xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นราคาน้ำตาล หวานคอ(อี)แร้ง เมื่อรัฐบาลรวมหัว (ฮั๊วกัน) กับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ถาม : เห็นด้วยไหมที่รัฐบาลสมัคร อนุญาตให้ขึ้นราคาน้ำตาลทรายอีกกิโลกรัมละ 5 บาท ?

ตอบ : ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ผมคิดว่าเป็นผลงานที่ยอดแย่ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีนโยบายที่เล็งประโยชน์ให้กับพวกพ้อง คือ รีดเงินจากผู้บริโภคไปให้แก่บรรดากลุ่มโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยรายใหญ่ (หรือหัวหน้าโควต้า)

มีที่ไหน คนไทยซื้อน้ำตาลทราย ราคา ก.ก.ละ 13 บาท มาตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่คนต่างชาติเขากินน้ำตาลและซื้อน้ำตาลจากเมืองไทย บางครั้ง ก.ก.ละ 3 บาท 5 บาท หรือ 8 บาท แต่พอราคาน้ำตาลในต่างประเทศแพงกว่า 13 บาท ก็ขยับราคาสูงขึ้นกว่า 13 บาทบ้าง และครั้งนี้ ขึ้นราคาทีเดียวเกือบ 40%

ถาม : สินค้าอื่นๆ เขาจะขึ้นราคาลงราคา ก็เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ทำไมอ้อยและน้ำตาลจึงไม่เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ?

ตอบ : นี่คือประเด็นสำคัญ คือ อ้อยและน้ำตาลไม่ได้มีการค้าเสรีตามกลไกตลาด แต่มีการรวมหัวกัน หรือที่เรียกว่า “ฮั้วกัน” ทั้งโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่ประมาณ 50 โรง และชาวไร่อ้อยทั้งหมด รวมหัวกันขายน้ำตาลในประเทศให้มีราคาสูงกว่าส่วนที่เขาขายส่งออกมาตั้งแต่ปี 2525 และการรวมหัวกันนี้ (ฮั้วกัน) มีกฎหมายรองรับด้วย คือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527

ถาม : ทำไมโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยจึงรวมหัวกันได้(ฮั้วกัน) และทำอย่างไร จึงทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศแพงกว่าราคาที่ขายออกต่างประเทศ ?

ตอบ : โรงงานน้ำตาลของไทย แต่เดิม เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีอยู่ 42 โรง ทางการควบคุมไว้ ไม่ให้ขยายต่อ โดยไม่อนุญาตให้ แต่แล้ว โรงงานน้ำตาลที่แต่ละโรงต้องมีเงินลงทุนมากกว่าพันล้านบาท ก็ขยายจำนวนและตั้งใหม่ โดยไม่มีใบอนุญาตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วทางการก็ตามออกใบอนุญาตเพิ่มให้ภายหลัง

จะเห็นว่า โรงงานน้ำตาลของไทยมีอำนาจทางการเมืองสูง ไม่มีใบอนุญาตก็กล้าลงทุน แล้วก็เชิญรัฐมนตรีไปเปิดโรงงานด้วย

โรงงานน้ำตาลมีเจ้าของอยู่เพียง 2-3 กลุ่ม ที่เกี่ยวพัวพันกัน จึงรวมตัว รวมหัวกันได้ไม่ยาก


ส่วนชาวไร่อ้อย ก็สามารถรวมตัวกันได้ดี โดยผ่านหัวหน้าโควต้า เป็นสมาคมและสหพันธ์ชาวไร่อ้อย เนื่องจากว่าระบบการจัดสรรอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลมีวิธีพิสดาร ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ โรงงานจะไม่ยอมรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อย เพราะเกรงว่าปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานจะไม่สม่ำเสมอ ยิ่งโรงงานน้ำตาลเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรและการลงทุนสูง เกินพันล้านบาท ปีหนึ่งก็เปิดหีบไม่เกิน 4-6 เดือน เมื่อเปิดหีบก็จะสะดุด หยุดหีบไม่ได้ ต้องมีอ้อยสดๆ ทยอยไหลเข้าโรงงาน

