ปัจจุบันราคาพลังงานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ลอจิสติกส์ โดยเฉพาะในส่วนการขนส่งสินค้าที่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดในยุคข้าวยากหมากแพง
จากการที่น้ำมันมีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจลอจิสติกส์เป็นอย่างมาก แม้รัฐบาลจะพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดราคาน้ำมันลง แต่เป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ประการแรก การขับรถยนต์แบบประหยัดน้ำมัน เช่น ใช้เกียร์ให้ถูกต้อง ดับเครื่องยนต์เมื่อจอด หลีกเลี่ยงการเหยียบคันเร่งมากเกินไป พร้อมกับให้โบนัสแก่คนขับที่สามารถลดการใช้น้ำมันได้ตามเป้าที่กำหนด ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท DHL ได้สอนเกี่ยวกับการขับรถแบบประหยัดน้ำมันแก่พนักงานขับรถยนต์นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้มากถึง 10% โดยระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับบริษัท Blagden Packaging จำกัด ของสหราชอาณาจักร ได้สอนพนักงานเกี่ยวกับการขับรถบรรทุกอย่างถูกต้อง ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้มากถึง 18% ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดอุบัติเหตุและการสึกหรอของรถบรรทุกได้อีกด้วย
สำหรับการขนส่งทางอากาศ บริษัท UPS กำหนดให้เครื่องบินทำการบินด้วยความเร็วที่ประหยัดน้ำมันมากที่สุด หากเครื่องบินลำนั้นๆ ไม่ต้องเร่งรีบในการขนส่งให้ถึงจุดหมายปลายทาง รวมถึงในช่วงแท็กซี่ ซึ่งเป็นช่วงที่เครื่องบินแล่นช้าๆ ภายในสนามบิน ได้กำหนดให้เครื่องบินติดเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น เพื่อประหยัดพลังงาน
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท UPS ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการกำหนดเส้นทางรถยนต์เพื่อจัดส่งพัสดุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคอมพิวเตอร์จะคำนวณเส้นทางให้รถยนต์เลี้ยวซ้ายในบริเวณสี่แยกให้น้อยที่สุด (กรณีของประเทศไทยเป็นการเลี้ยวขวา) มิฉะนั้น รถยนต์จะเสียเวลาและน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นในการหยุดรอเลี้ยว ยิ่งไปกว่านั้น การเลี้ยวซ้ายยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่าการขับตรงหรือเลี้ยวขวาอีกด้วย
สำหรับกรณีของประเทศไทย กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เคยจัดฝึกอบรมคนขับรถบรรทุกซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยและประหยัดพลังงาน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น การเชิญคนขับรถบรรทุกมาอบรมนับเป็นเรื่องยากมาก เพราะเถ้าแก่ไม่ค่อยอนุญาตให้มาฝึกอบรม
ประการที่สอง หลีกเลี่ยงการบรรทุกแบบขาเดียว ขณะที่ขากลับไม่ได้บรรทุกสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในต่างประเทศด้วย โดยกรณีของต่างประเทศ จะมีการแก้ไขโดยเน้นกลไกตลาด
ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท Nistevo Corporation ได้เสนอบริการ On-Demand Transportation Management Solutions โดยผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับรถบรรทุกในแต่ละเที่ยวทั้งในด้านเส้นทาง วันที่ขนส่ง และปริมาณสินค้า เข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งศูนย์คอมพิวเตอร์จะประมวลผลและให้คำเสนอแนะแต่ละบริษัทว่าควรประสานงานการขนส่งกับบริษัทใดบ้างในแต่ละเที่ยวการขนส่ง
แม้กิจการของบริษัท Nistevo Corporation เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2540 แต่ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 6,400 ราย และล่าสุดได้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Sterling Commerce ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท AT&T เมื่อปี 2549
สำหรับกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหานี้แล้วในระดับหนึ่ง เป็นต้นว่า บริษัท ซิเมนต์ไทยลอจิสติกส์ จำกัด เมื่อขนส่งปูนซีเมนต์ในช่วงขาขึ้นไปจำหน่ายยังต่างจังหวัดแล้ว ขาล่องก็พยายามหาสินค้ากลับมาด้วย เช่น กรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขาล่องจะนำเปลือกไม้กลับมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเครือซิเมนต์ไทย หรือกรณีภาคเหนือ ขาล่องจะบรรทุกถ่านลิกไนต์ อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังทำความสะอาดรถบรรทุกก่อน
ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์ Open Source ERP เพื่อใช้ในระบบงานภายในให้แก่สมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือ แก้ไขปัญหาการบรรทุกแบบขาเดียว
ประการที่สาม เพิ่มน้ำหนักบรรทุก โดยผู้ประกอบการรถบรรทุกของไทยได้เรียกร้องขอให้สามารถบรรทุกในน้ำหนักรวม 30 ตัน แต่ท้ายที่สุดเจรจาตกลงกับรัฐบาลได้ที่ 25 ตัน อย่างไรก็ตาม การบรรทุกน้ำมันมากเกินไป แม้จะเกิดประโยชน์ในด้านประหยัดน้ำมัน แต่จะส่งผลกระทบต่อถนน ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจต้องเผชิญกับระบบส่วยสติ๊กเกอร์ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่มีใบเสร็จอีกด้วย
สำหรับในสหรัฐฯ ก็มีการถกเถียงในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอกฎหมายประหยัดน้ำมันรถบรรทุกเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 โดยนาง Susan Collins และนาย Olympia Snowe ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐเมน เพื่อเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกจาก 36.4 ตัน เป็น 45.5 ตัน เป็นการสาธิตเป็นเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะอนุญาตก็ต่อเมื่อในขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลไม่ต่ำกว่า 32 บาท/ลิตร
ส่วนคณะกรรมาธิการด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ก็สนใจออกกฎหมายผ่อนผันในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2551
แต่ข้อเสนอข้างต้นได้รับการคัดค้านจากสมาคมรถไฟของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณสินค้ามากถึง 100-225 ล้านตัน/ปี ซึ่งเปลี่ยนจากการขนส่งทางรถไฟมาเป็นการขนส่งทางถนน แทนที่จะประหยัดน้ำมัน กลับจะส่งผลทำให้ประเทศสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มมากขึ้นถึง 2,000-3,500 ล้านลิตร/ปี
อีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มน้ำหนักบรรทุก แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อถนน คือ การใช้รถพ่วง โดยนวัตกรรมสำคัญที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในออสเตรเลีย คือ รถบรรทุกพ่วงแบบที่เรียกว่า B-Double สามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ได้มากถึง 3 ตู้ มากกว่ารถกึ่งพ่วงปกติ (Semi-Trailer) ซึ่งขนส่งได้ครั้งละ 2 ตู้ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีเป็นรถบรรทุกพ่วงแบบ Super B-Double แล้ว สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ได้มากถึง 4 ตู้ รวมน้ำหนักสินค้าและรถยนต์มากถึง 68 ตัน
อนึ่ง สำหรับรถบรรทุกพ่วงแบบ B-Double นี้ ได้เคยทดลองขนส่งในประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับบริษัท พนัสแอสเซมบลี่ย์ จำกัด และบริษัท ลินฟอกซ์ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใน 3 เส้นทาง พบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่ารถกึ่งพ่วงและรถ 10 ล้อ มากถึง 12-20% และ 22-30% ตามลำดับ
ประการที่สี่ การปรับรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) เป็นการปรับเปลี่ยนการขนส่งทางถนน มาเป็นการขนส่งทางน้ำและระบบราง ซึ่งทำให้ประหยัดน้ำมันมากกว่า โดยน้ำมัน 1 ลิตรเท่ากัน ในการขนส่งระยะทาง 1 กม. สามารถขนส่งได้มากถึง 217.6 และ 85.5 ตัน ตามลำดับ
สำหรับในต่างประเทศ มีนโยบายส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนการขนส่งสินค้า หรือ Modal Shift Mode อย่างจริงจัง เป็นต้นว่า ออสเตรเลียได้กำหนดให้การขนถ่านหินต้องดำเนินการทางรถไฟเท่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาการจราจรติดขัด โดยในปี 2548 ออสเตรเลียได้ส่งออกถ่านหินจำนวน 234 ล้านตัน และขนส่งไปยังท่าเรือโดยใช้รถไฟเป็นสัดส่วนสูงถึง 97% ของทั้งหมด
ปัญหาสำคัญของออสเตรเลีย คือ เส้นทางรถไฟที่ใช้ในการขนส่งนั้น เป็นเส้นทางที่ใช้ร่วมกับรถไฟขนส่งมวลชนและรถไฟขนส่งสินค้า ทำให้ขบวนรถไฟขนส่งถ่านหินต้องเสียเวลาหยุดรอรถไฟขนส่งมวลชน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถรองรับปริมาณการขนถ่ายถ่านหินที่เพิ่มขึ้นได้ รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้วางแผนก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมในจุดที่เป็นคอขวด เป็นต้นว่า การก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมในเส้นทาง Southern Sydney Freight Line ความยาว 36 กม. สำหรับรถไฟขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ เพื่อลดปัญหาความล่าช้าที่รถไฟขนส่งสินค้าต้องเสียเวลาจอดรอรถไฟขนส่งผู้โดยสาร
