xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพกับประชาธิปไตย (3) : ภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

การชนะสงครามโดยได้ชัยชนะทางทหารอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ การเอาชนะทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดด้วย ถือเป็นชัยชนะที่แท้จริง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เราจึงเห็นได้ว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ไม่ได้บรรลุผลซึ่งชัยชนะที่แท้จริง จึงเป็นผลต่อสภาพการณ์อึมครึมที่เกิดขึ้นและเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความแตกแยกทางความคิดในสังคมถ่างกว้างขึ้น นับวันโอกาสและหนทางที่จะนำไปสู่การประนีประนอม แก้ไขและยุติข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีมีน้อยลงทุกวัน รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ทักษิณเพียงสะดุดไปชั่วคราว แต่ไม่ได้เข้าไปจัดการกับโครงสร้าง กลไก และเครื่องมือต่างๆของรัฐ ที่ระบอบทักษิณได้ใช้มอมเมา ปลูกความเท็จให้กับประชาชน

1) พลังที่สามกับการกำจัดดุลยภาพที่เป็นมหันตภัย

อันโตนีโอ กรัมชี่ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในสมุดบันทึกจากคุกว่า เมื่อใดที่เกิดสภาพการณ์ ที่พลังจากฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอยู่ในสภาพที่ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างชัดเจน แต่เป็นการถ่วงดุลระหว่างกัน ในลักษณะที่หากความขัดแย้งยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง มีหนทางเดียวที่ความขัดแย้งจะยุติลงได้ ก็คือการทำลายล้างผลาญระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน (reciprocal destruction) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อพลังก้าวหน้า ไม่สามารถเอาชนะพลังล้าหลัง หรือพลังล้าหลังไม่สามารถเอาชนะพลังก้าวหน้า เป็นผลให้ทั้งสองพลังที่ต่อสู้ขัดแย้งกัน ต่างมุ่งทำลายซึ่งกันและกันอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมการเมืองจะได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากความหายนะดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อมีการเข้ามาแทรกแซงจากพลังที่สาม หรือปัจจัยที่สาม หรืออำนาจฝ่าวิกฤติเพื่อสยบพลังที่ขัดแย้งกัน

พลังที่สามหรืออำนาจฝ่าวิกฤติที่สามารถเป็นพลังก้าวหน้า หรือล้าหลังเสื่อมถอย ขึ้นอยู่กับว่า ในการเข้ามาแทรกแซงเพื่อสยบความขัดแย้งรุนแรงระหว่างพลังก้าวหน้ากับพลังที่ล้าหลัง พลังที่สามจะเลือกอยู่ข้างใดหากเลือกอยู่ฝ่ายพลังก้าวหน้าก็ย่อมมีผลโดยตรงทำให้ฝ่ายก้าวหน้าประสพกับชัยชนะ ในทางกลับกัน หากเลือกเข้าข้างฝ่ายพลังล้าหลัง ก็จะมีผลทำให้ฝ่ายพลังล้าหลัง ได้รับชัยชนะ แต่ที่แน่นอนที่สุด คือในการสยบความขัดแย้งระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายล้าหลัง เพื่อให้สังคมการเมืองกลับสู่สภาวะปกติ พลังที่สามซึ่งมีอำนาจฝ่าวิกฤติ จำเป็นต้องเลือกข้างพร้อมกับหาทางประนีประนอมกับฝ่ายที่พลังที่สาม ได้เลือกที่จะสนับสนุน ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ การเข้าแทรกแซงของพลังที่สามหรืออำนาจฝ่าวิกฤติ เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ หากประสงค์ให้สังคมการเมืองหลุดพ้นจากสภาวะชะงักงันให้ปะเทศชาติอยู่รอด และมีความก้าวหน้า ยังความเจริญผาสุขแก่ประชาชน ดังนั้น การเลือกข้างที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ทิศทางของประเทศชาติจะไปทางใด ก้าวหน้า หรือถอยหลัง ความเป็นกลางย่อมไม่มี ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญ กล่าวคือ ในภาวะสงคราม (ไม่ว่าทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ) ฝ่ายคู่กรณีขัดแย้ง มีได้แค่สองฝ่ายเท่านั้น ส่วนฝ่ายที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตร ย่อมมีได้จำนวนไม่จำกัด กองทัพคือพลังที่สามที่มีอำนาจฝ่าวิกฤติจำเป็นต้องเลือกข้าง เพราะความเป็นกลางมีได้ก็แต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น พลังที่สามดังกล่าวจะเป็นกลุ่มบุคคล องค์กร พรรคการเมือง หรือสถาบันทางการเมือง การทหาร หรือเศรษฐกิจก็ได้ หรือการรวมกันของหน่วยต่างๆ เหล่านี้ ก็ได้

