โรงสีทั่วประเทศ เริ่มชะลอซื้อการรับซื้อข้าว พบบางแห่งกดราคารับซื้อ อ้างขอจับตาทิศทางราคาส่งออกให้แน่ใจก่อน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ แนวโน้มราคาข้าวเริ่มเข้าสู่ภาวะขาลงชัดเจนขึ้น สังเกตจากราคาข้าวเปลือกตลาดชิคาโกที่เริ่มลดลง แต่ก็ยังมีสิทธิ์ผันผวนจากข่าวต่างๆ ของประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยา และมีผลต่อการแกว่งของราคาข้าวในตลาดโลก
วันนี้ (4 พ.ค.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า โรงสีหลายแห่งในจังหวัดนครสวรรค์ เริ่มชะลอการรับซื้อข้าวจากชาวนาแล้ว โดยให้เหตุผลว่าต้องการรอดูสถานการณ์ราคาข้าวส่งออก ส่วนที่กาฬสินธุ์โรงสีบางแห่งไม่เปิดรับซื้อข้าว พ่อค้าบางรายฉวยโอกาสกดราคารับซื้อข้าวให้ต่ำลง นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้ชาวนาต้องเกี่ยวข้าวหนีฝน ทำให้ประสบปัญหาข้าวมีความชื้นสูง จนโรงสีไม่รับซื้อข้าว
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากแนวโน้มราคาข้าวเปลือกตลาดชิคาโกเดือน พ.ค.2551 ที่ลดลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันหลายด้านที่ทำให้การเก็งกำไรราคาข้าวในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงราคารับซื้อข้าวในตลาดโลกในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มลดลง และในที่สุดก็จะเป็นแรงกดราคาซื้อขายข้าวในประเทศไทย เพราะการคาดการณ์ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะใกล้ยุติลง รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ความสนใจในการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการคาดการณ์ว่าราคาข้าวในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกที่เริ่มอ่อนตัวเป็นการส่งสัญญาณให้ไทยต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ผู้ผลิตต้นน้ำของธุรกิจข้าว คือ ชาวนา และธุรกิจโรงสี
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์นำข้าวในสตอกจำนวน 2.1 ล้านตัน บรรจุถุงขายประชาชน และจะเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณร้อยละ 20 ภายใต้ชื่อ “โครงการข้าวถุงธงฟ้ามหาชน” จะเริ่มดำเนินการถึงสิ้นปี 2551 แม้มีวัตถุประสงค์ที่ดีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในประเทศ แต่ตลาดตีความข่าวดังกล่าวว่าจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของตลาดว่าราคาข้าวอาจเปลี่ยนทิศทางมาเป็นขาลง
ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าราคาข้าวจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ราคาจะผันผวน เนื่องจากข่าวต่างๆ ทั้งจากประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาและมีผลต่อการแกว่งของราคาข้าวในตลาดโลก ส่วนการส่งออกข้าวต้องจับตาในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ซึ่งเป็นต้นฤดูการผลิตข้าวปี 2551/52 ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออกของประเทศคู่แข่ง โดยราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจ ประเทศที่ผู้ส่งออกข้าวที่ไทยต้องจับตาเป็นพิเศษคือ เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งนโยบายการส่งออกข้าวทั้ง 2 ประเทศจะกำหนดทิศทางการแข่งขันของไทยในตลาดข้าวโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2551
ขณะที่ประเทศคู่ค้าข้าวต่างมีนโยบายขยายปริมาณการผลิตข้าว เพื่อความมั่งคงทางด้านอาหารของประเทศ ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติและการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู โดยนับว่าเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมที่มีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตข้าวได้อย่างมาก
ทั้งนี้ การคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2551 และข้าวนาปี ปี 2551/52 จะมีผลผลิตรวม 30.18 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร โดยจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศประมาณ 9 ล้านตันข้าวสาร จำแนกเป็นการบริโภค 6.6 ล้านตัน ใช้ทำพันธุ์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ประมาณ 2.4 ล้านตันข้าวสาร คาดว่าจะส่งออกทั้งปี 2551 ประมาณ 9 ล้านตัน และที่เหลือเก็บไว้เป็นสตอก