xs
xsm
sm
md
lg

ไนจีเรียสู้วิกฤตอาหาร ซื้อข้าวไทย 5 แสนตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ผู้จัดการรายวัน – รัฐบาลไนจีเรีย สั่งซื้อข้าวไทย 5 แสนตันสู้วิกฤตอาหารที่กำลังคุกคามประชาชน “สมัคร” ฝันไกลตั้งกลุ่มโอเร็กคุมตลาดข้าวทั่วโลก ด้านผู้ส่งออกมองเกิดขึ้นยาก “กรณ์” จวกรัฐบาลดึงสต็อกทำข้าวถุงผิดจังหวะผิดเวลาชาวนาเสียประโยชน์กดราคาข้าวตกต่ำ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการรัฐบาลไนจีเรียได้มีคำสั่งเมื่อวันอังคาร(29) ให้นำเข้าข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวน 500,000 เมตริกตัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการระยะสั้นเฉพาะหน้า ในการต่อสู้กับวิกฤตอาหารที่กำลังคุกคามประเทศอยู่ในเวลานี้

ภายหลังการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดี อูมารู ยาร์อาดัว กับผู้ว่าการรัฐทั้ง 36 รัฐของไนจีเรียในวันอังคารแล้ว เซกูน อากากู ผู้ว่าการรัฐโอกูน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า “เรามองเห็นแล้วว่าจะต้องเผชิญปัญหาซัปพลายไม่เพียงพอเป็นบางส่วน ดังนั้น เราจึงได้ตัดสินใจที่จะนำเข้าข้าว 500,000 เมตริกตัน เพื่อขายให้แก่ประชาชนของเราในราคาที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือ”

อากากูเปิดเผยว่า รัฐบาลยังได้สั่งการให้นำข้าวจำนวน 11,000 เมตริกตันออกมาจากคลังธัญญาหารทางยุทธศาสตร์ของประเทศ “เพื่อเพิ่มซัปพลาย ให้หาซื้อกันได้ง่ายขึ้น และดังนั้นก็จะช่วยสกัดไม่ให้ราคาอาหารพุ่งสูงลิ่วอย่างน่าเป็นห่วง”

“ในเวลาเดียวกัน ทั้งสองมาตรการนี้ยังจะช่วยดึงให้ราคาในตลาดซึ่งทะยานขึ้นไปมากแล้วได้ไหลกลับลงมา และทำให้ประชาชนของเราหาซื้อได้” อากากูกล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่า ในเรื่องเงินที่จะใช้ซื้อข้าวนำเข้านั้น มีงบประมาณขั้นต้นไว้แล้วจำนวนราว 80,000 ล้านไนรา (684 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

อากากู เผยว่า ประธานาธิบดียาร์อาดัวยังได้ประกาศว่า มาตรการระยะปานกลางอย่างหนึ่งที่จะนำมาใช้คือ การกันเอาเงินเป็นจำนวน 1.68% ของยอดรายรับในบัญชีของรัฐบาลกลาง มาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตร และการผลิตอาหารในช่วง 4 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ยอดรายรับในบัญชีของรัฐบาลกลาง หมายถึงยอดรายรับรวมทั้งหมดที่รัฐบาลไนจีเรียได้รับมา

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการร่วมหารือข้อราชการทวิภาคีกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าว่า ได้มีการพูดคุยถึงการจับมือ 5 ประเทศ เขมร ไทย ลาว พม่า เวียดนาม คุยกันเรื่องข้าวโดยตั้งราคาร่วมกัน ซึ่งเป็นการเสนอความคิดเบื้องต้น เพื่อขอให้นายกฯพม่าพยักหน้าด้วย โดยทางพม่าเองก็เห็นด้วย เนื่องจากข้าวประเทศพม่า มีพอดีพอกิน ขณะนี้กำลังมีเทคโนโลยีเรื่องข้าวไฮบริด (พันธุ์ข้าวลูกผสม) โดยจะให้อยู่ในเนื้อที่เดิม แต่เพิ่มผลผลิต ทางพม่าได้ขอร้องมาให้ช่วย ทางไทยก็จะเข้าไปช่วยเหลือ

