xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : รัฐบาล “ไร้ยางอาย”...แก้กฎหมายให้ตน “พ้นผิด”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

อาการเอะอะโวยวายของ รบ.พรรคพลังประชาชนที่กล่าวหาว่า รธน.ไม่ดี ต้องรีบแก้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ที่นายสมัคร สุนทรเวช อ้างว่า มีคนที่จ้องทำลาย 3 พรรคร่วม รบ.(พปช.-ชท.-มฌ.) แถมเปรียบไปไกลว่า การยุบ 3 พรรคเท่ากับ “ฆ่าประเทศไทย” ไม่ว่าที่สุดแล้ว รบ.จะแก้ รธน.มาตราเดียวหรือแก้เกี้ยวด้วยการแก้หลายมาตรา ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากการถูกครหาว่า แก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองได้ เพราะเป้าประสงค์ของ รบ.ไม่ใช่แค่ว่า ต้องการเช็คบิล คมช.และ คตส. รวมทั้งเพื่อช่วยให้ “ครม.ทักษิณ” พ้นผิดในคดีต่างๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าละอายและคิดไม่ถึงว่า รบ.นี้จะกล้าทำ ก็คือ การแก้ รธน.เพื่อให้ตนพ้นผิดและรอดพ้นจากการถูกยุบพรรค ...เราจะเรียก รบ.ว่าอะไรดี ให้สมกับที่ รบ.กล้าออกกฎหมายลงโทษ ปชช. แต่พอตัวเองทำผิดบ้าง กลับแก้กฎหมายยกเว้นความผิดให้ตัวเองได้

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 


ความพยายามดิ้นหนีคดียุบพรรคของ 3 พรรคในรัฐบาล (พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย)เริ่มปรากฏให้เห็น หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติ(18 มี.ค.) ให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.(7 คน) ไปพิจารณาว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครหรือกรรมการบริหารพรรค ที่จะโยงไปสู่การยุบพรรค ตามมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น หากปรากฏว่า กรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ได้รู้เห็นการทำผิดหรือทุจริตที่เกิดขึ้น กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้นหรือไม่?

เหตุที่ กกต.ต้องตัดสินใจฟังความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายด้วย เนื่องจากอนุกรรมการที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ได้สรุปผลสอบต่อ กกต.ว่า กรณีผู้สมัครที่เป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย(นายมณเฑียร สงฆ์ประชา) และมัชฌิมาธิปไตย(นายสุนทร วิลาวัลย์) ทุจริตซื้อเสียงจน กกต.มีมติให้ใบแดงไปนั้น ทางหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งสองพรรค ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อเสียงดังกล่าว(พรรคชาติไทย อ้างว่า ทางพรรคฯ ได้มีหนังสือกำชับผู้สมัครทุกคนไม่ให้ทำผิดกฎหมายตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว ขณะที่พรรคมัชฌิมาธิปไตย อ้างว่า ในพรรคมีความขัดแย้งและแบ่งเป็นหลายสาย การดูแลผู้สมัครจึงแบ่งเป็นสายใครสายมัน) จึงไม่น่าเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรค

แต่ กกต.มองว่า ข้อกฎหมายมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 103 วรรค 2 มีลักษณะบังคับหรือล็อกไว้อยู่แล้วว่า กกต.ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใดรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.(กกต.มองว่า เมื่อผู้กระทำผิดเป็น กก.บห.พรรคเสียเองจึงอาจจะอยู่ในข่ายคำว่า “ผู้ใด” โดยไม่จำเป็นต้องมี กก.บห.คนอื่นรู้เห็นด้วย) ดังนั้นก่อนที่ กกต.จะมีมติเรื่องนี้ จึงขอฟังความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายก่อนเพื่อความรอบคอบ

และเมื่อมีกระแสข่าว (20 มี.ค.) ว่า ที่ปรึกษากฎหมายมีมติเอกฉันท์ว่า กกต.ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ก็เกิดความปั่นป่วนโกลาหลขึ้นกับพรรคที่เข้าข่ายอาจถูกยุบ โดยเฉพาะพรรคชาติไทย ซึ่ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา รองหัวหน้าพรรค ออกมาอ้างทันทีว่า “ได้ยินข่าวว่ามีใบสั่งให้มีการยุบพรรคทั้ง 2 พรรค(ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย) จึงรู้สึกท้อใจ...” ขณะที่ผู้พ่ออย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ก็พูด(21 มี.ค.)ทำนองว่า มีเสียงเตือนตนตั้งแต่หลังเลือกตั้งแล้วว่า ถ้าพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน จะต้องโดนยุบพรรค!?!

