยใช้เวลาเดินทาง 1 วัน แล้วก็กลับในวันรุ่งขึ้น โดยนายกฯ และคณะจะออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 09.20 น.ของวันพฤหัสฯ ที่ 22 แล้วก็จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 23 จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในเวลา 16.45 น.เนื่องจากฟิลิปปินส์นั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศในอาเซียนด้วยกัน มีลักษณะความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายๆ กับของคนไทย เพราะฉะนั้นการเยือนครั้งนี้ก็เป็นการไปแนะนำตัวในฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ซึ่งหัวข้อในการที่จะไปเจรจานั้นก็จะมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ก็คือขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์นั้นมีความสัมพันธ์ด้วยดี แล้วก็เราจะมีการฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในปี 2522 ซึ่งในการประชุมเจซีครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ไทยกับฟิลิปปินส์ได้มีการเห็นพ้องจะจัดทำแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประจำปี 2551-2553 ซึ่งในการที่ไปเยือนในครั้งนี้ก็จะมีการคุยกันในเรื่องแผนนี้ว่าทางฟิลิปปินส์ได้ทำไปถึงไหนแล้วบ้าง

นอกจากนั้น เราก็จะมีการประชุมเรื่องความร่วมมือทางการทหาร เพราะไทยกับฟิลิปปินส์นั้นก็มีความสัมพันธ์ในเรื่องการทหารกันพอสมควร นอกจากนั้นก็จะมีการพิจารณาเรื่องการค้าและการลงทุน ต้องการจะเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ เพราะว่าการค้าไทยกับฟิลิปปินส์ในปี 2550 มีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยได้เปรียบดุลการค้าอยู่ 757 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ก็ต้องการจะขอให้ฟิลิปปินส์นั้นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และจะมีการเจรจากันเรื่องการดูแลและการคุ้มครองการลงทุนของไทยในฟิลิปปินส์ซึ่งมีบริษัทใหญ่ๆ อยู่ 3 บริษัทของประเทศไทย ซึ่งไปลงทุนในฟิลิปปินส์ คือ ปตท., เครือซิเมนต์ไทย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนั้น เราก็จะมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานการผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเอทานอลเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการใช้พลังงาน สำหรับเราจะมีความตกลงอื่นๆ ที่ยังมีการคั่งค้างกันอยู่กับฟิลิปปินส์ก็จะไปคุยกันในครั้งนี้ด้วย ก็คือ ความตกลงด้านการบิน คือ ที่เราบินไปประเทศเขา เขาบินมาประเทศเรา แล้วจะมีการเจรจาแก้ไขอนุสัญญายกเว้นภาษีซ้อน ซึ่งขณะนี้ร่างสุดท้ายกำลังอยู่ในการพิจารณาของกรมสรรพากรประเทศไทย อีกอันหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ความร่วมมือด้านพลังงาน ขณะนี้ไทยกับฟิลิปปินส์ต้องการจะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงาน ซึ่งต้องการจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานต่างๆ

รวมทั้งเชิญหน่วยงานของฟิลิปปินส์เข้ามาดูงานในด้านการลงทุนของ ปตท.และ ปตท.สผ.ซึ่งได้มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง ปตท.กับเอ็นพีโอซีของฟิลิปปินส์ในโครงสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 3 สาย คือ แบทแมน 1 แบทแมน 2 และ แบทเคฟ ซึ่งรวมทั้งการสร้างสถานีขนส่งแอลพีจี ในฟิลิปปินส์ นอกจากนั้น ก็เตรียมการว่าอาจจะมีการคุยกันเรื่องการซื้อข้าว ซึ่งทางฟิลิปปินส์นั้นได้มีความสนใจในเรื่องการจะซื้อข้าวคุณภาพต่ำจากประเทศไทย ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะให้หารือ คือ ทางฟิลิปปินส์นั้นต้องการจะซื้อระบบจีทูจี ขณะนี้เราก็ ประเทศไทยนั้นเราไม่มีระบบจีทูจี แต่หาทางที่จะอำนวยความสะดวกที่จะประสานเจรจากับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อให้สามารถค้าขายได้โดยสะดวก เช่นเดียวกับที่เราเคยดำเนินการกับมาเลเซียและติมอร์ และอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เรื่องการร่วมมือด้านแรงงานย้ายถิ่นฐาน ซึ่งทางฟิลิปปินส์เคยเสนอให้ความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานและการส่งเสริมในด้านทักษะและคุณภาพของผู้ใช้แรงงาน การคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน ซึ่งทางเรากับฟิลิปปินส์นั้นก็จะมีการเจรจากัน เพื่อให้ความร่วมมือในด้านนี้ ส่วนเรื่องอื่นนั้นก็จะเป็นการทำความคุ้นเคยกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย กับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และข้าราชการระดับสูงของไทยกับฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเดินทางไปพร้อมๆ กับท่านนายกรัฐมนตรี

