xs
xsm
sm
md
lg

‘ทีดีอาร์ไอ’จวกมาตรการข้าวรัฐซื้อไม่ยั้งอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอ เตือน มาตรการรัฐซื้อข้าวเปลือกไม่จำกัดของกระทรวงพาณิชย์ส่อเค้า อันตราย ชี้รัฐจัดการได้ยากแถมคาดการณ์ตลาดข้าวโลกปีหน้าไม่แน่นอน ผู้ส่งออกเตือนสติรัฐ ก่อนประกาศมีคนซื้อข้าว ควรมีข้อมูลชัดเจน อย่าพูดเกินเลย เหตุทำให้ตลาดป่วน ขณะที่ “มิ่งขวัญ”เล่นบทพ่อค้าเต็มตัว เสนอกขช.วันนี้ ไฟเขียวพาณิชย์ซื้อข้าวตรงจากเกษตรกร ด้านข้าวไทยขึ้นเป็นตันละพันดอลลาร์หลังมาเลเซียซื้อ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ครม.มีมติให้รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและโรงสีโดยไม่จำกัดปริมาณว่า ตนยืนยันผลวิจัยของศ.ดร.อัมมาร์ สยามวารา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ที่ออกมาชี้ถึงปัญหาข้าวโดยเฉพาะราคาข้าวปีหน้าค่อนข้างไม่แน่นอน ซึ่งตนไม่เชื่อว่า ราคาข้าวจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะการผลิตข้าวทั่วโลกที่ประมาณ 4-500 ล้านตัน มีการส่งออกเพียง 30 ล้านตัน และยังเชื่อว่า ประเทศที่มีความร่ำรวยอย่างประเทศจีนหรืออินเดีย เมื่อร่ำรวยแล้วย่อมจะไม่ซื้อข้าวเพิ่มอีก ประเทศเหล่านี้จะหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ ดังนั้นความต้องการข้าวก็จะลดลง
ขณะที่มาตรการนี้เห็นว่า จะมีความแตกต่างจากการรับจำนำที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ของมติ ครม.เป็นความหวังดีที่ต้องการจะรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง เพื่อให้ชาวนาได้รับทราบว่า จะได้ราคาประกันนี้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของโรงสี
นายสมชัย ยังเชื่อว่าการรับซื้อข้าวเปลือกโดยไม่จำกัดปริมาณจะบริหารจัดการได้ยาก เพราะเมื่อรับซื้อมาเป็นข้าวเปลือกก็จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการสีข้าว และรัฐบาลก็คงจะรับภาระในการนำข้าวที่จัดซื้อมาไปสีข้าวเป็นข้าวสารเพื่อส่งขาย และยังจะเกิดปัญหาในประเด็นสถานที่จัดเก็บข้าวเปลือก ที่จะต้องใช้พื้นที่การจัดเก็บมากกว่าข้าวสาร เชื่อว่าจะต้องหาโกดังข้าวหรือไซโลเพื่อเก็บข้าวเปลือกไม่ให้มีความชื้น
“ค่อนข้างอันตรายหากรัฐบาลจะนำมาตรการนี้มาใช้ เพราะเมื่อมีการรับจำนำแล้วถือว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าข้าวจะได้ราคาตามที่รับจำนำ ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกในปีหน้า ไม่ทราบว่าจะอยู่เท่าใด เพราะจากตัวเลขราคาข้าวของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา ประเมินว่า อุปทาน(ความต้องการข้าว) ในปี 2551 สูงกว่าปกติ ถึง 5 ล้านตัน และเป็นไปได้ว่าในปี 2552 ราคาจะตกลง เพราะหากไม่มีการบริโภคภายใน และนำไปส่งออกอย่างเดียว ราคาข้าวก็มีสิทธิที่จะตกลงมาได้”
นายสมชัย กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลไปรับจำนำในภาวะที่ไม่มีความแน่นอน มีสิทธิเป็นไปได้ว่า รัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนอย่างมาก และจะถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด เกิดภาวะที่กลายเป็นว่า ชาวนาปลูกข้าวจำนวนมากเกินไป เช่นเดียวกับกรณีที่ชาวนานำพันธุ์ข้าวมาปลูกโดยไม่ได้เก็บเอาไว้นอกจากนี้ หากรัฐบาลรับจำนำและขาดทุนในรอบแรก รอบต่อไปคนที่ขาดทุนก็จะเป็นชาวนาในที่สุด

