xs
xsm
sm
md
lg

การฟื้นฟูบูรณะประเทศ หลังวิกฤตการณ์รุนแรง (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประเวศ วะสี

ในประเทศใดประเทศหนึ่งเมื่อมีความเครียดในระบบสูงถึงขนาดก็จะระเบิดออกไปเป็นความรุนแรง เช่น เกิดจลาจล เกิดสงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ หรือเกิดการปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในสหรัฐอเมริกา หรือสงครามโลก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงครามกลับเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการแพ้สงครามเป็นโอกาสที่ชะล้างของเก่าๆ ที่ไม่ถูกต้องซึ่งสะสมอยู่ในระบบจนนำไปสู่ความเครียดและการแพ้สงคราม

ประเทศไทยสะสมความเครียดในระบบไว้สูง อาจระเบิดไปสู่ความรุนแรงในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งถ้าถอดชนวนระเบิดออกได้ทันก็ดี แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องคิดว่าจะชะล้างความไม่ถูกต้องอันสะสมอยู่ในระบบและฟื้นฟูบูรณะประเทศได้อย่างไร ภายหลังความรุนแรงควรมีกลุ่มและเครือข่ายศึกษาการฟื้นฟูบูรณะประเทศอย่างจริงจัง
๑.
ชนวนความรุนแรง


ขณะนี้คนไทยแบ่งขั้วอย่างเข้มระหว่างฝ่ายรักทักษิณกับฝ่ายเกลียดทักษิณอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างเห็นและยึดถือในความเห็นข้างของตนๆ

ฝ่ายรักทักษิณ เห็นว่าทักษิณเป็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถสูง เห็นใจคนจน มีศักยภาพในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศได้ จะพาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญ

ฝ่ายเกลียดทักษิณ เห็นว่าทักษิณขาดความสุจริต เชื่อถือไม่ได้ ขาดสัมมาวาจา ชอบพูดให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง ถือเงินเป็นใหญ่ จะพาบ้านเมืองไปสู่ความล่มจม

นั่นเป็นคร่าวๆ ที่เห็นต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ละฝ่ายอาจเพิ่มเติมคุณลักษณะ หรือโทษลักษณะ ตามที่ฝ่ายของตนเห็นได้มากกว่าเท่าที่เขียนข้างบน

เมื่อมีประเด็นการกระทำผิดกฎหมายของคุณทักษิณและพวก ก็เกิดความแตกแยกในความซับซ้อน ผู้ถือหลักนิติธรรมก็ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ฝ่ายคุณทักษิณก็ว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมต้องแก้กฎหมาย คือแก้รัฐธรรมนูญ อีกฝ่ายก็ว่าถ้าว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรม รัฐบาลนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งย่อมขาดความชอบธรรมไปด้วย ถ้าคนทำผิดทำไมไม่แก้ที่คนมาแก้หลักการทำไม...ฯลฯ

รัฐบาลคงใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแก้รัฐธรรมนูญ หรือเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับได้สำเร็จ แต่ปัญหามันไม่จบแค่นั้นแต่อาจเป็นการก่อเวรต่อไป เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและเคลื่อนไหวต่อต้าน

จริงๆ แล้วความขัดแย้งมีความซับซ้อนกว่าเท่าที่กล่าว แต่ก็พอจะให้เห็นความซับซ้อนของความขัดแย้งที่ยากจะหาทางออกด้วยสันติวิธี ความเครียดในระบบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจนำไปสู่ความรุนแรง

ที่เราไม่สามารถคลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพราะเหตุหลายประการ เช่น

(๑) สังคมไทยมีวิธีคิดแบบแยกข้างแยกขั้วตายตัว ขาดความคิดเชิงวิจารณญาณด้วยเหตุผล ในระยะหลังมีผู้นำที่นำการคิดแบบแยกข้างแยกขั้วให้แรงขึ้นอีก การคิดแบบนี้ทำให้ขาดปัญญาญาณ ไม่สามารถแก้ความรุนแรงด้วยสันติวิธี

(๒) สังคมไทยขาดความสนใจและทักษะในการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถึงจะมีความพยายามกันอยู่บ้างก็ไม่ทันการ

