xs
xsm
sm
md
lg

“เพรียวพันธ์-ชลอ” ไม่พ้นตำแหน่งและมีลำดับอาวุโสคงเดิม หลังศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่ง คปค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี-คำสั่ง สตช.ที่ คปค.ให้ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์” พี่เมียทักษิณ และ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผช.ผบ.ตร.พ้นตำแหน่ง ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านความมั่นคง ศาลชี้ แม้ หน.คปค.มีอำนาจออกคำสั่งในฐานะนายกฯ สั่งย้าย ไม่ต้องผ่าน ก.ตร.แต่กระบวนไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 47 ขณะที่ สองนายพลตำรวจ ยังมีลำดับอาวุโสได้รับสิทธิผลประโยชน์ ในสังกัด สตช.เหมือนเดิม

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลโดย นายอดุล จันทรศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และองค์คณะเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1052/2550 มีคำพิพากษาคดีที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.ยื่นฟ้อง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คปค.), ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบ กรณีที่มีคำสั่ง คปค.ที่ 11/2549 ลงวันที่ 21 ก.ย.49 ให้ย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ผู้ฟ้องจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ไปปฏิบัติราชการตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านความมั่นคง กลุ่มงานยุทธศาสตร์และการวางแผน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.49 เป็นต้นไป โดยอ้างอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และประกาศ คปค.ฉบับที่ 4 เรื่องอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งผู้ฟ้องได้ร้องทุกข์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่ไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง คปค.ลงวันที่ 21 ก.ย.49 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 25 ต.ค.49 ที่ให้พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รวมทั้งคำสั่ง สตช.ลงวันที่ 28 พ.ย.49 เรื่องให้ผู้ฟ้อง ขาดจากอัตราเงินเดือนสังกัด สตช.เพื่อไปรับเงินเดือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การแล้ว ผู้ถูกฟ้องทั้งสามให้การว่า มีคำสั่งลงวันที่ 21 ก.ย.49 ให้ผู้ฟ้องมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และ คปค.มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งคำสั่งและมติดังกล่าวมีผลเป็นกฎหมายที่ระดับไม่ต่ำกว่า พระราชบัญญัติ นอกจากนี้ รธน.ปี 2549 ฉบับชั่วคราว มาตรา 36 ยังบัญญัติ ให้อำนาจ หัวหน้า คปค.ในการออกคำสั่งและประกาศ ของคปค.

คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ 11/2549 เป็นการสั่งการในฐานะใด และต้องสั่งการโดยผ่านการพิจารณา ก.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หรือไม่ และคำสั่งดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 4 และได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 11(4) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้ผู้ฟ้องมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รับเงินเดือนจาก สตช.สังกัดเดิมไปพลางก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังกล่าวให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล มีอำนาจหน้าที่สั่งการให้ข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้โดยจะให้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องใชอำนาจนายกรัฐมนตรี ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 4 และ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน สั่งให้ผู้ฟ้องมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการสั่งการในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คำสั่งผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 25 ต.ค.49 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศดังกล่าวระบุข้อความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 11 และ 10 ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 4 ราย ซึ่งในส่วนของผู้ฟ้องให้พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งกรณีเป็นการโอนข้าราชการต่างประเภท ที่เป็นผลมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ คปค.มีมติวันที่ 27 ก.ย.49 อนุมัติให้แต่งตั้งข้าราชการ 4 ราย ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ และสำนักงาน ก.พ.ได้แจ้งมติรับโอนผู้ฟ้องมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลเห็นว่า หากผู้ถูกฟ้องที่ 1 เจตนาจะใช้อำนาจ หน.คปค.ซึ่งเป็นรัฐาธิปัตย์ในขณะนั้น ก็ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นต้องขออนุมัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการโอนแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ถูกฟ้องที่ 1 สามารถสั่งการให้ผู้ฟ้องไปดำรงตำแหน่งใด ๆได้ตามอำนาจดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่มีเจตนาใช้อำนาจรัฐาธิปัตย์ แต่กลับดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กระบวนการเพื่อนำไปสู่การออกประกาศฉบับนี้จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 62 บัญญัติว่า การโอนข้าราชการไปรับราชการหน่วยงานอื่นจะทำได้เมื่อเจ้าตัวสมัครใจ และส่วนราชการนั้นต้องการจะรับโอนผู้นั้น โดยให้ส่วนราชการที่ขอรับโอนทำความตกลงกับ สตช. และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 61 บัญญัติว่า การโอนข้าราชการ ที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัตินี้ และไม่ใช่ข้าราชการการเมือง อาจทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของกระทรวง ทบวง กรม ที่จะรับโอน ทำความตกลงกับผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสวนราชการสังกัดเดิม แล้วเสนอเรื่องให้ ก.พ.พิจารณา

เมื่อปรากฏว่า กระบวนพิจารณารับโอนผู้ฟ้องไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผู้ฟ้องไม่สมัครใจ และสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ทำความตกลงกับ สตช.การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติแต่งตั้งผู้ฟ้องให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามบันทึกเสนอของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และได้มีการนำเสนอ คปค.พิจารณาด้วย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ มติ คปค.ที่อนุมัติแต่งตั้งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 ต.ค.49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว และคำสั่ง สตช. ถือเป็นประกาศนอกเหนือกรอบคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเกิดจากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม รธน.ปี 2549 ฉบับชั่วคราว มาตรา 36 ด้วยเช่นกัน

พิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 25 ต.ค.49 ที่ให้พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลทางกฎหมายว่า ผู้ฟ้อง ยังคงดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ต่อเนื่องตลอดมา และมีผลเป็นการเพิกถอนคำสั่ง สตช. ลงวันที่ 28 พ.ย.49 เรื่องให้ผู้ฟ้อง ขาดจากอัตราเงินเดือนสังกัด สตช. เพื่อไปรับเงินเดือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนคำขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ดำเนินการให้ผู้ฟ้องกลับเข้ารับราชการที่ สตช.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์รวมทั้งอาวุโสที่ครองยู่ ณ วันที่ 20 ก.ย.49 นั้น ปรากฏในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลว่า ได้มีการดำเนินการให้ผู้ฟ้อง กลับไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ตามเดิมแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงผู้ฟ้อง เสียสิทธิและประโยชน์ดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องพิพากษา หรือกำหนดคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องในข้อนี้แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ฟ้องแล้ว ในวันเดียวกันนี้ นายอดุล จันทรศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และองค์คณะเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1049/2550 ยังได้มีคำพิพากษา ที่ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ยื่นฟ้อง พล.อ.สนธิ หัวหน้า คปค., ผบ.ตร.และ ก.ตร.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบด้วย กรณีที่มีคำสั่ง คปค.ที่ 11/2549 ลงวันที่ 21 ก.ย.49 ให้ย้ายพล.ต.ท.ชลอ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านความมั่นคง กลุ่มงานยุทธศาสตร์และการวางแผน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

โดยศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 25 ต.ค.49 เช่นกัน ซึ่งมีผลทางกฎหมายให้ผู้ฟ้องยังคงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น