สำหรับกรณีของฝรั่งเศส มีรถไฟแบบ TGV ที่มีความเร็วสูงถึง 300 กม./ชั่วโมง ซึ่งมีศักยภาพที่จะขนส่งพัสดุด่วนทดแทนการขนส่งทางเครื่องบินได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงมีโครงการ Carex ซึ่งย่อมาจากคำว่า Cargo Rail Express โดยต่อโบกี้สำหรับขนส่งพัสดุด่วนพ่วงไปกับขบวนรถไฟความเร็วสูงเหล่านี้ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำมันเป็นอย่างมาก ขณะที่ระยะเวลาในการขนส่งใกล้เคียงกัน
จากการที่น้ำมันมีราคาแพง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจลอจิสติกส์ของไทยต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนมาสู่การขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น เป็นต้นว่า เครือซิเมนต์ไทยเดิมส่งออกปูนซีเมนต์ต้องใช้รถบรรทุกมาที่ท่าเรือ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้เรือ Lighter โดยบรรทุกลงเรือที่แม่น้ำป่าสักแล้วล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ยิ่งไปกว่านั้น ในการเดินทางขากลับ แทนที่จะเป็นเรือเปล่า ก็บรรทุกถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ
บริษัท เอส ซี กรุ๊ป จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเปิดให้บริการเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดระวางบรรทุก 60 ตู้/ลำ จำนวนมากถึง 34 ลำ ในเส้นทางระหว่างท่าเรือในลำน้ำเจ้าพระยาไปท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก
ประการสุดท้าย แปรรูปของเสียมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งนอกจากจะสามารถนำของเสียมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เป็นต้นว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้นำน้ำมันพืชที่เหลือใช้จากการทอดไก่และกุ้ง มาแปรรูปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้กับรถขนส่งสินค้าภายในโรงงาน
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
จากการที่น้ำมันมีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจลอจิสติกส์เป็นอย่างมาก แม้รัฐบาลจะพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดราคาน้ำมันลง แต่เป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ประการแรก การขับรถยนต์แบบประหยัดน้ำมัน เช่น ใช้เกียร์ให้ถูกต้อง ดับเครื่องยนต์เมื่อจอด หลีกเลี่ยงการเหยียบคันเร่งมากเกินไป พร้อมกับให้โบนัสแก่คนขับที่สามารถลดการใช้น้ำมันได้ตามเป้าที่กำหนด ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท DHL ได้สอนเกี่ยวกับการขับรถแบบประหยัดน้ำมันแก่พนักงานขับรถยนต์นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้มากถึง 10% โดยระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับบริษัท Blagden Packaging จำกัด ของสหราชอาณาจักร ได้สอนพนักงานเกี่ยวกับการขับรถบรรทุกอย่างถูกต้อง ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้มากถึง 18% ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดอุบัติเหตุและการสึกหรอของรถบรรทุกได้อีกด้วย
สำหรับการขนส่งทางอากาศ บริษัท UPS กำหนดให้เครื่องบินทำการบินด้วยความเร็วที่ประหยัดน้ำมันมากที่สุด หากเครื่องบินลำนั้นๆ ไม่ต้องเร่งรีบในการขนส่งให้ถึงจุดหมายปลายทาง รวมถึงในช่วงแท็กซี่ ซึ่งเป็นช่วงที่เครื่องบินแล่นช้าๆ ภายในสนามบิน ได้กำหนดให้เครื่องบินติดเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น เพื่อประหยัดพลังงาน
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท UPS ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการกำหนดเส้นทางรถยนต์เพื่อจัดส่งพัสดุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคอมพิวเตอร์จะคำนวณเส้นทางให้รถยนต์เลี้ยวซ้ายในบริเวณสี่แยกให้น้อยที่สุด (กรณีของประเทศไทยเป็นการเลี้ยวขวา) มิฉะนั้น รถยนต์จะเสียเวลาและน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นในการหยุดรอเลี้ยว ยิ่งไปกว่านั้น การเลี้ยวซ้ายยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่าการขับตรงหรือเลี้ยวขวาอีกด้วย
