xs
xsm
sm
md
lg

จัด"พลังถ่อย"ป่วนวงสัมมนาเชียร์แก้รธน.-โห่ไล่ฝ่ายค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พลังแม้ว" เกณฑ์ม็อบป่วนเวทีสัมมนา เชียร์ฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ โห่ไล่ฝ่ายคัดค้าน "สุเทพ" จวกรัฐบาลตีสองหน้า เป็นอีแอบอยู่หลังม็อบรับจ้างแก้รัฐธรรมนูญ เผยประชาชนเริ่มเหลืออดกับท่าทีเหลิงอำนาจเต็มทน ด้านพันธมิตรฯ ยืนยันต้านแก้รัฐธรรมนูญฟอกแม้วทุกรูปแบบ วันพุธนี้หารือแกนนำกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (9 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเกริก มีการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ"แก้- ไม่แก้รัฐธรรมนูญ คนไทยได้อะไร" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ นายวรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่เข้าร่วมรับฟัง ส่วนใหญเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กว่า 100 คน

นายสมชาย ภคภาศน์วิวัฒน์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนกลุ่มเดียว หรือหลายๆกลุ่ม เป็นการแก้เพื่อประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ ประชาธิปไตย มี 2 แบบ คือ เผด็จการประชาธิปไตย กับประชาธิปไตยเสรีนิยม ที่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่รับฟังเสียงข้างมากอย่างเดียว

"การร่างรัฐธรรมนูญตามโลกทัศน์แบบใด ก็จะดำเนินการไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแบบนั้น ถ้าต้องการแบบเสียงข้างมากอย่างเดียว กระบวนการเป็นตัวกำหนด อีกแบบหนึ่ง ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย จะได้รัฐธรรมนูญเพื่อการถ่วงดุล ใช้เวลา มีคนกลาง นักการเมืองมีส่วนร่วม อาจให้ฝ่ายค้าน รัฐบาล มีคนกลางกำหนดกติกา เพื่อที่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องร่วมกันร่าง ใช้เวลา มีกระบวนการ หรือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นส.ส.ร.อย่างเดียว การออกแบบรัฐธรรมนูญ ต้องให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศด้วย"

นอกจากนี้ เรื่องของเนื้อหารัฐธรรมนูญนั้น ต้องคำนึงสิทธิเสรีภาพ วิธีการประชาธิปไตยแบบถ่วงดุลได้ ต้องดูด้วยว่า เรื่องการจัดตั้งองค์กรกลาง ที่ต้องแน่ใจว่าเป็นกลางจริงๆ โดยจะต้องมีการตรวจสอบว่า คนที่จะมาทำหน้าที่องค์กรกลางนั้นๆ เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่ เหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่เป็นตุลาการแค่ไหน ระบบคิดเป็นอย่างไร จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น สำหรับคนเหล่านี้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง

"วัฒนธรรมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อประชาธิปไตย คือวัฒนธรรมแนวตั้ง คือ เราเคารพเขา เรียกกันว่าวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ในอดีตระบบอุปถัมภ์ ตั้งแต่พ.ศ. 2475 ไม่เคยทำให้บรรลุประชาธิปไตยได้เลย อุปถัมภ์วันนี้ เขาดีกับตน ให้เงินกู้กับตน ทำให้เกิดความเกรงใจ โอกาสจะพัฒนาระบบประชาธิปไตย ทำให้สังคมพัฒนาไปด้วยความลำบาก " นายสมชายกล่าว

"วรพล"ชู 3 ประเด็นหนุนแก้ รธน.

ด้าน นายวรพล พรหมมิกบุตร กล่าวว่า สาระของรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นลักษณะ แบบกึ่งเผด็จการ มีการจัดวางตำแหน่ง และจัดวางอำนาจให้กลุ่มคณาธิปไตย ใหญ่กว่าประชาธิปไตย เพื่อใช้ประโยชน์จากวงจรอุบาทว์ การแต่งตั้ง โดยใช้บุคคลในเครือข่ายอุปถัมภ์ เช่น บุคคลจากฝ่ายผู้พิพากษาศาลฎีกา และขึ้นไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อครบวาระ ก็อาศัยสมาชิกวุฒิสภาจากที่มาจากการแต่งตั้งเข้ามาคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ และให้ชุดใหม่สืบทอดอำนาจต่อไปได้