2) คำจำกัดความดั้งเดิมของคำว่าเผด็จการ (Dictatorship)

“เผด็จการ” เป็นชื่อตำแหน่งของผู้พิพากษาโรมัน ที่มีมากว่าสามพันปีแล้ว ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งของ“ผู้เผด็จการ” ได้รับการแต่งตั้งจากหนึ่งในคณะขุนนางภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่นในภาวะสงคราม หรือในการปราบปรามกบฎ และเนื่องจากการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว เกิดขึ้นเฉพาะในสภาพการณ์พิเศษ ผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้เผด็จการ” จึงมีอำนาจมากเป็นพิเศษ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล

อำนาจมากเป็นพิเศษของผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้เผด็จการ” จะถูกถ่วงดุลโดยลักษณะชั่วคราวของการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว และจะไม่เกินเวลาของอายุความของตำแหน่งของขุนนางผู้ได้แต่งตั้ง“ผู้เผด็จการ” จึงเห็นได้ว่า “ผู้เผด็จการ” เป็นบุคคลที่มีอำนาจอย่างมาก แต่เป็นอำนาจพิเศษที่มีความชอบธรรม ด้วยเหตุผลเป็นเพราะว่า ตำแหน่งดังกล่าวนี้ มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วในรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐโรมัน อีกทั้งอำนาจของ“ผู้เผด็จการ” มีเหตุผลมาจากสภาพการณ์ที่จำเป็น กล่าวโดยสรุป ระบอบเผด็จการ (dictatorship) แม้จะมีความเหมือนระบอบที่ใช้อำนาจเด็ดขาดรูปแบบอื่นๆ เช่น ระบอบทรราชย์ (tyranny) และระบอบที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (despotism) ในแง่ที่ทั้งสามระบอบ ล้วนหมายถึงการผูกขาดอำนาจ โดยบุคคลคนเดียว (monocrat) หากแต่ระบอบเผด็จการ (dictatorship) แตกต่างชัดเจนในประเด็นที่การใช้อำนาจเด็ดขาดนั้น ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของเวลาอย่างแน่ชัด (ลักษณะชั่วคราวของการใช้อำนาจเผด็จการ) อีกทั้งได้รับความชอบธรรมที่สืบเนื่องจากลักษณะความจำเป็นของสถานการณ์ (legitimated by a state of necessity) และนี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้นักประชาธิปไตยอย่างรุซโซ่ เห็นถึงความจำเป็นของการใช้อำนาจเผด็จการ (โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน) เพื่อช่วยให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ต่อไป โดยเขาให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่กฎหมายจะสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆเป็นการล่วงหน้าได้อย่างครบถ้วนทุกกรณี ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ การนำระบอบเผด็จการที่มีขอบเขตเวลาที่จำกัด และชั่วคราวมาใช้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแก้ปัญหาวิกฤติร้ายแรง เพื่อความอยู่รอดของสังคมประชาธิปไตย

ความหมายของเผด็จการ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา โดยอำนาจเผด็จการ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะกับตัวบุคคลหรือ “ผู้เผด็จการ” แต่อาจเป็นของพรรค ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หรือของกองทัพ หรือองค์กรใดก็ได้ อีกทั้งขอบเขตของอำนาจเผด็จการไม่จำกัดอยู่เพียงด้านฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ได้ขยายครอบคลุมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วย และที่สำคัญคือ ระบอบเผด็จการแบบดั้งเดิมที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐโรมัน สามพันปีมาแล้ว เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ นักทฤษฎีการเมืองสำนักประชาธิปไตย ว่ามีคุณค่าทางบวก (positive value) เพราะมีลักษณะชั่วคราว ชอบธรรม (เพราะเกิดจากสภาวะจำเป็นหรือพิเศษ) และมีขอบเขตจำกัดเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวได้ว่าเผด็จการแบบดั้งเดิมดังกล่าว มีคุณค่าทางบวก เพราะมีลักษณะของความเป็นเผด็จการเฉพาะกิจเป็นสำคัญ

เผด็จการยุคสมัยใหม่ (นับแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789) ได้กลายเป็นระบอบที่มีค่าเชิงลบ (negative value) ด้วยจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่ง เกี่ยวกับวิธีการใช้อำนาจที่มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งไม่มีประเด็นเรื่องของความจำเป็นของสถานการณ์และลักษณะชั่วคราวของการใช้อำนจเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “Democracy and Dictatorship” Norberto Bobbio หน้า 158-166)

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในภาพรวมเป็นการใช้อำนาจเผด็จการตามครรลองของระบอบเผด็จการดั้งเดิมสมัยสาธารณรัฐโรมัน (เฉพาะกิจ ชั่วคราว และขอบเขตจำกัด) แต่ประสพผลสำเร็จเพียงครึ่งเดียว เพราะฝ่ายกระทำรัฐประหารไม่รู้จักใช้อำนาจเผด็จการ (ที่มีค่าทางบวก) รวมทั้งไม่เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชัยชนะทางการทหาร กับชัยชนะทางการเมือง จึงประสพกับความล้มเหลวในการเอาชนะทางความคิด อิทธิพลของกรอบความคิดประชาธิปไตยแบบประชานิยมจึงยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยตราบจนทุกวันนี้ นั่นก็คือรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคือนักประชาธิปไตย โดยหารู้ไม่ว่า เรื่องของการเลือกตั้ง เป็นเพียงส่วนประกอบด้านหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นคำจำกัดความสมบูรณ์ของคำว่าประชาธิปไตย ตลอดจนการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นสิ่งพิสูจน์ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลหรือความเป็นนักประชาธิปไตยของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งการเลืกตั้งไม่ใช่เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ทั้งรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความเลื่อมใสในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญ กล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นเพียงรูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหาที่แท้จริงของประชาธิปไตย มันเป็นเพียงเปลือกภายนอกของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ในอดีต นักเผด็จการอย่างฮิตเลอร์และ มุสโซลินี ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความจริงและข้อเท็จจริงดังได้กล่าวทั้งหมดข้างต้น และในประเทศไทยเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทย ก็ได้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความจริงและข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมทั้ง รัฐบาลพรรคพลังประชาชนก็ได้ตอกย้ำให้เราเห็นอยู่ตำตาในปัจจุบันว่า ทั้งรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หาได้มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ตรงกันข้าม กลับใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการอ้างประชาธิปไตยของเสียงข้างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าประสงค์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและของสื่อ การพยายามแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และโดยหลีกเลี่ยงการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย) ทั้งหมดก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นเผด็จการ นั่นคือการผูกขาดอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มิได้แตกต่างอะไรจากอสูรกายในคราบนักบุญ

ในเมื่อข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นดังกล่าวข้างต้น ก็ย่อมพิสูจน์ให้เราเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า การเลือกตั้งมิใช่ยาวิเศษที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหาต่างๆของประเทศชาติ เพราะการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ปัญหาต่างๆของประเทศชาติจะได้รับการแก้ไขให้เป็นผลสำเร็จ ยังประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง หากอยู่ที่นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ตลอดจนการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย เพราะหากวิเคราะห์กันถึงที่สุดแล้ว การเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ยังหลงเหลือมีไว้ประโลมใจประชาชน ให้ได้รู้สึกว่า พวกเขาเหล่านั้น ยังเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ ทั้งๆที่ โดยความเป็นจริงแล้ว ภายหลังเสร็จพิธีกรรมของการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ มักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของบรรดาพรรคการเมือง และนักการเมืองที่มุ่งใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ มากกว่าที่จะทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ตลอดจนไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาหารือและสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

