xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

อาร์เซลอร์-มิตตัล บริษัทผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

บริษัทอาร์เซลอร์-มิตตัล มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ นายลักษมี มิตตัล เป็นมหาเศรษฐีเชื้อสายอินเดีย เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการควบรวมกิจการจนกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก

นายลักษมี มิตตัล เกิดที่รัฐราชาสถานของอินเดีย ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่นครกัลกัตตา สำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่วิทยาลัยเซนต์ซาเวียร์ จากนั้นเข้าทำงานในโรงงานเหล็กขนาดเล็กของครอบครัว ปัญหาสำคัญในขณะนั้น คือ รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม โดยกำหนดว่าอุตสาหกรรมเหล็กจะลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจเท่านั้น คือ บริษัท Steel Authority of India จำกัด และห้ามเอกชนก่อตั้งโรงงานผลิตเหล็กเพิ่มเติม

ตระกูลมิตตัลเห็นว่าอินเดียมีบรรยากาศการลงทุนไม่ค่อยดี เนื่องจากมีกฎระเบียบจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ในปี 2519 จึงย้ายไปดำเนินธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเริ่มจากการตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตเหล็กลวด ดำเนินการในนามบริษัท Ispat Indo จำกัด โดยใช้เทคโนโลยีจากอิตาลี

การผลิตเหล็กที่อินโดนีเซียประสบปัญหาสำคัญ คือ การขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งก็คือ เศษเหล็กที่มีคุณภาพสูง ดังนั้นจึงได้พยายามหาแหล่งผลิตเหล็กพรุนเพื่อมาใช้ทดแทนเศษเหล็ก ในที่สุดได้ทำสัญญาซื้อเหล็กพรุนจากบริษัท Iron & Steel Co of Trinidad & Tobago (Iscott) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศตรินิแดด

อย่างไรก็ตาม ต่อมากิจการบริษัท Iscott ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง รัฐบาลของประเทศตรินิแดดต้องการให้บริษัทเอกชนมากอบกู้สถานการณ์ ดังนั้น ในปี 2532 นายมิตตัลจึงได้ซื้อโรงงานเหล็กของบริษัทแห่งนี้และปรับปรุงให้ธุรกิจดีขึ้นจนมีกำไร ต่อมาในปี 2535 ได้ซื้อโรงงานของบริษัท Sicartsa ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเม็กซิโก ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนอย่างเรื้อรัง และประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงกิจการจนมีผลกำไรเช่นกัน

ในปี 2538 ตระกูลมิตตัลได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ โดยย้ายสำนักงานใหญ่จากอินโดนีเซียมายังกรุงลอนดอน พร้อมกันนี้ ได้ลงทุนครั้งสำคัญ คือ การซื้อกิจการโรงงานเหล็กในประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจและประสบปัญหาทางการเงินอยู่ในขั้นวิกฤต ถึงกับไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเป็นเวลานานถึง 6 เดือน แต่นายมิตตัลใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถปรับปรุงการผลิต ทำให้เกิดผลกำไรเป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อปลายปี 2547 บริษัท Ispat และบริษัท LNM Holdings ของตระกูลมิตตัล ได้ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันและตั้งชื่อใหม่ว่าบริษัทมิตตัลสตีล จากนั้นได้ซื้อกิจการของบริษัท IGS ของสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทมิตตัลสตีล แซงหน้าบริษัทอาร์เซลอร์ ขึ้นเป็นผู้ผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 1 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตเหล็กมากถึง 70 ล้านตัน/ปี และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน แต่จดทะเบียนบริษัทที่นครร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง

ภายหลังที่บริษัทมิตตัลสตีลก้าวขึ้นอันดับ 1 ของโลก นาย Guy Dollé หัวหน้าผู้บริหารแห่งบริษัทอาร์เซลอร์ ได้พยากรณ์ว่าภายใน 10 ปี อุตสาหกรรมนี้จะมีผู้ผลิตรายใหญ่ 4 – 5 รายเท่านั้น โดยได้พยากรณ์ว่าบริษัทที่เหลืออยู่น่าจะเป็นบริษัทมิตตัลสตีล บริษัทอาร์เซลอร์ บริษัทเป่าสตีลของจีน บริษัทนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น และอีกรายน่าจะเป็นบริษัทพอสโกของเกาหลีใต้

แต่คำพยากรณ์ของเขาผิดพลาด โดยบริษัทอาร์เซลอร์ของตัวเขาเองได้กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป โดยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 บริษัทมิตตัลสตีลได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการบริษัทอาร์เซเลอร์ แบบไม่เป็นมิตร ในราคาสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 1/3 ซึ่งคิดเป็นเงินรวม 18,600 ล้านยูโร หรือประมาณ 22,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น

การขอเสนอซื้อกิจการครั้งนี้นับว่าแตกต่างจากกลยุทธ์เดิมเป็นอย่างมาก กล่าวคือ กลยุทธ์เดิมของบริษัทมิตตัลสตีลจะเน้นซื้อโรงงานที่ประสบปัญหาทางการเงินเป็นหลัก จากนั้นจะปรับปรุงกิจการแล้วติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น แต่กลยุทธ์ครั้งนี้กลับเป็นการซื้อกิจการของบริษัทที่มีฐานะการเงินค่อนข้างดีและมีเทคโนโลยีทันสมัย

ซึ่งการขอเสนอซื้อกิจการข้างต้นได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และเบลเยียม เพราะหวั่นเกรงผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน เนื่องจากบริษัทแห่งนี้จ้างแรงงานทั่วโลกรวม 94,000 คน โดยในจำนวนนี้ 77,000 คน เป็นการจ้างแรงงานในยุโรป และเป็นการจ้างแรงงานในฝรั่งเศสมากถึง 28,500 คน

ภายหลังได้ทราบข่าว คณะกรรมการของบริษัทอาร์เซลอร์ได้ประชุมด่วนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2549 และมีมติปฏิเสธข้อเสนอซื้อหุ้น โดยได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุผลการปฏิเสธข้างต้นว่าแม้ 2 บริษัท จะประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเหมือนกัน แต่แตกต่างกันมากทั้งในด้านวิสัยทัศน์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงค่านิยมขององค์กร

การจัดอันดับผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก

อันดับปี 2538ปี 2545ปี 2550
1นิปปอนสตีลอาร์เซลอร์อาร์เซลอร์มิตตัล
2พอสโกนิปปอนสตีลนิปปอนสตีล
3บริติสสตีลJFEพอสโก
4Usinor SacilorพอสโกJFE
5RivaLMNตาต้าสตีล
6Arbedเซี่ยงไฮ้เป่าสตีลเซี่ยงไฮ้เป่าสตีล
7NKKThyssenKruppUS Steel
8US SteelCorusNucor
9คาวาซากิสตีลRivaRiva
10ซูมิโตโมเมททัลUS SteelTechint


นาย Guy Dollé หัวหน้าผู้บริหารแห่งบริษัทอาร์เซลอร์ได้วิพากษ์วิจารณ์การขอเสนอซื้อกิจการครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ ไม่โปร่งใส และทำลายคุณค่าของผู้ถือหุ้นของบริษัทอาร์เซลอร์ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาบริษัทมิตตัลสตีลมีมาตรฐานในด้านธรรมาภิบาลอยู่ในระดับต่ำ หากให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันบริหารต่อไปแล้ว จะสร้างคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่า

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าบริษัทอาร์เซลอร์จัดเป็นผู้ผลิตเหล็กคุณภาพสูง อุปมาอุปไมยเหมือนกับเป็นการผลิตน้ำหอม (Eau de Parfum) ซึ่งเป็นสินค้ามีราคาแพง ได้ถูกเสนอซื้อโดยบริษัทมิตตัลสตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กคุณภาพต่ำ อุปมาอุปไมยเหมือนกับเป็นการผลิตโอดีโคโลญจน์ (eau de cologne) ที่มีราคาต่ำ