“อัมมาร์” ชี้รัฐฯทำตลาดข้าวป่วน

วานนี้ (14 พ.ค.) ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานเสวนา “ข้าวแพง วิกฤตหรือโอกาสชาวนาไทย” จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย ฯลฯ ว่า รัฐบาลทุกสมัยที่ผ่านมาอยากให้ข้าวเปลือกแพงข้าวสารถูก แต่ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาที่เข้าไปแทรกแซงราคาก็ไม่ได้ดึงราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้น ชาวนาต่างแห่ขายข้าวให้รัฐจนรัฐบาลมีสต็อกจำนวนมาก การทำแบบนั้นเหมือนกับเป็นการรุมกินโต๊ะผู้เสียภาษี เพราะเอาเงินภาษีของประชาชนไปรับซื้อ
“แนวโน้มการจัดการข้าวที่ดีที่สุดคือรัฐบาลไม่ควรทำอะไร ซึ่งตนไม่ได้ว่ากลไกตลาดดีเสมอไป แต่นโยบายที่รัฐฯทำอยู่ทุกวันนี้ทำให้ตลาดปั่นป่วนมากขึ้น เวลานี้ยังไม่มีปัญหา แต่เมื่อถึงเวลาราคาข้าวตกจะทำอย่างไร เพราะราคาข้าวขณะนี้สูงขึ้นมากและไม่มีเหตุผลรองรับ”
เขาให้ความเห็นถึงข้าวในสต็อกของรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ที่มีหลายฝ่ายแนะนำรีบขายเอาเงินเข้ากระเป๋า ว่า ควรเก็บไว้เป็นสต็อกสำรองเอาไว้จะดีกว่า เพราะหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศผู้ผลิตข้าวจะทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก และเมื่อถึงเดือนกันยายน หากสถานการณ์ปกติจึงค่อยระบายข้าวออกมาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ราคาตกฮวบฮาบ

ผู้ส่งออกเตือนสติรัฐควรมีข้อมูลชัดเจน

นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการ บริษัท พงษ์ลาภ กล่าวว่า ก่อนที่รัฐจะประกาศว่ามีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ ควรแน่ใจว่าคำสั่งซื้อดังกล่าวมีความชัดเจน และเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะการสั่งซื้อข้าวและส่งมอบจริงต้องตกลงชนิดข้าวที่จะซื้อ ราคา เงื่อนไขการส่งมอบ และการชำระเงิน เพราะการพูดอย่างไม่มีข้อมูลสนับสนุนจะทำให้ตลาดเกิดความสับสน
ส่วนกรณีที่รัฐจะส่งออกข้าวเอง หรือการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นสิ่งที่ดี หากรัฐจะนำออเดอร์มาแบ่งให้ผู้ส่งออกอย่างเป็นธรรม เพราะรัฐไม่มีเครื่องมือส่งออกข้าวได้เอง ซึ่งจะช่วยให้การซื้อข้าวในตลาดมีความเคลื่อนไหว จากเดิมที่หยุดชะงัก จากความไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน โดยผู้ซื้อไม่กล้าสั่งซื้อข้าวจากเอกชน เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีข้าวส่งมอบ ขณะที่เอกชนไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่เชื่อว่าผู้ซื้อจะสู้ราคาได้
ขณะที่วงการค้าข้าว ระบุว่า การที่รัฐจะรับคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ และส่งมอบให้ผู้ส่งออกในประเทศส่งออกต่อนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องทำอย่างโปร่งใส เพราะขณะนี้บริษัทค้าข้าวบางรายที่มีประวัติไม่ดี และปิดบริษัทเดิมเพื่อเปิดบริษัทใหม่ จะเข้ามารับออร์เดอร์รัฐบาล และส่งออกแทน ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อการส่งออกข้าวไทย และอาจทำให้รัฐถูกกล่าวหาว่าดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสได้

