xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายปชช.ตอ.จับมือ5พันธมิตรฯประจวบฯ ต้านอุตฯทำลายสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและ 5 พันธมิตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจ.ประจวบฯ
ผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจับมือ 5 พันธมิตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกาศร่วมมือต้านอุตสาหกรรมที่เบียดบังและทำลายสิ่งแวดล้อม

วานนี้ (5 เม.ย.) ณ ห้องประชุม วาย เอ็ม ซี เอ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยผู้ประสานงานเครือข่ายฯ นายสุทธิ อัชฌาศัย พร้อมด้วย 5 พันธมิตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดรประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด / กลุ่มรักษ์ท้องถิ่น บ่อนอก – กุยบุรี / กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก / กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง / กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย ได้ร่วมกันแถลงข่าวประกาศจับมือร่วมกันต้านอุตสาหกรรมที่เบียดบังและทำลายสิ่งแวดล้อม

ภายหลังที่ทั้ง 5 พันธมิตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางมาทัศนศึกษานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเขตประกอบการ ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน โดยตัวแทนกลุ่ม 5 พันธมิตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า รู้สึกตกใจ ไม่คิดว่านิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก จะมีขนาดใหญ่อย่างนี้ พวกตนจินตนาการว่าโรงงานถลุงเหล็กของสหวิริยาที่บางสะพาน มีขนาดใหญ่แล้ว แต่เมื่อได้มาพบเห็นอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุดระยอง และเขตประกอบการไออาร์พีซีแล้ว มีขนาดใหญ่กว่าที่คิดหลายเท่า ทั้งนี้ เมื่อได้อ่านข่าว ได้เห็นภาพเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะหนักหนา แต่เมื่อได้มาเห็นของจริงกับตาก็ยิ่งวิตกกังวลกับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามผลักดันจะให้เกิดขึ้นให้ได้ในภาคใต้
 
ตัวแทนพันธมิตรฯ จากจ.ประจวบฯ กล่าวว่า จากการที่ได้มาเห็นตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ผ่านมา 25 ปีแล้ว ก็พบว่าเกิดผลกระทบมากมายกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่นี่ สิ่งที่พวกตนเห็นคือความเสื่อมโทรมของทะเล ชายฝั่งที่หายไป น้ำทะเลมีสองสี กองภูเขาขยะอุตสาหกรรม กองขี้เถ้าถ่านหิน อากาศที่รู้สึกว่าร้อนผิดปกติ และจากการที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดระยองเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ คนที่มาบตาพุดระยองบอกว่ามีนิคม มีอุตสาหกรรมมา 25 ปีแล้ว แต่ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย
 
"ที่ดินหายไป อาชีพประมงเรือเล็ก ล่มสลายไม่มีปูปลาให้จับ จับมาแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะกินได้ไหม สุขภาพก็เสื่อมโทรมลงเพราะอากาศไม่ดี มีคนเป็นโรคกันเยอะ โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ โรคปอด ทรัพยากรเราเสื่อมโทรมลงไปทุกวันๆ แต่ก็ไม่มีใครลงมาดูแลฟื้นฟูจริงจัง เกิดปัญหามลพิษก็มักจับมือใครดมไม่ได้ มีแต่ชาวบ้านที่ต้องทนดมกลิ่นเหม็นของโรงงาน"

ตัวแทนแกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลก็คือการสร้างท่าเทียบเรือ เพราะบริษัทสหวิริยาจะสร้างท่าเทียบเรือที่บางสะพานซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าท่าเทียบเรือที่มาบตาพุด เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบเช่นเดียวกับที่มาบตาพุดระยอง ที่มีการถมทะเล และมีการสร้างท่าเทียบเรือ ทำให้เกิดผลกระทบกับชายฝั่งทะเล

ส่วนนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้กล่าวว่า ดีใจที่พี่น้องทางประจวบมาเห็นกับตาเองว่า แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมของอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ขาดความรัดกุมในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมแค่ไหน จึงส่งผลในวันนี้กับคนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะกับคนพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง จึงอยากให้ทางประจวบได้นำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้กับคนในพื้นที่ภาคใต้ ได้ตระหนักถึงพิษภัยของอุตสาหกรรมที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อุตสาหกรรมที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จนส่งผลร้ายไปในทางทำลาย และยินดีที่ได้จับมือร่วมกับ 5 พันธมิตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจวบคีรีขันธ์ ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต้านอุตสาหกรรมที่เบียดบังสิ่งแวดล้อมร่วมกันให้ถึงที่สุด ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น