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ยิ่งร้อนตัวใหญ่ เพราะแม้คดีใบแดงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนของพรรค ทางศาลฎีกาฯ จะยังไม่ได้ตัดสินว่าจะยืนตามข้อเสนอของ กกต.หรือไม่ ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าพรรคพลังประชาชนจะเข้าข่ายถูกยุบพรรคด้วยหรือไม่ แต่นายสมัครก็รีบออกมาหนุนคำพูดของ น.ส.กัญจนาว่ามีใบสั่งยุบพรรค รวมทั้งอ้างว่า มีคนจ้องยุบพรรครัฐบาลทั้ง 3 พรรค (พปช.-ชท.-มฌ.) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเท่ากับเป็นการฆ่าประเทศไทย

“...จะเอากันให้ตายกันตรงนี้ก็เอาสิ เอากันไหม เอากันให้ตายไปเลยไอ้พรรคการเมืองให้มันตายกันไป ไอ้พรรคการเมืองตายมันไม่เป็นไร แต่ประเทศชาติมันตาย กว่าจะล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะเงยหัวขึ้นมาได้ พอเงยหน้าไปคบค้าสมาคมกับใครเขาได้ ก็จะกลับอย่างเดิม จะเอากันให้ตายอีก อย่างนี้พอใจหรือยัง”

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ออกมาส่งสัญญาณว่า เมื่อกฎหมายรัดคอ กกต.ให้ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคง่ายเกินไป ดังนั้นสมควรแก้ รธน.มาตรา 237 เพื่อปลดล็อกเรื่องดังกล่าว โดยบอก ต้องดำเนินแก้ รธน.อย่างรวดเร็วก่อนที่คดีจะถึงมือศาล ส่วนกรณีที่คดีใบแดงนายยงยุทธไปถึงศาลแล้วนั้น นพ.สุรพงษ์ บอกว่า แม้คดีดังกล่าวจะถึงศาลแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนการพิจารณาที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณรีบแก้ รธน.เพียงมาตราเดียว ทั้งที่นายสมัครเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะพิจารณาเรื่องแก้ รธน.ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ แต่นี่รัฐบาลเพิ่งทำงานได้ไม่ถึง 3 เดือนก็จะแก้ รธน.เสียแล้ว จึงได้เกิดกระแสต่อต้านการแก้ รธน.มาตราดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพราะสะท้อนถึงการแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพรรคในรัฐบาล และเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์มากๆ เข้า รัฐบาลจึงพยายาม“แก้เกี้ยว”ด้วยการอ้างว่า ไม่ได้แก้มาตราเดียว แต่แก้หลายมาตรา

โดยล่าสุด (26 มี.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เผยว่า จากการระดมความเห็นในพรรคเห็นว่าควรแก้ไข รธน.ใน 4 ประเด็น 1.มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ซึ่งรัฐบาลต้องการแก้ให้เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่โยงถึงพรรคหรือ กก.บห.พรรค 2.มาตรา 261 การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนเห็นว่าควรให้องค์กรอิสระและผู้นำทางทหารยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย 3.มาตรา 266 ที่ห้าม ส.ส.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ซึ่งพรรคพลังประชาชนอ้างว่า ทำให้ ส.ส.ไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ 4.จะยกเลิกมาตรา 309 ที่คุ้มครององค์กรที่ตั้งขึ้นตามประกาศ คมช. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การที่รัฐบาลต้องการยกเลิกมาตรานี้เพื่อเช็คบิล คมช.และ คตส. ขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีต ครม.พ้นผิดในคดีต่างๆ ที่ถูก คตส.กล่าวโทษ ส่วนการนิรโทษกรรมให้ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น พรรคพลังประชาชนยังไม่ได้ข้อยุติ