ครม.พิจารณาปรับเพดานเงินเดือน ขรก.
ด้าน น.ส.ศุภรัตน์ แถลงว่า ก่อนจะแถลงมติ ครม.ในด้านเศรษฐกิจอีก 2-3 เรื่อง ก็เรียนให้ทราบว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้าน เพียงแต่ว่ามาตรการทางด้านเศรษฐกิจที่ออกมานั้นจำเป็นจะต้องรอระยะเวลาที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นั้นออกมาเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

ตามมติเดิมที่เราทราบกันไปแล้วเมื่อวันอังคารที่แล้ว 13 พฤษภาคม ที่มติปรับขยายเพดานเงินเดือนของข้าราชการระดับต้น ตั้งแต่ซี 5 ลงมา โดยอัตราขั้นต่ำเดือนละ 7,700 บาท เป็น 8,200 บาท และขั้นสูง 11,000 บาท เป็น 11,700 บาท และมติ ครม.ในสัปดาห์ที่แล้วให้กระทรวงการคลังไปแก้ไขระเบียบ วันนี้กระทรวงการคลังก็ได้นำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นที่ได้รับค่าครองชีพในลักษณะเดียวกับค่าครองชีพของข้าราชการ ได้ปรับขยายเพดานเงินเดือนตามอัตราที่เป็นมติ ครม.ในสัปดาห์ที่แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนของข้าราชการอื่น ก็จะมีลูกจ้างประจำ อาสาสมัครทหารพราน กระทรวงกลาโหม และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ก็จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพ ตามมติ ครม.ในสัปดาห์ที่แล้ว และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เรื่องนี้ก็ให้ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพได้โดยเร็ว โดยมีผลในเดือนพฤษภาคมนี้เลย

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.บัตรประชาชน
นายณัฐวุฒิ แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับที่... พ.ศ.... ซึ่งสำนักงานคณะกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ วันนี้ ครม.เห็นชอบ จะส่งให้วิปได้พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่กระบวนการสภาต่อไป

เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับนี้ จะทำเป็นบัตรอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด สาระสำคัญ ประเด็นแรก มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยทุกคนต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่เกิด และไม่ควรยกเว้นการมีบัตรให้กับผู้มีสัญชาติไทยประเภทใด เว้นแต่กรณีเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ ประเด็นที่ 2.มีการแก้ไขกำหนดเวลายื่นคำขอมีบัตรประจำประชาชน กรณีผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด จาก 60 วัน เป็นภายใน 1 ปี เพราะฉะนั้นเพื่อประโยชน์ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ซึ่งมีอายุไม่ถึง 15 ปี ได้กำหนดให้ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนแทน ไม่ว่ากรณีใดๆ แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ที่อายุไม่ถึง 15 ปีจะยื่นคำขอมีบัตรด้วยตัวเอง ประเด็นที่ 3.มีการกำหนดให้แก้ไขรายการในบัตรประจำตัวประชาชน โดยตัดรายการศาสนานิกายของศาสนา และลัทธินิยมในทางศาสนาออก ซึ่งบัตรประชาชนในปัจจุบันมีการระบุศาสนา แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เอาออก เหตุผลเพราะความเชื่อในทางศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียในการระบุเรื่องดังกล่าวไว้ในบัตรประจำตัวประชาชน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ถือบัตร โดยอาศัยเรื่องศาสนาเป็นข้ออ้างได้

ประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีอภิปรายแสดงความเห็นพอสมควร ในความเห็นของรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมวันนี้ คำถามที่ถามกันเยอะ คือ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการกำหนดให้ผู้ที่จะขอมีบัตรประชาชนต้องตั้งแต่แรกเกิด โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า 1.ต้องมีข้อมูลจำนวนเพศ วัยของประชาชนทั้งประเทศอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เสนอให้ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุข เกี่ยวกับโอกาสรับบริการทางการศึกษาจากรัฐเข้าไปด้วย 2.อายุในการถือบัตร เดิมครั้งละ 6 ปี แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ถือได้ครั้งละ 10 ปี สำหรับผู้มีอายุ 70 ปี จะมีการระบุไว้ว่าใช้ได้ตลอดชีพ

ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งใต้
นายณัฐวุฒิ แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพของประเทศในอนาคต

เรื่องนี้สภาพัฒน์นำเสนอเข้ามา ประเด็นหลักๆ คือ สภาพัฒน์ทำรายงานเรื่องนี้นำเสนอ ครม.มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยครั้งนี้สรุปคือ ศักยภาพและแนวโน้มการพัฒนาภาคใต้ในอนาคต หากจัดหมวดหมู่เป็นประเภทอุตสาหกรรม จัดได้เป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีแนวทางการพัฒนา คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แนวทางการพัฒนาจากการศึกษา บอกว่า ต้องพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อกระตุ้นและยกระดับการผลิตไปยังห่วงโซ่ มูลค่าสูงขึ้น ด้านอุตสาหกรรมอาหาร แนวทางการพัฒนา บอกว่า ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมขั้นต้นของวัตถุดิบในพื้นที่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แนวทางการพัฒนา คือ ต้องพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อกระตุ้นและยกระดับการผลิตไปยังห่วงโซ่มูลค่าสูงขึ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แนวทางการพัฒนาบอกว่า ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นจุดขึ้นบกของท่อก๊าซ ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

กรอบแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีการกำหนดกรอบแนวคิดไว้ 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ใช้ศักยภาพและความได้เปรียบด้านที่ตั้ง พัฒนาสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงอันดามันและอ่าวไทยด้วยระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ สะพานเศรษฐกิจนี้ คือ แลนด์บริดจ์ 2.พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่มีศักยภาพ โดยอยู่บนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคม 3. กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจตอนเหนือและตะวันออกของมาเลเซีย 4.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและสร้างการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และ 5.รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ จากการศึกษา สภาพัฒนาจัดพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ หรือ คลัสเตอร์ เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มการท่องเที่ยว หมายถึงชายฝั่งทะเลอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมไปถึงสตูล และกลุ่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 2.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เบื้องต้นโฟกัสพื้นที่ไว้ที่ ประจวบคีรีขันธ์ กับชุมพร 3.กลุ่มแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน มีกลุ่มจังหวัดในอ่าวไทย กระบี่ และกลุ่มจังหวัดชายแดน ต้องทราบว่า จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศ และปาล์มน้ำมันวันนี้ อย่างที่ทราบกันว่า เป็นพืชพลังงานทดแทนที่เป็นพืชความหวังของประเทศไทย 4.กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงาน กำหนดไว้ที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี จ.นครศรีธรรมราช จะมีโรงแยกก๊าซที่ อ.ขนอม อยู่แล้ว จ.สงขลา ก็มีโครงการเหล่านี้อยู่