(๓) ขาดผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่เหมือนอังกฤษซึ่งมีลอร์ดนั่นลอร์ดนี่ที่ผู้คนเชื่อถือ เข้ามาช่วยหาทางออกเมื่อบ้านเมืองถึงทางตัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในระบบศักดินาของเราที่ดำรงอยู่เป็นร้อยๆ ปีมีกลไกที่จะป้องกันหรือทำลายคนที่จะมีบารมีในสังคม เพราะกลัวจะกระทบพระราชอำนาจ บวกกับความคิดแบบแยกข้างแยกขั้วตามที่กล่าวถึงในข้อ (๑) รวมถึงการสื่อสารในลักษณะแยกข้างตายตัวทำให้ไม่เหลือใครในสังคมที่จะช่วยหาทางออกให้บ้านเมืองเมื่อถึงทางตัน

แม้เพราะเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงหลีกเหลี่ยงความรุนแรงไปได้ยาก

๒.
การป้องกันความรุนแรงเฉพาะหน้า


เมื่อก่อนเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมคิดว่าเมื่อพรรคพลังประชาชนชนะและจัดตั้งรัฐบาลจะพยายามสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เพราะธรรมดารัฐบาลใดๆ ย่อมต้องการความสำเร็จ การณ์กลับตรงข้าม ตามที่สื่อมวลชนกล่าวถึงรับบาลนี้ว่ามี “สายล่อฟ้า” อยู่หลายคน ความตึงเครียดจึงก่อตัวขึ้นโดยรวดเร็วผิดธรรมดา

สิ่งที่อาจป้องกันความรุนแรงเฉพาะหน้าได้คือ สังคม สื่อมวลชน และวงวิชาการ ต้องเข้ามาเรียกร้องกำกับดูแลให้ความขัดแย้งเป็นไปด้วยสันติวิธีอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ใช้หลักฐานข้อเท็จจริงและเหตุผล ไม่ใช้ความถ่อย ก้าวร้าว และความไม่จริง

ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันควรจะเอาชนะใจสาธารณะด้วยการใช้ความจริงใจ ความมีเหตุผล สันติวิธี อยู่ในกรอบของกฎหมาย ประกอบด้วยความสุภาพ และอหิงสธรรม

นี้คือวิถีของคนที่เจริญ หรือวิถีอาริยะ ไม่ใช่ใช้ความป่าเถื่อน กักขฬะ อนาริยะ ประชาธิปไตยต้องเป็นวิถีอาริยะ ถ้าสังคมช่วยกันเรียกร้องกำกับดูแลให้ความขัดแย้งดำเนินไปตามวิถีอาริยะ ประชาธิปไตยก็จะก้าวหน้าไปสู่ความลงตัวที่สันติประชาธรรมได้

แม้วิถีอาริยะดังกล่าวอาจป้องกันความรุนแรงได้ แต่ก็อาจจะเกิดไม่ทันและบ้านเมืองหลุดเข้าไปสู่ความรุนแรง จึงต้องคิดกันต่อไปว่าภายหลังความรุนแรงจะฟื้นฟูบูรณะบ้านเมืองกันอย่างไร

๓.
การฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังความรุนแรง

กลุ่มต่างๆ ควรจะรีบเตรียมตัวกันเสียแต่บัดนี้ว่าภายหลังความรุนแรงจะฟื้นฟูบูรณะประเทศกันอย่างไร เป็นธรรมดาที่ภายหลังความรุนแรงทุกฝ่ายจะเข้ามาตกลงกันง่ายขึ้นว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร จะมีกรอบ กติกา และกลไกใหม่อย่างไร เราไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้ เพราะสภาวะเดิมนั่นแหละที่ทำให้เกิดความเครียดในระบบจนระเบิดเป็นความรุนแรง เราต้องไปสู่สภาวะใหม่ที่ลงตัว การจะไปสู่สภาวะใหม่ที่ลงตัวควรพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

