xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” ตำหนิ “เจ๊มิ่ง” ปั่นราคาข้าว-แทรกแซงกลไก ตัวการทำตลาดป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อัมมาร สยามวาลา
“ดร.อัมมาร” ชี้ตลาดข้าวเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ และภาวะตื่นตระหนก ระบุปัญหาข้าวแพงควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมตำหนิรัฐบาลเข้ามาจุ้นจ้านทีไรวุ่นวายทุกที กรณีเวิลด์แบก์ นายกฯ ไม่ควรกินปูนร้อนท้อง ขณะที่ภากเอกชนคาด ราคาข้าวยังสูงอีก 2-3 ปี บิ๊กซีพี แนะรัฐใช้หลักเหตุผลในการชี้แจงต้นเหตุข้าวแพงต่อองค์กรระดับโลก

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสภวะราคาข้าวที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ถือว่าเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดค้าข้าวทั้งภายในประเทศและตลาดโลก โดยเชื่อว่าระดับราคาสูงเช่นนี้จะทรงตัวอยู่ได้ไม่นาน

ดร.อัมมาร กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลก็บริหารปัญหาเรื่องข้าวได้ดีพอสมควร ไม่ใช่ว่าตนพอใจกับการแก้ปัญหา แต่พอใจกับการไม่แก้ปัญหามากกว่า เพราะการไม่ทำอะไรบางทีก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนก็เห็นว่ารัฐบาลทำน้อยก็ดีแล้ว ควรจะทำน้อย สังเกตว่าเมื่อรัฐบาลเข้ามาจุ้นจ้านกับราคาข้าวมากๆ ทีไรวุ่นวายทุกที

“ผมไม่รู้ว่าเขาเจตนาที่จะทำน้อยๆ หรือเขายุ่งอยู่กับเรื่องอื่น แต่การไม่เข้าไปแทรกแซงมากมายก็ดีอยู่แล้ว เปรียบเทียบโง่แล้วขยัน อะไรทำนองนั้น”

อย่างไรก็ตาม ดร.อัมมาร แนะนำว่า รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะช่วยเหลือใคร ซึ่งเชื่อว่าถึงจุดหนึ่งต้องมีมาตรการช่วยเหลือคนจน เพราะคนจนจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าข้าวจะขึ้น 1.50 บาท หรือ 3 บาทต่อมื้อ

“ผมกำลังเป็นห่วงว่าคนมองราคาในปีนี้จะทำการทดแทนการผลิต เกษตรกรคงจะงงพอๆ กับพ่อค้า ปีนี้เป็นปีที่คนฉลาดจะงง เพราะไปเห็นว่าสิ่งที่เห็นว่าระยะสั้นเป็นระยะยาว แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่อันตราย หากผลผลิตในปีนี้มีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะข้าวเท่านั้น ผลกระทบจะแรงมาก หากเราคิดว่าโลกร้อนมีผล ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศแย่ลงอย่างเดียว แต่คาดการณ์ยากขึ้น คาดการณ์ลำบาก”

ดร.อัมมาร เห็นว่า ปัญหาราคาข้าวในประเทศแพง เป็นปัญหาการเมืองในความหมายที่ดี ดังนั้น หน้าที่ของฝ่ายการเมืองก็ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ในที่นี้หวังว่าเป็นผลประโยชน์สองฝ่ายเท่านั้น คือ ต้นทาง กับปลายทาง ที่ผ่านมาผลประโยชน์ของฝ่ายตรงกลางมีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะการประกันราคาข้าว อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เรียกว่าเขาเล่นลิเกกัน แต่ขอเติมไปด้วยว่ามีการเล่นลิเกโดยคนกลางเป็นแม่ยกให้ ดังนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยจะให้น้ำหนักอย่างไร

อะไรที่ลงทุนระยะยาวอย่าเพิ่งรีบ เพราะปัจจุบันเป็นสถานการณ์ตื่นตระหนก การตัดสินใจในภาวะตื่นตระหนกจะเป็นการตัดสินใจที่ดีย่อมไม่ได้ ซึ่งทั้งสังคม ไม่ใช่เฉพาะใคร เป็นเรื่องที่เราหยั่งสถานการณ์ดูก่อน ที่ผมมั่นใจก็คือราคาที่เป็นอยู่ในขณะนี้มันอยู่นานไม่ได้หรอก มันสูง เป็นเพราะเราเห็นจากสภาพตลาดเป็นแพนิก

