xs
xsm
sm
md
lg

"พลังแม้ว" จ้างม็อบยื่นแก้ รธน. ท้าลั่นปฏิวัติเจอชุมนุมต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "พลังแม้ว"ปรับแผนแก้รัฐธรรมนูญ ใช้ม็อบรับจ้างจากอีสานหัวละ420 นำหน้ายื่น 5 หมื่นรายชื่อ พร้อมร่างฯฉบับแก้ไขให้ "ขุนค้อน" รอส่งต่อให้ "ชัย โมเช่" ที่จะมานั่งคุมเกม ตามที่ "หมัก" อ้างว่าจะให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของสภา ท้าทหารให้รีบปฏิวัติ จะนำม็อบเข้าสู้ ด้านผบ.สส. ชี้ ผบ.เหล่าทัพพบ"ป๋า"แค่ข่าวปล่อย "ชวน" จวก"แก๊งลูกกรอก" ตะแบงโยนภาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภา เท่ากับโยนให้ตัวเอง เพราะมีเสียงข้างมากในสภา

เมื่อเวลา 07.30 น. วานนี้ (8พ.ค.) กลุ่มผู้ชุมนุมจาก คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญปี2550 (คป.พร.) นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ นายจรัล ดิษฐอภิชัย อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประมาณ 500 คน ได้มาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1.5 แสนคน ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภา คนที่ 1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางมาด้วยรถตู้กว่า 20 คัน รถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น กว่า 10 คัน โดยแต่ละคัน จะมีป้ายติดไว้ที่หน้ารถว่า เป็นกลุ่มใด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ผู้ชุมนุมทั้งหมดสวมเสื้อสีแดง สกรีนข้อความ "ไม่รับของโจร" พร้อมทั้งโบกธงกระดาษสีแดง มีข้อความว่า "เอารธน.50 คืนไป เอา รธน.40 คืนมา"

เวทนาค่าตัวม็อบแค่ 420 บาท

สมาชิกชมรมคนรักอุดร รายหนึ่งเปิดเผยว่า การเดินมาครั้งนี้ นายขวัญชัย ไพรพนา นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ซึ่งเคยเป็นแกนนำในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ได้นัดแนะชาวบ้านผ่านการจัดรายการวิทยุ ว่า หากใครต้องการจะเดินทางไปต่อต้านรัฐธรรมนูญ 50 ที่ กรุงเทพฯ ก็ขอให้มารวมตัวกันที่สถานีวิทยุ จะมีรถบัสพาไป ซึ่งรถบัสจำนวน 7 คัน มีชาวบ้านคันละ 80 คน ได้ออกเดินทางจากสถานีช่วงตี 2 ของวันที่ 8 พ.ค. โดยชาวบ้านที่เดินทางมาชุมนุมจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 420 บาท พร้อม อาหาร-น้ำดื่ม ครบทุกมื้อ

ส.ส.-ส.ว.ลิ่วล้อแม้วแห่รับม็อบ

ต่อมาเวลา 11.00 น. ส.ส.พรรคพลังประชาชน ประมาณ 20 คน อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายประชา ประสพดี นายนิสิต สินธุไพร นายสุทิน คลังแสง นายศุภชัย โพธิ์สุ พร้อมด้วยกลุ่ม ส.ว.สายเลือกตั้ง ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน นำโดยนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ นายยุทธา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร นายจิตติพงษ์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ได้เดินทางมารับหนังสือของ คป.พร. โดยก่อนหน้านั้นกลุ่มพระสงฆ์ ที่สนับสนุนให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ นำโดยพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ผ.อ.ส่วนธรรมนิเทศ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ร่วมกันสวดมนต์ และพรมน้ำมนต์ให้ผู้ร่วมชุมนุม