สำหรับกรณีของประเทศไทย กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เคยจัดฝึกอบรมคนขับรถบรรทุกซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยและประหยัดพลังงาน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น การเชิญคนขับรถบรรทุกมาอบรมนับเป็นเรื่องยากมาก เพราะเถ้าแก่ไม่ค่อยอนุญาตให้มาฝึกอบรม
ประการที่สอง หลีกเลี่ยงการบรรทุกแบบขาเดียว ขณะที่ขากลับไม่ได้บรรทุกสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในต่างประเทศด้วย โดยกรณีของต่างประเทศ จะมีการแก้ไขโดยเน้นกลไกตลาด
ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท Nistevo Corporation ได้เสนอบริการ On-Demand Transportation Management Solutions โดยผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับรถบรรทุกในแต่ละเที่ยวทั้งในด้านเส้นทาง วันที่ขนส่ง และปริมาณสินค้า เข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งศูนย์คอมพิวเตอร์จะประมวลผลและให้คำเสนอแนะแต่ละบริษัทว่าควรประสานงานการขนส่งกับบริษัทใดบ้างในแต่ละเที่ยวการขนส่ง
แม้กิจการของบริษัท Nistevo Corporation เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2540 แต่ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากถึง 6,400 ราย และล่าสุดได้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Sterling Commerce ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท AT&T เมื่อปี 2549
สำหรับกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหานี้แล้วในระดับหนึ่ง เป็นต้นว่า บริษัท ซิเมนต์ไทยลอจิสติกส์ จำกัด เมื่อขนส่งปูนซีเมนต์ในช่วงขาขึ้นไปจำหน่ายยังต่างจังหวัดแล้ว ขาล่องก็พยายามหาสินค้ากลับมาด้วย เช่น กรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขาล่องจะนำเปลือกไม้กลับมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเครือซิเมนต์ไทย หรือกรณีภาคเหนือ ขาล่องจะบรรทุกถ่านลิกไนต์ อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังทำความสะอาดรถบรรทุกก่อน
ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์ Open Source ERP เพื่อใช้ในระบบงานภายในให้แก่สมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือ แก้ไขปัญหาการบรรทุกแบบขาเดียว
ประการที่สาม เพิ่มน้ำหนักบรรทุก โดยผู้ประกอบการรถบรรทุกของไทยได้เรียกร้องขอให้สามารถบรรทุกในน้ำหนักรวม 30 ตัน แต่ท้ายที่สุดเจรจาตกลงกับรัฐบาลได้ที่ 25 ตัน อย่างไรก็ตาม การบรรทุกน้ำมันมากเกินไป แม้จะเกิดประโยชน์ในด้านประหยัดน้ำมัน แต่จะส่งผลกระทบต่อถนน ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจต้องเผชิญกับระบบส่วยสติ๊กเกอร์ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่มีใบเสร็จอีกด้วย
สำหรับในสหรัฐฯ ก็มีการถกเถียงในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอกฎหมายประหยัดน้ำมันรถบรรทุกเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 โดยนาง Susan Collins และนาย Olympia Snowe ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐเมน เพื่อเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกจาก 36.4 ตัน เป็น 45.5 ตัน เป็นการสาธิตเป็นเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะอนุญาตก็ต่อเมื่อในขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลไม่ต่ำกว่า 32 บาท/ลิตร
ส่วนคณะกรรมาธิการด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ก็สนใจออกกฎหมายผ่อนผันในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2551
แต่ข้อเสนอข้างต้นได้รับการคัดค้านจากสมาคมรถไฟของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณสินค้ามากถึง 100-225 ล้านตัน/ปี ซึ่งเปลี่ยนจากการขนส่งทางรถไฟมาเป็นการขนส่งทางถนน แทนที่จะประหยัดน้ำมัน กลับจะส่งผลทำให้ประเทศสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มมากขึ้นถึง 2,000-3,500 ล้านลิตร/ปี
อีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มน้ำหนักบรรทุก แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อถนน คือ การใช้รถพ่วง โดยนวัตกรรมสำคัญที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในออสเตรเลีย คือ รถบรรทุกพ่วงแบบที่เรียกว่า B-Double สามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ได้มากถึง 3 ตู้ มากกว่ารถกึ่งพ่วงปกติ (Semi-Trailer) ซึ่งขนส่งได้ครั้งละ 2 ตู้ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีเป็นรถบรรทุกพ่วงแบบ Super B-Double แล้ว สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ได้มากถึง 4 ตู้ รวมน้ำหนักสินค้าและรถยนต์มากถึง 68 ตัน
อนึ่ง สำหรับรถบรรทุกพ่วงแบบ B-Double นี้ ได้เคยทดลองขนส่งในประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับบริษัท พนัสแอสเซมบลี่ย์ จำกัด และบริษัท ลินฟอกซ์ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใน 3 เส้นทาง พบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่ารถกึ่งพ่วงและรถ 10 ล้อ มากถึง 12-20% และ 22-30% ตามลำดับ
ประการที่สี่ การปรับรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) เป็นการปรับเปลี่ยนการขนส่งทางถนน มาเป็นการขนส่งทางน้ำและระบบราง ซึ่งทำให้ประหยัดน้ำมันมากกว่า โดยน้ำมัน 1 ลิตรเท่ากัน ในการขนส่งระยะทาง 1 กม. สามารถขนส่งได้มากถึง 217.6 และ 85.5 ตัน ตามลำดับ
สำหรับในต่างประเทศ มีนโยบายส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนการขนส่งสินค้า หรือ Modal Shift Mode อย่างจริงจัง เป็นต้นว่า ออสเตรเลียได้กำหนดให้การขนถ่านหินต้องดำเนินการทางรถไฟเท่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาการจราจรติดขัด โดยในปี 2548 ออสเตรเลียได้ส่งออกถ่านหินจำนวน 234 ล้านตัน และขนส่งไปยังท่าเรือโดยใช้รถไฟเป็นสัดส่วนสูงถึง 97% ของทั้งหมด
ปัญหาสำคัญของออสเตรเลีย คือ เส้นทางรถไฟที่ใช้ในการขนส่งนั้น เป็นเส้นทางที่ใช้ร่วมกับรถไฟขนส่งมวลชนและรถไฟขนส่งสินค้า ทำให้ขบวนรถไฟขนส่งถ่านหินต้องเสียเวลาหยุดรอรถไฟขนส่งมวลชน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถรองรับปริมาณการขนถ่ายถ่านหินที่เพิ่มขึ้นได้ รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้วางแผนก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมในจุดที่เป็นคอขวด เป็นต้นว่า การก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมในเส้นทาง Southern Sydney Freight Line ความยาว 36 กม. สำหรับรถไฟขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ เพื่อลดปัญหาความล่าช้าที่รถไฟขนส่งสินค้าต้องเสียเวลาจอดรอรถไฟขนส่งผู้โดยสาร
สำหรับกรณีของฝรั่งเศส มีรถไฟแบบ TGV ที่มีความเร็วสูงถึง 300 กม./ชั่วโมง ซึ่งมีศักยภาพที่จะขนส่งพัสดุด่วนทดแทนการขนส่งทางเครื่องบินได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงมีโครงการ Carex ซึ่งย่อมาจากคำว่า Cargo Rail Express โดยต่อโบกี้สำหรับขนส่งพัสดุด่วนพ่วงไปกับขบวนรถไฟความเร็วสูงเหล่านี้ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำมันเป็นอย่างมาก ขณะที่ระยะเวลาในการขนส่งใกล้เคียงกัน
จากการที่น้ำมันมีราคาแพง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจลอจิสติกส์ของไทยต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนมาสู่การขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น เป็นต้นว่า เครือซิเมนต์ไทยเดิมส่งออกปูนซีเมนต์ต้องใช้รถบรรทุกมาที่ท่าเรือ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้เรือ Lighter โดยบรรทุกลงเรือที่แม่น้ำป่าสักแล้วล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ยิ่งไปกว่านั้น ในการเดินทางขากลับ แทนที่จะเป็นเรือเปล่า ก็บรรทุกถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ
บริษัท เอส ซี กรุ๊ป จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเปิดให้บริการเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดระวางบรรทุก 60 ตู้/ลำ จำนวนมากถึง 34 ลำ ในเส้นทางระหว่างท่าเรือในลำน้ำเจ้าพระยาไปท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก
ประการสุดท้าย แปรรูปของเสียมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งนอกจากจะสามารถนำของเสียมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เป็นต้นว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้นำน้ำมันพืชที่เหลือใช้จากการทอดไก่และกุ้ง มาแปรรูปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้กับรถขนส่งสินค้าภายในโรงงาน
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th