ดร.อัมมาร กล่าวว่า เราต้องมองปัญหาพื้นฐานว่าเกิดจากอะไร ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลกไม่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่ไม่แน่ใจว่าปัญหาดังกล่าวใหญ่จริง เพราะขณะนี้เรามีปัญหาอื่นเข้ามาเพิ่มเติม ที่เรียกว่าความตื่นตระหนก

การเข้าใจปัญหาพื้นฐานซึ่งมี 2 ปัญหาหลัก โดยต้องมองถึงธัญพืชโดยรวมก่อน ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นมาจากข้าวสาลีกับข้าวโพด อย่างแรกการนำเอาพืชไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงในพืชหลายชนิด เช่น อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม แต่พืชหลักที่คนให้ความสนใจกันมากคือข้าวโพด ที่มีการนำไปใช้ผลิตเอทานอล ซึ่งลักษณะของธัญพืชคือมีการปลูกทดแทน ปลูกกันในพื้นที่เดียวกันได้ กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชชนิดหนึ่งมากก็ทำให้มีการปลูกพืชอีกชนิดหนึ่งน้อย

“ตัวหลักที่คนจ้องมากที่สุดก็คือ ข้าวโพด และตัวร้ายที่สุดน่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่นำไปผลิตเอทานอล ดังนั้น ปัญหาแรกๆ ที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องของข้าวโพดซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย เมื่อมีผลกระทบต่อถั่วเหลืองที่ใช้ทำอาหารสัตว์ เสร็จแล้วมันกระทบไปถึงข้าวสาลีด้วย ปีที่แล้วข้าวสาลีขึ้นเยอะมาก จนราคาเกือบเท่าหรือมากกว่าข้าวเจ้า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีน้อยครั้งมากที่ข้าวสาลีราคาขึ้นสูงกว่าข้าวเจ้า ข้าวสาลีปีที่แล้วขึ้นมา สาเหตุมาจากการทดแทนกัน ไปปลูกข้าวโพด”

ปัญหาใหญ่อีกด้าน คือ ออสเตรเลียเกิดฝนแล้งอย่างรุนแรง ทำให้ธัญพืชหายหมด และออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก อันดับ 2-3 ซึ่งปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อตลาดข้าวสาลีมาก

แรงกดดันราคาธัญพืชอีกด้าน ก็คือ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในจีน และอินเดีย เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศดีขึ้น ประชาชนก็บริโภคสัตว์มากขึ้น ทำให้มีความต้องการธัญพืชเพื่อใช้ทำอาหารสัตว์ในปริมาณมาก

ดังนั้น แรงผลักดันพื้นฐานอันดับหนึ่ง คือ เอทานอล ถ้าพูดถึงธัญพืชก็พูดถึงเอทานอล และอีกอันหนึ่งคือการบริโภคที่เปลี่ยนไป มีการใช้อาหารสัตว์เพิ่มขึ้นในจีนและอินเดีย ตรงนี้กระทบธัญพืชโดยรวม โดยเฉพาะข้าวโพดและข้าวสาลี แต่การเปลี่ยนแปลงมันข้ามมาตลาดข้าวอย่างไร อันนี้คือสาเหตุพื้นฐาน

“ขอแซวนิดนึง ท่านนายกฯ นี่ไม่ได้กินปูนแล้วไปร้อนท้องทำไม จากการติดตามข้อมูล เขาบอกว่ามีการประชุมเวิลด์แบงก์ ก็บอกว่ามีการผลิตเอทานอล โดยประเทศหลายประเทศ ไม่ได้เจาะจงประเทศไทย และเขาไม่ได้คิดถึงประเทศไทยด้วยซ้ำ มี 2 ประเทศ คือ สหรัฐฯ กับบราซิล สหรัฐฯ เลวกว่าบราซิล เพราะไปอุดหนุน ไปบังคับบราซิล ผมคิดว่าผลิตแล้วได้ราคาดี แต่นายกฯ ท่านกำลังทำเป็นตัวแทนทั้งสหรัฐและบราซิล ทำไมนั้นผมไม่ทราบ ผมขอพูดเพียงแต่ว่าไทยยังไม่ได้กินปูนอย่าร้อนท้อง แต่ทางสหรัฐฯ ไม่แคร์”