"จตุพร"ลั่นนำม็อบสู้ทหาร

นายจตุพร กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของพวกเราต้องทำให้สำเร็จ ขณะนี้ฝ่ายที่คัดค้านได้ใช้ข้อกล่าวหาว่า พวกเรากำลังโค่นล้มสถาบันฯ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่เคยทำลาย นายปรีดี พนมยงค์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และตอนนี้กำลังจะทำลายนายสมัคร สุนทรเวช

ต่อจากนี้หากใครใช้วิธีนี้เคลื่อนไหวโจมตีพวกเรา ขอให้สันนิษฐานไว้เลยว่า เป็นการเปิดประตูให้ทหารเข้ามาทำการปฎิวัติ ขอให้ทหารที่กำลังคิดจะยึดอำนาจรู้ไว้ว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเท็จทั้งสิ้น แต่หากจะออกมาปฎิวัติอีก เราจะออกมาต่อสู้อีกแน่นอน

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำนปช. กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่าหากรัฐบาลเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดการเผชิญหน้า ถึงขั้นนองเลือดว่า ไม่มีทางนองเลือด เพราะการต่อสู้จนนองเลือดไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เป็นลักษณะประนีประนอม จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราเคยมีการนองเลือดแค่ 3 ครั้ง คือ 14 ต.ค. 16 , 6 ต.ค.19 และ พฤษทมิฬ 35 เท่านั้น แต่วันนี้ตนไม่เชื่อว่าวันนี้คนไทยจะมีอุดมการณ์ถึงขนาดยอมตายเพื่ออุดมคติของตัวเอง

นายจรัล อ้างว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง แต่ต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พวกที่คัดค้านต่างหากที่เคลื่อนไหวเพื่อตัวเอง เพราะพวกที่ค้านส่วนใหญ่เป็นพวกจัดทำรัฐธรรมนูญ มีการหาเหตุมาโจมตีฝ่ายเรา หาว่า เราโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกรณีของกลุ่มแพทย์อาวุโส ที่ออกมาเคลื่อนไหว คนเหล่านี้ไม่ควรเคารพเพราะเป็นพวกสนับสนุนเผด็จการ

"หลังจากนี้หากพันธมิตรฯ ชุมนุมวันจันทร์ เราจะชุมนุมวันอังคาร หากชุมนุมวันพุธ เราจะจัดวันพฤหัสฯ แต่ถ้าชุมนุมยืดเยื้อ เราก็จะจัดเหมือนกันแต่คนละสถานที่ แล้วคอยดูว่าจะมีคนมาร่วมกับใครมากกว่ากัน" นายจรัล กล่าว

"เหวง"ส่งซิกรอส่งเรื่องให้"ชัย โมเช่"

ต่อมา ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามอบรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยร่างแก้ไข ให้แก่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาฯ ที่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า อะไรที่ไม่ดี เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบ และต้องร่วมกันแก้ไข ในฐานะตัวแทนสภาฯจะนำเรื่องนี้ไปมอบให้ประธานสภาฯ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ นพ.เหวง ได้กล่าวกับ นายสมศักดิ์ ว่า ขอให้รอส่งเรื่องให้กับประธานสภาฯ คนใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา เนื่องจากมาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมือนกับ นายประสพสุข บุญเดช ประธาน ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากกลุ่ม คปพร. ยื่นรายชื่อประชาชนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมร่างฯแก้ไข ต่อนายสมศักดิ์แล้ว ได้เคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อปล่อยลูกโป่งสีแดง 2,540 ลูก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้

สำหรับร่างฯ ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น มีบทบัญญัติที่น่าสนใจ เช่น ให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญหลายหมวด โดยเฉพาะมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง รวมทั้งมาตรา 309 ในเรื่องที่รับรองความถูกต้องขององค์กรที่ คมช.ตั้งขึ้นมา และให้ยกเลิกคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกอย่าง

"ชูศักดิ์" เมินหมักประกาศไม่แตะ ม.309

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐสภา และไม่อยากแตะมาตรา 309 ว่า นั่นเป็นความเห็นของนายสมัคร คนเดียว แต่ตอนนี้วิปรัฐบาลได้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปดูแล้ว และตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ ส.ส. และส.ว.ว่า จะมีความเห็นอย่างไรก็ว่ากันไป จะร่วมลงชื่อแก้ไขหรือไม่ จะยื่นเมื่อใด รัฐสภาต้องไปหารือกัน เพราะสภาจะปิดวันที่ 19 พ.ค.นี้แล้ว หากพร้อมที่จะยื่นแล้ว แม้ตอนนี้จะไม่มีประธานสภาฯ แต่ประธานวุฒิสภา จะทำหน้าที่ประธานสภาฯไปก่อน และรับเรื่อง รวมทั้งต้องบรรจุวาระภายใน 15 วัน ฉะนั้น ปัญหาคือจะยื่นเมื่อใด ตรงนี้ก็ต้องไปคุยกัน

"เข้าใจว่านายสมัคร มองว่าเมื่อมันยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทางที่ ดีที่สุดคือ ให้รัฐสภาตัดสิน เพราะสื่อมวลชนวิจารณ์ว่า ไม่เห็นรัฐบาลแก้ปัญหานั้นปัญหานี้ มัวแต่จะแก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นดีที่สุดภาระหน้าที่นี้คือของรัฐสภา" นายชูศักดิ์ กล่าว และว่า แม้ล่าสุดกลุ่ม นปช.ไปเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาแล้ว ก็ต้องปล่อยเป็นหน้าที่รัฐสภา ในการพิจารณาว่า จะรับไปพิจารณาหรือไม่

"เจ๊เพ็ญ"อ้างม็อบ นปช.ไม่รุนแรง

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่มม็อบที่มายื่นรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบ คิดว่าคงไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และคงไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากการแสดงออกทางประชาธิปไตย เป็นสิทธิ เพียงแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลดูแลอย่างเต็มที่ ไม่น่าจะลุกลาม

นายจักรภพ ยังปฏิเสธว่า คนกลุ่มนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปก. ที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะตัวบุคคลเปลี่ยนหมดแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนตัวบุคคล แนวทางการเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนไป

เมื่อถามว่า นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาระบุว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นแนวทางเดิมที่เกี่ยวพันกับพรรคไทยรักไทย นายจักรภพ กล่าวว่า ถ้าเชื่อนายสุริยะใส ก็ไปถามนายสุริยะใส ว่าเอาความเชื่อมาจากไหน ตนอยู่ในรัฐบาลและรับสัญญาประชาชนมาทำงาน ไม่ขอตอบคำถามนายสุริยะใส

ส่วนกรณีที่ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ออกมาปรามรัฐบาล ในลักษณะที่ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดนั้น นายจักรภพ กล่าวว่า ก็ต้องถามตัวท่านว่า ปรามเรื่องอะไร เพราะอะไร แล้วท่านจินตนาการไปอย่างไรกับบ้านเมือง ดังนั้นต้องไปถามพล.ท.ประยุทธ์ ตนคงไปอยู่ในหัวคิดท่านไม่ได้

เมื่อถามว่า คิดว่าการปฏิวัติ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะยังไม่มีหลักการอย่างมั่นคง เพราะสิทธิเสรีภาพทางสังคม เป็นเรื่องสำคัญ หากคิดว่าใครถือปืน แล้วเราต้องขนลุกทุกครั้ง ก็แสดงว่าเรายังไม่เคารพตัวเอง ทั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ทำได้หรือไม่ แค่ขึ้นอยู่กับว่า ทำแล้วจะอยู่ได้หรือไม่