เมื่อถามว่า ลักษณะการรวมตัวกันเรื่องข้าวที่จะมีการหารือกัน 5 ประเทศ จะเหมือนโอเปกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันน่าเกลียดเกินไป เราเป็นประเทศเล็กๆ 5 ประเทศ ปลูกข้าวแล้วมาตั้งราคารวมกัน ไม่ซีเรียส ทางพม่าเห็นด้วย โดยไทยจะเข้าไปช่วยผลิตให้ได้มากขึ้น

สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้ นายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมอบหมายให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับ 5 ประเทศข้างต้นเพื่อหารือกันต่อไป

การรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกข้าวหรือกลุ่มโอเร็ก เพื่อกำหนดการผลิตและราคาเหมือนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปก นั้น นายวิโรจน์ เหล่าประภัสสร กรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากเพราะสภาพสินค้าคือข้าวไม่มีความแน่นอนเหมือนน้ำมัน ผลผลิตมีความผันแปรตามสภาพลมฟ้าอากาศ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องมีการสต็อกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกิดความเสื่อมสภาพ และถ้าจัดตั้งได้ขึ้นจริงจะส่งผลให้เกิดปัญหาการเมืองระหว่างประเทศได้ หากจะจัดตั้งรวมกลุ่มผู้ค้าข้าวระหว่างประเทศขึ้น ควรจะเป็นเรื่องความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารมากกว่า

“กรณ์” ติงดึงสต็อกทำข้าวถุงมุ่งหาเสียง

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง มาตรการที่รัฐบาลนำข้าวในสต็อก บรรจุถุงขายในราคาถูกว่า ไม่เห็นด้วยในส่วนข้าว 2.1 ล้านตันรัฐบาลควรนำไปขายเพื่อทำกำไร แล้วนำมาตอบแทนให้กับเกษตรกรที่เคยมาจำนำข้าวกับรัฐบาล ด้วยการลดราคาปุ๋ย เพื่อนำไปใช้ประโยชนในการปลูกข้าวรอบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นข้าวนาปรังหรือว่าข้าวนาปี

การที่รัฐบาลกับลำนำข้าวส่วนนี้มาขายราคาที่ต่ำกว่าตลาด ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสต็อกข้าวให้กับผู้ที่ควรได้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ที่ควรได้ประโยชน์สูงสุด ความจริงนายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า ราคาข้าวสารที่แพงขึ้นส่งผลต่อราคาข้าวต่อจาน เพียงจานละบาท น่าจะเป็นผลกำไรที่ผู้บริโภคพร้อมมอบให้เกษตรกร การนำข้าวส่วนนี้มาขายก่อนที่ข้าวนาปรังจะเก็บเกี่ยว ก็ทำให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดซื้อขายทันที มีการปรับลดราคาข้าวทันทีในตลาดล่วงหน้า ซึ่งทำให้เกษตรกรที่คอยเก็บเกี่ยวและขายข้าวนาปรังเสียประโยชน์ ทั้งที่ควรได้รับประโยชน์ เท่ากับเป็นการรอนประโยชน์จากประชาชนที่ผู้ปลูกข้าวโดยตรง และน่าจะได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นไปสู่มือผู้บริโภค ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านฐานะทั้งคนรวย คนจน ได้ประโยชน์เท่ากันหมด

“ผมคิดว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม และผิดจังหวะ เกรงว่าอาจจะเป็นความพยายามทำคะแนนทางการเมืองมากเกินไป เพราะราคาข้าวที่ปรับลดทันทีกระทบกับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งน่าจะเป็นปัญหากับชาวนาในขณะที่ต้นทุนยังคงสูงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือ น้ำมัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะสร้างรายได้อย่างที่ชาวนาคาดหวังไว้ก็สูญเสียไปจากนโยบายของรัฐบาล” นายกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น