xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ปรับแผนปลุกนิคมฯพิจิตร - ปั้น “ซายน์ปาร์ค” หนุนนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - “กนอ.” ปรับแผนปลุกนิคมฯ พิจิตรเป็น “ซายน์ปาร์ค” หนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าใช้พื้นที่ หลังสร้างมานานนับสิบปี แต่มีการลงทุนแค่ไม่กี่ราย ผู้ว่าฯ ยัน 2 นิคมฯบนที่ราชพัสดุทั้ง “พิจิตร-ขอนแก่น” ไม่ได้เลวร้าย แม้ยังร้างอยู่ทุกวันนี้ก็ตาม

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (26 มี.ค.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) : เชื่อมโยงเพิ่มพูนศักยภาพการลงทุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยมี นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผู้ว่าราชกาจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเปิดงาน มีผู้ร่วมงานประมาณ 200 คน

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยว่า นิคมฯพิจิตรได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ขึ้นในนิคมฯ ภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เป็นจุดดึงดูดผู้ประกอบการให้สนใจลงทุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากมีแนวคิดใหม่ก็สามารถใช้พื้นที่ในการลงทุนเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยนเรศวร จุดประกายให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา

แต่ผู้ประกอบการต้องทำการตลาด กนอ.จะช่วยเป็นฐานการผลิตทางนวัตกรรม แต่ค่าเช่ายังเป็นเงื่อนไขของ กนอ. คือ ค่าเช่าเบื้องต้นคงอัตราปกติ 41,500 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ในระหว่างก่อสร้างโรงงานอาจต่อรองไม่เก็บค่าเช่า ยอมให้อยู่ฟรีในช่วงแรก ส่วนค่าเช่าต่อไปนั้นจะต้องดูเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันโรงงานที่ตั้งอยู่มีอยู่ คือ บริษัทอินเว (ประเทศไทย) จำกัด และอีก 2 รายคือ โรงงานชิปของบริษัทอินโนเวทีฟฯ กำลังรอการจัดตั้งศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวก แต่คาดว่า น่าจะไม่มีปัญญา ส่วนบริษัทผลิตรองเท้ากำลังก่อสร้างโรงงานอยู่ คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเปิดดำเนินการได้

นางมณฑา กล่าวว่า นิคมฯ ทั้งประเทศมีอยู่ 38 แห่ง นิคมฯพิจิตร ไม่ใช่นิคมฯที่แย่ ไม่มีผู้ประกอบการอยู่ ยังมีนิคมฯ ที่จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นลักษณะเดียวกัน ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้าไปใช้พื้นที่ ซึ่งพื้นที่นิคมฯ ทั้งสองต้องขอเช่าที่จากกรมธนารักษ์แทนการซื้อที่ดิน และคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า เป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตาม

“ที่จริงคิดว่ากรณีค่าเช่าที่ดินไม่ใช่ประเด็นหลัก ปัญหาที่ไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในนิคมฯทั้ง 2 แห่งนี้ น่าจะเป็นเพราะไม่มีผู้ประกอบการ เพราะนิคมฯทางภาคตะวันออกนักลงทุนก็ยังแย่งกันเช่าพื้นที่กันอยู่”

ดังนั้น กนอ.จะไม่เน้นปริมาณโรงงานที่เข้ามาอยู่นิคมฯพิจิตร แต่จะส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะแบ่งพื้นที่ 100 ตารางเมตรไว้ 3 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าใช้พื้นที่ สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย สามารถผลิตและกระจายสินค้าในอนาคต

อนึ่ง การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) นั้น เป็นการสนับสนุนเป้าหมายของ กนอ.ที่มีนโยบายให้นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เป็นศูนย์กลาง-ฐานการผลิตของ Science Based Technology Industry


เป็นความร่วมมือระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ตามโครงการสร้างเครือข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เพื่อจะนำไปสู่การมีผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดพิจิตร และของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง

โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2549 ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) ความคืบหน้าของโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบของมหาวิทยาลัยนเรศวร

กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยนเรศวรใช้พื้นที่ 137 ไร่ ใช้พื้นที่ในนิคมฯพิจิตร จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ประสานงาน กับผู้ประกอบการโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแบบครบวงจร เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งได้จากการวิจัยมาใช้ในการประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และภูมิปัญญาในท้องถิ่น ระยะเวลาในการจัดตั้งประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2554

ในเบื้องต้นได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เป็นการชั่วคราวก่อน โดยศูนย์ดังกล่าวได้จัดแสดง และจำหน่ายผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้นักลงทุน ที่สนใจนำไปลงทุนเพื่อประกอบอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น