xs
xsm
sm
md
lg

นานาปท.กลัวอาหารแพงเร่งกักตุน นักเก็งกำไรได้ช่องดันราคาโด่งต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์/เอเจนซีส์ – ความตระหนกในวิกฤตอาหารโลกขณะนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสใหม่ที่ประเทศส่งออกพยายามกักตุนอาหาร ขณะที่ประเทศนำเข้าก็เปิดทางเพื่อให้สามารถนำเข้าอาหารหลักให้มากที่สุด แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าพวกเก็งกำไรอาจเข้ามาฉวยโอกาสและผลักให้ราคาอาหารในตลาดโลกทะยานขึ้นไปมากกว่าเดิม

ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญในขณะนี้คือ อาหารพื้นฐานหลายอย่างผลิตได้น้อยลงจากสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนรุนแรง รวมทั้งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งนำไปบริโภคและนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งผลักให้ราคาอาหารโดยเฉพาะธัญญาหารพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเร่งความเร็วขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้

สภาพเช่นนี้ทำให้การค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรของโลกแปรเปลี่ยนจากตลาดที่มีกำแพงภาษีป้องกันการนำเข้า กลายเป็นตลาดที่เปิดกว้างสำหรับสินค้าจากต่างประเทศ ประเทศผู้นำเข้าอาหารอย่างซาอุดีอาระเบียเพิ่งประกาศในวันอังคาร(1) ลดภาษีการนำเข้าอาหารหลายรายการตั้งแต่ข้าวสาลี ไปถึงเนื้อไก่, ผลิตภัณฑ์จากนม และน้ำมันพืช ส่วนเมื่อวันจันทร์ อินเดียก็เพิ่งประกาศลดภาษีนำเข้าน้ำมันพืช และข้าวโพด แต่ในขณะเดียวกันก็ห้ามการส่งออกข้าวทุกชนิดยกเว้นข้าวบาสมาติชนิดต่าง ๆที่มีราคาแพง

ในขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก อย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสามของโลก ที่เคยคร่ำครวญว่ากำแพงภาษีทำให้ขายผลิตภัณฑ์การเกษตรได้น้อยกว่าที่ควร ก็เพิ่งประกาศลดการส่งออกข้าวในปีนี้ลง 11 %

กระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่าอาจทำให้ราคาที่พุ่งขึ้นตลอดมาทะยานขึ้นไปอีก พอล แบรกส์ นักวิเคราะห์ตลาดโภคภัณฑ์ของธนาคารราโบแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกบอกว่า ตอนนี้ในตลาดค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศเต็มไปด้วยพวกนักเก็งกำไรที่ย้ายเข้ามาเล่นตลาดโภคภัณฑ์ที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากตลาดเงินและตลาดทุนระหว่างประเทศถูกกระทบจากวิกฤตสภาพคล่อง รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง สภาพการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ที่กำลังเขม็งตึงอยู่แล้วจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นและสินค้าที่น้อยลงเป็นโอกาสอย่างดีให้พวกเก็งกำไรเข้ามาทำเงิน และเมื่อมีข่าวใด ๆที่ทำให้เห็นว่าปริมาณสินค้าลดลงน้อยไปอีก พวกนี้จะรีบคว้าเอาไว้ทันที

ราคาอาหารที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งต้องพึ่งพาอาหารจากภาคเกษตร ที่เม็กซิโกซิตี้เกิดความวุ่นวายที่เรียกว่า “จลาจลตอติย่า” เพราะราคาข้าวโพดที่แพงจนไม่สามารถซื้อหาได้ ส่วนที่อินโดนีเซียประชาชนหลายพันคนก็ออกมาประท้วงเพราะราคาถั่วเหลือง

ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องออกมาปกป้องประชาชนของตนเอง อย่างเช่น อียิปต์ซึ่งนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดราวครึ่งหนึ่งของที่บริโภคภายในประเทศ รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคซาฮาราอื่น ๆที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการ ได้ออกมาตรการเพื่อประกันความมั่นใจของประชาชนว่าจะมีอาหารพอกิน อย่างเช่น ให้เงินอุดหนุนการเกษตร ห้ามการส่งออก ประเทศที่ร่ำรวยอย่างซาอุดีอาระเบียก็เปิดหนทางแก่การนำเข้าข้าวสาลีจำนวนมหาศาลโดยลดภาษีนำเข้าลงจาก 25 %ให้เหลือศูนย์

อังตวน บูต นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศกล่าวว่าปฏิกิริยาของรัฐบาลต่าง ๆเกิดขึ้นเพราะความตื่นตระหนกยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

นอกจากจะทำให้ราคาในตลาดโลกพุ่งขึ้นแล้วก็ยังทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในประเทศอีกด้วย เพราะจะมีทั้งผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ดังเช่นที่ประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นานเดซแห่งอาร์เจนตินากำลังเผชิญกับความโกรธเกรี้ยวของเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองหลังจากประกาศขึ้นภาษีส่งออกถั่วเหลืองเพื่อสะกัดกั้นไม่ให้ถั่วเหลืองไหลออกไปต่างประเทศในขณะที่เกิดความขาดแคลนภายใน

อย่างไรก็ตามแบรกส์จากราโบแบงก์บอกว่าในที่สุดราคาอาหารโลกก็จะลดลง เพราะราคาที่แพงจะจูงใจให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงสองปีนับจากนี้ไป เขาเห็นว่าราคายังคงเพิ่มขึ้น และความปั่นป่วนก็จะสถิตย์อยู่กับตลาดโภคภัณฑ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น