ย้ำทหาร-รัฐบาลสัมพันธ์แน่นแฟ้น

อย่างไรก็ตาม นายจักรภพ ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กับทหารตอนนี้แน่นแฟ้น ดีมาก เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้ติดตามนายสมัคร ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ บางครั้งนายกรัฐมนตรี ก็เกรงใจ บอกว่าไม่ต้องไปก็ได้ แต่ผบ.ทบ. ก็ยืนยันที่จะติดตามไปด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ทหารชั้นผู้ใหญ่ในยุคนี้ ไม่ได้ลุ่มหลงอยู่ในยุคเก่า และทหารรู้ดีว่า บ้านเมืองต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใครจะทุบโต๊ะแล้วแก้ได้

ส่วนความสัมพันธ์กับผู้นำเหล่าทัพอื่นๆ ก็ดีมาก เพราะได้พบกันเป็นประจำ ซึ่งล่าสุดพบกับผู้นำเหล่าทัพหลายท่าน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นปตามปกติ ยกเว้นในใจคนที่ไม่อยากให้เป็นปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสื่อกระแสหลัก บุคคลที่เคลื่อนไหวคงไม่มีศักยภาพ ภ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสื่อกระแสหลัก

ชี้ ผบ.เหล่าทัพพบ "ป๋า" ข่าวโคมลอย

ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงกระแสข่าวผู้นำเหล่าทัพเข้าพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ แต่กลับมีข่าวว่าตนไปด้วย และยังไม่ได้เจอ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นเลย จึงไม่ได้คุยเรื่องนี้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นข่าวโคมลอยมากกว่า

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ช่วงนี้ตนถูกถามบ่อยๆ เรื่องการปฏิวัติ แต่จากฝ่ายทหารเอง ตนไม่เคยได้ยินเลย เมื่อถามย้ำว่า การปล่อยข่าวต้องการสร้างความหวาดระแวงระหว่างกองทัพ กับรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้มาคุยกับตน ถ้าพูดไปก็เรียกว่าเป็นการคิดไปเอง แต่มันก็เป็นไปได้

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ดูแลปัญหาปากท้องประชาชน พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ทุกรัฐบาลก็อยากดูแลประชาชน แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องโน้นเรื่องนี้ จึงอยากบอกว่า เมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ก็จะเรียบร้อยดีทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่การเมืองพยายามดึงสถาบันฯ ลงมาเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยง มองเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ทหารเราดูและพระเจ้าอยู่หัวดีอยู่แล้ว แต่ว่าคนอื่นจะพูดอย่างไร เรื่องซับซ้อนบางที่พูดไปมันก็ไม่ดี แต่ว่าเราปกป้องเทิดทูนรักษาสถาบันฯ อยู่แล้ว ส่วนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องนี้ ตนว่าทุกสายรู้อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นความเร่งด่วนลำดับหนึ่ง

โฆษกรัฐบาลย้ำปฏิวัติแค่ข่าวลือ

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรับประทานอาหารค่ำร่วมกันระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ที่ร้านไพซาโน ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของสภา

"เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ นักการเมือง ประชาชน หรือใครก็คิดได้ แต่คิดเสร็จแล้วต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ต้องส่งให้สภาไปดำเนินการ ขณะนี้พ้นขั้นตอนความคิดของนักการเมืองแล้ว"

เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายกฯ เดินสายตรวจเยี่ยมเหล่าทัพ พร้อมย้ำเรื่องความจงรักภักดี และไม่แตะต้องมาตรา 309 ซ้ำบนโต๊ะอาหารที่ร้านไพซาโน ยังยืนยันความสัมพันธ์อันดีกับทหาร เป็นเพราะวิตกกังวลอะไรหรือไม่ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ไม่กังวล นายกฯ พูดในฐานะรมว.กลาโหม เพื่อให้ขวัญกำลังใจกับทหารในการทำงาน

"นายกฯ เป็น รมว.กลาโหม จึงปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่แล้ว ดังนั้นการไปเยี่ยมหน่วยจึงเป็นเรื่องปกติ และในการประชุมสภากลาโหม ทหารทุกคนก็ให้คำมั่นสัญญาในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำว่า จะดูแลระบอบประชาธิปไตยให้ดีที่สุด ฉะนั้นเรื่องข่าวลือการปฏิวัติทั้งหลาย ก็เป็นเพียงข่าวลือ ไม่เป็นความจริง"

