xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ชี้ ตร.รื้อถอนทรัพย์ผู้ชุมนุม มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ คูณมี
“พันธมิตรฯ” แย้งศาลแพ่งมีอำนาจพิพากษาคดีเฉพาะกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่พิพาทการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน ชี้ จนท.ตำรวจถือคำสั่งกองบังคับคดีรื้อถอนทรัพย์ผู้ชุมนุม ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด

วันนี้ (29 ส.ค.) นายประพันธ์ คูณมี หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 แถลงว่า ได้รับมอบหมายจาก 5 แกนนำพันธมิตรฯ ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องคดีและการออกหมายจับของพนักงานตำรวจกับแกนนำฯ 9 คน รวมถึงคดีแพ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และพวกอีก 5 คน เพราะสื่อมวลชนอาจเสนอข่าวไม่ตรงข้อกฎหมาย อาจมีผลในทางละเมิดอำนาจศาล หรือเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นก็ได้ เช่น อาจเข้าใจว่าแกนนำฯ ทั้ง 6 คนหรือพี่น้องประชาชนดื้อแพ่งไม่เคารพคำสั่งศาลหรือละเมิดคำสั่งศาล

ในความจริงแล้ว กรณีคดีแพ่งศาลแพ่งมีอำนาจพิพากษาคดีเฉพาะกรณีข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนเท่านั้น เช่น เรื่องการเช่าบ้าน เช่าซื้อ เช่าทรัพย์ คดีที่ดิน คดีมรดก แต่กรณีเป็นคดีทางการเมือง เป็นการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันเอง แต่เป็นข้อพิพาทต่อสู้ในทางการเมืองระหว่างประชาชนผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล เป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ไม่ใช่ข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่ง เมื่อศาลแพ่งรับคดีพิจารณาแล้วจะมีอำนาจพิจารณาคดีก้าวล่วงมากระทั่งสั่งห้ามให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมตรงนั้นตรงนี้ให้ออกไปได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาศาลแพ่งใช้กฎหมายนี้มาบังคับโดยอยู่ในอำนาจของศาลแพ่งหรือไม่ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่ที่ระบุว่าบทกฎหมายใดจะขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้น กรณีเช่นนี้ผู้ถูกฟ้องสามารถที่จะยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลได้ คัดค้านและอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวให้ 6 แกนนำฯ รื้อถอนขนย้าย เปิดการจราจรและให้ผู้ชุมนุมออกไปนั้น ยังมีปัญหาว่า คำสั่งนั้นชอบหรือไม่ จึงมีการอุทธรณ์ ยังมีขั้นตอน หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะเดียวกัน หากฝ่ายโจทก์จะใช้คำสั่งนี้มาบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งศาลนี้ยังต้องมีขั้นตอนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี ทั้งนี้ ต้องส่งคำบังคับมาให้จำเลยทราบก่อน ตามภูมิลำเนาของจำเลย ไม่ใช่มาติดที่ทำเนียบ การที่กรมบังคับคดีหรือตำรวจจะมารื้อถอนจะใช้อำนาจเข้ามาทำการรื้อถอนทำไม่ได้ในข้อกฎหมาย ต้องทำโดยอาศัยอำนาจคำสั่งศาล ซึ่งยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอยู่ ต้องพักไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211และ 212 ฉะนั้น การบุกจู่โจมรื้อขนยายประชาชนเลยนั้นถือเป็นการกระทำผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดทรัพย์สินทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย จะกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง นอกจากจะประกาศภาวะฉุกเฉินสลายการชุมนุม ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น