เสน่ห์สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเมืองไทย เสมือนแม่เหล็กดึงดูดชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาสัมผัสความงามที่ธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ไว้ ยิ่งนักท่องเที่ยวต่างมุ่งหน้ามาเที่ยวมากเท่าไหร่ ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม ต่างเฟ้นหาพนักงานมาคอยบริการมากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงพยายามปั้นนักศึกษาคุณภาพมาป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนนักศึกษาที่จบออกมานั้นยังน้อยกว่าตลาดแรงงานต้องการ
วีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เล่าว่า สอศ.ได้วางแผนปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการโรงแรมให้เป็นสากล ชนิดที่ว่าเมื่อจบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทั้งภายในประเทศหรือต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะปั้นนักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ สอศ.ได้เร่งพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเป็นลำดับแรก เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนจบมาแล้วก็มาสอนทันทีโดยไม่มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริการ พูดได้ว่ารู้แต่ทฤษฎีไม่เคยลงมือปฏิบัติ ต่างจากอาจารย์ต่างประเทศส่วนใหญ่ที่จะอยู่ภาคสนามนับสิบปีก่อนจะมาเป็นอาจารย์สอน ทำให้สามารถประสบการณ์ตรงให้ลูกศิษย์ได้รับรู้
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับหลักสูตรนี้ สอศ.ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมไทย-ออสเตรเลีย” ที่วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ จังหวัดกระบี่ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร โดยความร่วมมือกับภาคเอกชน เน้นในพื้นที่ภูมิภาคชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่เคยประสบภัยสึนามิ
“ศูนย์แห่งนี้ ทางออสเตรเลียจะส่งอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม มาถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่อาจารย์ชาวไทย จากนั้นให้อาจารย์นำความรู้ไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์”
“ปีการศึกษานี้เป็นต้นไป หลักสูตรนี้ตลอดจนสไตล์การเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเน้นให้นักศึกษาทุกคนฟุตฟิตฟอไฟได้อย่างคล่องปรือ รวมถึงมารยาทต่างๆ เกี่ยวกับการให้บริการ ส่วนภาคปฏิบัติจะให้ไปฝึกปฏิบัติในโรงแรมหรือแหล่งท่องเที่ยว”
เลขาฯ สอศ.เล่าต่อว่า นอกจากปรับหลักสูตรให้เป็นอินเตอร์แล้ว การเปิดปิดภาคเรียนจะปรับให้สอดคล้องกับฤดูท่องเที่ยว อย่างแถบทะเลอันดามัน ชาวต่างชาติส่วนมากจะเดินทางมาเที่ยวช่วงเดือนพ.ย.-พ.ค. สำหรับเดือนที่เหลือจะมาที่ปะปราย ดังนั้น วิทยาลัยจะปรับตารางเรียนให้สอดรับกับฤดูท่องเที่ยว
หมายความว่า จะให้นักศึกษาไปฝึกปฏิบัติตามโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ช่วงฤดูท่องเที่ยว พอช่วงโลว์ซีซันให้มาเรียนทฤษฎีมากขึ้น แต่ยังจัดตารางผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติงาน เพียงแต่จำนวนวันน้อยลง
“วิธีการนี้จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าของธุรกิจมีนักศึกษามาช่วยเสริมแรงงานส่วนที่ขาด ขณะเดียวกันนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง พร้อมได้ค่าตอบแทนในการทำงาน นำเงินที่ได้รับมาใช้จ่ายระหว่างเรียนโดยไม่ต้องแบมือขอผู้ปกครอง”
ด้าน วิลเลี่ยม แพทเทอร์สัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก กระทรวงศึกษาธิการ การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยภารกิจสำคัญคือการฝึกอบรมแก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งหมด 9 แห่งในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ระนอง พังงา สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยในเบื้องต้นจนถึงขณะนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมไปแล้วในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมาย การจัดการฝึกอบรมภาษาอังกฤษและวิชชาชีพที่ Northren Sydney Institute ประเทศออสเตรเลีย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องให้แก่อาจารย์ การฝึกอบรมเรื่องการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร และการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา เป็นต้น
“ผมเชื่อมั่นว่า ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความสามารถ นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลียในการจัดโครงการฝึกอบรมที่มีความยั่งยืน เพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะและความรู้ของคนไทยท้องถิ่นที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม มีพันธกิจอันมุ่งมั่นในการที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบในด้านการจัดโปรแกรมพัฒนาวิชาชีพทางด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่มีคุณภาพในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯจะทำงานด้านการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ”
ขณะที่แอนน์เรย์โนลด์ส ที่ปรึกษาทูต สำนักงานการศึกษาออสเตรเลียแห่งนานาชาติ เสริมว่า ศูนย์แห่งนี้จะสนับสนุนความต้องการของชุมชนท้องถิ่นในการถ่ายกลยุทธ์การฝึกอบรมเชิงวิชาชีพ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมฟื้นตัวได้เต็มที่ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์พิบัติภัยสึกนามิ และหวังว่า จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนสำหรับบุคลาการในภูมิภาคต่อไป
ส่วนพัชรา พูลโภคพล นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ให้ภาพเพิ่มเติมว่า ในหลายจังหวัดภาคใต้ ขาดแคลนแรงงานภาคบริการจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่ สอศ.ปรับตารางเรียนให้สอดรับกับฤดูท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวทุกแห่งต้องการนักศึกษาหรือแรงงานที่รักการให้บริการ สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ ดี ไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี