xs
xsm
sm
md
lg

DPWN ไปรษณีย์ปฏิวัติโลกลอจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

กลุ่ม DPWN ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นธุรกิจไปรษณีย์ของประเทศเยอรมนีซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ ไปสู่ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกในธุรกิจลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยมีการจ้างงานมากกว่า 500,000 คน และมีรายได้มากถึงปีละ 3,000,000 ล้านบาท

กลุ่ม DPWN มีจุดเริ่มต้นจากบริษัท Deutsche Post AG ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่เมืองบอนน์ ในเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 จากการแปรรูปธุรกิจไปรษณีย์ของเยอรมนีที่มีประสิทธิภาพต่ำ แม้จะผูกขาด แต่กิจการประสบกับปัญหาขาดทุนจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีได้ค่อยๆ ยกเลิกการผูกขาดสำหรับธุรกิจไปรษณีย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทแห่งนี้ โดยเริ่มแรกได้ยกเลิกการผูกขาดธุรกิจส่งจดหมายที่มีน้ำหนักเกิน 200 กรัมขึ้นไป ในปี 2538 ต่อมาได้ลดลงเหลือผูกขาดเฉพาะจดหมายน้ำหนักต่ำกว่า 50 กรัมเท่านั้น และนับตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลเยอรมนีได้ยกเลิกการผูกขาดด้านไปรษณีย์ทั้งหมดไม่ว่าน้ำหนักมากน้อยเพียงใดก็ตาม ทำให้ปัจจุบันธุรกิจไปรษณีย์ในเยอรมนีเป็นการแข่งขันอย่างเสรี

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ รัฐบาลเยอรมนีได้แต่งตั้งให้นาย Klaus Zumwinkel มาเป็นผู้บริหารตั้งแต่ปี 2533 โดยเขาจบการศึกษาปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจวาร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เคยมีประสบการณ์การทำงานบริษัทที่ปรึกษา McKinsey มาก่อน ซึ่งเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการเร่งรัดปรับปรุงกิจการให้ทันสมัย ทำให้กิจการเริ่มมีผลประกอบการเปลี่ยนจากขาดทุนเป็นมีกำไร โดยในระยะที่ผ่านมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน

ประการแรก เรียกขานตนเองว่า Deutsche Post World Net (DPWN) พร้อมกับปรับวิสัยทัศน์ว่าได้เปลี่ยนสถานภาพจากธุรกิจไปรษณีย์มาเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างครบวงจรและมีเครือข่ายทั่วโลก

ประการที่สอง แทนที่จะทำธุรกิจเพียงแค่ไปรษณีย์เพื่อส่งจดหมาย ก็ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจให้บริการไปรษณีย์แบบครบวงจร โดยเฉพาะบริการเสริมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้นว่า เดิมเป็นเพียงแค่ไปรษณีย์ที่ให้บริการรับจัดส่งจดหมายและเอกสารจากสถาบันการเงินเท่านั้น ก็เปลี่ยนมาเป็นบริการอย่างครบวงจร โดยลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินเพียงแค่จัดส่งข้อมูลและรายชื่อลูกค้ามาให้ทางอีเมลเท่านั้น กลุ่ม DPWN จะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่จัดพิมพ์เอกสารของธนาคาร ใส่เอกสารดังกล่าวลงไปในซองจดหมาย ตลอดจนกระทั่งส่งจดหมายนั้นๆ ไปยังลูกค้าของสถาบันการเงิน

ประการที่สาม รุกสู่ธุรกิจลอจิสติกส์ โดยกลุ่ม DPWN เห็นว่าการสร้างธุรกิจลอจิสติกส์นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องใช้เวลายาวนานทั้งในส่วนการสร้างฐานลูกค้าและขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ดังนั้น จึงเน้นขยายธุรกิจในด้านนี้โดยทางลัดผ่านการซื้อบริษัทชั้นนำของโลกที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว

ตัวอย่างการซื้อกิจการในระยะที่ผ่านมา เป็นต้นว่า ในปี 2542 ได้ซื้อกิจการบริษัทดานซาส (Danzas Transport Group) ที่มีฐานอยู่ที่นครบาเซลของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีบุคลากรมากถึง 16,000 คน โดยเป็นบริษัทเก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2358 นับเป็นผู้นำของโลกในธุรกิจ Freight Forwarder ซึ่งเป็นตัวแทนรับจองระวางการขนส่งทั้งทางเรือและทางอากาศ

