xs
xsm
sm
md
lg

"เจ๊เพ็ญ"เล็งแก้กฎหมายกทช. อ้างเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งของการสัมมนา "สื่อ...ความหวังของเด็ก เยาวชน และครอบครัว" ว่า ที่จัดให้มีการสัมมนาในครั้งนี้ เพราะมองปัญหาของสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคม โดยเฉพาะมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ทั้งปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่เท่าทันสื่อ ของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่กระแสสังคมตื่นตัวมากขึ้น ด้วยตระหนักถึงผลพวงที่นำไปสู่พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในวัยต่าง ๆ ในทางที่ไม่เหมาะสม และน่าห่วงใยเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้สื่อในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิทยาการในการส่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ปัญหาก็คือ รัฐวิ่งตามเทคโนโลยี และวิ่งตามไม่ทัน ผลที่เกิดขึ้น คือ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กทช.) พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายจักรภพ กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ออก แต่ออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว และออกโดย สนช. ซึ่งเชื่อว่าอาจจะไม่ครบองค์ประชุม คงต้องว่ากันทีหลัง เพียงแต่ประเด็นคือว่า วันนี้ยังเป็นกฎใหม่ที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลไม่มีหน้าที่ออกนอกกฎใหม่ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำตามกฎใหม่ทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วย กฎหมายฉบับนี้ไม่ยอมรับการมีอยู่ของสื่อใหม่ทั้งหมด ไม่ยอมรับว่าโลกนี้มีวิทยุชุมชน ,มีวิทยุดาวเทียม, มีเคเบิลท้องถิ่น
ฉะนั้นในทัศนะส่วนตัวของตนคิดว่า คนที่คิดกฎหมายกับคนคิดกรอบของรัฐธรรมนูญในตอนแรก กับคนที่คิดกฎหมายนี้ในตอนหลัง เป็นคนที่มองกันคนละโลกโดยสิ้นเชิง มีความแตกต่างกันจนแทบปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นในฐานะที่ตนดูแลงานนี้จะเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่ถ้ายกเลิกกฎหมายนี้จะง่ายกว่า แต่ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็จะแก้ไขกฎหมายนี้ โดยที่ทุกท่านต้องมาช่วยกันคิดว่า ของใหม่เราต้องการอะไร
"ผมยอมรับว่าแนวความคิดในการแก้ไข พ.ร.บ.กทช. มีอยู่จริง เพราะผมเห็นว่ากฎหมายนี้ยังไม่ยอมรับความมีจริงของสื่อหลายประเภท เช่น วิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่น ทั้งที่สื่อเหล่านี้มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ถ้ารัฐบาลรู้จักใช้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่มารับใช้รัฐบาลในทางการเมือง แต่มารับใช้ประเทศในเชิงเครือข่าย เพราะฉะนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้ยังล้าหลัง ไม่ทันโลกเราต้องปรับให้ทันสมัย เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยสนช. เป็นสภาเผด็จการที่ผมไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาเมื่อมีความบกพร่องในตัวเอง ก็ยิ่งจะต้องนำเอาสองเหตุมาผสมกันเพื่อการแก้ไข อันดับแรกจะดูว่ากฎหมายนี้มีปัญหากับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกหรือไม่ นั่นคือไม่ครบองค์ประชุมสนช. ถ้ามีปัญหานั้นก็แก้ง่ายด้วยการมานั่งร่างกฎหมายใหม่ แต่ถ้าบังคับใช้สมบูรณ์ ก็จะมาพูดในเรื่องของการแก้กฎหมาย" นาย จักรภพ กล่าว
เมื่อถามว่า มีการวางรูปแบบในการปรับแก้กฎหมายนี้อย่างไร นายจักรภพ กล่าวว่า ยังไม่ได้วางรูปแบบ เพราะการจะปรับแก้กฎหมายระดับนี้ต้องระดมสมองระดับชาติ เพียงความคิดของตนคนเดียว หรือกลุ่มเล็ก ๆ เพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ เพียงแต่ตั้งประเด็นไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ครบสมบูรณ์ แต่เราจะต้องปรึกษาคนอื่นว่ามีอะไรที่ต้องใส่ให้ครบสมบูรณ์ ซึ่งตนรู้เพียงบางส่วนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการแก้ไขก็ต้องดูการแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จเสียก่อน เพราะหากรัฐธรรมนูญแก้เรียบร้อย และมีความสมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น