xs
xsm
sm
md
lg

ได้ทีรัฐบาล! ศาลแพ่งสั่งพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล
ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล มีผลทันที อ้างเหตุการณ์นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 คุ้มครอง

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องของ ข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดย นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ นายเมธี ใจสมุทร ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-6 ฐานละเมิด และฟ้องขับไล่ ทั้งนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ

สำหรับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินมีใจความสอดคล้องกัน ว่า พวกโจทก์ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดถนน และบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่รัฐบาล ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ และทำให้ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และในวันที่ 27 ส.ค.2551 เวลา 11.30 น.พวกจำเลยที่ 1-6 กับพวกได้เข้าประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในทำเนียบรัฐบาลจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ส.ค.2550 ทำเนียบรัฐบาลมีกำหนดการสำคัญ ในงาน “จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล” การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบสิทธิหน้าที่ และทรัพย์สินของบุคคลอื่น จึงมีเหตุฉุกเฉิน ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน

โดย นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความจำเลยที่ 1-6 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ โดย นายสุวัตร เปิดเผยว่า ในวันนี้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลแพ่ง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า การนำประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 เรื่องการคุ้มครองชั่วคราว มาบังคับขับไล่ให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธหรือไม่ เนื่องจากการเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล แม้จะเป็นสถานที่ราชการ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้บุกเข้าไปภายในอาคาร สำนักงานของทำเนียบรัฐบาล เพียงแต่นั่งชุมนุมกันที่สนามหญ้า ซึ่งเป็นการยกระดับการแสดงอารยะขัดขืน ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมเท่านั้น

ต่อมาศาลได้ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง จำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ ผอ.สำนักสถานที่และรักษาความปลอดภัย ทำเนียบรัฐบาล นายสมาน เลิศวงศ์รัตน์ รองเลขาธิการสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก ตร.โดยใช้เวลาไต่สวน 4 ชั่วโมง เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 20.00 น.

โดยการไต่สวนศาลเปิดโอกาสให้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯถามค้านได้ทุกปาก เมื่อไต่สวนเสร็จสิ้น นายสุวัตร ทนายพันธมิตรฯ แถลงต่อศาลขอนำพยานฝ่ายจำเลย เข้าไต่สวนในวันพรุ่งนี้ ศาลสอบถาม นายเมธี ใจสมุทร ทนายโจทก์ผู้ร้อง แถลงค้านว่า คดีนี้ โจทก์ได้รับความเดือดร้อน จากกรณีที่จำเลยและพวกบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล จึงมาขอำนาจศาลขอไต่สวนฉุกเฉิน จึงไม่เห็นควรให้การไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 ไม่จำต้องไต่สวนพยานจำเลยและใหนัดฟังคำสั่งในคืนวันนี้

ล่าสุด เวลา 22.05 น.ศาลได้ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำสั่ง โดยศาลวิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลย นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 คุ้มครอง แต่เป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน เกินควร กรณีจึงมีเหตุอันควรให้นำวิธีคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ โดยมีคำสั่งให้ จำเลย และกลุ่มผู้ชุมนุม ออกจากทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งรื้อถือนเวทีปราศรัย และสิ่งปลูกสร้าง ออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยคำสั่งให้มีผลทันที

อย่างไรก็ตาม หลังศาลมีคำสั่ง เวลา 22.10 น.ทางเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แจ้งให้ประชาชนที่มีเป็นจำนวนเรือนแสน รับทราบว่า ศาลสั่งให้ออกไปจากทำเนียบรัฐบาลทันที แต่เสียงประชาชนทั้งหมด ขอความปรานีศาล ในการชุมนุมแบบอหิงสาต่อไป และหากศาลต้องการดำเนินคดี ทุกคนก็พร้อมที่จะตกเป็นจำเลยของศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น