เมื่อมีการพิจารณาองค์ประกอบ แนวทางกรอบแนวคิดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลกำหนดหัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสะพานเศรษฐกิจ หรือพัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ขณะนี้มีเอกชนต่างประเทศแสดงความสนใจจะลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในภาคใต้ 4 ราย ใน 4 ราย ติดอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กของโลก เช่น นิปปอนสติล, บราวน์สติล เป็นต้น พื้นที่ที่เหมาะสมมี 4 แห่ง คือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.ปะทิว จ.ชุมพร, อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี หรือ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

โดยรัฐบาลกำหนดไว้ว่า ไม่ว่าจะมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงอย่างไร คือ 1.ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินการของรัฐบาล 2. ให้ความสำคัญลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเน้นการสร้างความยอมรับของประชาชนในพื้นที่

เพื่อให้แผนการศึกษานี้ราบรื่นประสบความสำเร็จ สภาพัฒน์เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ กพต.ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นเลขานุการ และรองเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นรองเลขานุการ โดยรัฐมนตรี สันติ พร้อมพัฒน์ เสนอให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลการขนส่งทางน้ำ เข้าไปเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้อง อำนาจหน้าที่ คือ พิจารณากำหนดนโยบายแผนงาน และโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่ได้ศึกษามา

ครม.เห็นชอบโครงการภายใต้แผนการพัฒนาเขตพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้
นายณัฐวุฒิ แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการภายใต้แผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 3 จังหวัดทางใต้บวกสงขลาด้วย เรื่องนี้ ศอ.บต.นำเสนอ คณะรัฐมนตรีรับฟังแล้วเห็นชอบในหลักการ แต่เรื่องงบประมาณให้ ศอ.บต.ไปหารือเป็นการเฉพาะกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีการของบประมาณมาร่วมๆ 50,000 ล้านบาท ใน 50,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณตั้งข้อสังเกตว่า บางโครงการที่ใช้งบประมาณมีความทับซ้อนกับงบประมาณที่ส่วนราชการอื่นๆ ทำอยู่แล้วในพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้นต้องคุยกันระหว่างสำนักงบประมาณกับ ศอ.บต.ในการพิจารณาว่า สิ่งใดซ้ำซ้อนจะต้องตัดออก สิ่งที่ยังเหลือจะได้รับงบประมาณ

มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์คุ้มครองความปลอดภัย การอำนวยความเป็นธรรมเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และการสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนกลุ่มเสี่ยง โดย ศอ.บต.เสนอมา 36 โครงการ งบประมาณ 8,392.797 ล้านบาท 2.เสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อยให้พึ่งพาตนเองได้ จำนวน 83 โครงการ 9,391.639 ล้านบาท 3.การพัฒนาคุณภาพคนเพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ และยกระดับคุณภาพชีวิต 102 โครงการ 13,919.038 ล้านบาท 4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ และการพัฒนาความร่วมมือกับชาวต่างประเทศ 136 โครงการ 16,517.97 ล้านบาท และ 5.การบริหารจัดการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ไม่ได้กำหนดจำนวนโครงการหรืองบประมาณไว้ โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ แต่เรื่องงบประมาณ ให้ ศอ.บต.ไปคุยกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอกลับเข้ามาใน ครม.อีกรอบหนึ่ง

ครม.อนุมัติรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลประชาชนที่บาดเจ็บจากเหตุบึ้ม กทม.เมื่อปลายปี 49
น.ส.วีรินทร์ทิรา แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติเรื่องของการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยสำนักงบประมาณเพิ่มอีก เป็นการเสนอเรื่องโดยกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบการรักษาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อมา เนื่องจากว่าหลังจากที่มีการขอเบิกจ่ายเงินงบประมาณและได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วก็ยังคงติดปัญหาในส่วนของขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อขอให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ซึ่งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 4,167,232.77 บาท เพื่อที่จะจ่ายให้กับสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนรวม 7 แห่ง ที่ให้การรักษาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 โรงพยาบาล 7 แห่งที่ว่า ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สาเหตุที่มีตัวเลขงบประมาณเพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากว่าในส่วนของขั้นตอนการเบิดจ่ายค่ารักษาพยาบาลติดขัดในเรื่องของข้อกฎหมาย เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