“มิ่ง”ขอเล่นบทพ่อค้าปั่นราคาเอง

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันนี้ (15 พ.ค.) พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้โดยตรง โดยกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 19,000-20,000 บาท ข้าวขาวตันละ 14,000 บาท ราคาเดียว และข้าวเหนียวตันละ 9,000 บาท ส่วนจะซื้อปริมาณเท่าใด ซื้อยังไง และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง จะมีรายละเอียดออกมาหลังจากประชุมกขช.แล้ว
“การเข้าไปซื้อข้าวในครั้งนี้ ไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการเข้าไปซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรง และไม่ห่วงว่าซื้อมาแล้วจะขายไม่ได้ และเป็นภาระเก็บรักษาข้าวอีก เพราะตอนนี้มีคนติดต่อซื้อข้าวกับกระทรวงพาณิชย์มาก มีออเดอร์สูงถึง 6.7 ล้านตัน และยังมีการติดต่อซื้อเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อซื้อมาแล้ว ก็จะเอามาสีแล้วขายเลย ส่วนราคาก็ตามที่ระบุไว้ หากราคาตลาดสูงขึ้นอีก ก็จะปรับราคารับซื้อขึ้นตามไปด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า งบประมาณในการแทรกแซงเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนาและโรงสีในลักษณะซื้อขายขาด ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทขณะที่การรับจำนำข้าวเปลือกปี 2550/51 ธ.ก.ส.เปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2550/2551 กำหนดปริมาณข้าว 8 ล้านตัน ใช้งบฯ 2 หมื่นล้านบาท โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ 9,000 - 9,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 6,300 - 6,400 บาท/ตัน

เลี้ยบยันเกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปแทรกแซงราคาข้าว โดยการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยเชื่อว่า การแทรกแซงราคาข้าวในครั้งนี้ จะทำให้กลไกด้านราคากลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลให้ระดับราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับเป็นที่น่าพอใจ และไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนของราคาที่แท้จริง การแทรกแซงราคาดังกล่าวเป็นการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศโดยตรง ไม่ใช่การรับจำนำ จึงมั่นใจว่าจะไม่ทำให้รัฐบาลขาดทุนเหมือนการรับจำนำข้าวเปลือกเหมือนที่ผ่านมา

ราคาข้าวไทยขยับเป็นตันละ1 พันดอลลาร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาข้าวขาว 100% ชั้นสอง ซึ่งถือเป็นมาตรวัดราคาข้าวของไทย รวมทั้งราคาข้าวตลาดโลกด้วย ได้ขยับกลับขึ้นไปอยู่ราวๆ ตันละ 1,000 ดอลลาร์อีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้(14) ภายหลังจากที่มาเลเซียซื้อข้าวจากไทยไป 200,000 ตัน อันเป็นสัญญาณแสดงว่าความต้องการยังคงสูงมาก ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของพวกพ่อค้าข้าวและผู้ส่งออก
รอยเตอร์อ้างผู้ส่งออกรายหนึ่งที่กล่าวว่า ราคาพุ่งขึ้นมาคราวนี้เป็นเพราะออเดอร์จากมาเลเซียประการเดียวเท่านั้น โดยราคาที่ขายให้มาเลเซียได้ทำให้ข้าวไทยหลายๆ ชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ข้าวขาว 100% ชั้นสอง พวกดีลเลอร์กำหนดราคาไว้ที่ระหว่างตันละ 1,000 - 1,010 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 920 ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว และใกล้เคียงกับสถิติราคาสูงสุดซึ่งอยู่ที่ 1,000 - 1,080 ดอลลาร์เมื่อเดือนเมษายน
ส่วนราคาข้าวขาว 5% กำหนดราคาที่ตันละ 950 ดอลลาร์ เท่ากับที่มาเลเซียชำระในการซื้อขายเมื่อวันอังคาร(13) บริษัทการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯรายหนึ่งเปิดเผย
รัฐบาลมาเลเซียได้ซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 100,000 ตันในราคาดังกล่าวข้างต้น และยังซื้อข้าว 15% อีก 100,000 ตัน ในราคาตันละ 940 ดอลลาร์
พวกพ่อค้าข้าวบอกว่า ราคาของข้าวไทยน่าจะยังยืนได้อย่างมั่นคงต่อไปในช่วงสองสามสัปดาห์ข้างหน้า จากการที่ผู้ส่งออกต้องเริ่มซื้อข้าวไปส่งให้มาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น