ขณะที่ประธานาธิบดีชีรัคของฝรั่งเศสได้กล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ว่าการพยายามครอบครองกิจการของบริษัทมิตตัลสตีล นับเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นปกติของธุรกิจทั่วไป ไม่ได้ให้คำอธิบายถึงเหตุผลการเสนอซื้อกิจการที่ชัดเจนโปร่งใส รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่บริษัทนอกทวีปยุโรปพยายามจะเข้ามาครอบครองบริษัทของทวีปยุโรป

นายมิตตัลได้พยายามหาช่องทางในด้านต่างๆ โดยได้ประชุมหารือกับนาย Thierry Breton รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส เพื่ออธิบายให้รัฐบาลฝรั่งเศสคลายความกังวลลงไป นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า

ประการแรก อธิบายให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบว่าความจริงแล้วบริษัทมิตตัลสตีลไม่ใช่บริษัทนอกยุโรปแต่อย่างใด แต่เป็นบริษัทของทวีปยุโรป

ประการที่สอง พฤติกรรมการเสนอซื้อกิจการข้างต้นของตนเองนับเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล และเป็นการดำเนินการที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของยุโรปแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ได้ส่งผลทำให้กลายเป็นบริษัทเหล็กของยุโรปที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ประการที่สาม ให้สัญญาว่าภายหลังควบรวมกิจการ จะย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทมาตั้งที่ประเทศลักเซมเบิร์กตามเดิม รวมถึงไม่มีการปิดโรงงานในยุโรปและปลดพนักงานออก

ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 บริษัทอาร์เซลอร์พยายามแสวงหาอัศวินม้าขาว เพื่อมาช่วยเหลือ โดยไปติดต่อบริษัท Severstal ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทมิตตัลสตีลได้เสนอราคาซื้อกิจการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 40% เป็น 26,500 ล้านยูโร หรือประมาณ 33,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ทำให้คณะกรรมการของบริษัทอาร์เซลอร์ตระหนักว่าคงไม่สามารถทัดทานผู้ถือหุ้นไม่ให้รับข้อเสนอได้ ดังนั้น จึงได้มีมติเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 เห็นชอบกับข้อเสนอซื้อกิจการของบริษัทมิตตัลสตีล

ภายหลังซื้อกิจการบริษัทอาร์เซลอร์แล้วเสร็จ บริษัทมิตตัลสตีลได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทอาร์เซลอร์มิตตัล โดยย้ายสถานที่จดทะเบียนบริษัทใหม่จากนครร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มาเป็นประเทศลักเซมเบอร์ก

จากการจัดอันดับล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2551 นายลักษมี มิตตัล ได้รับการจัดอันดับเป็นบุคคลที่ร่ำรวยมากที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยมีเงินประมาณ 1,700,000 ล้านบาท นับว่าครองอันดับ 1 เป็นเวลายาวนานถึง 4 ปี ติดต่อกัน

นายมิตตัล มีจุดแข็งสำคัญ คือ เป็นคนกล้าคิดกล้าตัดสินใจ โดยขณะที่บริษัทผลิตเหล็กของยุโรปหรือญี่ปุ่นตัดสินใจล่าช้าในการวางแผนเข้าไปซื้อกิจการโรงงานผลิตเหล็กในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียด แต่เขากลับสามารถตัดสินใจรวดเร็วมากในการเข้าไปซื้อกิจการเหล่านี้

สำหรับบุคลิกสำคัญของนายมิตตัล คือ ขยันขันแข็งในการทำงาน โดยไม่เล่นกอล์ฟอย่างที่นักธุรกิจทั่วไปนิยมเล่นแต่อย่างใด โดยทุกวันจันทร์เวลา 10.00 น. เขาจะเป็นประธานในการประชุมทางไกลจากห้องทำงานที่กรุงลอนดอนกับผู้บริหารโรงงานเหล็กในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ เขายังมีเครื่องบินส่วนตัวเพื่อใช้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยือนโรงงานและเจรจาธุรกิจ โดยแต่ละปีเขาเดินทางเป็นระยะทางมากถึง 560,000 กม.

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น