ส่วนในแง่การดำเนินการแก้ รธน.นั้น ทางพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน วิปรัฐบาลก็จะเสนอสภาให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมวิสามัญเพื่อพิจารณาปัญหาการบังคับใช้ รธน.ปี 2550 ด้วย โดย ส.ส.รัฐบาลจะเข้าชื่อ 96 คนเพื่อเสนอเรื่องแก้ไข รธน.เข้าสภาเพื่อรับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไข รธน.ต่อไป โดยคาดว่า ถ้าไม่ติดขัดปัญหาอะไร ภายในเดือน เม.ย.น่าจะแล้วเสร็จ และประกาศใช้ รธน.ฉบับแก้ไขได้ภายใน 3 เดือนนี้

ทั้งนี้ แม้แกนนำหลายคนในรัฐบาลจะยืนยันว่า เมื่อ รธน.มีปัญหา ก็ต้องแก้ และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ไข รธน.เมื่อไหร่ ช่วงไหนก็ได้ แต่หลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 237 และ 309 ขนาดประธาน กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ยังมองว่า เร็วเกินไปที่จะแก้ไข รธน.2550 และว่า ไม่ควรโทษว่า รธน.ไม่ดี เพราะ รธน.บังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ใช้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการแก้ไขต้องรอบคอบและทำโดยรวม

ขณะที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกัน (27 มี.ค.) ว่า การจะแก้ รธน.มาตรา 237 นั้น ต้องพิจารณาว่าจะแก้เพื่ออะไร และว่า มีการวางกติกาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าทำผิดต้องยุบพรรค ก็ต้องเล่นไปตามกติกา ซึ่งทุกคนทราบก่อนล่วงหน้าแล้ว

ส่วนทางด้านรองโฆษกรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมายืนยันว่า การแก้ รธน.ของรัฐบาลเพื่อทำให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง พร้อมอ้างว่า การแก้ รธน.ขณะนี้ เป็นการต่อสู้ของรัฐบาลและประชาชนที่รักความเป็นประชาธิปไตย กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ต่อต้านและมีจิตวิญญาณของเผด็จการ!?!

เพื่อให้เห็นท่าทีที่หลากหลาย ลองไปฟังมุมมองของฝ่ายอื่นๆ กันบ้างว่ารู้สึกอย่างไรที่รัฐบาลจะแก้ รธน.อย่างเร่งด่วนไม่กี่มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่รัฐบาลยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการหนีคดียุบพรรค

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กทม.และอดีตรองประธานสภาร่าง รธน.ปี 2550 ยืนยันว่า รธน.มาตรา 237 ไม่ได้มีขึ้นเพื่อทำลายล้างหรือกลั่นแกล้งพรรคไหน เพราะไม่รู้ว่าจะมีพรรคไหนกระทำผิดหรือไม่ และที่สำคัญ ตอนที่ยกร่างทุกพรรคก็ได้รับทราบแล้วว่ามีบทบัญญัติเรื่องยุบพรรคแบบนี้ ก็ไม่เห็นมีพรรคไหนคัดค้าน ดังนั้น ส่วนตัวแล้ว ตนไม่ห่วงว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคใด เพราะตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคไหน แต่ตนติดใจกระบวนการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายมาใช้ในบ้านเมืองมากกว่า เพราะในขณะที่รัฐบาลออกกฎหมายที่สามารถลงโทษประชาชนที่ทำผิดได้ แต่พอรัฐบาลเข้าข่ายอาจทำผิดบ้าง ก็จะแก้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิด แล้วอย่างนี้จะตอบชาวบ้านว่าอย่างไร และบ้านเมืองจะไม่วุ่นวายหรือ?

“การแก้ รธน.เนี่ย จะต้องแก้เพื่อส่วนรวม แก้ที่มันเป็นปัญหาในระบบโครงสร้างการบริหารบ้านเมือง และ ม. 237 เจตนาเพื่อจะแก้ปัญหาการโกงการเลือกตั้ง ทีนี้ถ้าเกิดมันมีผลกระทบกับนักการเมืองบางคน พรรคการเมืองพรรค และมาแก้เพื่อให้(ตน)พ้นข้อกล่าวหาอย่างนี้ มันก็เป็นการแก้เพื่อตัวเอง มันก็ไม่เหมาะไม่ควรอยู่แล้ว และนี่มันตอบชาวบ้านไม่ได้ เพราะรัฐสภาเนี่ยเป็นที่ออกกฎหมายสร้างกติกาให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย ใครละเมิดกฎหมายทำให้คนเดือดร้อน ก็ถูกลงโทษ ในเมื่อเราจะออกกฎหมายลงโทษประชาชน แต่พอเราได้รับผลซึ่งอาจจะถูกพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด เรากลับกลายมาแก้กฎหมายเพื่อให้เราพ้นผิดกันเอง แล้วจะไปตอบประชาชน ตอบชาวบ้านได้ยังไง”