ระบบหัวหน้าโควต้าจึงเกิดขึ้น คือ โรงงานจะให้ชาวไร่อ้อยขนาดใหญ่ เป็นผู้รวบรวมอ้อยจากชาวไร่รายเล็กและจัดคิวทยอยส่งเข้าโรงงานในนามของหัวหน้าโควต้า จึงทำให้ชาวไร่รายเล็กต้องรวมตัวอยู่ใต้อาณัติของหัวหน้าโควต้า จะส่งอ้อยของตนให้โรงงานเองก็ไม่มีโรงงานรับ การรวมตัวของหัวหน้าโควต้า จึงเป็นสมาคมชาวไร่อ้อย และการรวมตัวของสมาคมชาวไร่อ้อย ก็เป็นสหพันธ์ชาวไร่อ้อย

เมื่อชาวไร่อ้อยทั้งหมดไปรวมตัวกับกลุ่มโรงงานน้ำตาล กระบวนการรวมหัว (ฮั้วกัน) ก็เกิดขึ้น เพื่อหาผลประโยชน์จากผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศ และสามารถผลักดันจนเป็น พ.ร.บ. ที่มีการกำหนดขั้นตอนวิธีการฮั้วกันให้ด้วย

ถาม : เมื่อรวมหัวกัน (ฮั้วกัน) ได้แล้ว เขาแบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร ?

ตอบ : กำหนดกฎเกณฑ์ในการฮั้วของพวกเขา คือ เอารายได้จากน้ำตาลที่ขายไปต่างประเทศมารวมกับรายได้จากน้ำตาลที่ขายในประเทศทั้งหมด แล้วแบ่งให้โรงงาน 30% ให้ชาวไร่ 70% และเมื่อตอนต้นปีที่งบบัญชียังไม่ได้รับรู้รายรับที่แท้จริง เขาก็คำนวณ (กะเอา) ว่าปีนี้ชาวไร่จะได้รายรับเท่าไหร่ คิดเป็นรายรับหรือราคาต่อตันเท่าไหร่ แล้วก็กำหนดราคาเบื้องต้นให้ชาวไร่ไปก่อน ปลายปีงบบัญชีผลประโยชน์ทั้งหมดจึงนำมาเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง

และที่เขาบอกว่าเป็นหนี้สินก็เกิดขึ้นตรงนี้ คือ เขาจ่ายราคาอ้อยเบื้องต้นไว้สูงเกินไป พองบบัญชีผลประโยชน์ปลายปีก็เรียกคืนไม่ได้ จึงเป็นหนี้ธนาคาร แล้วก็นำเอาข้ออ้างเรื่องหนี้สินมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ กดดันรัฐ

ถาม : เขามีวิธีทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศแพงขึ้นได้อย่างไร เพราะเมื่อราคาขายในประเทศ สูงกว่าราคาส่งออก โรงานน้ำตาลก็คงอยากนำน้ำตาลมาขายในประเทศเพราะได้ราคาดีกว่า ?

ตอบ : กระบวนการฮั้วกันในวงการนี้เก่งและมีวินัยมากพอควร คือ เขาคำนวณก่อนว่า ปริมาณน้ำตาลที่คนไทยในประเทศใช้บริโภคมีจำนวนต่อเดือนต่อปี มากน้อยแค่ไหน และศึกษาให้รู้ก่อนว่า ถ้าราคาสูงคนจะกินน้ำตาลลดลงมากน้อยอย่างไร

จากนั้น ก็คำนวณได้ว่า ปริมาณน้ำตาลที่จะปล่อยสู่ตลาดในแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร คือ ต้องปล่อยปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดให้น้อยลง ราคาจึงจะขยับสูงได้ถึง ก.ก.ละ 13 บาท เพราะถ้าปล่อยปริมาณมาก เหลือขาย คนขายก็จะแย่งกันขาย ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงจากที่ตั้งไว้ เมื่อได้ปริมาณที่ควรขายในประเทศทั้งหมด แล้วจึงจัดสรรให้โรงงาน แต่ละโรงงานขายในประเทศได้ไม่เกินเดือนละกี่กระสอบ

ยังมีเทคนิคอีกอย่าง คือ การแบ่งปริมาณน้ำตาลขายให้โรงงานขนม ลูกอม และน้ำอัดลม ในราคาต่ำ เพื่อหวังลดการต่อต้านและดึงเข้าเป็นพวก ซึ่งได้ผล เพราะนับแต่นั้นมา โรงงานพวกนี้ก็หยุดโวยวาย ถือเป็นกลยุทธของนักผูกขาดตัดตอนที่น่าสนใจมาก

