xs
xsm
sm
md
lg

“พลังแม้ว” รวบรัดยำ รธน.6 เดือน โละ “กกต.-ป.ป.ช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “พลังแม้ว” เดินหน้ายำรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจพรรคร่วมรัฐบาลและภาคประชาชน ดันเข้าสภาภายใน 2 สัปดาห์ ตั้งเป้าให้แก้ไขเสร็จใน 2 เดือน ส่วนองค์กรอิสระโดนแน่ อ้างมีที่มาจากเผด็จการ หลุดปากให้เวลา กกต.ทำงานอีก 180 วัน ส่วน ป.ป.ช. 6 เดือน-1 ปี ส่อโละ 74 ส.ว.สรรหา แต่ยังแทงกั๊กว่าจะคงไว้หรือตัดทิ้งประเด็นนิรโทษกรรม ด้านพันธมิตรฯประกาศค้านทุกรูปแบบทั้งในสภา นอกสภา

เมื่อเช้าวานนี้ (17 เม.ย.) นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองประธานคณะทำงานยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะทำงาน ถึงความคืบหน้า ในการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในการประชุม เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1-2 ส่วนหมวดที่ 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพให้คงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไว้ ส่วนหมวดนอกจากนั้นให้ยึดตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 เป็นหลัก

ทั้งนี้ พรรคพลังประชาชนคาดว่าจะจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นพร้อมยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาของคณะทำงานยังไม่ใช่มติของพรรคร่วมรัฐบาลเพราะการพิจารณาในขั้นนี้ยังอยู่ในขั้นของพรรคพลังประชาชน แต่เชื่อว่าเมื่อเสร็จแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะให้การสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน

“เป้าที่วางไว้คือ ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน มีการพิจารณาวาระแรกในสมัยประชุมนี้ ในช่วงปิดสมัยประชุมกรรมาธิการก็ทำงานไป แล้วในช่วงพิจารณางบประมาณก็พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 แต่ถ้าไม่เสร็จก็จะเข้าเดือนสิงหาคม เมื่อเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ” นายสุขุมพงศ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคประชาธิปัตย์ ดูด้วยหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยมาตลอด ในขั้นนี้เป็นเรื่องของพรรค ไม่ใช่เรื่องของสภาฯ ถ้าเรื่องเข้าสู่สภาแล้วจึงเป็นหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะร่วมพิจารณาด้วย

สำหรับรูปแบบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในร่างแก้ไขจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า โดยหลักการองค์กรอิสระที่ตั้งโดยรัฐธรรมนูญจะอยู่จนครบวาระ ส่วนองค์กรอิสระที่ตั้งโดยคณะปฏิวัติรัฐประหาร จะอยู่ไม่ครบอย่างแน่นอน

ต่อมาเวลา14.00 น. วันเดียวกัน นายสุขุมพงศ์ ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะทำงาน ซึ่งใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้มีการแก้ไขเกือบทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่ 1 และ 2 ซึ่งผู้จัดทำร่างได้นำร่างมาพิจารณาโดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่ หมวดที่ 3 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนใหญ่ได้ยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก และประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากเนื้อหาสาระในฉบับปี 2550 บางส่วนที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากมีการจำแนกแยกได้อย่างเป็นสัดส่วนดีกว่าฉบับปี 2540 ส่วนหน้าที่ของปวงชนชาวไทย จะยึดฉบับปี 2550 เป็นหลัก

ส่วนหมวด 5 เกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้มีการแก้ไขจำนวนมาก เนื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติค่อนข้างบังคับให้รัฐบาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทุกขั้นตอน มีผลต่อรัฐบาลทุกยุคสมัยที่จะมาดำเนินการ อีกทั้งทำให้รัฐบาลนำนโยบายของพรรคที่หาเสียงกับประชาชน นำมาบรรจุเป็นนโยบายได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงต้องกลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540

**เลือกตั้ง ส.ส.ใช้ตาม รธน.40
ในหมวด 6 เกี่ยวกับรัฐสภา ส่วนใหญ่ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งจำนวน ส.ส. คุณสมบัติ และวิธี การเลือกตั้ง ตลอดจนวิธีการนับคะแนน เช่น เดียวกับ ส.ว. จะกลับไปใช้ในปี 2540 ทั้งหมด

