ผู้จัดการรายวัน - ผลการสอบสวนกรณีตระกูลชิดชอบบุกรุกที่ดินการรถไฟ 2 แปลง จ.บุรีรัมย์ ไม่คืบ กรมที่ดินครวญเสียงส่วนใหญ่กรรมการสั่งไม่เพิกถอน อ้างไม่สามารถชี้จุดได้ชัดเจน ขณะที่อีก 2 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่ลงบุรีรัมย์สอบข้อมูลที่ดินเพิ่ม พร้อมสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน 13,000 ไร่ ของบริษัท อินเตอร์ปาล์มฯ เกี่ยวโยง "อัศวเหม" จับตางานนี้กระทบแบงก์กรุงเทพ ส่วนปัญหาที่ดินศรีสุบรรณฟาร์ม รอกรุงไทยยื่นคำคัดค้าน
ความพยายามของกระทรวงมหาดไทยที่ได้สั่งการให้กรมที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการได้มาซึ่งเอกสิทธิ์ในที่ดินว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีหลายกรณี ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้กำชับและมอบหมายให้กรมที่ดินดำเนินการ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก.ของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด เกี่ยวข้องกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าเครือหวาย อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ที่มีการเชื่อมโยงไปถึงนายธนาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนสีลม เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้น "มาตรฐาน"ในการตรวจสอบกลับมีความไม่เป็นสแตนดาร์ด โดยเฉพาะการบุกรุกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ตำบลอิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่กว่า 37 ไร่ โดยที่ดินแปลงแรกเนื้อที่กว่า 7 ไร่ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2515 โดยนายชัย ชิดชอบ (ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์) และต่อมาในปี 2535 ได้ขายให้แก่โรงโม่หินศิลาชัยซึ่งเป็นกิจการของตนเอง ส่วนแปลงหลังเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2518 โดยนายประพันธ์ สมานประธาน อดีตประธานสภาจังหวัดบุรีรัมย์ และต่อมาในปี 2536 และ 2540 ได้ขายเปลี่ยนมือให้นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนางกรุณา ชิดชอบ ตามลำดับ ก่อนจะนำที่ดินทั้ง 2 แปลงเข้าจำนองกับธนาคารกรุงไทย (KTB) และเอกชนในปี 2540 รวมวงเงินกว่า 70 ล้านบาท ก่อนจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวกรมที่ดินกล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 4 ท่าน ได้ให้ความเห็นกับการสอบสวนการบุกรุกที่ดินใน จ.บุรีรัมย์ โดยประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เห็นให้เพิกถอน แต่อีก 3 กรรมการ ได้แก่นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ นายก อบต.อีสาน และเจ้าหน้าที่ระดับ 6 ของกรมที่ดิน มีความเห็นไม่ให้เพิกถอน เนื่องจากที่ดินจำนวน 2 แปลงมีปัญหาไม่สามารถชี้จุดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเมื่อปี 2462 ซึ่งยังไม่มีการทำระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ขณะที่หลักฐานการออกเอกสารสิทธิ์ที่มีอยู่เดิมก็ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามภายใน 2 อาทิตย์ เจ้าพนักงานสอบสวน จ.บุรีรัมย์ จะมาสอบสวนทางด้านวิชาการกับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินเพิ่มเติมอีก รวมถึงจะมีการนำแผนที่ภาพถ่ายทางทหาร เพื่อนำมาแปรภาพแผนที่ก่อนดำเนินการเทียบเคียงกับที่ดินที่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ในกระบวนการแปรภาพแผนที่ จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาแปรภาพถ่ายขึ้นมาหนึ่งชุด เนื่องจากการจะเพิกถอนโฉนดที่ดินนั้น สิ่งสำคัญแล้ว ทางกรมที่ดินจะต้องแน่ชัด มีหลักฐานทางเอกสาร มีบุคคลมาเป็นพยาน ก่อนตัดสินใจว่าจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 2 แปลงหรือไม่
"เมื่อกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบยังไม่มีความเป็นเอกฉันท์ ก็ควรต้องตรวจสอบ ไม่ใช่มีเสียง 70 หรือ 30 แต่ต้องเห็นพ้องกัน " แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับที่ดินจำนวน 2 แปลงที่มีปัญหานั้น อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟสายพิเศษที่แยกตัวออกจากเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี บริเวณหน้าโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคมก่อนถึงสถานีบุรีรัมย์ประมาณ 100 เมตร โดยตัดผ่านทุ่งนาและที่ดินว่างเปล่าในเขต ต.อีสาน และมีจุดสิ้นสุดเส้นทางบริเวณโรงโม่หินศิลาชัยของตระกูลชิดชอบ และอยู่ใกล้กับเขตวนอุทยานแห่งชาติเขากระโดง ซึ่งเส้นทางดังกล่าวใช้ในการลำเลียงหินที่สกัดแล้วจากโรงโม่หินเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เส้นทางสำหรับขนถ่ายผู้โดยสารแต่อย่างใด
