xs
xsm
sm
md
lg

6 พรรคร่วมปาหี่ถกแก้ รธน.50 ส.ว.ลั่นดื้อแก้เจอ ม.122

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมัคร" นำหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเล่นปาหี่ หลังอิ่มท้องด้วยอาหารอิตาลีต่างปฎิเสธหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ้างรัฐบาลไม่เกี่ยวโยนรัฐสภาดำเนินการ "บรรหาร" แย้มเสนอแก้ไม่ทันสมัยประชุมนี้ ส่วนการประชุมสมัยวิสามัญใครจะเสนอต้องดูก่อน ด้านนายกฯเผยไม่อยากให้ยุ่ง ม.309 เพราะช่วยอะไรไม่ได้ แต่อยากแก้ที่มา ส.ส.และ ส.ว.มากกว่า ขณะที่ 50 ส.ว.ค้านแก้ รธน.เพื่อตัวเอง เตือนหากดึงดันใช้ ม.122 จัดการ ส่วนประธานวุฒิฯย้ำควรใช้ไปก่อน 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 พ.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคร่วมรับประทานอาหารและหารือถึงสถานการณ์การเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ร้านอาหารอิตาเลี่ยน ไพซาโน ย่านชิดลม ซึ่งการนัดหารือระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้ไม่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยเข้มงวดแต่อย่างใด โดยมีการจัดเมนูอาหารประกอบด้วย ซุปกุ้ง สลัดพิเศษ และอาหารประเภทปลา 3-4 ชนิด อาทิ ปลาโซล ปลาเเซลมอน พอร์คช๊อป หอยลายอบซอสเนย ขนมหวานประกอบด้วย เค้กเย็นรสผลไม้ และไอศกรีมรัม เครื่องดิ่มเป็นประเภท พันซ์ โดยมีการจัดที่พิเศษไว้จำนวน 9 ที่

จนกระทั่งเวลา 18.40 น. พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เดินทางมาถึง ตามมาด้วยนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างทยอยเดินทางมายังร้านอาหารไพซาโน

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า "กระแสข่าวปฏิวัติที่หนาหูเวลานี้ทำให้มีข่าวว่า มีการถอนเงินจำนวนมากออกจากธนาคาร ผมอยากยืนยันว่า ไม่มีการถอนเงินจำนวนมากอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด มีนักข่าวมาถามผมเรื่องนี้ ก็ได้บอกไปว่า ขอตรวจสอบก่อน แต่คิดว่าเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกมากกว่า เพราะเรื่องที่นายสมัครออกมาปูดข่าวปฏิวัตินั้นคงไม่ได้พูดอะไรหรอก ต้องเข้าใจสไตล์ นายสมัครว่า ท่านคิดอะไร พูดอะไร จับประเด็นให้ถูก สื่อกลัวตกประเด็นก็ยิ่งไปกันใหญ่"

สำหรับนายสมัคร เดินทางมาถึงเวลา 19.20 น. ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เดินทางมาถึงเป็นคนสุดท้ายเวลา 19.35 น. โดยนายสมัครจัดให้ นายบรรหาร นั่งขวามือต่อด้วย พล.อ.เชษฐา พล.ต.สนั่น นายประดิษฐ์ ส่วนซ้ายมือมีนายเสนาะ นายสุวิทย์ นางอนงค์วรรณ

นายสมัคร กล่าวว่า "ที่ผมเลือกอาหารร้านนี้ เนื่องจากเป็นร้านอาหารอิตาเลี่ยน ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ และถ้าไม่ถือสา จะกินอาหารให้อร่อยต้องถอดเสื้อด้วย" จากนั้นบรรดาหัวหน้าพรรคต่างพากันถอดเสื้อนอก ขณะที่นายสมัครได้ปล่อยมุขแซว นางอนงค์วรรณว่า "อนงค์วรรณถอดไม่ได้ เพราะเป็นผู้หญิง"

หัวหน้าพรรคเรียงหน้าปัดหารือแก้ รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับประทานอาหารเพื่อหารือถึงการทำงานของรัฐบาลและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปจนถึงเวลา 21.15 น. แกนนำพรรคการเมืองต่างๆ จึงทยอยออกจากร้านอาหาร โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า การพูดคุยกันวันนี้ไม่ได้หารือถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา ปล่อยให้เป็นของรัฐสภา วันนี้สิ่งที่เน้นคือให้รัฐบาลทำงานให้กับประชาชน แก้ปัญหาปากท้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเดือดร้อนตอนนี้เป็นหลัก

เช่นเดียวกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า วันนี้ไม่มีมติใดๆ ออกมาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้พูดคุยกัน แม้แต่มาตรา 309 เรามีความชัดเจนระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่คุยกันคุยกันเรื่องการทำงานมากกว่า

"บรรหาร"แย้มเสนอแก้ไม่ทันสมัยประชุมนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสนอในการประชุมสภาสมัยนี้เลยหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่าคงไม่ทันแล้ว เมื่อถามว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมสภาวิสามัญหลังการประชุมงบประมาณหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ต้องรอดูว่าใครจะเป็นผู้เสนอ สิ่งสำคัญทุกมาตรา ต้องสามารถแปรญัตติได้ ซึ่งวันนี้ก็ไม่มีมติใดๆ อย่างไรก็ตามนายกฯได้ชมรัฐมนตรีของพรรคชาติไทย ที่ผลโพลออกมาดี เมื่อถามว่านายกฯได้ขอให้สนับสนุนประธานสภาหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่มีการคุยกันในเรื่องนี้

นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวว่า ไม่ได้คุยกันถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ และไม่เกิน 2 เดือนเราจะผลักดันเป็นเจ้าภาพในการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยคิวต่อไปเป็นของนายบรรหาร ศิลปอาชา

ส่วนนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกในที่ประชุมว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกันระหว่างหัวหน้าพรรคเพราะการประชุม ครม.ไม่มีหัวหน้าพรรคเข้าร่วมประชุมด้วย ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคนเห็นพ้องกันตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นหน้าที่ของรัฐสภา รัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

"สมัคร"เผยไม่อยากแก้ ม.309 ตอนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัคร ซึ่งออกมาจากห้องอาหารเป็นคนสุดท้าย ปฎิเสธที่รจะตอบคำถามใดๆ ผู้สื่อข่าวแม้ผู้สื่อข่าวจะพยายามสอบถามไปหลาย คำถามก็ตาม โดยนายสมัครได้เดินแหวกผู้สื่อข่าวขึ้นรถไปทันที

ทั้งนี้ก่อนเข้าหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นายสมัครได้บอกกับเลขานุการส่วนตัวให้มาบอกกับผู้สื่อข่าวว่าหลังการหารือจะไม่มีการแถลงข่าวใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ระหว่าง ตรวจเยี่ยมการปฎิบัติหน้าที่ของกองทัพบกถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้องและจะเน้นการแก้ปัญหาบ้านเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญให้สภาจัดการไป วันนี้จะคุยกับ 6 พรรคร่วมรัฐบาล และจะแถลงข่าวด้วยตัวเอง ส่วนการแก้ไขมาตรา 309 เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ช่วยอะไร ยังไม่อยากแก้ตอนนี้ ตนอยากแก้ที่มาส.ส.,ส.ว.ก่อน อยากให้ทหารเข้าใจ ว่ารัฐบาลไม่ต้องการเอาชนะกัน

ปธ.วุฒิฯ เชื่อยื่นแก้ รธน.ไม่ทัน

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากให้จบในสภาจะดีที่สุด ส่วนจะมีการตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ ที่สุดก็ต้องไปพิจารณาในสภาอยู่แล้ว หากเสนอร่างฯเข้ามาที่รัฐสภาก็สามารถ ดำเนินการแก้ไขได้

อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังไม่มีการยื่นแก้ไขเข้ามาในช่วงนี้ เพราะกำลังพิจารณาทบทวนว่าจะแก้ไขหรือไม่ และแก้มาตราใดบ้าง เพราะต้องดูด้วยว่าจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ เนื่องจากวุฒิสภาจะทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 16 พ.ค. แต่ถ้าไม่ทันก็ทำได้หลายวิธี ถ้าอยากแก้ไขจริงๆ เช่น เปิดสมัยประชุมวิสามัญ

ส่วนที่มี ส.ว.บางกลุ่มเสนอให้แก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายประสพสุข กล่าวว่า สามารถทำได้แต่ต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคือ 315 เสียง จึงจะเกิดแนวทางส.ส.ร.ขึ้นมาได้ แต่ถ้าส.ส. ไม่ยอมรับก็เป็นอันตกไป แต่โดยส่วนตัวแล้วยังเห็นว่าควรใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน 1 ปี จึงค่อยมาดูว่าควรแก้ในจุดใด ไม่ควรรีบเร่งแก้ไขในตอนนี้

50 ส.ว.ค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันมี กลุ่ม ส.ว.สรรหาและส.ว.เลือกตั้งบางส่วน นำโดยนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายอนุศักดิ์ คงมาลัย นายธนู กุลชล นายประสาร มฤคพิทักษ์ ได้ร่วมหารือถึงข้อเสนอ ของ น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ที่ให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้นทางกลุ่มได้แถลงจุดยืนของ ส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย นางพรพันธุ์ กล่าวว่า มี ส.ว.ประมาณ 50 คน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมาจากปัญหาซึ่งเกิดกับประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ แต่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล สรุปได้ว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล ของพรรคการเมือง จึงไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิด โดยสามัญสำนึกกลุ่มส.ว.จึงรับไม่ได้

นางพรพันธ์ กล่าวว่า ควรปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 1 ปี และศึกษาถึง ผลการใช้จึงจะบอกได้ว่ามีปัญหาอย่างไร และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง จึงไม่มีเหตุผลที่จะมาแก้ไขในตอนนี้ หากจะแก้ไขก็ต้องทำโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรง ควรมี ส.ส.ร.ชุด 3 มาดำเนินการ ส่วนการยื่นญัตติเพื่อแก้ไข มาตรา 291 นั้นเราจะไม่ยื่น เพราะจุดยืนคือ ไม่จำเป็นต้องแก้ในตอนนี้

ส่วนที่ น.ส.รสนา ออกมาชวนเพื่อนสมาชิกลงชื่อแก้ไขมาตรา 291 ให้มีส.ส.ร. เพื่อลดการเผชิญหน้าในสังคมนั้น นางพรพันธุ์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้หารือกับน.ส.รสนา แล้ว ก็มีความคิดเห็นชัดเจนและมีนัยยะที่ละเอียดกว่านี้ ซึ่งสื่อมวลชนสามารถขอคำ อธิบายจาก น.ส.รสนาได้ เพราะเบื้องต้น น.ส.รสนาเห็นด้วยว่ายังไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้

ลั่นรัฐบาลยื่นแก้ใช้ ม.122 จัดการ

ด้าน นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า ถ้าส.ส.รัฐบาลยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา กลุ่มส.ว.จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้รัฐบาลควรมุ่งแก้ปัญหาปากท้องมากกว่าจะมาทำเรื่องนี้

นายประสาร มฤคพิทักษ์ กล่าวว่า หากญัตติเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ส.ว.จะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลรวบหัวรวบหางใช้เสียงข้างมาก ทำนองเป็นผู้รับเหมาแก้ไขสเปก ของตนเองเพื่อให้ได้งานนั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ไขจึงไม่ใช่ให้คน ไม่กี่คนมาแก้ และจะปฏิเสธคะแนนเสียงประชามติ 14 ล้านเสียงที่รับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เรื่องนี้ชัดเจนว่าหากไม่มีคดียุบพรรคมาจ่อคอก็จะไม่เกิด แต่สังคมมองแล้วและหลายองค์กรได้ออกมาคัดค้านขอให้รัฐบาลฟังประชาชนด้วย