3) รัฐประหารจากกรณีศึกษาของตุรกี

ปี พ.ศ. 2466 Mustafa Kemal Ataturk ได้เข้าร่วมกับกองทัพตุรกีก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี จนได้รับการยกย่องจากประชาชนตุรกีให้เป็นบิดาแห่งตุรกียุคใหม่ แม้ว่า Ataturk ได้แยกกองทัพออกจากการเมือง แต่กองทัพและประชาชนตุรกี ต่างเห็นร่วมกันว่า กองทัพตุรกีมีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะเป็นผู้พิทักษ์อุดมการณ์ของ Kemal Ataturk (Kemalism) ซึ่งกองทัพยึดถือเป็นอุดมการณ์แห่งชาติตลอดมา

อุดมการณ์ของ Ataturk ดังกล่าว ประกอบด้วยหลักความคิด 6 ประการ ได้แก่ ความคิดว่าด้วยสาธารณรัฐนิยม คือ ตุรกีต้องมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republicanism) ความคิดว่าด้วยการแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างเด็ดขาด (Secularism) ความคิดว่าด้วยชาตินิยม (Nationalism) ความคิดว่าด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในเจตนารมย์ของประชาชน ว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้ตุรกีฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงได้ (Populism) และความคิดว่าด้วยบทบาทโดยตรงของรัฐในการเข้ามาบริหารดูแลเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมโดยรวม (Etatism) และท้ายสุดความคิดว่าด้วยการพึ่งการปฏิวัติเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง (Revolutionism)

การยึดมั่นในความคิด 6 ประการของอุดมการณ์แห่งชาติอย่างมั่นคงของกองทัพตุรกี เป็นผลโดยตรงทำให้กองทัพตุรกีถือเป็นภารกิจสำคัญ และจำเป็นที่จำต้องเข้าแทรกแซงทางการเมืองทุกครั้งที่กองทัพเห็นว่า ตุรกีกำลังประสพกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดนของตุรกี (หรืออีกนัยหนึ่งคือภัยคุกคามที่มาจากชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด) หรือภัยคุกคามต่อหลักการแยกศาสนาออกจากการเมือง (ภัยคุกคามจากกลุ่มการเมืองที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง) และในช่วงเวลา 85 ปี ของสาธารณรัฐตุรกี (พ.ศ. 2466 ถึงปัจจุบัน) กองทัพตุรกี ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการยึดมั่นอย่างเคร่งครัดในหลัก 6 ประการของอุดมการณ์แห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ด้วยการเข้าแทรกแซงทางการเมืองในรูปของการทำรัฐประหาร 4 ครั้ง คือในพ.ศ.2503 พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2523 และล่าสุดในพ.ศ. 2540 ผลของการรัฐประหารทั้ง 4 ครั้ง ดังกล่าว ได้ตอกย้ำให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่า กองทัพตุรกีได้มีบทบาทสำคัญต่อการธำรงไว้ซึ่งระบอบ สาธารณรัฐ และการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของตุรกี มิให้ออกนอกกรอบของอุดมการณ์แห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า กองทัพตุรกีแม้จะเห็นถึงความสำคัญของการแยกทหารออกจากการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหาร ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา กองทัพตุรกีต้องการตอกย้ำให้ประชาชนและนักการเมืองตุรกีได้ตระหนักไว้ด้วยว่า กองทัพตุรกีมีความเข้าใจดีในบทบาทสำคัญของกองทัพในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การแยกทหารออกจากการเมืองไม่ได้หมายความว่า ทหารจะไม่สนใจการเมือง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศชาติและของระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ทหารตุรกีมีความเข้าใจดีว่า การแยกทหารออกจากการเมือง หมายถึง การที่ทหารจะไม่เข้ามาแทรกแซง ก้าวก่าย บงการ การบริหารประเทศของรัฐบาลในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติ แต่เมื่อใดที่บ้านเมืองต้องประสพกับวิกฤติการณ์ร้ายแรง มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ กองทัพจะอยู่นิ่งเฉยมิได้ จะปัดความรับผิดชอบที่มีต่ออุดมการณ์แห่งชาติทั้ง 6 หลักการข้างต้นไม่ได้ ปัดความรับผิดชอบต่อประชาชนไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการให้เหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์และความขัดแย้งระหว่างบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองมาทำลายประเทศและประชาชน นอกจากนั้น การรัฐประหารทั้ง 4 ครั้งในตุรกี ยังเป็นเหตุการณ์พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษณ์อีกด้วยว่า กองทัพตุรกีตระหนักดีว่า ศัตรูและภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงและต่อประชาธิปไตย มิใช่จะมาจากภายนอกเท่านั้น หากแต่จะมาจากภายในประเทศมากกว่าด้วยซ้ำ (ในกรณีของตุรกี ศัตรูภายใน คือ กลุ่มแบ่งแยกกินแดนชาวเคิร์ด กลุ่มนักการเมืงและพรรคการเมือง ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตลอดจนการคอร์รัปชั่น เป็นสำคัญ)