“(ถาม-รัฐบาล(นายสมัคร สุนทรเวช) บอกว่า นี่มันเรื่องของบ้านเมือง การจะยุบ 3 พรรค(พปช.-ชท.-มฌ.)มันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการฆ่าประเทศไทย?) มันเป็นกติกา ถ้าหากบอกว่าไม่เห็นด้วยในกฎหมายหรือ รธน.ในมาตราเหล่านี้ ก็ต้องไปโต้แย้งคัดค้านตั้งแต่ตอนที่เขายกร่าง รธน. ก็ไม่มีใครโต้แย้ง ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีใครพูดถึงมาตรานี้ด้วยซ้ำไป เพราะเวลาจะเขียน รธน.เนี่ย ตอนยกร่างเขาก็มีการส่งร่างเหล่านี้ไปสอบถามทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครเห็นเป็นอย่างอื่น ก็แสดงว่ายอมรับในกติกาแล้ว ถ้าเป็นกติกาแล้ว มีผลใช้บังคับแล้วเนี่ย จะไปออกกฎหมายยกเว้นให้ตัวเอง มันยังไงอยู่นะ ...ผมไม่ห่วงเรื่องพรรคไหน และผมไม่เกี่ยวข้องเลยว่าพรรคไหนจะโดนยุบหรือไม่ ผมไม่สนใจตรงนั้นเลย ผมสนใจหลักวิธีการจะออกกฎหมายมาใช้ในบ้านเมืองมากกว่า ที่พูดอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าอยากให้พรรคไหนถูกยุบนะ ไม่ใช่นะ เพียงแต่ว่าวิธีการถ้าคุณจะออกกฎหมายมาใช้กับชาวบ้านเขา คุณก็ต้องยอมรับและยอมปฏิบัติด้วย แต่ในขณะที่คุณออกกฎหมายลงโทษชาวบ้านได้ แต่พอคุณทำผิดเอง คุณจะออกกฎหมายมายกเลิก(ความผิดนั้น) เนี่ย ถามว่ามันทำอย่างนั้นได้จริงๆ เหรอ แล้วอีกหน่อยอนาคตเนี่ย ก็จะเป็นตัวอย่างว่า รัฐบาลต่อไป ถ้าเกิดทำอะไรผิด ก็ไปแก้ รธน.ไปแก้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิด แล้วมันจะไม่ยุ่งไปใหญ่เหรอ”


นายเสรี ในฐานะรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังเผยถึงเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 237 เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันด้วยว่า ความผิดที่จะนำไปสู่การยุบพรรคนั้น มีจุดสำคัญอยู่ 2 ส่วน 1.ถ้าผู้กระทำผิดหรือทุจริตเลือกตั้งเป็นแค่สมาชิกพรรค(ไม่ได้เป็น กก.บห.พรรค) แต่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือ กก.บห.พรรคมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งการกระทำนั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรค กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค 2.ถ้าผู้กระทำผิดเป็นถึง กก.บห.พรรค แม้หัวหน้าพรรคหรือ กก.บห.คนอื่นจะไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของพรรค ซึ่ง กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเช่นกัน

“ข้อกฎหมายเนี่ยชัดเจน เพราะมีการอภิปรายในสภาและมีบันทึกไว้ชัดเจน เรื่องเหล่านี้ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เสนอญัตติ ขอเพิ่มเติมมาตรา 237(2) ไว้ กรรมาธิการเห็นด้วย พอมาเข้าในสภาเนี่ย อ.เจิมศักดิ์ ก็ถาม กมธ.ยกร่างว่า ถ้าหากว่ามีผู้สมัครหรือ กก.บห.พรรคคนใดคนหนึ่งทำผิดเนี่ย และหัวหน้าพรรคหรือ กก.บห.พรรคคนอื่นเขาไม่รู้เห็นด้วยเนี่ย คนที่ไม่รู้เห็นดังกล่าวต้องรับผิดชอบด้วยมั้ย อ.ประพันธ์ นัยโกวิท ที่เป็น กกต.ก็เป็น กรรมาธิการยกร่างด้วย ท่านก็เป็นคนอธิบายและอธิบายไว้ชัดเจนว่า คนอื่นที่รู้เห็นที่ไม่ได้ทำผิดก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย อันนี้ก็ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ก็คือ ให้บรรดาหัวหน้าพรรค และ กก.บห.พรรคร่วมรับผิดชอบด้วยกัน นี่เจตนารมณ์”