วันนี้ก็เลยมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และได้อนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการเสนอขออนุมัติจาก ครม.เพื่อขอให้เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบการรักษาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บกรณีเกิดอุบัติเหตุ เกิดเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 โดยใช้เงินงบกลางปี 2551 จำนวน 5,236,765.77 บาท สำนักงบประมาณได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอด้วยแล้ว และให้มีการดำเนินการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามนัยกฎหมายและระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง
น.ส.วีรินทร์ทิรา แถลงว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 แจ้งว่า ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้งจากผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี เกี่ยวข้องกับด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร อาหารศึกษา กฎหมาย และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยด้านละ 1 คน เป็นคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน ประกอบไปด้วย 1.ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ 3.นายธนินท์ เจียรวนนท์ 4.ม.ล.อโณทัย ชุมสาย 5.นายพจน์ จิรวุฒิกุล 6. ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย 7.ศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน

ต่อด้วยการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บางท่านได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ด้วย ดังนั้น เพื่อที่จะให้การดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นสมควรให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมชุดเดิม พ้นจากตำแหน่ง และให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิม ตามมาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ดังนี้ 1.นายสุนทร อรุณานนท์ชัย 2.นายธวัชชัย ณ ระนอง 3.นายณัฐศักดิ์ โรจน์พิเชฐ 4.นายอรัญ เอี่ยมสุรีย์ 5.นายสันติ อุทัยพันธ์ 6.นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย 7.นายพีรเดช มีนสุข 8.นายเกรียงไกร เธียรนุกูล 9.นายวันชาติ บุญเก่า 10.นายทวีศักดิ์ สระใหญ่ 11. นายสบาย ไสริน 12.นายสุรินทร์ ขุนฑวุฒิ

ในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการมีอีก 1 เรื่อง คือ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้นำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งนายอำพล จินดาวัฒนะ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ชช. ด้านกำลังพลสาธารณสุข กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสุขภาพ นักวิชาการสาธารณสุข 11 ชช.ด้านวิจัย สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ

และสุดท้าย เป็นการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งในวันนี้ ครม.ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม หลังจากที่มีหนังสือแจ้งขอลาออกจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม 6 ท่านที่ขอลาออก คือ นายชูชัย ฤดีสุขสกุล นายประสาร มฤคพิทักษ์ ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ นายปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ นายธวัช สุนทราจารย์ นางสิรินุช พิศลยบุตร ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้บริหารงานขององค์การเภสัชกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เลยมีการแจ้งขอต่อ ครม.เสนอ ครม.พิจารณาให้ประธานกรรมการและกรรมการที่เหลืออีกจำนวน 8 ท่าน พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 23 (3) แห่งพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 และมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นไม่น้อยกว่า 8 คน แต่ไม่เกิน 14 คน รวมทั้งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 6 วรรค 2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 56 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 กำหนดว่ารัฐวิสาหกิจใดมีความจำเป็นต้องมีกรรมการเกินกว่า 11 คน ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีได้เป็นการเฉพาะราย แต่ทั้งนี้ จำนวนกรรมการทั้งสิ้นจะต้องไม่เกิน 15 คน และวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง ประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม มีรายชื่อดังต่อไปนี้ 1.นายธีระชัย วุฒิธรรม เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการดังต่อไปนี้

1.นายปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์
2.นายธวัช สุนทราจารย์
3.นายเรวัต วิศรุตเวช
4.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์
5.นายธวัชชัย เจริญวงศ์
6.นายวิทิต อรรถเวชกุล
7.พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย
8.นายพงษ์พัฒน์ เรียงเครือ
9.นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์
10.น.อ.ธนอัธ นาครทรรพ
11.นายประเสริฐ เกษมโกเมศ
12.นางมานวิภา อินทรทัต
13.นางสิรินุช พิศลยบุตร
กำลังโหลดความคิดเห็น