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า หากรัฐบาลยื่นญัตติเข้ามา หากมีช่องทางใด ที่จะยับยั้งได้ก็จะทำ ซึ่งมีผู้เสนอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 เพื่อจัดการเกี่ยวกับการจัดการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทางส.ว.จะศึกษาว่าการใช้ช่องทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงช่องทางอื่นในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ใช้การถอดถอน

ปชป.ไม่ยื่นประกบหวั่นถูกมองหนุนแก้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าได้หารือกันในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ทางพรรคอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ซึ่งก็สร้างวิกฤตให้บ้านเมืองขึ้น หวังว่าการประชุมของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าใจในประเด็นนี้และใช้เวลาของรัฐบาลแก้ปัญหาของประชาชน หากมีการตัดสินใจที่จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาเมื่อใด พรรคก็จะเรียกประชุมส.ส.ทันที เพื่อกำหนดท่าที

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อส.ว.ล้มเลิกที่จะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า แนวร่วมที่จะให้มี ส.ส.ร.หายไปด้วยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส.ว.ที่เสนอประเด็นขึ้นมาคงไม่เห็นด้วยกับการแนวทางแก้ไขของรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่า จะทำอย่างไร ไม่ให้เจตนาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเจตนาแก้ปัญหาทางการเมืองของตัวเองประสบความสำเร็จ ต้องมาดูว่าหนทางที่ดีที่สุดคืออะไร

"พรรคประชาธิปัตย์จะรอดูรัฐบาลก่อนว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูยประกบจะเป็นการส่งสัญญาณที่สับสนุน เหมือนกับว่าต้องการให้รัฐบาลมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลยื่นร่างฯค่อยมาว่ากันอีครั้งหนึ่งว่าเหมาะสมหรือไม่ "

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ท่าทีเปลี่ยนไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นพรรคร่วมรัฐบาลต้องพยายามรักษาเอกภาพ แต่อยากย้ำ ไปถึงทุกพรรรคว่า ถ้าทำอะไรโดยใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ของตัวเองแล้ว มักจะเป็นเงื่อนไขทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ถ้าเป็นไปตามร่างที่ยกขึ้นมาโดยพรรคพลังประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องมาตรา 237 หรือ 309 เท่านั้น แต่เป็นการแก้ไขที่มี เป้าหมายทางการเมืองโดยชัดเจน เพราะไม่ได้มีการพูด วิเคราะห์ ศึกษาถึงบทบัญญัติเกือบทั้งหมดของรัฐธรรมนูญเลย สิ่งที่ต้องการอย่างเดียวคือต้องการมีบทเฉพาะกาลไปแปะอย่างเดียว เพื่อจะเปลี่ยนองค์กรอิสระ เพิ่มคนที่จะไปเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มขึ้น การตัดแปะดังกล่าวถือว่าเป็นการลบมาตรา 237 และ 309 ไปในตัว

โยน 6 หัวหน้าพรรคหาข้อสรุปแก้ รธน.

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กลุ่มแพทย์อาวุโสที่แสดงความกังวลต่อการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า ทุกคนมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง เท่าที่อ่านก็รับฟังเอาไว้ แต่ข้อสรุปคิดว่าให้หัวหน้าพรรคการเมืองไปคุยกัน ซึ่งเขาก็นัดกันแล้วและเชื่อว่าคงจะนำเอาข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปประมวลและนำมาเป็นข้อยุติว่าจะสรุปอย่างไร

"ก็สุดแต่ความเข้าใจในแง่กฎหมายของแต่ละคน นักกฎหมายยังมีความเห็น แตกต่างกันในแต่ละมาตราก็ต้องไปประชุม ซึ่งการที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยไม่เห็นด้วยที่จะตั้ง ส.ส.ร. 3 หรือแก้ไขมาตราใด มาตราหนึ่ง เป็นเรื่องของนายบรรหารที่จะต้องไปคุยในการประชุมหัวหน้าพรรค โดยคำนึงถึงประโยชน์ได้เสีย รวมทั้งฟังความเห็นของสังคมด้วย"

