xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยทุนไทยเตรียมรับทัพทุน-สินค้า ผ่านกรอบจีน-อาเซียน/สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้ แม้จะมีข้อดีมาก แต่ผลเสียจากการหลั่งไหลของสินค้าต่างๆที่จะเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย ก็จะมากตามมาด้วย
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เปิดปฏิทินเตือนรัฐ/เอกชนไทย เตรียมตัวรับมือคลื่นสินค้า-ทุนทะลักผ่านเข้า ออกสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หลังโครงข่ายคมนาคมสมบูรณ์พร้อม 100%เมื่อสะพานข้ามโขง 4 กำหนดเริ่มก่อสร้างปี 52 เสร็จปี 54 แถมข้อตกลงจีน-อาเซียน มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 53 ชี้ “ม็อบกระเทียมเชียงใหม่” ที่ปักหลักค้างคืนหน้าศาลากลางจังหวัดก่อนสงกรานต์ เป็นเพียงหนังตัวอย่างจาก FTAไทย-จีนเท่านั้น หากไม่เร่งวางยุทธศาสตร์รองรับ มีหวังกระทบทั้งภาคเกษตร-การลงทุนของไทยทั้งระบบแน่ ขณะที่ทุนท้องถิ่นในเชียงราย ประตูการค้าสู่อินโดจีน-ภาคเหนือมีสิทธิ์ตกรถไฟขบวนสุดท้ายตามเคย

“ม็อบกระเทียม ”แค่ปฐมบท
รับจีน-สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเปิด


ภาพการชุมนุมประท้วงข้ามวัน ข้ามคืน ของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมใน อ.เวียงแหง-แม่แตง จ.เชียงใหม่ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ถือได้ว่า เป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ-เอกชน รวมถึงนักลงทุนที่ต้องเร่งวางแผนรับมือคลื่นการค้า – การลงทุน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงทุนต่างประเทศต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย พม่า ลาว จีน) และข้อตกลงจีน-อาเซียน ที่จะมีผลเต็มที่ในปี ค.ศ.2010 หรือ พ.ศ.2553 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การชุมนุมประท้วงของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม 2 อำเภอของเชียงใหม่ และมีสิทธิ์ที่จะขยายวงไปยังพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ ทั้งแม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน ฯลฯ เป็นผลพวงมาจาก FTA ไทย-จีน (สินค้าพิกัด 07-08 พืช ผัก ผลไม้) ที่รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ลงนามในข้อตกลงไปเมื่อ 1 ตุลาคม 2546 ส่งผลทำให้ผลผลิตกระเทียม รวมทั้งพืชผัก ผลไม้อื่น ๆ จาก จีน ทะลักเข้าสู่ตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาผลผลิตในประเภทเดียวกันของเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบราคาตกต่ำมาตลอด

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดพื้นที่เพราะปลูก ด้วยมาตรการช่วยเหลือผ่านคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ให้เงินชดเชยแก่เกษตรกรที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ มาแล้ว แต่กลับไร้ผล เพราะเกษตรกรยังคงเดินหน้าปลูกไม่หยุด

สุดท้ายจึงนำมาซึ่งข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาประกันราคากระเทียม ในอัตรา 25 บาท/กิโลกรัม(กก.) หลังจากราคาตกต่ำเหลือแค่ 9-10 บาท/กก. รวมถึงให้พิจารณายกเลิก FTA ไทย-จีน เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2551 กระทั่งพัฒนามาเป็นการชุมนุมกดดันกันอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เนื่องด้วยปัจจัยเกื้อหนุนที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งผ่าน R3a (ไทย ลาว จีน) R3b (ไทย พม่า จีน) แม่น้ำโขง ที่การพัฒนาเสร็จเกือบสมบูรณ์ 100% ทยอยเปิดใช้อย่างต่อเนื่อง และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับถนน R3a ที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2552 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554

ตลอดจนข้อตกลงจีน – อาเซียน ที่จะมีผลเต็มรูปแบบในปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 ซึ่งจะทำให้ภาษีการนำเข้า ส่งออก สินค้าระหว่างกันของชาติสมาชิกเหลือ 0% อันจะส่งผลให้สินค้าสารพัดชนิดทะลักเข้าสู่ตลาด และมีราคาถูกมากขึ้น จนทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบแน่นอน

แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีคำเตือนจากนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐบางหน่วยงาน ฯลฯ ให้รัฐบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือ แต่จนถึงวันนี้ ดูเหมือนไทย ยังไร้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีเพียงการปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามสถานการณ์

อันหมายรวมถึงการเจรจาเปิด FTA ไทย-จีน ที่สุดท้ายกลับเป็นข้อตกลงที่ไทยเปิดทางให้สินค้าเกษตรจีน เข้าประเทศแบบ 0%อย่างแท้จริง ขณะที่การส่งสินค้าพืช ผัก ผลไม้ ไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาด จีน กลับต้องผจญกับกำแพงภาษีภายในประเทศของ จีน ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้สร้างข้อได้เปรียบให้แก่ผู้ประกอบการไทย หรือเกษตรกรไทยแต่อย่างใด