ยึดอัศวเหม 1.3 หมื่นไร่กระทบบัวหลวง
ในส่วนของความคืบหน้าการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ จ.พังงา นายสุชาติ ดอกไม้เพ็ง โฆษกกรมที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนการเพิกถอน น.ส.3 ก.ในท้องที่อำเภอกะปง จ.พังงา ของบริษัท อินเตอร์ปาล์ม ออยล์ อินดัสทรีส์ จำกัด (ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งมีการนำที่ดินดังกล่าวไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารกรุงเทพฯ ) จากการที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฎผลการดำเนินการดังนี้ ให้เพิกถอนแล้ว จำนวน 598 แปลง เนื้อที่ประมาณ 12,500 ไร่ แก้ไขจำนวน 20 แปลง เนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯตามมาตรา 61 จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ มีจำนวน 2 แปลง ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1 แปลง
สำหรับการออกหนังสือแสดงสิทธิใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อพัฒนาเป็นรีสอร์ท โรงแรม และสนามกอล์ฟ ของบริษัท สยามเมอริกา พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด นั้น ล่าสุดมีจำนวน 112 แปลง ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย อีก 51 แปลง ที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินได้เพิกถอนไปแล้ว 3 แปลง อยู่ระหว่างตรวจสอบ 48 แปลง
รอกรุงไทยค้านกรณีศรีสุบรรณฟาร์ม
การดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก.ของบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ซึ่งได้ออกไปโดยไม่ขอบด้วยกฎหมายนั้น ขณะนี้ ทางบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ในฐานะเจ้าของ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว ส่วนธนาคารกรุงไทย(KTB) ในฐานะผู้รับจำนอง ยังไม่ได้ยื่นคำคัดค้านแต่อย่างใด
"เราไม่รู้ว่า ที่ดินของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม มีการทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงไทยหรือไม่ ซึ่งหากต่อไปมีการเพิกถอนแล้ว ทางแบงก์อาจจะต้องมีการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม หรือไม่งั้นทางแบงก์อาจจะต้องตั้งสำรองหนี้ก็เป็นไปได้ ตรงนี้ต้องรอการชี้แจงจากแบงก์กรุงไทยก่อน"แหล่งข่าว กล่าว
ความพยายามของกระทรวงมหาดไทยที่ได้สั่งการให้กรมที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการได้มาซึ่งเอกสิทธิ์ในที่ดินว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีหลายกรณี ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้กำชับและมอบหมายให้กรมที่ดินดำเนินการ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก.ของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด เกี่ยวข้องกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าเครือหวาย อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ที่มีการเชื่อมโยงไปถึงนายธนาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนสีลม เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้น "มาตรฐาน"ในการตรวจสอบกลับมีความไม่เป็นสแตนดาร์ด โดยเฉพาะการบุกรุกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ตำบลอิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่กว่า 37 ไร่ โดยที่ดินแปลงแรกเนื้อที่กว่า 7 ไร่ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2515 โดยนายชัย ชิดชอบ (ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์) และต่อมาในปี 2535 ได้ขายให้แก่โรงโม่หินศิลาชัยซึ่งเป็นกิจการของตนเอง ส่วนแปลงหลังเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2518 โดยนายประพันธ์ สมานประธาน อดีตประธานสภาจังหวัดบุรีรัมย์ และต่อมาในปี 2536 และ 2540 ได้ขายเปลี่ยนมือให้นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนางกรุณา ชิดชอบ ตามลำดับ ก่อนจะนำที่ดินทั้ง 2 แปลงเข้าจำนองกับธนาคารกรุงไทย (KTB) และเอกชนในปี 2540 รวมวงเงินกว่า 70 ล้านบาท ก่อนจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวกรมที่ดินกล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 4 ท่าน ได้ให้ความเห็นกับการสอบสวนการบุกรุกที่ดินใน จ.