xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เสนอปรับโครงสร้าง ตั้ง กศน.-สช.-ก.ค.ศ.เป็นนิติบุคคล โยก ก.พ.ร.เข้าองค์กรหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
กระทรวงศึกษาธิการเสนอปรับโครงสร้างสำนักปลัดฯ ขอตั้ง กศน.-สช.-ก.ค.ศ.เป็นนิติบุคคลหรือมีฐานะเป็นกรม สกศ.ขอตั้ง ก.พ.ร.เข้าไปไว้ในองค์กรหลัก ขณะที่ สพฐ.หาแนวทางบริหารประถม-มัธยมให้คล่องตัวขึ้น โดยให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ศธ.ไปพิจารณาความเหมาะสม มีทั้งแนวทางตั้งเป็นทบวง และตั้งสำนักแบ่งดูงานประถม-มัธยม

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างองค์กรของ ศธ.ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. คณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ผู้บริหารระดับสูง 5 องค์กรหลักและผู้ตรวจราชการที่ผ่านมาได้พิจารณาการเสนอปรับโครงสร้างของ 5 องค์กรหลัก ดังนี้ 1.สำนักงานปลัด ศธ.ปัจจุบันที่ 11 สำนักได้เสนอปรับโครงสร้างใหม่ 3 สำนัก คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยกฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลมีผู้บริหารเทียบเท่าระดับอธิบดี นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างระดับสำนักที่อยู่ระหว่างเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ( ก.พ.ร.) คือ สำนักกิจการพิเศษ สำนักผู้ตรวจราชการฯ สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สำนักพัฒนาระบบบริหาร และสำนักประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมเห็นว่า จะต้องทำความตกลงกับ ก.พ.ร.ต่อไป

2.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปัจจุบันมี 6 สำนักและอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่ง สกศ.ไม่ได้เสนอปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพิ่มขึ้นใหม่ แต่ได้เสนอความเห็นว่าควรจะจัดให้กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (ก.พ.ร.) เพิ่มเข้าไปในสำนักย่อยทุกองค์กรหลัก โดยที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการตามที่เสนอ

3.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอเพิ่มศูนย์สารนิเทศเป็นหน่วยงานย่อยช่วยสนับสนุนงานด้านสารสนเทศ นวัตกรรมทางการอาชีวศึกษา และหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งประชุมเห็นว่าหากต้องการปรับปรุงโครงสร้างต่อไป ให้จัดทำแผนให้เรียบร้อย เพื่อหารือกับ ปลัด ศธ. และเชิญ ก.พ.ร.ย่อยมาพิจารณาในเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้นจึงส่งให้ ก.พ.ร.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป

นายสมชาย กล่าวต่อว่า 4.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอปรับเพิ่มเป็น 9 สำนักจากที่มีอยู่ 8 สำนักโดยจะเพิ่มสำนักนิติการ เพราะปัจจุบันใช้สำนักนิติการเดียวกับสำนักงานปลัด ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน นอกจากนี้ได้เสนอปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางสำนักให้สอดคล้องกับภารกิจ เช่น สำนักติดตามและประเมินผลการอุดมศึกษา สำนักเครือข่ายประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา ซึ่งดูแลการพัฒนาด้านวิจัยและการพัฒนาเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยที่ประชุมเห็นด้วยและให้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และ กพร.ต่อไป และ 5.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดิมมี 10 สำนัก และได้เสนอจัดตั้งเพิ่ม 6 สำนักใหม่ คือ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักส่งเสริมและประสานงานกิจการนักเรียน สถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษา สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักพัฒนาระบบบริหาร สำนักกิจการกีฬา ซึ่ง สพฐ.ได้ชี้แจงว่า แม้จะยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ แต่ได้ปรับการทำงานภายในไปก่อนแล้ว
แม้จะไม่ได้ซีหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้นแต่จำเป็นต้องทำเพื่อความคล่องตัวในการบริหารมากขึ้น

ส่วนข้อเสนอสำนักที่ดูแลประถม-มัธยมฯ นั้น มี 2 ข้อเสนอจากตัวแทนครู ทั้งการเพิ่มสำนักในส่วนกลางที่แยกสำนักออกมาดูแลมัธยมฯ ตอนปลายโดยเฉพาะ เพราะปัจจุบันโรงเรียนประถมศึกษาจำนวนมากมีโรงเรียนขยายโอกาสฯ ซึ่งเปิดสอนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว และอีกข้อเสนอหนึ่งที่เป็นทางเลือกคือ แยกประถม-มัธยมฯ โดยจัดตั้งเป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ประชุมได้มอบให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของศธ.ไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเช่นไร ส่วนการตั้งสำนักเพิ่มนั้นไม่ขัดข้องให้ดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างนี้คงไม่ได้ขัดกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการให้กระทรวงมีขนาดเล็กลง เนื่องจากการปรับครั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น