(๑) การรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลางที่ทำมาแต่ ร.๕ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การรวมศูนย์อำนาจและวัฒนธรรมมาไว้ที่ราชการส่วนกลางที่ทำมาแต่ ร.๕ ทำให้เกิดความเครียดในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสังคมเติบโตหลากหลายเชื่อมโยงและซับซ้อนขึ้น ปัญหาความรุนแรงที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น อำนาจรวมศูนย์ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอแก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันกลไกของรัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ประเทศทั้งประเทศสะสมปัญหาต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อำนาจรัฐรวมศูนย์นี้คือรัฐเผด็จการ การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมที่จะทำให้ผู้ชนะมาสวมอำนาจรัฐเผด็จการ นักเลือกตั้งจึงยอมลงทุนเต็มที่ที่จะเข้ามาสวมใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์แบบผู้ชนะกินรวบ อำนาจรวมศูนย์เชื้อเชิญให้เกิดทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง เป็นบ่อเกิดของการได้นักการเมืองที่ขาดคุณภาพและคุณธรรม เป็นต้นตอของวิกฤตการณ์ทางการเมืองซ้ำซาก

หลังวิกฤตการณ์รุนแรงคราวนี้ทุกฝ่ายควรร่วมกันเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองแบบกระจุกอำนาจไปสู่การกระจายอำนาจในรูปต่างๆ มากที่สุด ประชาธิปไตยที่แท้ต้องมีการกระจายอำนาจไปทั่วองคาพยพของสังคม ข้าราชบริพารและสังคมควรต้องตระหนักว่าการรวมศูนย์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และอันตรายต่อสถาบันเองด้วย ควรจะเอื้ออำนวยการกระจายอำนาจและศักดิ์ศรีออกไปให้ทั่วสังคม

(๒) กระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง ชุมชนท้องถิ่นควรจะมีอิสระในการคิดเองทำเองให้มากที่สุด โดยภาคอื่นๆ เช่น ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ส่งเสริมสนับสนุน ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจะแก้ปัญหาต่างๆ ไปได้เกือบหมด เช่น ความยากจน การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ วัฒนธรรม ความยุติธรรมชุมชน และเป็นประชาธิปไตยที่ฐานของสังคมอันจะทำให้ประชาธิปไตยระดับชาติมีคุณภาพขึ้น เมื่อมีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง การปฏิวัติรัฐประหารก็ทำไม่ได้ และการเมืองระดับชาติที่ขาดคุณภาพก็ทำร้ายประเทศไม่ได้มาก อย่างในประเทศอินเดียและมาเลเซียซึ่งมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแล้ว จะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเลย

(๓) ประชาสังคมและการเมืองภาคพลเมือง สังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง สังคมแบบนี้เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี และไม่มีทางดีตราบใดที่ยังเป็นสังคมแนวดิ่ง ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นสังคมแนวราบ ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน สามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยภราดรภาพ สังคมที่มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความเสมอภาคเต็มไปหมดเรียกว่ามีความเป็นประชาสังคม (Civil Society) ต่อเมื่อมีความเป็นประชาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม จึงจะดี

ต้องส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการเมืองภาคพลเมือง ประชาชนจะต้องเปลี่ยนสภาพจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหมอบราบคาบแก้วไปเป็นพลเมือง (Citizen) ที่มีศักดิ์ศรี มีเกียติ มีอิสระ มีความรู้ มีส่วนร่วมในกิจการส่วนรวม

การเมืองภาคพลเมืองหมายถึงพลเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในการวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนา และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ การเมืองภาคพลเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำให้การเมืองมีคุณภาพ ต้องสร้างความเข้าใจว่าการเมืองภาคพลเมืองเป็นความถูกต้องและถูกกฎหมายที่ทุกฝ่ายควรส่งเสริมสนับสนุน ประชาสังคมและการเมืองภาคพลเมืองคือสาระของประชาธิปไตย ในขณะที่การเลือกตั้งคือรูปแบบ การเมืองภาคพลเมืองไม่ใช่พรรคการเมือง พรรคการเมืองแสวงอำนาจ แต่การเมืองภาคพลเมืองแสวงความถูกต้อง ระบบการศึกษาทั้งหมดและการสื่อสารควรเข้ามาเสริมสร้างความเป็นพลเมืองและการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดเร็วที่สุด ภาคธุรกิจก็เช่นเดียวกัน

ติดตามตอนที่ 2 : การฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังความรุนแรง (ต่อ).-
กำลังโหลดความคิดเห็น