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า หากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะมีการยุบสภาทันทีนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีใครคุยกัน ไม่มี ซึ่งก็ได้ยินจากสื่อว่าจะยุบสภา พูดกันอย่างตรงไป ตรงมายังไม่มีการคุยกันในเรื่องนี้ และไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีหรือไม่ แต่หาก ให้พูดคือการยุบสภาเป็นหนทางสุดท้ายและเป็นอำนาจการตัดสินใจของหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งพรรคไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้

"เฉลิม"ชี้พวกค้านหวังให้ตัวเองดูโก้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร.ม.ว.มหาดไทย กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรัฐสภา การประชุมหารือร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค เป็นเรื่องปกติที่ สามารถทำได้ เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องล็อบบี้เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล

"ผมทำงานการเมืองมานานรู้ว่านักการเมืองแต่ละคนจะมีบุคลิกเฉพาะตัว บางคนแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะอยากที่จะเป็นข่าว ขัดแย้งไว้บ้างก็จะทำให้ดูว่าตัวจะดูโก้ กั๊กท่าทีไว้สักหน่อย ผู้สื่อข่าวไม่รู้จักนักการเมืองดีเท่าผม"

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าตนไม่กล้าวิจารณ์รุนแรง แต่บางคนในพรรรคเพื่อแผ่นดิน ที่คัดค้านก็ไม่ใข่ผู้แทนราษฎร แต่คนในพรรคที่เป็นผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นด้วย และบางคนในพรรคชาติไทยที่คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้บริหารที่แท้จริง ถ้า นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน และ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยฟันธงเรื่องทุกอย่างก็จบ

ส่วนที่เครือข่ายแพทย์อาวุโสออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การออกมาวิจารณ์และแนะนำเป็นเรื่องที่ดี รู้ว่าทุกฝ่ายห่วงใย แต่ห่วงใยมากเกินไปทั้งที่ยังไม่รู้เหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเช่นไร

ส่วนที่รัฐบาลถูกจับจ้องและมีการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีจะทำให้การทำงานมีปัญหารือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า รัฐบาลยังทำงานเป็นเอกภาพอยู่ ฝ่ายค้านที่คอย เป็นห่วงก็เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่รู้ว่าเป็นห่วงจริงหรือไม่ การยื่นชื่อถอดถอนก็เป็นเรื่องที่ ฝ่ายค้านทำถูกต้องแล้วเพราะมีหน้าที่ตรวจสอบ หากมีคนรัฐบาลยื่นถอดถอนกันเองนั้นและจะทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ

"เหวง"โผล่แจมเตรียมยื่นร่างแก้ไข รธน.

นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย และเป็นเครือข่าย แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) กล่าวว่า ในวันนี้ (8 พ.ค.) เวลา 9.00 น. ตนพร้อมกับเครือข่ายจำนวนหนึ่ง จะนำรายชื่อประชาชน 150,000 ชื่อ ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 แก้ไข (ก.) มายื่นให้กับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพื่อพิจารณาให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของสภา

นพ.เหวง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 (ก.) นั้น จะคงหมวด 1-2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ส่วนหมวด 3-12 ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ปรับแก้แล้ว มีสาระสำคัญ เช่น ให้ส.ส.สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ เป็นต้น นอกจากนั้นตนจะเสนอด้วยว่าให้นำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 แก้ไข และ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ทำประชามติให้ประชาชนเลือกรับรัฐธรรมนูญฉบับใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดการนำ 2 รัฐธรรมนูญมาทำประชามตินั้น สอดคล้องกับแนวคิดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน อดีต แกนนำ นปก. จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ นพ.เหวง กล่าวว่า ตนไม่เคยคุย หรือ หารืออะไรกับ นายจตุพร เลยแม้แต่น้อย ซึ่งแนวคิดของดังกล่าวนั้นก็ได้จากการประชุมของกลุ่ม เครือข่าย ขอยืนยันไม่ได้นำความคิด หรือ มีใบสั่งใดๆ จากคนของพรรคพลังประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น