xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” ดันเฟส 2 สุวรรณภูมิ 7.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมัคร” ไฟเขียวแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 7.3 หมื่นล้าน อ้างเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานฯ ฝันไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สั่ง ทอท.จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ ครม. 29 เม.ย. คาดกู้หลายแหล่งรวมทั้งออกพันธบัตร พร้อมเร่งแอร์พอร์ตลิ้งเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว-แดง

วานนี้ (21 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศและท่าอากาศยาน ครั้งที่ 1/2551 โดยมีนายสหัส บัณฑิตสกุล รองนายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม และหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าร่วมประชุม

พล.ต.ท.ดร.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการและงบประมาณ วงเงิน 73,739.47 ล้านบาท งบประมาณปี 2554-2558 (งบ 5 ปี) สำหรับเงินลงทุนแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานฯ โดยก่อสร้างและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างเพียงพอกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Hub) ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ ทอท.จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 เม.ย.51 นี้ ส่วนงบประมาณ 73,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่า ทอท.จะสามารถจัดหาได้ทั้งจากการออกพันธบัตรรวมทั้งแหล่งเงินกู้ต่าง ๆได้

โดยมีแผนการดำเนินงานประกอบด้วยโครงการหลัก 10 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (PMC) วงเงิน 810 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 วงเงิน 3,746.87 ล้านบาท 3) โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 วงเงิน 27,864.65 ล้านบาท 4) โครงการก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมทางขับเข้าสู่ลานจอดอากาศยาน วงเงิน 4,907.34 ล้านบาท

5) โครงการออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ เพื่อเป็นทางเชื่อมระบบขนส่งผู้โดยสารระบบลำเลียงกระเป๋า สัมภาระ และระบบสาธารณูปโภค ระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารเทียบเครื่องบินรอง วงเงิน 4,930.81 ล้านบาท 6) โครงการออกแบบและติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) วงเงิน3,042.25 ล้านบาท 7) โครงการออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก วงเงิน 6,780 ล้านบาท 8) โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคารจอดรถด้านทิศตะวันออก (อาคารจอดรถ 1) วงเงิน 625.44 ล้านบาท 9) โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 2,693 ล้านบาท

เร่ง ทอท.หาข้อยุติชดเชยผลกระทบเสียง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แผนนงานที่ 10) การชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินการพัฒนา ทสภ. ระยะที่ 2 วงเงิน 7,249.60 ล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ของ ทอท. ไปเร่งหารือเพื่อชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ โดย ทอท.ชี้แจงว่า ยังไม่สามารหาข้อยุติได้เนื่องจากมีความเห็นต่างกัน เพราะทอท. จต้องการชดเชยสิ่งก่อสร้างแค่ปี 2544 แต่ประชาชนยังต้องการให้ชดเชยทั้งก่อนและหลังปี 2544 โดยต้องเอาข้อกฎหมายไปชี้แจงกับประชาชนโดยด่วน อย่างไรก็ตามกรณีนี้นายกรัฐมนตรียกตัวอย่างว่า ไม่ต้องการที่จะให้ประชาชนออกมาต่อต้านในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น การข่มขู่จะปล่อยบอลลูนไปยังสนามบินเพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงขอให้เปิดเจรจาให้เกิดความเป็นธรรมเพราะจะเป้นการทำลายภาพพจน์ของประเทศด้วย

กล่อมโลว์คอสต์ 7 สายเข้าดอนเมือง

พล.ต.ท.ดร.วิเชียรโชติกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้สายการบินที่มีต้นทุนต่ำ (Low cost airline) ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มาให้บริการผู้โดยสารได้ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตามความสมัครใจ เพราะปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำเพียง 3 สายที่ดำเนินงานอีก ขณะที่อีก 7 สายได้เปิดโอกาสให้เข้ามาดำเนินงานได้โดยเร็วเพื่อแบ่งเบาภาระของสนามบินสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ นายสมัคร ยังขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อเชื่อมโครงการแอร์พอร์ตลิ้ง กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีแดง ระหว่างดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย ขณะเดียวกันยังให้เตรียมแผนที่จะนำแอร์คาร์โก้ บางส่วนเข้ามาไว้ที่ดอนเมืองเพื่อลดการแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิด้วย

ปรับแผนรวมขั้นตอน EIA

ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ ทอท. ปรับแผนการดำเนินงานให้สามารถเริ่มงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยรวมขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และให้ความสำคัญกับแผนงานโครงการหลัก 4 โครงการ (โครงการที่ 1,2,3,7) ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2551 โดยให้ ทอท. จัดเตรียมรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมทั้งให้ ทอท. และกระทรวงคมนาคม จัดทำแผนรองรับปริมาณการจราจรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะยาว (Long term Plan) พิจารณาเตรียมการจัดหาพื้นที่รองรับในบริเวณใกล้เคียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้ ทอท. และกระทรวงคมนาคม ศึกษาแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และมีการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ พัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมแซมและบำรุงอากาศยานครบวงจร ศูนย์อะไหล่อากาศยาน ศูนย์อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ด้านการบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น