ส่วนประเด็นที่สงสัยว่า ในยามเมื่อราคาน้ำตาลที่ขายต่างประเทศต่ำกว่าราคาในประเทศ เขาสร้างวินัยกันอย่างไร จึงกำหนดได้ ไม่ให้โรงงานแต่ละโรงหากินพิเศษ โดยการเอาน้ำตาลมาลักลอบขายในประเทศ ตรงนี้ นับว่านักฮั้วเขาทำกันได้เก่ง รายละเอียดไม่เป็นที่เปิดเผย แต่กระนั้น ก็ยังมีการพูดกันว่า มีน้ำตาล “เกาะสีชัง” ออกมาขายราคาถูก ซึ่งหมายถึงน้ำตาลที่จะต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ แต่กลับนำมาขายในประเทศบ้าง สะท้อนว่า “รั่ว” กันอยู่บ้าง แต่ก็มีไม่มากนัก

ถาม : ครั้งนี้ รัฐบาลสมัครไปรวมหัว (ฮั้วกัน) กับเขาด้วยหรือไม่ ถึงได้กำหนดราคาขายในประเทศขุ้นอีก ก.ก.ละ 5 บาท ?

ตอบ : ขอแสดงความเสียใจด้วย ที่คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว

แต่เดิม เมื่อครั้งราคาน้ำตาลต่างประเทศอยู่ในระดับ 3 บาท 5 บาท หรือ 8 บาท ต่อ ก.ก. คนไทยจำใจฝืนทนกินน้ำตาล ก.ก.ละ 13 บาท มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ก็หวังแต่เพียงว่า เมื่อราคาตลาดต่างประเทศแพง คนไทยจะได้อานิสงส์จากการช่วยโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในประเทศไทย โดยซื้อน้ำตาลได้ในราคา ก.ก.ละ 13 บาทเท่าเดิมต่อไป ไม่เคยคิดว่า จะมีรัฐบาลเข้าร่วมรวมหัว (ฮั้วกัน) กับเขาด้วย เพราะอยู่ดีๆ ก็ทำให้ราคาในประเทศที่ผู้บริโภคเคยบริโภคแพงอยู่แล้วเป็นเวลานาน ต้องแพงขึ้นอีกเกือบ 40% คือแพงพรวดขึ้นทีเดียวอีก 5 บาท/ก.ก. และก็อ้างตามสูตรว่า ราคาต่างประเทศแพง คนต่างประเทศเขาก็กินน้ำตาลแพง และระบบฮั้วกันยังเป็นหนี้สิน (อันเกิดจากการจ่ายเงินค่าอ้อยเบื้องต้นให้ชาวไร่อ้อยสูงเกินไป)

เอาทั้งขึ้นทั้งล่อง ผู้บริโภคก็ถูกต้มทั้งเมื่อยามราคาต่างประเทศตก และเมื่อยามราคาต่างประเทศขึ้น

ถาม : พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ละการดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ ที่ไปรวมหัวกัน(ฮั้วกัน)กับโรงงานน้ำตาล ก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ?

ตอบ : น่าคิดว่า จะขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ? เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ระบุว่า

“รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านเศรษฐกิจดังต่อไปนี้

(1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ”

และ “(5) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค”

น่าคิดว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527 และการดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน น่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กระจ่าง

น่าคิดต่อไปอีกด้วยว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดให้รัฐต้องจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณและมีกรอบเวลาให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นด้วย ก็เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่า ยามที่ผู้บริโภคแต่ละคนเดือดร้อนเช่นนี้ ก็ยังรวมตัวกันยาก ทำให้ไม่มีพลังเท่าที่ควร แต่จนบัดนี้ รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการ ตรงกันข้าม กลับไปจับมือฮั้วกันกับฝ่ายผู้ผลิตจนทำให้ผู้บริโภคต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

สุดท้าย ขอให้รัฐบาลและผู้แทนประชาชนทั้งหลาย โปรดนึกถึงคำเตือนของกลุ่มแพทย์อาวุโส ที่ให้ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มากกว่าการเข้ามาบริหารประเทศ โดยหวังแต่จะแก้รัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น

ถ้าเป็นอย่างนี้ ธุรกิจน้ำตาลเมืองไทย ก็ “หวานคอ(อี)แร้ง” น่ะสิ .

กำลังโหลดความคิดเห็น