ก้าวต่อมาของกลุ่ม DPWN คือ การซื้อกิจการของบริษัท DHL ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนรายใหญ่ของโลก เป็นการให้บริการแบบครบวงจรถึงประตูบ้านผู้รับ และมีเครือข่ายทั่วโลก โดยเดิมถือหุ้นในสัดส่วน 25% ต่อมาในปี 2543 เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 51% และล่าสุดในปี 2545 ได้ถือหุ้นในบริษัท DHL เต็ม 100%

จากนั้นในปี 2548 กลุ่ม DPWN ได้จ่ายเงิน 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการบริษัท Exel ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เมือง Bracknell ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ 3PL โดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างบริหารคลังสินค้าของลูกค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีฐานลูกค้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เป็นต้นว่า บริษัทไดม์เลอร์ โฟล์คสวาเก้น มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เดลล์ อีริคสัน ฟอร์ด ฟูจิตสึ กู๊ดเยียร์ โฮมดีโป ฯลฯ

ผลจากการซื้อกิจการของบริษัท Exel ครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม DPWN กลายเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยพนักงานของกลุ่ม DPWN เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมมีพนักงาน 380,000 คน รวมกับพนักงานของบริษัท Exel อีก 111,000 คน รวมเป็นเกือบ 500,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นพนักงานนอกเยอรมนีมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 260,000 คน อนึ่ง ภายหลังซื้อกิจการมากมาย ได้เปลี่ยนจากเดิมใช้ภาษาเยอรมันมาเป็นภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารภายในองค์กร

ประการที่สี่ การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด โดยกลุ่ม DPWN ได้ตัดสินใจเลือกใช้แบรนด์ DHL ภายหลังการรวมกิจการ เนื่องจากผลการสำรวจของบริษัทวิจัยอิสระพบว่า DHL เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือของคนทั่วโลกทั้งในเรื่องความรวดเร็ว แน่นอน นวัตกรรม และเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไปรษณีย์ในเยอรมนี ซึ่งยังคงใช้แบรนด์ Deutsche Post ที่เป็นคุ้นเคยของชาวเยอรมันอย่างดีอยู่แล้ว

กลุ่ม DPWN ยังได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งได้นำออกใช้นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยเป็นตัวอักษร DHL สีแดง ซึ่งสีแดงนับเป็นสีสัญลักษณ์ของบริษัท DHL บนพื้นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของบริษัท Deutsche Post AG

ประการที่ห้า ปรับปรุงคุณภาพบริการอย่างเป็นเลิศในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า ปัจจุบันจดหมายที่จัดส่งในเยอรมนี ได้ถึงมือผู้รับภายในวันรุ่งขึ้นเป็นสัดส่วนสูงถึง 95% ของจำนวนทั้งหมด

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การดำเนินธุรกิจของ DHL ในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นรับพนักงานที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบโรงงานกระบวนการผลิตและสามารถอธิบายแก่ลูกค้าให้เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของระบบ Supply Chain Management สำหรับในส่วนพนักงานขายก็ได้เน้นแปลงสภาพให้เป็น Solution Provider ด้วย ไม่ใช่เพียงขายบริการแต่เพียงอย่างเดียว

เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความเป็นเลิศในด้านบริการ กลุ่ม DPWN ได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านลอจิสติกส์ในนาม DHL Logistics University ที่นครเซี่ยงไฮ้ เปิดดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2548 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับภูมิภาค โดยให้บริการไม่เฉพาะบุคลากรของตนเองในประเทศจีนเท่านั้น แต่รวมถึงบุคลากรที่ทำงานในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่ม DPWN เผชิญความท้าทายหลายประการ