คำถามก็คือ ปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวเป็นเรื่องถาวรหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มาจากความต้องการในตลาดและเป็นปัจจัยระยะยาว ฉะนั้นจะมีผลระยะยาวระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูว่าราคาน้ำมันปรับขึ้นระยะยาวหรือสั้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคเนื้อสัตว์ในเอเชียจะถาวรพอสมควร นอกจากจีนจะฟองสบู่แตกอย่างรุนแรงและกลับไปสู่สภาพการครองชีพเมื่อ 10-20 ปี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการกักตุนและปั่นราคา ซึ่งตลาดข้าวมีลักษณะคล้ายฟองสบู่หลายอย่าง และเป็นการตื่นตระหนก ซึ่งไม่เพียงพ่อค้าเท่านั้น คนไทยทุกคนด้วย ทั้งๆ ที่ทุกประเทศมีผลผลิตไม่ได้ต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่ออินเดียเคยเป็นประเทศที่ส่งออกพอสมควร เป็นที่ 3-4 ของโลก ห้ามส่งออกเวียดนามก็มาห้ามด้วย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกกันมาก ในขณะที่ฟิลิปปินส์ต้องบอกว่าแพนิกเลย รวมถึงประเทศไทย พ่อค้าต่างๆ ก็ตื่นตระหนกด้วย

**เอกชนคาดราคาข้าวยังสูงอีก 1-2 ปี

นายนิพนธ์วงษ์ตระหง่าน กรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะแปรวิกฤติเป็นโอกาสได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งต้องล้างสมองนักการเมืองให้ยอมรับความจริง ว่า ไทยคือประเทศเกษตรกรรม และเมื่อยอมรับได้แล้ว เชื่อว่าการพัฒนาด้านการเกษตรจะตามมาเอง อย่างไรก็ตาม ไทยควรใช้โอกาสนี้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยเฉพาะข้าวที่ปัจจุบันกล่าวกันว่ามีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ด้วยการทำแก้มลิงในลุ่มน้ำต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาขุดลอกคูคลอง

ส่วนประเด็นราคาควรสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนามและอินเดีย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น จำนวนผลผลิตต่อปี เป้าหมายการส่งออก ซึ่งเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เท่านี้ก็เชื่อว่าจะส่งผลในแง่จิตวิทยาต่อตลาดโลกได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งเมื่อเกิดความร่วมมือกันแล้ว สิ่งที่ไทยจะต้องทำ คือ อธิบายให้ชาวโลกเข้าใจถึงความร่วมมือดังกล่าว และสร้างความชัดเจนว่ามีเป้าหมายในการทำกำไรกับประเทศอุตสาหกรรม แต่จะดำเนินการบริจาคให้แก่ประเทศยากจนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

นายนิพนธ์ กล่าวว่าในระยะปานกลาง รัฐบาลควรประกาศราคาข้าวขั้นต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวนาในเรื่องราคา เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงไปได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเมื่อสูงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงอีก ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ เมื่อพิจารณาราคาข้าวว่าไม่น่าจะต่ำกว่าเท่าไร จากนั้นก็ประกาศราคาขั้นต่ำไว้ หากราคาข้าวต่ำกว่าราคาที่ประกาศไว้ล่วงหน้า รัฐบาลก็จะเปิดรับจำนำข้าว แต่หากไม่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวก็อาจไม่จำเป็นต้องเปิดรับจำนำเลยก็ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการ

ส่วนราคาข้าวที่สูงขึ้นปัจจุบันเป็นผลด้านจิตวิทยา การตลาดที่เกิดจากสต็อกข้าวโลกลดลงเหลือแค่ 70 ล้านตัน จากเดิมที่เคยมีสต็อกข้าว 100-140 ล้านตัน ทำให้สต็อกข้าวที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับการบริโภคข้าวของประชากรโลกที่มีถึงวันละ 1 ล้านตัน และต้องมีสต็อกข้าวรองรับอย่างน้อย 100 ล้านตัน ประกอบกับประเทศผู้ผลิตข้าวหลักของโลก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม เกิดภัยธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดลด ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงขึ้น เช่น ค่าปุ๋ย ราคาน้ำมัน จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ข้าวราคาแพง

ทั้งนี้ การที่ราคาข้าวสูงขึ้นจากปัจจัยจิตวิทยาทำให้มีโอกาสที่ราคาข้าวจะลดลงเร็วเช่นกัน หากโลกหายกังวลกับราคาข้าวแพง จะทำให้ผู้ที่กักข้าวไว้ขณะนี้ต้องเร่งเทขายข้าวออกมา และทำให้ราคาข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหายกังวลกับราคาข้าวแพง อยู่ที่ผลผลิตข้าวนาปรังของเวียดนาม ที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าเวียดนามประกาศขายข้าวออกมา จะทำให้ความกังวลเรื่องราคาข้าวลดลง

