xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเข้าชื่อเตือน “หมัก” ทบทวนย้าย ขรก.- จับตา พ.ค.เดือด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ สุดทน ส่งจดหมายเปิดผนึก เตือน “หมัก” ทบทวนท่าทีโยกย้ายราชการ แทรกแซงสื่อ ชี้ ทำประชาธิปไตยตกต่ำไร้ความชอบธรรม แนะจับตาเดือน พ.ค.การเมืองรุนแรง

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีวิชาการ “หนี่งเดือนประเด็นร้อน : การเมืองกับข้าราชการ สื่อมวลชน” โดย ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ และ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ก่อนการอภิปราย นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แถลงถึงการทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ สื่อมวลชน และประชาชนชาวไทย

โดยในจดหมายระบุว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ มีจุดประสงค์ที่จะแสดงความห่วงใยของคณาจารย์ผู้สอนหนังสือทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งได้ลงชื่อรวมกันไว้ท้ายจดหมายนี้ ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลต่อข้าราชการพนักงานของรัฐ และสื่อมวลชน ซึ่งมีโอกาสที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อรัฐบาลและการปกครองแบบประชาธิปไตยได้

การโยกย้ายข้าราชการในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา ทำให้ข้าราชการขาดความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม (Merit System) ส่งสัญญาณว่า ข้าราชการต้องวิ่งเข้าหา ยอมเป็นพวก สนองนโยบายของฝ่ายการเมือง โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม หลักวิชาชีพ และผลประโยชน์ของสาธารณชน ซึ่งหากข้าราชการเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางนี้จริง ก็จะส่งผลให้เกิดระบบราชการแบบเล่นพรรคเล่นพวก อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ และไม่สามารถดำรงรักษาหลักแห่งวิชาชีพของข้าราชการเอาไว้ได้

พร้อมกันนั้น ในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงท่าทีกดดันสื่อมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มการเมืองในฝั่งรัฐบาล ทำให้สื่อมวลชนเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง และขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายก็จะลดหรือละเลยบทบาทการตรวจสอบรัฐบาล และการเป็นกระจกสะท้อนความคิดความต้องการของสาธารณชนลงไป และให้ความสำคัญกับการทำสื่อ เพื่อเอาตัวรอดทางธุรกิจเป็นหลัก สังคมประชาธิปไตยไทยอาจจะเดินเข้าสู่ความตกต่ำและเกิดวิกฤตศรัทธาและความชอบธรรมทางการเมืองได้

ในจดหมายระบุอีกว่า สาธารณชนย่อมมีความคาดหวังต่อรัฐบาลประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลเผด็จการ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตย ก็มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้สาธารณชน ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และสื่อมวลชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าจะสามารถทำหน้าที่ในทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับรัฐบาลได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยึดหลักวิชาการและวิชาชีพของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ได้มากกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่ารัฐบาลเผด็จการ

คณาจารย์ที่มีรายชื่อท้ายจดหมายนี้ จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนท่าทีที่ผ่านมา และขอให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในกลุ่มสื่อมวลชน ข้าราชการ และสาธารณชนทั่วไปโดยเร็ว พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของมหาชนส่วนใหญ่ได้ใช้เวลา และกำลังสติปัญญาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุดของประชาชนอย่างเป็นอิสระจากอำนาจอิทธิพลใดๆ

พร้อมกันนั้น คณาจารย์ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนได้ยึดมั่นในปณิธานและหลักการแห่งวิชาชีพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติและความเกรงกลัวใดๆ และขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ และพนักงานของรัฐในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการบนพื้นฐานของหลักวิชาชีพและผลประโยชน์ของสาธารณชน โดยไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจใดๆ

ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียกร้องให้สาธารณชนได้ช่วยกันติดตามท่าทีของรัฐบาล ข้าราชการ สื่อมวลชน และพรรคการเมืองต่างๆ และร่วมกันส่งเสริมสร้างสรรค์วัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ร่วมกันป้องกันและขจัดท่าทีเผด็จการ อันจะนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นได้

ทั้งนี้ คณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในครั้งนี้มาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในเบื้องต้นประมาณ 25 สถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น โดยมีรายชื่อนักวิชาการในเบื้องต้น คือ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.สิริพรรณ นกสวน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.วัชรพล ศุภจักรวัฒนา สาขาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.ดร.โกสุมภ์ สายจันทร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.รัชตะ พันธ์แสง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นายจรัส กล่าวว่า รัฐบาลกำลังทำให้สังคมไทยถูกปกคลุมด้วยความกลัว และรู้สึกกดดัน เพราะรัฐบาลได้เลือกวิธีการปกครองด้วยการทำให้ประชาชนรู้สึกกลัว เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ซึ่งการปกครองแบบนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองแบบระบบทาส หรือระบบเผด็จการ แบบฮิตเลอร์

นายศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กล่าวว่า การปกครองที่เป็นอยู่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นเพียงข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจเท่านั้น เพราะเบื้องหลังมีการขายเสียงอย่างเป็นระบบ หากปล่อยไว้แบบนี้จะทำให้การเมืองไทยตกเข้าสู่วงจรที่เลวร้าย และสุดท้ายอาจจะไปไม่รอด

“สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดเผชิญหน้ากันมากกว่าเดิม เพราะการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะถูกแรงตอบโต้หนักมากขึ้น เพราะฝั่งตรงข้ามมีอำนาจและทรัพยากรที่มากกว่า โดยโหรหลายสถาบันเห็นตรงกันว่าเดือน พ.ค.นี้อาจจะเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่รุนแรงเกิดขึ้นก็ได้” นายศรีราชา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น