ประการแรก นาย Klaus Zumwinkel ซึ่งนำกิจการมาสู่ผลสำเร็จ ได้เผชิญกับการสอบสวนจากรัฐบาลในข้อหาหนีภาษี ดังนั้น เขาได้ยื่นใบลาออกจากบริษัทเมื่อต้นปี 2551 หลังจากเป็นผู้บริหารของกลุ่ม DPWN มาเป็นเวลายาวนานถึง 18 ปี

ประการที่สอง แม้ DPWN จะประสบผลสำเร็จอย่างมากในธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียได้ครองส่วนแบ่งตลาดการขนส่งพัสดุด่วนมากถึง 40% แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จในสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นตลาดลอจิสติกส์ใหญ่ที่สุดในโลก แม้จะลงทุนเป็นเงินจำนวนมากมายในการบุกเบิกตลาดสหรัฐฯ แต่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 ขาดทุนในตลาดสหรัฐฯ เป็นเงินมากถึง 874 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

สถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย ซึ่งตั้งอยู่ในมลรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาในด้านลอจิสติกส์ระดับแนวหน้าของโลก ได้จัดการแข่งขันที่เรียกว่า Great Package Race เมื่อเดือนเมษายน 2550 และพบว่า DHL เป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก

สำหรับการแข่งขันข้างต้น สถาบันข้างต้นได้มอบหมายให้นักศึกษาสาขาลอจิสติกส์จัดส่งพัสดุภัณฑ์ขนาดเดียวกันเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2550 จากนครแอตแลนตา ไปยังผู้รับยังจุดหมายปลายทาง 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีความท้าทายอย่างมาก เป็นต้นว่า เมืองตีกรีตของประเทศอิรัก กรุงย่างกุ้งของประเทศเมียนมาร์ กรุงฮาราเร่ของประเทศซิมบับเว ฯลฯ กำหนดให้ใช้บริการจาก 3 รายที่ได้รับการจัดว่ายอดเยี่ยมที่สุดของโลก คือ DHL, FedEx, และ UPS

การแข่งขันจะไม่บอกให้ให้บริษัทเหล่านี้รู้เนื้อรู้ตัวว่าเป็นการประลองคุณภาพบริการแต่อย่างใด โดยผู้ส่งพัสดุนิรนามเหล่านี้ได้โทรศัพท์ไปยังบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่เช้าให้บริษัทเหล่านี้ส่งพนักงานมารับพัสดุหลังช่วงเที่ยงเท่านั้น ปรากฏว่า FedEx มารับเร็วที่สุด คือ เวลา 12.30 น. รองลงมา คือ DHL เวลา 13.46 น. และ UPS เวลา 15.25 น.

จากการตรวจสอบเวลาที่ถึงจุดหมายปลายทาง พบว่าส่วนใหญ่แล้วการจัดส่งโดย DHL ถึงมือผู้รับเร็วที่สุด ตัวอย่างหนึ่ง การจัดส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองตีกรีต ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ของอิรัก ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายที่ไม่มีใครอยากจะย่างกรายเข้าไป เนื่องจากมีการชุ่มโจมตีจากก่อการร้ายจำนวนมาก

ผลการแข่งขันพบว่าการขนส่งโดย DHL ถึงมือผู้รับในเมืองตีกรีตเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 เมื่อเวลา 14.00 น. ภายหลังจัดส่งเพียงแค่ 4 วัน โดยเฉือนเอาชนะบริษัท FedEx ที่จัดส่งจุดหมายปลายทางเมื่อเวลา 16.45 น. ในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าบุคลากรของบริษัทเหล่านี้ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อสร้างความเป็นเลิศในด้านลอจิสติกส์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม DHL เก็บค่าบริการสูงกว่าเล็กน้อย กล่าวคือ เก็บค่าบริการ 125 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ FedEx เก็บค่าบริการ 100 เหรียญสหรัฐ

อนึ่ง ข่าวล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ปรากฏว่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจียได้จัดการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งไปยัง 5 เมือง เป็นต้นว่า เมืองกาซ่าในปาเลสไตน์ เมืองคาทูมประเทศซูดาน ฯลฯ แต่คราวนี้ปรากฏว่า DHL ตกมาเป็นอันดับ 4 โดย 3 อันดับแรกมีคะแนนคู่คี่สูสีกัน คือ FedEx, UPS, และไปรษณีย์สหรัฐฯ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น