พล.ต.อ.วิเชียรโชติ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 พ.ค. ว่า "ผมไม่ทราบ เพราะนอนตั้งแต่สี่ทุ่ม ส่วนที่นายกฯ เคยออกมาพูดเรื่องปฏิวัติก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องกระบวนการ เอกสาร ใบปลิว นั้น เป็นเรื่องเก่า จบไปนานแล้ว ไม่มีอะไร ฝากสื่อไปชี้แจงประชาชนด้วย เพราะประชาชนฟังสื่อ อ่านสื่อ ว่าไม่มีเรื่องการปฏิวัติ รัฐบาลทำงานตามปกติ นอกนั้นเป็นข่าวลือทั้งสิ้น"

พปช.ท้าให้รีบปฏิวัติ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกระแสข่าวที่ผู้นำเหล่าทัพ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ รวมทั้งการที่ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาค 1 ออกมาระบุทำนองว่า อาจเกิดการปฏิวัติว่า กองทัพอย่าออกมาฮึ่มว่า อาจะมีการปฏิวัติ เพราะไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งยังจะกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย

"ในเมื่อกล้าคิดที่จะปฏิวัติ ก็ต้องกล้าทำ ถ้าจะปฏิวัติจริงก็ขอให้รีบทำ ขอท้าให้ปฏิวัติ จะได้ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย จะได้รู้แล้วรู้รอด จะได้รู้สึกกันเสียที และสถานะประเทศไทยจะได้ขยับขึ้นมาแทนพม่า ที่ปกครองแบบเผด็จการทหาร"

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่เคยสิ้นคนดี หลังการปฏิวัติอาจได้คนดีขึ้นมาปกครองประเทศ ทำให้ประเทศเจริญขึ้นก็เป็นได้

ย้ำตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนแก้ไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากท่าทีของหัวหน้า 6 พรรคร่วมรัฐบาล ดูเหมือนจะไม่มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมนี้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะคลี่คลายบรรยากาศของบ้านเมืองลงไปได้ และถ้ามีความจริงใจในคำพูดที่ว่า จะเอาเวลาไปใช้แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ดี และขอให้ทำอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม แต่การทิ้งประเด็นไว้ว่าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ก็ทำให้ต้องจับตาดูต่อไปว่า ในส่วนของพรรคการเมืองและ ส.ส. จะมีการเสนอหรือไม่

"ผมพูดมาตลอดว่า เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของสภา ถ้าท่านพูดว่าเป็นเรื่องของสภาจริง ก็ควรเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ก่อน ไม่ใช่คิดว่า มีเสียงข้างมากแล้วบอกว่า ใช้เสียงข้างมากในฐานะที่เป็นรัฐบาล แต่มาอ้างว่าเป็นเรื่องของสภา และถ้าจะทำให้เป็นเรื่องของสภาจริง ต้องเชิญ วุฒิสภา ฝ่ายค้าน ให้ไปคิดร่วมกันในเรื่องนี้ ก็คือย้อนกลับไปในแนวทางเดิมที่ว่าให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาก่อน ซึ่งการที่รัฐบาลบอกว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละคน ว่าแต่ละพรรคมีความคิด มีจุดยืนอย่างไร" ผู้นำฝ่ายค้านฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนมีเปลี่ยนวิธีการโดยให้ประชาชนเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขแทน โดยกลุ่มของนพ.เหวง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งประชาชนตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์เสนอร่างกฎหมาย แต่ยังไม่เห็นร่าง ว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพลิกเกมของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนเป็นผู้เสนอแทนรัฐบาล จะทำให้การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำได้ยากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดจะกลับไปเรื่องเดิมว่า ถ้าสภาพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของส่วนรวม ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าสภาเอาเรื่องนี้มาแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ยังไงปัญหาก็เกิดขึ้น