การรัฐประหารทั้ง 4 ครั้งในตุรกี เป็นรัฐประหารที่มีสาเหตุและเหตุผลจากบริบทและเงื่อนไขเฉพาะที่เกิดขึ้นในตุรกีเป็นสำคัญ และการรัฐประหารทั้ง 4 ครั้ง มีขึ้นในช่วงที่การเมืองตุรกีเปลี่ยนจากการเมืองแบบพรรคเดียว มาเป็นแบบที่มีหลายพรรค โดยสามารถแยกการรัฐประหารในตุรกีออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ก) ประเภทที่กองทัพสวมบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ประเทศ โดยเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศโดยตรง (แต่ไม่ประสงค์จะอยู่ในอำนาจตลอดไป) และเหตุผลของการยึดอำนาจชั่วคราวนั้น คือ เพื่อกำจัดปัญหาและความวุ่นวายที่ฝ่ายนักการเมืองได้ก่อไว้ โดยคืนอำนาจให้กับฝ่ายการเมือง หลังจากที่ได้สร้างสภาพการณ์ที่จะเป็นการช่วยป้องกันมิให้กองทัพต้องเข้ามาแทรกแซงอีก การรัฐประหารปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2523 ถือได้ว่าอยู่ในขอบข่ายประเภทกองทัพสวมบทบาทเป็ผู้พิทักษ์ โดยกองทัพได้คืนอำนาจให้กับฝ่ายการเมือง (นักการเมืองพลเรือน) ในปี พ.ศ. 2504 (สำหรับการรัฐประหาร พ.ศ. 2503) และในปีพ.ศ. 2526 (สำหรับการรัฐประหาร พ.ศ. 2523) การรัฐประหารปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2523 ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้ายจัด (ที่ต่อต้านการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง) กับแบบขวาจัด (ที่ยึดศาสนาและลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องมือทางการเมือง) แต่ในการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว กองทัพได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างไม่มีใครปฏิเสธได้