“(ถาม-ถ้าบางพรรคอ้างว่าดูแล(สมาชิกพรรค) ไม่ทั่วถึงหรอก?) อ้างไม่ได้หรอก เพราะอย่างที่บอกว่า อันนี้มันเขียนเอาไว้ก่อนที่จะมีพรรคพลังประชาชนด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเขียนเนี่ย เขาไม่ได้มองว่าพรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา ไม่ทราบด้วยซ้ำไป และมันเป็นกติกาที่ตกลงยอมรับไปแล้วไง ผมพยายามจะบอกตรงนี้ว่า คนที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเป็น กก.บห.พรรคก็ต้องรู้ว่ากติกาเขามีเขียนไว้อย่างนี้ จะบอกว่าตัวเองไม่รู้ไม่เห็นไม่เกี่ยว จะละเว้นความรับผิดชอบตัวเอง บางพรรคอาจจะมีบันทึกไว้เลยว่า ถ้าใครทำผิด คนอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ถึงแม้เขียนไว้อย่างนั้น ยังไม่พ้นเลย เพราะ รธน.เขียนว่า ให้รับผิดชอบทุกคน (ถาม-อันนี้เฉพาะ กก.บห.พรรคที่ไปทำผิดใช่มั้ย ไม่รวมถึงสมาชิกพรรคที่ไปทำผิด แล้วต้องส่งให้ศาล รธน.ยุบพรรค?) ถ้าหากว่าเป็นผู้สมัครซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไปกระทำผิดเนี่ย จริงๆ แล้วมันก็เป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ถ้าหากว่าการกระทำผิดดังกล่าวนั้น หัวหน้าพรรค หรือ กก.บห.พรรครู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยหรือรู้ว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวแล้วไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ก็ถือว่าร่วมทำผิดด้วย และ กก.บห.พรรคดังกล่าว แม้คนใดคนหนึ่งก็มีผลถึงทุกคน อันนี้ก็เป็นกติกาที่เขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ”

นายเสรี ยังถามรัฐบาลด้วยว่า หากรัฐบาลสามารถแก้กฎหมายเพื่อให้พรรคพวกของตนพ้นผิดได้ ถ้าเช่นนั้นคนที่อยู่ในคุกก็สามารถลงชื่อขอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้พวกเขาพ้นผิดได้เช่นกันใช่หรือไม่?

ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลจะรีบแก้ รธน.บางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ทุกพรรคทราบดีตั้งแต่ตอนยกร่างแล้วและไม่มีใครทักท้วง ดังนั้นหากต้องการแก้ไขมาตรานี้ ก็ต้องรอให้คดีที่เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรคที่หลายพรรคประสบอยู่ในขณะนี้ผ่านพ้นหรือรู้ผลคดีก่อน ไม่ใช่มาแก้กลางคันแบบนี้