"คณาธิปไตยเหล่านี้ มีอำนาจตั้งแต่การปลด หรือถอดถอน บุคคลทุกตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายกฯ ส.ส. และ ส.ว.ได้หมด ทำให้คณาธิปไตย ที่มาจากการแต่งตั้ง อยู่เหนือหัวประชาชน ให้บุคคลเหล่านี้ใช้ดุลพินิจให้เชื่อว่า บุคคลอื่นทำผิดหรือไม่ เป็นการใช้ดุลพินิตตามความอำเภอใจ มีการเขียนบทบัญญัติ ยกโทษล่วงหน้าให้ตัวเอง เขียนไว้ใน มาตรา 309 ปรัชญาที่เขียนไว้ในมาตรานี้นั้น เรื่องก่อนและหลัง ที่จะมีรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีความผิด ทำให้สถานะของคณาธิปไตยนี้ มีฐานะเป็นสมมุติเทพ ในทางปรัชญาสังคมวิทยา เป็นหลักการที่เลวร้าย ในสังคมอดีตทำได้ คือสมัยอยุธยา ที่มีสมมุติเทพ เพียงพระองค์เดียว คือระบบกษัตริย์ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สมมุติเทพขึ้นมาหลายๆ คน เช่น คตส. มีอำนาจตัดสินคนอื่นให้ผิดหรือถูกได้

นายวรพล กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น คือ 1 . ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญ ปี 50 โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กลุ่มคนที่อยู่ในวงจรอุบาทว์ ที่อยู่เหนืออำนาจประชาชนสามารถใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอการตั้งส.ส.ร. 3 หรือทำประชามติก่อน

2. หลังจากที่ได้นำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้แทนฉบับปี 50 แล้ว หากจะมีการตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา ควรจะต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงจรอุบาทว์

3. หลังจากส.ส.ร.3 ทำการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข เข้าสู่การพิจารรณาของสภา ผ่านการทำประชามติก่อนที่จะมีการประกาศใช้

"สาทิตย์" เจอม็อบโห่ไล่

ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า ตนขอพูดในฐานะเป็นนักการเมืองในสภา ที่ได้ยินเสียง ส.ส.ในสภาพูดถึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างน่าเป็นห่วง การแก้รัฐธรรมนูญนั้น สิ่งที่คนไทยจะได้ คือ ความขัดแย้ง มีทั้งคนศึกษาอย่างดี ทั้งคนที่รับฟังกันมา ประเด็นขณะนี้มีทั้งเหตุ และผล และอารมณ์

ทั้งนี้ ทางออกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร เป็นเรื่องปกติมาก เกิดวิกฤติ เกิดปัญหาจะมีการยกร่างใหม่โดย ส.ส.ร.หรืออะไรก็ตาม ถ้าเสนอในสถานการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเลย มีความสนุกสนาน แต่บังเอิญเป็นการแก้ในสถานการณ์ไม่ปกติ เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ถ้าถอยไปอีก อีกฝ่ายก็จะรู้สึกชนะ

"รัฐธรรมนูญ คือ กติกาอันหนึ่งที่ใช้จัดอำนาจของสังคม มีการรับรองสิทธิ์เป็นเรื่องของคนทุกคน เวลาเขียนรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อ ขอแก้ไขก็ได้ แต่เมื่อมีการแก้ไข ทุกคนก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่เสรีภาพทางวิชาการนั้นต้องมี เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรมีคนทุกคนมามีส่วนเกี่ยวข้อง การต่อสู้เรื่อง แก้ ไม่แก้ ไม่ควรเป็นเรื่องอคติ เป็นเรื่องการรัก และการชอบใคร มาเกี่ยวข้อง การต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญขณะนี้ มีที่มาที่ไป การขัดแย้งทางความคิด คนที่ออกมาเคลื่อนไหว มีทุกส่วน ทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย สังคมประชาธิปไตยต้องอยู่ได้บนความแตกต่าง"

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับความจริงว่าคนชอบหรือไม่ชอบมี 2 ส่วน ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็เคลื่อนไหว ระดมประชาชน ลูกหลานวันข้างหน้า จะคิดอย่างไร สถานการณ์ที่เป็นจริง ต้องมีการเคลื่อนไหว ทั้งสองข้างแน่นอน

"ผมคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นเชื้อไฟทางการเมือง เมื่อวานก็มีร่าง ฉบับประชาชน กระบวนการตรวจสอบกฎหมายและการบรรจุวาระ เป็นช่วงเวลาที่ให้ตั้งคณะกรรมการ ต้องยอมรับความจริงของประเทศ และชี้ความจริงของประเทศ เมื่อฟังแล้ว ที่มาที่ไป ก็มีทางออกเสมอ แต่อย่าทำให้เป็นทางตันเท่านั้นเอง บางส่วนจำเป็นจะต้องแก้ การตั้งเป็นกรรมาธิการ ถึงสิ่งที่จำเป็นจะต้องแก้ไข" นายสาทิตย์ กล่าว

ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าขอยืนยันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยเร็ว เนื่องจากมีที่มาจากอำนาจเผด็จการ มาจากกลุ่มที่ใช้อำนาจและอาวุธเข้ายึดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ซึ่งนายณัฐวุฒิ พยายามแสดงความเข้าใจกับกลุ่มที่มาให้กำลังใจว่าอย่าใช้ความรุนแรงกับวิทยากร ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องสัมมนานั้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มาจากกลุ่ม นปช. กว่า 100 คน เมื่อนายสาทิตย์ กล่าวอภิปรายในช่วงหนึ่งว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง" ทำให้ กลุ่มนปช. ส่งเสียงตะโกนโห่ร้องสวนขึ้นมาอย่างไม่พอใจ และมีการฌห่อีกเป็นระยะๆ ซึ่งทำให้ผู้ดำเนินรายการ ต้องออกมาห้ามปราม ให้เคารพสถานที่และเกียรติสถาบันการศึกษาด้วย

ทั้งนี้ ต้องมีการกล่าวห้ามของผู้ดำเนินรายการถึง 2 ครั้ง ในช่วงที่นายสาทิตย์ อภิปราย ซึ่งกำหนดเวลาให้ 15 นาที ทำให้นายสาทิตย์ ใช้เวลาในการอภิปรายน้อยกว่าที่กำหนด
 
ขณะเดียวกันในช่วงที่ นายณัฐวุฒิ และนายวรพล อภิปราย กลุ่มมวลชนดังกล่าวก็ปรบมือ ยินดี แสดงท่าทีเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการจัดตั้งกลุ่มคนเหล่านี้มาให้กำลังใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางผู้จัดสัมมนาได้ติดต่อแกนนำพันธมิตรฯ มาร่วมงานด้วย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่า จะเป็นการปะทะกันอย่างดุเดือดของกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา

"สุเทพ"จวกรัฐบาลตีสองหน้า

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วง กรณีที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะผลักดันโดยรัฐบาล แต่ใช้กลุ่มคนของตัวเองอย่างนพ. เหวง โตจิราการ จัดม็อบรับจ้างออกมาเคลื่อนไหวแทนว่า เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ผู้บงการเป็นคนที่ไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศเลย คิดแต่จะเอาแต่ใจให้ได้ประโยชน์ในทางการเมือง ฉะนั้นมีพฤติกรรมเหมือนกับตีสองหน้า ถอยด้านนี้ แต่รุกด้านนั้น ทำทีเป็นยอม ยอมตรงนี้ ไม่ยอมตรงนั้น ตนเองหยุดแล้วคนอื่นไม่หยุด อะไรแบบนี้ แต่คนเขารู้กันหมด

"ผมคิดว่าคนไทยมีความอดทนมาก แต่วันหนึ่งคนไทยจะเหลือทน แล้วดูเถอะครับ อยู่ๆ ก็เอาพวกมาเดินขบวนกดดันหน้าสภา ขณะที่ยังไม่มีใครเคลื่อนไหวอะไรเลย ที่สำคัญคือ ท้าทาย ผมมองว่าเป็นความท้าทาย แสดงให้เห็นว่าไม่กลัว และเหลิงในพลังอำนาจของตัวเอง อิทธิพลกำลังเงินว่าจะซื้อได้ทั้งประเทศ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้คนไทยรู้สึกมาก แต่วิกฤตครั้งนี้ยังสามารถแก้ได้ หากรัฐบาลยอมหยุด แต่ถ้ายังเดินหน้าในอัตรานี้ ผมว่าเกิดวิกฤตบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ คนไทยก็จะไม่ทน ผมยืนยันว่ามีคนไทยที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จริงจังมากกับเรื่องนี้"

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีอย่างที่ไหน ขณะที่อาหารโลกขาดแคลน ทุกอย่างแพงขึ้นหมด มีแต่ข้าวของชาวนาไทยทรุดต่ำลงโดยไม่สามารถอธิบายได้ คนเดือดร้อนหมด แม้แต่ชาวสวนปาล์มที่ภาคใต้ก็เดือดร้อน มีการปิดถนน คนในรัฐบาลนี้ไม่ลงไปดูแล มันเป็นอย่างนี้ไปหมด ผลไม้ทุกภาคของประเทศราคาตก ทั้งเกษตรกร คนจน คนชั้นกลางที่มีเงินเดือนประจำก็เดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเกษตรกร รายได้ดีขึ้น ก็ยังพอทำเนา แต่เกษตรกรก็ไม่มีรายได้ที่ดีขึ้น ขณะนี้รัฐบาลทำเพียงแต่ดิ้นรนจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองเสวยอำนาจอย่างมีความสุขต่อไป พ้นความผิดทั้งหลายทั้งปวงที่ทำเอาไว้ ซึ่งตนคิดว่าชาวบ้านไม่ยอมแน่