ข) ประเภทที่กองทัพสวมบทบาทเป็นคนกลางหรือผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งหมายถึงรัฐบาลยังคงเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่ทหารมีอำนาจยับยั้ง (Veto power) นโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลที่ฝ่ายทหารเห็นว่า จะนำไปสู่ความแตกแยกขึ้นอีกในสังคม ทหารต้องมีอำนาจทางอ้อม (ผ่านการใช้อำนาจยับยั้ง) เป็นวิธีการที่ฝ่ายทหารที่ทำรัฐประหารสามารถควบคุมพฤติกรรมและการดำเนินการของรัฐบาลพลเรือนให้อยู่ในกรอบที่ไม่เป็นการสร้างความแตกแยก และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การต้องทำรัฐประหารอีก โดยฝ่ายทหารจะปรับ/เปลี่ยน ครม. พลเรือน เอาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับเข้ามาบริหารประเทตามความจำเป็นของสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา การรัฐประหารปี พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2540 นับว่าจัดอยู่ในประเภทนี้ การรัฐประหาร พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2540 ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับการรัฐประหารพ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2523

เกี่ยวกับการรัฐประหารทั้ง 4 ครั้งในตุรกี มีข้อสังเกตที่สำคัญ 7 ประการ ดังนี้

1) ทุกครั้งที่กองทัพตุรกี ทำการรัฐประหารและเข้ามากุมอำนาจบริหารโดยตรง ก็ได้คืนอำนาจให้กับฝ่ายรัฐบาลพลเรือน ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน

2) ในกรณีที่รัฐประหารแล้ว แต่มิได้เข้ามากุมอำนาจโดยตรง ทางกองทัพก็จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบทบาททางการเมืองของกองทัพ ในฐานะผู้มีบทบาทพิทักษ์อุดมการณ์แห่งชาติ (หลักความคิด 6 ประการของอุดมการณ์แห่งชาติ) และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญตุรกี ปี พ.ศ. 2525 (หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2523) เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ให้อำนาจแก่กองทัพผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2525 ให้การรับรองและมีบทบาทคู่ขนานกับคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำรัฐบาลในด้านความมั่นคง ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากกองทัพและพลเรือนที่มาจากฝ่ายรัฐบาลและมีอิทธิพลเหนือกว่าคณะรัฐมตรี

3) ในการรัฐประหารทั้ง 4 ครั้ง มีอยู่ 2 ครั้ง (ปีพ.ศ. 2514 และ 2540) ที่ฝ่ายกองทัพตุรกีมิได้แสดงแสนยานุภาพอย่างเปิดเผย แต่จะใช้วิธีการอยู่หลังฉาก และกดดันรัฐบาล ด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมของกองทัพ (Joint Communique) การยื่นคำขาด (ultimatum) การให้สัมภาษณ์แก่สาธารณชน โดย ผบ.เหล่าทัพ ตลอดจนการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนและท่าทีของกองทัพ ทั้งหมดนี้ กองทัพจะดำเนินการอย่างเปิดเผย อันเป็นการส่งสัญญาณให้ ประชาชนได้รู้ถึงจุดยืนและปฏิกิริยา ท่าทีของกองทัพที่มีต่อปัญหาต่างๆที่ขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อประชาชนได้รู้ว่า กองทัพมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การประกาศจุดยืนและท่าทีของกองัพตุรกีในทั้งสองโอกาส (พ.ศ. 2514 กับ พ.ศ. 2540) หรือที่เรียกกันว่า “การรัฐประหารผ่านบันทึก” (Coups by memorandum) ได้มีผลทำให้นายกรัฐมนตรีต้องยอมลาออก เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2540 เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น ส่วนคณะรัฐมนตรีหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2514 เป็นพลเรือนที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่ทั้งสองคณะรัฐมนตรี ต่างเป็นที่ยอมรับของกองทัพและสังคมโดยรวม

4) ในภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า การรัฐประหารทั้ง 4 ครั้ง กองทัพตุรกีได้รับความเข้าใจ และการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะกองทัพได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่า กองทัพมีอุดมการณ์ มีหลักการ และจุดยืนแน่ชัด (หลักการ 6 ข้อของอุดมการณ์แห่งชาติ) รวมทั้ง เชื่อมั่นในศรัทธาที่ประชาชนส่วนใหญ่มีต่อกองทัพ อีกทั้งกองทัพได้รักษาคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน

5) หลักการ 6 ข้อของอุดมการณ์แห่งชาติ (Kemalism) ยังคงเป็นสิ่งที่กองทัพและประชาชนตุรกีส่วนใหญ่ยึดมั่นอย่างแน่วแน่ และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดและท่าทีของกองทัพและประชาชนตุรกีที่มีต่อปัญหาการเมืองตราบจนทุกวันนี้

6) นับว่าปัญหาก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนของชนชาติเคิร์ดในตุรกี รวมทั้ง ปัญหาของอิทธิพลเติบโตของความคิดในศาสนาอิสลามที่ไม่แยกศาสนากับการเมือง (political Islam) เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลโดยตรง ทำให้บทบาททางการเมืองของกองทัพตุรกีนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ความคิดว่าด้วยการดำรงไว้ซึ่งความเป็นสาธารณรัฐ ความคิดว่าด้วยการแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด และความคิดว่าด้วยการรักษาอธิปไตยและ บูรณภาพแห่งดินแดน ล้วนเป็นกรอบความคิดที่กองทัพและประชาชนตุรกี ต่างยึดมั่น และมีเจตจำนงค์ร่วมกันที่จะปกป้องรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น

7) ความคิดเรื่องการแยกศาสนาออกจากการเมือง (Secularism) ที่เป็นหนึ่งในหกหลักการของอุดมการณ์แห่งชาติของสาธารณรัฐตุรกี ได้มีผลทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญตุรกี พิพากษาให้มีการยุบพรรคสวัสดิการ (Welfare Party) ในปีพ.ศ. 2541 รวมทั้งห้ามนายกรัฐมนตรี Erbakan ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคนี้เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญตุรกี ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า พรรคพัฒนา (A K Party) ของนายกรัฐมนตรี Tayyip Erdogan และประธานาธิบดี Abdullah Gul รวมทั้ง ห้ามสมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 71 คน เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ข้อหาดำเนินกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นภัยต่ออุดมการณ์แห่งชาติ

สรุป

จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของกองทัพตุรกี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 (การรัฐประหารครั้งแรก) เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นได้ว่า กองทัพตุรกีมีความตระหนักดีในบทบาทและหน้าที่ ต่อการพิทักษ์รักษาสาธารณรัฐตุรกี ภายใต้การชี้นำของอุดมการณ์ที่บิดาแห่งสาธารณรัฐตุรกี Mustafa Kemal Ataturk ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกของชาติ รวมทั้งรู้ถึงคุณประโยชน์ของอำนาจเผด็จการ (ตามความหมายดั้งเดิมของอำนาจเผด็จการสมัยสาธารณรัฐโรมัน รายละเอียดปรากฎในข้อ 1 ใหญ่ข้างต้น) และไม่กลัวที่จะใช้อำนาจเผด็จการในสภาพการณ์พิเศษ (วิกฤติการณ์การเมืองร้ายแรง) เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เหมือนกับกองทัพโปรตุเกส ในการปฏิวัติปีพ.ศ. 2519 ก็ได้ใช้อำนาจเผด็จการในความหมายดั้งเดิม ยุคสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 3 พันปีมาแล้ว (โปรดดูรายละเอียดในบทความของผู้เขียนเรื่องกองทัพกับประชาธิปไตยทั้งภาคหนึ่งและภาคสอง ตีพิมพ์ใน นสพ. ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 9 มีนาคม 2549 และ 3 กันยายน 2549-หรือท้ายบทความนี้)

4. วิกฤติการเมืองไทย พ.ศ. 2551

เมื่อศึกษาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎให้เป็นที่ประจักษ์ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา พอสรุปได้ว่า วิกฤติการการเมืองไทยมาถึงทางตัน และยังไม่เห็นทางออกที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ เป็นเพราะ คำนิยามของประชาธิปไตยได้ถูกบิดเบือน เพื่อสนองผลประโยชน์ของบางพรรคการเมือง ดังนี้

4.1 การมอมเมาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า อะไรก็ตามที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยทั้งในรูปแบบและเนื้อหา และว่านี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งๆที่ในโลกนี้ ไม่มีประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา

4.2 จากผลแห่งความเข้าใจผิดในข้อ 4.1 ข้างต้น พลเมืองไทยจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (electorate) ไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย (participant)

4.3 เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงหลงผิดว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง จึงเป็นผลทำให้เข้าใจผิดว่า การรัฐประหารเท่านั้นที่เป็นเผด็จการ และฉีกรัฐธรรมนูญได้ ทั้งๆที่ มีกรณีตัวอย่างมากมายในหลายประเทศที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นฝ่ายทำลายประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญเอง อีกทั้งการหลงผิดดังกล่าว เป็นผลทำให้มองไม่เห็นว่า การฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยนั้น สามารถทำได้หลายทางและอย่างแนบเนียนได้ ไม่ต้องทำรัฐประหารเลย ในอดีต 6 ปีของระบอบทักษิณ ก็ได้ยืนยันความจริงในประเด็นนี้ และรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชน เป็นแกนนำ ก็กำลังตอกย้ำให้เห็นถึงความจริงข้อนี้

4.4 ทุกวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงมองด้วยความหลงผิดว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในไทย เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง (ทักษิณ นักการเมืองของอดีตพรรคไทยรักไทย และนักการเมืองพรรคพลังประชาชน) กับฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณและพวกที่มาจากการเลือกตั้ง หรือระหว่างทักษิณและพวก กับฝ่ายศักดินาและทหาร การมองผิดเช่นนี้ เท่ากับทำให้ทักษิณและพวกเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลายเป็นฝ่ายเผด็จการไปโดยปริยาย ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วระบอบการเมืองการปกครองของทุกประเทศ มีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยและที่เป็นเผด็จการดำรงอยู่ร่วมกันมาโดยตลอดเป็นพันๆปี ส่วนด้านไหนจะมีมากกว่ากันในแต่ละห้วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่า สังคมการเมืองของแต่ละประเทศ มีความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา มากน้อยกว่ากันเท่าใด กล่าวคือ ถ้ามีเนื้อหาน้อย ก็จะมีลักษณะที่เป็นเผด็จการสูงเป็นต้น (ดังเช่นกรณีสังคมการเมืองไทยในยุครัฐบาลทักษิณ) บรรดาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ เช่น กฎอัยการศึก พระราชบัญญัติภาวะฉุกฉิน กฎหมายความมั่นคงภายใน ล้วนเป็นสิ่งบ่งบอกให้เห็นถึงด้านที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่มีอยู่ภายในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เป็นสิ่งตรงข้ามกับเผด็จการแบบขาวกับดำ

4.5 จากข้อเท็จจริงทั้งหมดในข้อ 4.1 ถึง 4.4 ข้างต้น ย่อมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง เอื้อประโยชน์และสร้างความเจริญก้าวหน้า ให้กับประเทศชาติและประชาชน มิได้อยู่ที่การเลือกตั้ง หรือการที่ผู้นำและรัฐบาลมีคุณธรรมและจริยธรรมเท่านั้น แต่อยู่ที่การตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จำต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ และนั่นหมายถึงการคำนึงและเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะสมการประชาชนได้หายไปจากสังคมการเมืองไทยเป็นเวลานานมากแล้ว

การรัฐประหารในตุรกีและการปฏิวัติในโปรตุเกส ได้ตอกย้ำให้เราเห็นแล้วว่า เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถทำลายประชาธิปไตยได้ การปฏิวัติ/รัฐประหาร ก็สามารถนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่บ้านเมืองได้เช่นกัน

กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งทางการเมืองที่ต้องพิทักษ์รักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน กองทัพประกอบด้วยเสรีชนในเครื่องแบบ กองทัพย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า ในสภาพการณ์พิเศษ ประเทศชาติและประชาธิปไตยจะอยู่รอดได้อย่างไร

11 พฤษภาคม 2551

บทความก่อนหน้า

กองทัพกับประชาธิปไตย
กองทัพกับประชาธิปไตย ภาค 2
กำลังโหลดความคิดเห็น