“ส่วนตัวผมมองว่า มาตรการ (มาตรา 237) ที่ออกมาเนี่ย มันเคยมีคนเขาเสนอให้พิจารณาแล้ว และไม่มีใครทักท้วง เพราะฉะนั้นเมื่อมันผ่านมาแล้ว และจะมาแก้กันตอนนี้เนี่ย มันก็ไม่ควร คือควรจะต้องลงโทษไปก่อน หมายถึงว่า การใช้มาตรานี้ควรจะให้เห็นผลก่อน ซึ่งมันก็กำลังอยู่ในกระบวนการแล้ว มันก็น่าจะดำเนินการไปได้ ยังไม่ควรแก้ในเวลานี้ เพราะมันดูแล้วต้องมีปัญหาแน่นอน (ถาม-หมายความว่า ถ้าพ้นคดี 3 พรรคไปแล้ว จะแก้ก็ค่อยไปแก้ อีกเรื่องหนึ่ง?) ครับ หรือถ้าจะแก้ตอนนี้ ก็ต้องแก้ให้เป็นระบบทั้งหมดทุกเรื่องที่มีปัญหา ไม่ใช่แก้เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียว ซึ่งเขาเรียกว่า มันเป็นมารยาททางการเมืองที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ประเจิดประเจ้อ” การจะมาแก้เพื่อเอาตัวรอดตรงนี้มันไม่สมควร ควรจะให้รับเคราะห์รับกรรมไปซะ ซึ่งผมคิดว่าบางทีอาจจะไม่ต้องถึงขั้นยุบพรรคก็ได้ ถ้าตุลาการรัฐธรรมนูญท่านเกิดพิจารณาไปในทางผ่อนปรนหรืออย่างที่กลุ่มอาจารย์ทางธรรมศาสตร์ท่านว่า ต้องดูเจตนารมณ์ของ รธน.มันก็อาจคิดไปได้ แต่ผมคิดว่าการแก้เฉพาะ ม.237 ในเวลานี้อย่างนี้ มันเหมือนกับการดึงดันและแสดงพลังอำนาจว่า “พวกมากลากไป” มันก็ดูเหมือนว่ากฎหมายที่ทำมา มันจะแก้เมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ใช่”

อ.ทวี ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่รัฐบาลจะยกเลิกมาตรา 309 เพื่อยุบ คตส.ด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะเท่ากับรัฐบาลรื้อระบบกฎหมาย เหมือนรื้อฐานเจดีย์ มีการก่อเจดีย์มาแล้วในเรื่องการคุ้มครององค์กรที่ คมช.ตั้งขึ้น และอยู่ในส่วนท้ายของ รธน.2550 อยู่ในบทเฉพาะกาลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องการยกเลิกเพื่อให้ตนและพรรคพวกรอดพ้นจากความผิดในคดีต่างๆ

ขณะที่ อ.ประหยัด หงษ์ทองคำ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ บอกว่า แม้โดยส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับการลงโทษทางการเมืองด้วยการยุบพรรค เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีประโยชน์ต่อกระบวนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ตนก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะรีบแก้ รธน.อย่างเร่งด่วนแบบนี้ ทั้งที่เพิ่งใช้ รธน.ฉบับนี้มาได้ไม่กี่วัน และการที่รัฐบาลมุ่งแก้มาตรา 237 ก็มองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกลัวถูกยุบพรรค ทั้งที่เรื่องนี้ จริงๆ แล้ว รัฐบาลยังไม่ต้องตีตนไปก่อนไข้ก็ได้

“พรรคที่ถูกดำเนินการที่จะยุบพรรคนั้น เริ่มต้นด้วยพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยใช่มั้ย ส่วนพรรคพลังประชาชนนั้นยังไม่ถึงคิวด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่า สมาชิกพรรคและผู้บริหารพรรคร้อนตัว มองเห็นว่า คดีของคุณยงยุทธ (ติยะไพรัช) นั้น น่าที่จะเหมือนๆ กับคดีที่พรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยกำลังประสบอยู่ ก็เกรงไปว่าถ้าหากว่า กกต.มีความเห็นว่าควรจะเสนอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณายุบพรรค พรรคพลังประชาชนก็ร้อนเนื้อร้อนตัว เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะอะไร เพราะลงทุนไปเยอะ ยังไม่ทันจะถอนทุนเลย กลับจะต้องถูกทำลายซะอีกแล้ว ก็เลยวุ่นวายกันไปหมด เอะอะโวยวายไปหมด แล้วก็เผลอแสดงถึงธาตุแท้ออกมาด้วยการที่จะเรียกร้องให้มีการแก้ รธน.มาตรา ม.237 ขณะเดียวกันนายกฯ ก็อาจจะได้คิดอะไรบางอย่าง ถึงได้บอกว่า ไม่ได้แก้ ม.237 เท่านั้น แต่แก้โดยภาพรวม จะเห็นว่าความจริงแล้ว กก.บห.พรรคพลังประชาชนมุ่งเป้าที่จะแก้เฉพาะ ม.237 วรรค 2 เท่านั้นเอง เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคตนต้องถูกยุบ”

“ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมก็มองเห็นว่า เรื่องของการลงโทษถึงขั้นยุบพรรคนั้น โดยหลักการแล้ว ผมไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกัน การที่จะเรียกร้องให้มีการแก้ รธน.มาตรา 237 มาตราเดียวในระยะเวลาอันเร่งด่วนอย่างนี้ ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร เพราะ รธน.นั้นมันเป็นกฎหมายหลักของประเทศชาติ และ รธน.ก่อนที่จะประกาศใช้บังคับได้นั้น เราก็ได้มีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ คือ ตามหลักการแล้ว ก็ต้องถือว่า การที่ประชาชนออกเสียงประชามติรับรอง ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนเห็นชอบด้วยกับ รธน.ฉบับนี้ ส่วนข้อเท็จจริงจะเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ อ่านหรือไม่อ่านนั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อได้มีการออกเสียงประชามติ เราก็ต้องถือว่า ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราพึ่งจะใช้ รธน.ฉบับนี้มาไม่กี่วันเนี่ย และเราก็จะมาเร่งแก้ไข และข้อที่จะต้องแก้ไขนั้น ก็เป็นเรื่องของการที่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เหตุผลประการเดียว กลัวจะถูกยุบพรรค เมื่อถูกยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคตั้งแต่นายกฯ ลงมา จนกระทั่งถึงรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญๆ ก็จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป จึงเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ รับกันไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว การดำเนินการตาม ม.237 นั้น ยังมีขั้นตอนอีกยาวไกล”

อ.ประหยัด ยังเตือนสติรัฐบาลด้วยว่า การได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมากและได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ หรืออยากแก้ รธน.ก็แก้ได้โดยไม่ต้องดูความเหมาะสม เพราะระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องดูด้วยว่า การที่คุณชนะการเลือกตั้งมา เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือไม่? ไม่มีการทุจริตเลือกตั้งจริงหรือไม่? ถ้าพรรคในรัฐบาลบอกบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่มีการทุจริต แล้วเหตุใดจึงต้องเอะอะโวยวายกลัวถูกยุบพรรคแบบนี้

ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่รัฐบาลจะแก้ รธน.โดยเฉพาะมาตรา 237 เพราะมาตราดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในหมู่ผู้บริหารพรรค หากมาตราดังกล่าวไม่เขียนไว้เช่นนี้ ก็จะเกิดระบบ “ตัวใครตัวมัน”หรือ “แกล้งหลับหูหลับตา”ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีระบบเลือกตั้งและการทำงานของ ส.ส.ในสภา และว่า จริงๆ แล้ว กกต.ไม่ควรมีมติให้ใบแดงเฉพาะนายยงยุทธ ติยะไพรัช เท่านั้น แต่ต้องให้ใบแดง ส.ส.สัดส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากการกระทำของนายยงยุทธด้วย

“ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.237 ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก็ตาม เพราะจุดประสงค์ของ ม.237 คือการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันของคนที่เป็นสมาชิกพรรค โดยเฉพาะ กก.บห.ซึ่งปกติแล้ว กก.บห.พรรคต้องเป็นผู้ที่มีอาวุโส มีประสบการณ์ เป็นที่เคารพของคนในพรรค เพราะฉะนั้นการที่ผู้มีอาวุโส มีประสบการณ์ พูดง่ายๆ ผู้ที่มีบารมีในพรรคจะต้องดูแลเรื่องราวให้มันถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สร้างสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบร่วมกัน มันก็จะมีลักษณะ “ทำแกล้งหลับหูหลับตา” อย่างในกรณีของคุณยงยุทธ ติยะไพรัชเนี่ย เขาเป็น ส.ส.สัดส่วน เพราะฉะนั้นการที่เขาทุจริตเลือกตั้งเนี่ย มันเกิดความชอบขึ้นมา คือ “คนรับชอบ”รับไปแล้ว บรรดา ส.ส.สัดส่วนในเขตทางภาคเหนือเนี่ย รับชอบไปแล้วนะ ได้ไปแล้วนะ ถึงแม้คุณยงยุทธจะมีปัญหาเรื่องทุจริตเลือกตั้ง แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่เป็น ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน อย่างน้อยๆ กกต.ควรจะต้องให้ใบแดง ส.ส.สัดส่วนของ พปช.ในเขตภาคเหนือทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การรณรงค์ของคุณยงยุทธ”


