กรมบังคับคดี ขอให้ศาลแพ่งจำจัดความหมายของคำว่า “เปิดทาง” กรณีศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กลุ่ม นปช.เปิดทางเข้าออกทำเนียบ ระบุ หมายถึงต้องจัดการรื้อถอนสิ่งกีดขวางด้วยหรือไม่ เพราะเกรงจะทำเกินคำสั่งศาล
วันนี้ (3 เม.ย.) นายสิรวัต จันทรัฐ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า แม้ว่ากรมบังคับคดีจะได้รับหมายบังคับคดีให้ผู้ประท้วงกลุ่มเสื้อแดงเปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลบริเวณประตู 6 และประตู 8 แล้ว แต่ยังไม่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำหมายบังคับคดีไปติดประกาศ เนื่องจากอยู่ระหว่างการที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังศาลแพ่ง เพื่อหารือถึงคำจำกัดความของคำว่า เปิดทาง ซึ่งจะให้หมายถึงรื้อถอนสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดทางด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กรมบังคับคดีถูกตำหนิว่า ทำเกินกว่าคำสั่งศาลเช่นที่ผ่านมา ส่วนกรมบังคับคดีจะดำเนินการอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับศาลจะมีคำสั่งที่ชัดเจนลงมาอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ภายหลังจากที่ นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุกสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ 3 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลยเรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พวกจำเลยพร้อมบริวารเปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล โดยมีคำสั่งระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติไว้ว่า ประชาชนย่อมมีสิทธิ์ในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ และวรรคสองบัญญัติว่า สิทธิการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง ไม่สามารถละเมิดได้ แต่การที่จำเลยทั้ง 3 นำกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบ ทำให้ข้าราชการตลอดจนเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสะดวกตามสมควร อีกทั้งมีการใช้เครื่องขยายเสียงดังตลอดเวลา ซึ่งเป็นการรบกวนการทำงาน ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิ์เกินสมควร จึงเห็นควรให้นำเอามาตรการคุ้มครองมาใช้ โดยมีคำสั่งให้ จำเลยทั้ง 3 เปิดถนนลูกหลวง ซึ่งเป็นยทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่แยกเทวกรรมถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเปิดประตูที่ 6 และ 8 ของทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ข้าราชการของโจทก์ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และผู้ที่ไปติดต่อราชการสามารถเข้าออกได้ และให้ใช้เครื่องขยายเสียงในความดังที่เหมาะสม ไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเวลาทำการวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.โดยคำสั่งให้มีผลทันที
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ทาง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ระบุว่า จะเดินทางนำหมายบังคับคดีไปปิดยังสถานที่ศาลแพ่งระบุด้วย
ต่อมามีรายงานข่าวจากศาลแพ่งแจ้งว่า ตามที่เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดี แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นหน่วยงานหลักในการปิดหมายบังคับคดี และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้กลุ่มคนเสื้อแดงเปิดถนนลูกหลวง ตั้งแต่แยกเทวกรรม จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ และเปิดประตูทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลที่ 6 และ 8 โดยหมายแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางเข้าออก เนื่องจากคำสั่งศาลแพ่งมีความชัดเจนในตัวแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถือเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หากเห็นว่า ส่วนใดเป็นการขัดขวางก็สามารถดำเนินการได้ โดยระวังให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่บังคับคดีได้รับหมายบังคับคดีก็สามารถดำเนินการได้ทันที