จวกหมักตะแบงให้เป็นเรื่องของสภา

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นพ.เหวง นำรายชื่อประชาชน 150,000 ชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 เพื่อให้สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะเวลาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ต้องเป็นมติของส.ส.รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นไม่ควรอ้างว่าเป็นเรื่องของสภา

"ผมยังแปลกใจอยู่ที่ไปอ้างว่า ไม่ใช่รัฐบาล เป็นเรื่องสภา สภาก็ต้องลงมติ แต่คนในรัฐบาล คือสมาชิกรัฐสภา เพราะนี่คือระบบรัฐสภา เสียงส่วนใหญ่ในสภาก็คือผู้ตัดสินว่าจะรับ หรือไม่รับ ก็คือเสียงรัฐบาลนั่นเอง สมมติว่ารัฐบาลจะเอาร่างไหน จำนวนเสียงก็เพียงพอ ก็ยังแปลกใจอยู่ว่า มาอ้างว่าไม่ใช่รัฐบาล เป็นเรื่องของสภา เมื่อเราจะเสนอแล้วปฏิเสธไปทำไม เมื่อตัดสินใจว่ารัฐบาลจะเสนออย่างนี้ รัฐบาลต้องกล้าที่จะรับว่า จะเสนออย่างนี้ เพราะถ้าโยน ก็โยนไปหาตัวเอง เพราะสภาก็คือรัฐบาล เสียงส่วนใหญ่ คือผู้สนับสนุนรัฐบาล ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่รับ ก็ไม่ผ่าน" นายชวน กล่าว

จวก 6 พรรคร่วมฯ ลวงโลก

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การนัดทานข้าวของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เป็นเรื่องน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้นำพาต่อปัญหาบ้านเมือง ปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ต่างๆในขณะนี้

ก่อนการประชุมมีการออกข่าวใหญ่โต ว่าจะมีวาระเพื่อพิจารณาหาข้อยุติเรื่องโน้นเรื่องนี้ จนทำให้สังคมมีความหวังว่าจะมีสัญญาณคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองออกมาบ้าง แต่กลับไม่มีอะไรชัดเจน ซ้ำร้ายยังมีพฤติกรรมลวงโลก

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการเลี่ยงบาลี อ้างว่าให้เป็นเรื่องของสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลนั้น ถือเป็นบาลีลวงโลก เพราะประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารมาจากสภาฯ ไม่ใช่ระระบบแยกอำนาจระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ รัฐมนตรีก็ยังเป็น ส.ส. ถ้าเป็นระบอบประธานาธิบดี คงไม่มีใครว่า เพราะอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารแยกจากกัน อย่างชัดเจน บาลีลวงโลกของ 6 พรรคร่วมฯ ครั้งนี้ คงหวังลอยตัวจากความขัดแย้ง จึงเล่นบท ลับ ลวงพราง ว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว ทั้งที่จริงมาจากท่ออำนาจเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถอำพรางวาระซ่อนเร้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเองได้ เพราะในขณะนี้ประชาชนรู้เท่าทัน ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองก็ออกมาคัดค้านการรื้อรัฐธรรมนูญ และอยากให้รัฐบาลใส่ใจกับการแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงก่อน ไม่ควรสร้างเงื่อไขให้เกิดความแตกแยกขึ้น

ส่วนการเข้าชื่อของกลุ่ม นปก.เดิม เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น แม้เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไปดูว่ารายชื่อเหล่านั้นเป็นไปตามแบบฟอร์มของสภาฯ หรือไม่ เพราะการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือการถอดถอน จะมีแบบฟอร์มของสภาอยู่แล้ว หรือถ้าแค่สร้างกระแสกดดัน ก็คงไม่ง่าย เพราะสังคมตามทันและรู้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น