เมื่อใดที่กรอบข้อตกลงจีน-อาเซียน มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ประเทศไทยจะไม่มีเฉพาะม็อบกระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง เท่านั้น

สารพัดทุนยึดหัวหาดตามแนวถนนไทย-จีน

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.)หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ที่เพิ่งนำคณะตัวแทนภาคเอกชนภาคเหนือ เจรจาหาช่องทางลงทุนกับ 9 เจ้าแขวง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมถึงนักลงทุนท้องถิ่นหลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหว กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า นโยบายของรัฐบาลไทยในเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เป็นเพียงตัวหนังสือในหน้ากระดาษ ยังไม่มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง รววทั้งไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้นโยบายในเรื่องนี้ได้รับผลกระทบฯลฯ
 ม็อบกระเทียม ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่จากนี้ไป หากรัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์เพื่อรับมือต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการค้าเสรี จะเห็นม็อบลักษณะนี้ได้บ่อยขึ้น
ขณะที่รัฐ และเอกชนจีน ทำงานร่วมกันอย่างได้ผล จนสามารถรุกเข้าครอบครองพื้นที่การลงทุน และธุรกรรมการขนส่งในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ

ดูได้จากช่วงตั้งแต่ 1-2 ปีก่อน ที่ถนน R3a จะเสร็จสมบูรณ์ให้นายกรัฐมนตรี 6 ชาติลุ่มน้ำโขง หรือกลุ่มประเทศ GMS จะร่วมกันทำพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ณ นครเวียงจันทน์ เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีกลุ่มทุนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ พาเหรดเข้ามาปักธงยึดหัวหาดลงทุนรองรับการขยายตัวทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ตามจุดยุทธศาสตร์ของถนนอย่างหนาตา

สอดคล้องกับ นางวิภาดา ตรีสัตย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ที่ให้ความเห็นว่า เคยไปศึกษาแนวถนน R3a หลายครั้ง ซึ่ง สปป.ลาว พร้อมรับการลงทุนต่างชาติมาก เช่น หากมีเงินลงทุนระหว่าง 100,000 – 3,000,000 เหรียญสหรัฐหรือ ไม่เกินราว 100,000,000 บาท เจ้าแขวงสามารถอนุมัติส่งเสริมการลงทุนได้ทันที แต่ถ้าลงทุนมากกว่า 3,000,000 เหรียญสหรัฐ ต้องขออนุมัติรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้การสัมปทานที่ดินใน สปป.ลาว รัฐบาลลาว คิดค่าสัมปทานถูก เช่น ที่ดิน 1 เอเคอร์ คิดค่าสัมปทานไม่กี่เหรียญสหรัฐต่อปี และมีอายุสัมปทานนานกว่า 30 ปี จึงมีเอกชนจากต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้าไปขอสัมปทานทำโรงแรม สนามกอล์ฟ จำนวนมาก

เริ่มจาก “บ่อเต็น” หัวเมืองชายแดนลาว – จีน ที่ล่าสุดกลายเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ของจีน ใน สปป.ลาว” ไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาล สปป.ลาว เปิดให้ทุนจีนเข้ามาเช่าพื้นที่นับจากเขตแดนลาวเข้ามา 5 กม. ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี สามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง โดยกลุ่มทุนจีน ได้ทุ่มทุนสร้างศูนย์การค้า - เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ กาสิโนระดับมาตรฐาน ที่มีอุปกรณ์การเล่นหลากหลายชนิด

นอกจากนี้ยังมีอาคารร้านค้าให้เช่า เพื่อเปิดบริการร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี เหล้า บุหรี่ ยาจีนทั้งแผนปัจจุบัน และยาแผนโบราณ รวมถึงปั๊มน้ำมัน ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ตีคู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตบ่อหาน อ.เหม่งล่า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน) จีน ที่รัฐบาลปักกิ่ง ได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา

พื้นที่ถัดจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะบ่อเต็น ก็มีทุนจีนเข้ามาลงทุนสร้างเป็นลานจอดรถคอนเทนเนอร์ โรงโม่หิน โรงงานยาสูบ ฯลฯกันเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่แขวงหลวงน้ำทา ก็มีกลุ่มทุนจีนคือ บริษัท Laos GN steels จำกัด ในเครือคุนหมิง สตีลกรุ๊ป ได้เข้ามาตั้งโรงงานรีดเหล็กเส้น กำลังผลิต 150,000 ตันต่อปี มีเป้าหมายทำตลาดในลาว เวียดนาม และไทยในอนาคตด้วย
พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.)
ขณะที่ในตัวเมืองหลวงน้ำทา ก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีทั้งเกสต์เฮาส์ โรงแรม ร้านอาหาร ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และมีสินค้าอุปโภค – บริโภค จาก จีน ครองตลาดเกือบ 100%

เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงของ ก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาสร้าง“ตลาดอินโดจีน” ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5 ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากจีนทุกชนิด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า ไปจนถึงจานดาวเทียมฯลฯ มีจำนวนแผงค้าเกือบ 100 ยูนิต และยังคงมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่ตลอด โดยพ่อค้า แม่ค้าในตลาดนี้ ส่วนใหญ่คือคนจีน

รวมถึงที่บ้านต้นผึ้ง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย ก็มีกลุ่มทุนจีน ในนาม “บริษัท ดอกงิ้วคำ จำกัด” กำลังดำเนินการพัฒนาที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ หลังจากคณะกรรมการแผนการและการลงทุนของรัฐบาล สปป.ลาว หรือ State Planning and Investment Committee ได้อนุมัติให้สิทธิสัมปทานแก่บริษัท เช่าที่ดินเนื้อที่ 827 เฮกตาร์ (ประมาณ 5,168.75 ไร่) ในเขตเมืองต้นผึ้งติดแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ระยะเวลา 75 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "Kings Romans of Laos ASEAN economic & tourism development zone"

บริษัทดอกงิ้วคำฯ ได้ดึงบริษัท จินมู่เหมิน จำกัด จาก จีน เข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจการค้าและบริการอย่างครบวงจรด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เริ่มจากเฟสแรกด้วยเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น ระบบไฟฟ้า ถนน เขื่อนป้องกันตลิ่งในแนวแม่น้ำโขง โรงเรียน ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ สนามกอล์ฟ 36 หลุม รวมทั้งก่อสร้างเขตหัตถกรรม อุตสาหกรรมเบา ฯลฯ

จากนั้นจะทุ่มเงินอีก 2 พันกว่าล้านดอลลาร์ พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าและบริการอย่างครบวงจรตามเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ

ไม่เพียงแต่ในฝั่งลาวเท่านั้น กระแสทุนจากจีน ได้ไหลเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างไทยกับจีนที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง

ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนไทยในพื้นที่แถบนี้ ยังมีเพียงกิจการขนาดเล็ก มิหนำซ้ำยังต้องผจญกับสารพัดปัญหาตั้งแต่การขาดแหล่งเงินทุน – นโยบายที่ไม่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนไทยต้องพยายามใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้าแสวงหาลู่ทางการลงทุนเอง จนหลายรายต้องม้วนเสื่อกลับบ้านกันไม่ทัน

ขณะที่นางอำภา เจียรกิตติกุล ที่ปรึกษาคณะทำงานภูมิภาคจีน สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ ที่เข้าไปทำธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าไทยในนครคุนหมิง จีน กล่าวในงานสัมมนาเสริมสร้างศักยภาพ SMEs ภูมิภาคสู่ตลาดจีน และ เสวนาใน หัวข้อ “โอกาส และกลยุทธ์การทำธุรกิจในตลาดจีน” ณ โรงแรมดุสิตไอแลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย ที่เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า หากภาษีไทย-จีน ลดเหลือ 0% เชื่อว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการส่งสินค้าไปสู่อาเซียนแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากระบบคมนาคมเชื่อมไทย พม่า ลาว จีน เสร็จสมบูรณ์มากแล้ว หากรัฐบาลยังช้าอยู่ อนาคตภาคเอกชนจีนก็จะเข้ามาทำประโยชน์แล้วนำรายได้กลับประเทศจีน คนไทยจะไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิด หมดโอกาสที่จะมีส่วนแบ่งการตลาด

ระวังตกรถไฟขบวนสุดท้าย

ประธาน คสศ.ยอมรับว่า มาถึงวันนี้ นักลงทุน โดยเฉพาะคนท้องถิ่นในเชียงราย จะมัวแต่สัมมนากันอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ลงมือทำ” รองรับโอกาสทางการค้า – การลงทุน ที่กำลังขยายตัวในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่กำลังเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ที่เติบโตขึ้นตามการขยายตัวของจีน

ล่าสุด คสศ.และหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ นอกจากจะนำคณะไปเจรจากับเจ้าแขวงของ สปป.ลาว ประกอบด้วยแขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา อุดมไซ ไซยบุรี เวียงจันทน์ หลวงพระบาง พงสาลี ระหว่าง 9-11 เมษายน 2551 ที่ผ่านมาแล้ว ประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 หรืออีก 3 เดือนถัดจากนี้ ก็จะประชุมร่วมกับตัวแทนภาครัฐ-เอกชนประเทศพม่า ที่เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริมการค้า-การลงทุนตามแนวถนน R3b (ไทย-พม่า-จีน) ที่แม้จะสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2547 และไทยเองก็ได้จัดงบสนับสนุนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 เชื่อมต่อ พร้อมกับศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกรองรับแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้อย่างเต็มที่นัก

“ตอนนี้ต้องทำไป เรียนรู้ไป เรารอไม่ได้แล้ว”

เช่นเดียวกับพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ที่เคยให้ทัศนะว่า ยอมรับว่า ไม่มีผู้เล่นท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งรัฐเองก็พยายามกระตุ้นเต็มที่ ก่อนที่เชียงราย หรือภาคเหนือของไทยจะกลายเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น