xs
xsm
sm
md
lg

โยน ครม.ผ่าทางตันศูนย์สิริกิติ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการคาดหวังเปิดประมูลที่ราชพัสดุบริเวณศูนย์สิริกิติ์ต้องโปร่งใส ประเทศชาติได้รับประโยชน์ การใช้ที่ดินต้องคุ้มค่า ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แนะควรยกระดับเป็นศูนย์กลางเอ็กซิบิชั่นระดับโลก เชื่อมสินค้าเกษตรของไทยสู่ตลาดโลก ด้าน กทม.ระบุเป็นการยากเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติควบคุมอาคาร ระบุธนารักษ์ต้องมีเหตุผลที่ดี

กรมธนารักษ์ สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีที่ดินราชพัสดุกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งบางแปลงได้มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้สิทธิในการบริหารที่ราชพัสดุ เช่น ร้อยชักสาม ที่บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่งดำเนินการ ที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิม ที่มีแผนจะสานต่อโครงการในรูปแบบคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า ที่ทางกรมฯ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ขณะที่ ที่ราชพัสดุบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมถึงบริเวณในโรงงานยาสูบ เป็นที่ดินผืนใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ (ซีบีดี) ที่แวดล้อมด้วยโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก เนื่องจากประชาชนที่สัญจรมาบริเวณนี้ใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินถึง 70% ล่าสุดทางกรมธนารักษ์ ได้ข้อสรุปในแผนพัฒนา (มาสเตอร์แพลน) โดยเตรียมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในมาสเตอร์แพลนและเปิดประมูลสัมปทานใหม่

รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเคหะการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจุบันศูนย์แสดงสินค้าของไทยมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ยังเป็นการรองรับปริมาณงานในประเทศ เช่น อิมแพ็คเมืองทองธานีของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์ไบเทคบางนา รวมถึงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ดังนั้น หากรัฐบาลโดยกรมธนารักษ์ จะมีการเปิดประมูลสัมปานที่ราชพัสดุบริเวณศูนย์การประชุมสิริกิติ์ใหม่ ก็ควรยกระดับให้กลายเป็นศูนย์กลางเอ็กซิบิชั่นระดับโลก เพื่อส่งเสริมให้กลายเป็นช่องทางการจำหน่าย (เอ้าต์เล็ต) ของสินค้าไทยไปสู่ผู้ซื้อในตลาดโลก ขณะเดียวกันยังสามารถเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรของไทยในกรุงเทพฯ ได้อีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ คือ เรื่องของความโปร่งใส ประเทศชาติต้องได้รับประโยชน์ ต้องใช้ที่ดินให้คุ้มค่า เพราะเป็นที่ดินผืนใหญ่ อยู่ใกล้แหล่งสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ดังนั้น ในประเด็นเรื่องข้อกำหนดของผังเมืองห้ามก่อสร้างอาคารสูง 23 เมตร นั้น เพราะมีวิธีแก้ เช่น ปลูกต้นไม้บนอาคาร หรือ ต้นไม้ใต้อาคาร ก็ได้ ซึ่งเรื่องของกฎหมายก็ว่ากันไป เพียงแต่เราต้องปรับกฎหมายให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ถูกต้องตามกระบวนการและการเปลี่ยนไปของสังคม" รศ.มานพกล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหารบริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้รับคำตอบเพียงว่า "ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลต่างๆให้ชัดเจนก่อน"

แหล่งข่าว กทม.กล่าวว่า กทม.ต้องยึดข้อบัญญัติที่ได้ประกาศการควบคุมการก่อสร้างอาคารในบริเวณสวนเบญจกิติ แต่หากทางหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เช่น กรมธนารักษ์จะทำการเปิดประมูลที่ราชพัสดุบริเวณสวนเบญจกิตินั้น ก็คงต้องมาหารือกัน เนื่องจากจุดประสงค์หลักที่กทม.ออกข้อบัญญัติควบคุมอาคารในบริเวณนี้ ก็เพื่อต้องการดูแลและควบคุมการพัฒนาของเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนดำเนินการ โดยไม่มีการควบคุมจนบ้านเมืองไม่มีความเป็นเรียบร้อย

"เราต้องดูเหตุผลของทางกรมธนารักษ์จะมีน้ำหนักแค่ไหน หากจะปรับเปลี่ยนข้อบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง แต่เรื่องนี้คงต้องเป็นระดับนโยบาย นั้นหมายถึงต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งหากเป็นกรมธนารักษ์เข้ามาดำเนินการเองอาจจะมีปัญหาไม่มากเท่ากับให้เอกชนเข้ามา ซึ่งเอกชนต้องปฎิบัติตามข้อบัญญัติ ปฎิบัติให้ถูกต้องตามเรื่องสิ่งแวดล้อม"แหล่งข่าว กล่าว

อนึ่ง สำหรับมาสเตอร์แพลนที่ทางกรมธนารักษ์จะขยายการลงทุนในศูนย์ประชุมฯนั้น จะมีมูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่เป็น 99 ไร่ จากเดิม 53 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 โซน โซน 1 ศูนย์ประชุมและห้องจัดงานเลี้ยง นิทรรศการ และแสดงสินค้า มีพื้นที่ใช้สอย 105,502 ตารางเมตร (ตร.ม.) จากเดิม 65,502 ตร.ม.มีพื้นที่จอดรถใต้อาคาร 78,000 ตร.ม.หรือจอดรถได้ 2,246 คัน
กำลังโหลดความคิดเห็น