**บิ๊กซีพี แนะรัฐใช้เหตุผลทำความเข้าใจกับองค์กรโลก

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เวลานี้ไทยควรอธิบายให้ชาวโลกเข้าใจถึงสาเหตุสินค้าอาหารและข้าวมีราคาแพง ซึ่งนั่นเป็นผลพวงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ปุ๋ยก็มีราคาแพง ซึ่งไทยไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง จึงจำเป็นที่ราคาอาหารจะต้องสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงในเรื่องประสิทธิภาพผลผลิตซึ่งควรถามกลับไปยังธนาคารโลกได้แล้วว่า ถึงเวลาที่ไทยจะกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อนำมาปรับปรุงในเรื่องน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตได้หรือยัง โดยเงินก้อนแรกควรนำมาขุดลอกคูคลอง ซึ่งสามารถทำได้ทันทีก่อนเลยโดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างเขื่อน ส่วนกับผู้บริโภคเองก็จำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน ซึ่งราคาข้าวในขณะนี้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายตัวอื่นๆ เชื่อว่ามีโอกาสที่คนไทยจะรับได้กับสถานการณ์นี้

นายยุทธศักดิ์สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้คาดผลผลิตอาหารปีนี้จะมีประมาณ 2,160 ล้านตัน แต่คงไม่พอกับความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยปี 2546-2547 เป็นช่วงที่ราคาอาหารตลาดโลกเริ่มขยับขึ้น แต่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ราคาสินค้าอาหารโลกสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าวิกฤติอาหารจะเกิดขึ้นต่ออีกช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า โดยในการผลิตข้าวของไทยและเวียดนามคงไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากกว่านี้ได้ ก็จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีก

ขณะนี้ สถาบันอาหาร กำลังจัดทำสมุดปกขาว ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านอาหารว่า จากนี้ไปประเทศไทยควรจะเดินในทิศทางอย่างไร มีทั้งระยะกลางและยาว โดยจะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคเอกชนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ส่วนตอนนี้ที่ราคาสินค้าอาหารปรับตัวขึ้น ทำให้ไทยมีโอกาสเยอะมาก ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทำอย่างจริงๆ จังๆ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์การเมืองบบนี้ก็จำเป็นจะต้องทำ โดยแบ่งเป็นส่วนในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนในประเทศนั้นเห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีข้าวถุงราคาถูกออกมาขาย แต่จำเป็นจะต้องสร้างรายได้ให้ประชาชนด้วยการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ดำเนินการเพียงการกดราคาสินค้าเท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้เช่นกัน ส่วนระยะยาวนั้นก็เป็นโอกาสที่จะหันมาดูภาคการเกษตรอย่างจริงจัง โดยควรจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้เสียที ที่แม้ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ก็ต้องชัดเจน

"ที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพูดแต่การลงทุนโครงการรถไฟฟ้า แต่ทำไมไม่พูดถึงเรื่องระบบชลประทานที่เลี้ยงคนไทยทั้งประเทศบ้าง สุดท้าย คือ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการกระจายความมั่นคงไปสู่ภาคการเกษตร ซึ่งราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น มีใครตอบได้หรือไม่ว่าชาวนาจะได้สักกี่บาท ดังนั้น จึงไม่ควรที่คนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นได้ประโยชน์"

หากพิจารณาในเวทีโลกแล้ว ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถกำหนดอะไรเองได้เลย และขณะนี้เป็นโอกาสที่ไทยจะสร้างอำนาจในการต่อรองประเทศไทยในเวทีโลกแล้ว

นายไพบูลย์พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องอาหารและพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติอาหารและพลังงานของโลก โดยประกาศให้วิกฤติราคาอาหารเป็นวาระแห่งชาติ ว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ข้าวเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ควรคิดเรื่องข้าวเรื่องเดียว เพราะยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ อีกถึง 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นจะต้องพัฒนาไปด้วย นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงระบบชลประทาน ระบบโลจิสติกส์ต่างๆ รวมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมควรบรรจุเข้าไปในวาระแห่งชาติข้อท้ายๆ ด้วย เพราะขณะนี้ถือว่าประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น