“...ลองคิดดูในสังคมเรา สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีเรื่องความสำนึกเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน อย่างเวลาเด็กนักเรียนในห้อง เวลาครูสอนหนังสือ เด็กคุยกัน บางทีครูยังต้องลงโทษทั้งชั้นเลยนะ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบดูแลกันและกันว่าอย่าทำ นี่เป็นนักการเมือง ผมคิดว่าก็ควรจะต้องคงไว้ ขณะเดียวกัน พรรคอื่นที่ไม่ได้มีปัญหา(ไม่ได้ทุจริตเลือกตั้ง) เขาก็ทำได้ เพราะฉะนั้นมัน (ม.237) ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ทุกพรรคทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นด้วย และการที่จะมาแก้ รธน.เพื่อให้คนทำผิดมันรอดตัวไป อันนี้มันไม่ถูก โดยเฉพาะคนที่มีสิทธิยกมือ 3 วาระ ในการแก้ รธน.ตามมาตรา 291 เนี่ย ก็คือ ตัว ส.ส.จะยกมือว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่านการแก้ไข รธน. คนที่ยกมือเนี่ยก็คือคนที่มันได้ประโยชน์ อย่างน้อยๆ ส.ส.สัดส่วนภาคเหนือ(ของพรรคพลังประชาชน) เนี่ย พวกนี้มายกมือ คือคนที่ได้ประโยชน์จากการทุจริตหรือโกงไปแล้วน่ะ มันไม่มีสิทธิจะมายกมือผ่านตรงนี้ด้วย มันไม่ถูก”

อ.ไชยันต์ ยังชี้ด้วยว่า มาตรา 237 ไม่ได้จ้องทำลายพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างที่หัวหน้าพรรคพลังประชาชนอ้าง แต่เป็นบทบัญญัติที่ต้องการให้ทุกพรรคมีความเสมอภาคกันในการแข่งขันสู้ศึกเลือกตั้ง หากพรรคหนึ่งพรรคใดใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ย่อมไม่แฟร์ต่ออีกหลายๆ พรรคที่ไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง ดังนั้นพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง ย่อมต้องถูกลงโทษ และการที่บางพรรคในรัฐบาลจะอ้างว่า มาตราดังกล่าวเป็นปัญหาหรือเคร่งครัดเกินไป ก็ต้องถามกลับว่า แล้วทำไมอีกหลายๆ พรรคปฏิบัติได้ด้วยการไม่ทุจริตเลือกตั้ง และว่า ถ้าขนาดด่านแรก คือการเลือกตั้ง เรายังจะส่งเสริมให้นักการเมืองนักเลือกตั้งกระทำการทุจริต โดยที่ผู้บริหารพรรคไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ(ดังที่รัฐบาลจะแก้กฎหมาย) แล้วไม่คิดหรือว่าพอคนเหล่านี้เข้ามาเป็น ส.ส.ทำงานในสภา แล้วมีการมาโกงกันในสภาอีก นักการเมืองเหล่านี้ก็คงอ้างได้อีกตามเคยว่า ไม่รู้ไม่เห็น เรื่องของ ส.ส.คนอื่น ตนไม่เกี่ยว สังคมอยากเห็นสภาเป็นแบบนี้หรือ?

อ.ไชยันต์ ยังประเมินคดียุบพรรค 3 พรรคด้วยว่า พรรคพลังประชาชนน่าจะเข้าข่ายถูกยุบมากกว่าพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย เพราะเมื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกกล่าวหาว่าทุจริตซื้อเสียง แทนที่พรรคพลังประชาชนจะแสดงความกระตือรือร้นให้มีการตรวจสอบนายยงยุทธหรือแขวนสมาชิกภาพของนายยงยุทธไว้ก่อน เพื่อแสดงถึงความร่วมมือให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ผู้บริหารพรรคพลังประชาชนกลับทำตรงกันข้าม ด้วยการปกป้องนายยงยุทธ แถมยังผลักดันให้เป็นประธานสภาฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหาไม่มีประธานสภาฯ อยู่ในขณะนี้แล้ว ยังสะท้อนชัดเจนว่า พรรคพลังประชาชน“ดื้อแพ่ง” หรือ “ดันทุรัง” ราวกับต้องการท้าทายว่า ถ้าให้นายยงยุทธดำรงตำแหน่งสูงๆ หรือตำแหน่งสำคัญๆ แล้ว กกต.หรือศาลจะกล้าให้ใบแดงนายยงยุทธหรือไม่?







กำลังโหลดความคิดเห็น