พันธมิตรฯ ลั่นคัดค้านทุกรูปแบบ

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนคาดการณ์ไว้แล้วว่า เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฟอกผิดให้กับระบอบทักษิณ ที่ถูกสังคมต่อต้านก่อนหน้านี้ จนรัฐบาล กล้าๆ กลัวๆโยนให้เป็นเรื่องของสภาฯ กับเครือข่าย นปช. และชมรมคนรักทักษิณ ฉะนั้นจึงมีการเคลื่อนไหวคู่ขนานมาล่วงหน้า โดยให้กลุ่มนปช. และเครือข่ายฯ ล่ารายชื่อประชาชนตามพื้นที่หัวคะแนนของพรรคพลังประชาชน มาเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องตรวจสอบอีกทีว่า เป็นการล่ารายชื่อแบบหางว่าว หรือเป็นแบบฟอร์มตามกฎหมาย เพราะอาจเป็นโมฆะได้

วิธีการแบบนี้ คงตบตาประชาชนไม่ได้ ซ้ำร้ายสังคมและสื่อมวลชนต่างก็รู้ดีว่า กลุ่มคนดังกล่าวเป็นเครือข่าย นปก.เดิม และเป็นกลุ่มคนรักทักษิณ อย่างชัดแจ้ง การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฟอกผิดตนเองของระบอบทักษิณโดยยืมมือประชาชนบางกลุ่มในขณะนี้ เชื่อว่ายิ่งจะทำให้กระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ จุดยืนพันธมิตรฯไม่เปลี่ยนแปลง เรายังยืนยันว่า ถ้าสภาฯแห่งนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ309 โดยหวังตัดตอนความผิดของตนเอง พันธมิตรฯ จะคัดค้านทุกรูปแบบ ทั้งการเข้าชื่อถอดถอน และการชุมนุมใหญ่ ไม่ว่าญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมาจากประชาชนที่อ้างว่ามี 1.5 แสนรายชื่อ หรือเสนอโดยพรรคพลังประชาชนก็ตาม เพราะทั้งสองร่างฯ มีที่มาและจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ล้มมาตรา 237 และ 309

ถ้ากลุ่มประชาชนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงทำไมไม่ยื่นแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้มีกระบวนการประชามติสอบถามความเห็นประชาชนว่า ควรแก้ไขรัฐธรรรมนูญหรือไม่ ถ้าผลประชามติต้องแก้ ก็ควรให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมา

"ที่ผมแปลกใจก็คือ มีความพยายามจะนำเรื่องศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติขึ้นมาอีก ทั้งที่พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสไว้ ช่วงก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ว่าไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ จนกลุ่มที่ชุมนุมหน้าสภาฯ ตอนนั้น สนองพระราชดำรัสยุติการชุมนุมต้านรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้กลับนำมาเป็นประเด็นอีก"

แกนนำพันธมิตรฯ นัดหารือพุธนี้

นายสุริยะใส กล่าวว่า แม้พันธมิตรฯ จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ แต่เราก็พร้อมถอยก้าวหนึ่งให้กับความเห็นที่แตกต่าง โดยเสนอให้มีการลงประชามติ สอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน มติออกมาอย่างไรพวกเราก็พร้อมยอมรับ ซึ่งข้อเสนอของพันธมิตรฯ เป็นธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พันธมิตรฯ ได้มีการหารือเป็นการภายใน เห็นว่าสถานการณ์วิกฤติ เศรษฐกิจปัญหาปากท้อง ข้าวยากหมากแพง กำลังขยายวง ความแตกแยกก่อตัวมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการคอร์รัปชั่นทางโยบายของรัฐบาล กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคงเป็นการเร่งถอนทุน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเด็นนี้ พันธมิตรฯ จำเป็นต้องเคลื่อนไหว เปิดโปงให้กับสังคมได้รับรู้ในเร็วๆนี้โดยวันพุธหน้าจะมีการประชุมแกนนำ และแถลงท่าทีอย่างเป็นทางการ
กำลังโหลดความคิดเห็น