xs
xsm
sm
md
lg

มน.ลุยโปรเจกต์ผลิตดีเซลจากสบู่ดำ - ดึง อบต.เหนือล่างหนุน-ขยายพื้นที่ปลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - คณะวิทย์ฯม.นเรศวร เปิดโครงการนำร่องจับมือกับภาคเอกชนปลูกสบู่ดำ สกัดเป็นน้ำมันจากสบู่ดำใช้โดยตรงกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ พร้อมแปลงสภาพเป็นไบโอดีเซล ล่าสุดเตรียมส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกไปหลาย อบต.แถบเหนือตอนล่าง เป้าหมายแรกให้ชาวบ้านหีบน้ำมันสบู่ดำไว้ใช้เอง แต่ยอมรับในเชิงเศรษฐกิจยังไม่สดใส

ผศ.วิจิตร อุดอ้าย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและไบโอดีเซลจากสบู่ดำ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษากระบวนการผลิตน้ำมันจากสบู่ดำครบวงจร โดยจับมือกับภาคเอกชน และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนต่อยอดกระบวนการว่า เป้าหมายแรกต้องการให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกสบู่ดำบนพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อนำผลผลิตเมล็ดสบู่ดำ สกัดไปเป็นนำมันใช้โดยตรงได้ทันทีที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ อาทิ เครื่องคูโบต้าไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผสมกับน้ำมันชนิดอื่นหรือผสมกับดีเซลก็ได้ เท่ากับว่าเป็นการพึ่งพาตนเอง เมื่อมีปริมาณมากพอก็จะเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซล โดยผ่านกระบวนการเอสเทอริฟิช จะได้น้ำมันที่มีความหนืดต่ำเทียบกับดีเซล ซึ่งสามารถใช้กับเครื่องยนต์รอบสูง เรียกว่า ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันดิบลดการนำเข้าดีเซลจากต่างประเทศ

งานวิจัยครั้งนี้ เริ่มจากศึกษาสายพันธุ์สบู่ดำเมื่อ 4 ปีก่อน กระทั่งพบว่า เมล็ดพันธุ์สบู่ดำ สายพันธุ์ ม.เกษตรกำแพงแสน จ.นครปฐม มีความเหมาะสม ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ปลูกแถบจังหวัดชัยนาท-เพชรบูรณ์ ส่วนสายพันธุ์อื่นให้ผลผลิตน้ำมันน้อย กระทั่งได้รับความร่วมมือจากนายธงไทย เหลืองวิชชเจริญ นักธุรกิจเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก ที่สนใจปลูกสบู่ดำ จึงดึงเข้าโครงการนำร่อง ได้เพาะปลูกแปลงสบู่ดำ 8 ไร่เศษ ที่บ้านคลองเตย ต.พันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และกำลังขยายการปลูกสบู่ดำสู่เกษตรกร

โดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์สบู่ดำจากแปลงนำร่องไปยังเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลกโดยเฉพาะ อบต.พันเสา และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ปีนี้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกตามพื้นที่เป้าหมาย 200ไร่ ประเมินได้ว่าจะได้ผลผลิตสบู่ดำออกมาจำนวน 100,000 กิโลกรัมต่อปี และสกัดเป็นน้ำมันจากสบู่ดำประมาณ 30,000 ลิตรต่อปี

ทั้งนี้ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สบู่ดำได้จากแปลงทดสอบจำนวน 3 กิโลกรัม สามารถสกัดเป็นน้ำมัน 1 ลิตร กรณีใช้สารเคมีในกระบวนการสกัด (โดยออกแบบเครื่องจักรสกัดราคาประมาณ7 หมื่นบาท) และเมล็ดพันธุ์สบู่ดำ 4 กิโลกรัม สกัดเป็นน้ำมัน 1 ลิตร กรณีเกษตรกรสกัดน้ำมันด้วยเครื่องจักรง่ายๆ (ราคาหมื่นบาทเศษ)

หัวหน้าคณะวิจัย ระบุอีกว่า ขั้นตอนต่อไปจะเปิดความร่วมมือตามโครงการความร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นกับคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตพืชพลังงานจากสบู่ดำ ในพื้นที่ อบต.บ้านแยง อ.นครไทย พิษณุโลก, อบต.นายาง อ.พิชัย ,อบต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์, อบต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก เป็นต้น

นายธงไทย เหลืองวิชชเจริญ นักธุรกิจเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมมือกับคณะวิทย์ ม.นเรศวร ทดลองปลูกสบู่ดำบนเนื้อที่ 8 ไร่ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 40,000 บาท หรือลงทุน 3,000-4,000บาทต่อไร่ นำเมล็ดสบู่ดำมาอนุบาลเพาะในถุงและปลูกในที่ดินน้ำไม่ท่วม ระยะห่าง 2.5 คูณ 2.5 เมตร (เฉลี่ย 200 ต้นต่อไร่) หลังจากรดน้ำบำรุงต้นสบู่ดำบนแปลงทดลองประมาณ 8 เดือนเศษ ต้นสบู่ดำจะให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สบู่ดำจำนวน 2.5 กิโลกรัมต่อต้นในปีแรก และให้ผลผลิตในปีที่ 2 จำนวน 5 กิโลกรัมต่อต้น อีกทั้งต้นสบู่ดำยังมีอายุยืนยาว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต 15-20 ปี

อย่างไรก็ตาม กรณีการปลูกสบู่ดำเชิงเศรษฐกิจ ยังไม่ค่อยมีใครจริงจังและ เป็นที่นิยมมากนัก จำเป็นต้องกระจายพื้นที่สู่เกษตรกรก่อนและหาก อบต.ใด มีพื้นที่ปลูกสบู่ดำปริมาณมากพอ ก็ขอความร่วมมือจากองค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือกับคณะวิทย์ ม.นเรศวร ให้จัดหาเครื่องหีน้ำมันสบู่ดำไว้สกัดน้ำมันสบู่ดำไปใช้ในด้านการเกษตรไว้ในเองในหมู่บ้าน เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ และหากผลิตผลิตเมล็ดสบู่ดำมากพอยังสามารถจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทาง ราคาเมล็ดสบู่ดำซื้อขาย 5-7 บาทต่อกิโลกรัม หากเกษตรกรสนใจ สามารถติดต่อของเมล็ดพันธุ์สบู่ดำจากคณะวิทย์ฯเพื่อขยายพื้นที่ปลูก




กำลังโหลดความคิดเห็น