บุรีรัมย์ โดยประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เห็นให้เพิกถอน แต่อีก 3 กรรมการ ได้แก่นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ นายก อบต.อีสาน และเจ้าหน้าที่ระดับ 6 ของกรมที่ดิน มีความเห็นไม่ให้เพิกถอน เนื่องจากที่ดินจำนวน 2 แปลงมีปัญหาไม่สามารถชี้จุดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเมื่อปี 2462 ซึ่งยังไม่มีการทำระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ขณะที่หลักฐานการออกเอกสารสิทธิ์ที่มีอยู่เดิมก็ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามภายใน 2 อาทิตย์ เจ้าพนักงานสอบสวน จ.บุรีรัมย์ จะมาสอบสวนทางด้านวิชาการกับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินเพิ่มเติมอีก รวมถึงจะมีการนำแผนที่ภาพถ่ายทางทหาร เพื่อนำมาแปรภาพแผนที่ก่อนดำเนินการเทียบเคียงกับที่ดินที่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ในกระบวนการแปรภาพแผนที่ จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาแปรภาพถ่ายขึ้นมาหนึ่งชุด เนื่องจากการจะเพิกถอนโฉนดที่ดินนั้น สิ่งสำคัญแล้ว ทางกรมที่ดินจะต้องแน่ชัด มีหลักฐานทางเอกสาร มีบุคคลมาเป็นพยาน ก่อนตัดสินใจว่าจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 2 แปลงหรือไม่
"เมื่อกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบยังไม่มีความเป็นเอกฉันท์ ก็ควรต้องตรวจสอบ ไม่ใช่มีเสียง 70 หรือ 30 แต่ต้องเห็นพ้องกัน " แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับที่ดินจำนวน 2 แปลงที่มีปัญหานั้น อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟสายพิเศษที่แยกตัวออกจากเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี บริเวณหน้าโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคมก่อนถึงสถานีบุรีรัมย์ประมาณ 100 เมตร โดยตัดผ่านทุ่งนาและที่ดินว่างเปล่าในเขต ต.อีสาน และมีจุดสิ้นสุดเส้นทางบริเวณโรงโม่หินศิลาชัยของตระกูลชิดชอบ และอยู่ใกล้กับเขตวนอุทยานแห่งชาติเขากระโดง ซึ่งเส้นทางดังกล่าวใช้ในการลำเลียงหินที่สกัดแล้วจากโรงโม่หินเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เส้นทางสำหรับขนถ่ายผู้โดยสารแต่อย่างใด
ยึดอัศวเหม 1.3 หมื่นไร่กระทบบัวหลวง
ในส่วนของความคืบหน้าการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ จ.พังงา นายสุชาติ ดอกไม้เพ็ง โฆษกกรมที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนการเพิกถอน น.ส.3 ก.ในท้องที่อำเภอกะปง จ.พังงา ของบริษัท อินเตอร์ปาล์ม ออยล์ อินดัสทรีส์ จำกัด (ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งมีการนำที่ดินดังกล่าวไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารกรุงเทพฯ ) จากการที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฎผลการดำเนินการดังนี้ ให้เพิกถอนแล้ว จำนวน 598 แปลง เนื้อที่ประมาณ 12,500 ไร่ แก้ไขจำนวน 20 แปลง เนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯตามมาตรา 61 จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ มีจำนวน 2 แปลง ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1 แปลง
สำหรับการออกหนังสือแสดงสิทธิใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อพัฒนาเป็นรีสอร์ท โรงแรม และสนามกอล์ฟ ของบริษัท สยามเมอริกา พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด นั้น ล่าสุดมีจำนวน 112 แปลง ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย อีก 51 แปลง ที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินได้เพิกถอนไปแล้ว 3 แปลง อยู่ระหว่างตรวจสอบ 48 แปลง
รอกรุงไทยค้านกรณีศรีสุบรรณฟาร์ม
การดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก.ของบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ซึ่งได้ออกไปโดยไม่ขอบด้วยกฎหมายนั้น ขณะนี้ ทางบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ในฐานะเจ้าของ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว ส่วนธนาคารกรุงไทย(KTB) ในฐานะผู้รับจำนอง ยังไม่ได้ยื่นคำคัดค้านแต่อย่างใด
"เราไม่รู้ว่า ที่ดินของบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม มีการทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงไทยหรือไม่ ซึ่งหากต่อไปมีการเพิกถอนแล้ว ทางแบงก์อาจจะต้องมีการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม หรือไม่งั้นทางแบงก์อาจจะต้องตั้งสำรองหนี้ก็เป็นไปได้ ตรงนี้ต้องรอการชี้แจงจากแบงก์กรุงไทยก่อน"แหล่งข่าว กล่าว