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้กลับไปใช้ตามฉบับปี 2540 ทุกอย่าง โดยเฉพาะผู้ตรวจการแผ่นดินฯจะกลับไปใช้ชื่อเดิมตามฉบับปี 2540 คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ยึดโยงกับรัฐสภา

**ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
ส่วนหมวด เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี จะคงไว้ตามฉบับปี 2540 โดยแก้ไขให้ ส.ส. สามารถดำรงแหน่งรัฐมนตรีได้ โดยไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้ดำรงแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองอื่นๆได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ห้ามไว้

ส่วนการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เห็นว่าของฉบับปี 2540และ2550 ไม่ต่างกันมาก โดยเห็นว่าของฉบับปี 2550 ได้กำหนดบังคับให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องมาตอบกระทู้ ซึ่งจะนำมาใช้ด้วย และในการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะใช้เสียง 1 ใน 5 ส่วนรัฐมนตรี ใช้เสียง 1 ใน 6

นอกจากนี้ ในส่วนศาลต่างๆ ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง กลับใช้ของฉบับปี 2540 โดยในส่วนของการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรมนูญ ให้กลับไปใช้ฉบับปี 2540 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังดำเนินการสรรหา ก็ให้ดำเนินการต่อไป

ส่วนกรณีนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จะให้ปรับจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 มาใช้ โดยหากรัฐสภาเห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถยื่นได้ตามปกติ แต่ได้เปิดช่องให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550

กรณีรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องคดีอาญา จะให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกตัดสินให้จำคุก แม้แต่การรอลงอาญาด้วย เว้นแต่ความผิดลหุโทษ ประมาท หรือหมิ่นประมาท

ในส่วนขององค์กรอิสระ จะให้กลับไปใช้เหมือนรัฐธรมนูญปี 2540 ในส่วนองค์กรใหม่ที่เกิดขึ้นตามฉบับปี 2550 อาทิ อัยการ สภาที่ปรึกษาฯ จะกลับไปเป็นส่วนราชการเช่นเดิม ไม่ให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรมนูญ ขณะที่ กกต. และ ป.ป.ช. จะมีคุณสมบัติ และมีการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถือเอาหลักเกณฑ์ตามปี 2550 โดยให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายได้ใช้เกณฑ์ 10,000 คน และ สามารเข้าชื่อยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ใช้เกณฑ์ 20,000 คน พร้อมเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ใช้เกณฑ์ 50,000 คน

**ถกประเด็นบทเฉพาะกาลวันนี้
สำหรับในส่วนของบทเฉพาะกาล จะไม่มีการแก้ไขในส่วนของ องคมนตรี ตุลาการ และอัยการอาวุโส นอกจากนั้นจะให้แก้ไขทั้งหมด คือสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา, กกต.,ป.ป.ช. , ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ, สภาที่ปรึกษาฯ จะมีบทเฉพาะกาลทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องบทเฉพาะกาล เนื่องจากยังมีความเห็นที่หลากหลาย อาทิ ส.ส. จำนวน 480 คน ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ขณะที่ฉบับปี 2540 กำหนดให้มี 500 คน ส่วนที่ขาดไป 20 คน จะให้มีการเลือกตั้งเพิ่มเติม หรือเลื่อน ส.ส.จากระบบสัดส่วนขึ้นมา ส่วนวุฒิสภา ตามปี 2540 กำหนดให้มี 200 คน จากการเลือกตั้ง แต่ฉบับปี 2550 กำหนดให้มี 150 คน จึงเป็นปัญหาจะให้มีการเลือกตั้งให้ครบ 200 คน หรือไม่ แล้ว 74 คนที่มาจากการสรรหา จะให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อไร

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ในวันนี้ (18 เม.ย.) จะมีการประชุมอีกครั้ง หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอะไร ก็ถือว่า เสร็จเรียบร้อย ในส่วนบทเฉพาะกาล หากเห็นตรงกัน น่าจะมีความชัดเจน เมื่อถ้าพิจารณาเสร็จ จะส่งวิปรัฐบาลทันที คาดว่าจะทันการประชุมวิปรัฐบาล พิจารณากลั่นกรอง ในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย.นี้ และถ้าวิปรัฐบาลเห็นด้วย จะส่งให้วิปแต่ละพรรค ส่งให้พรรคพิจารณาต่อไป

**ปรับองค์ประกอบยุบพรรค
เมื่อถามว่าใน มาตรา 237 มีการตัดเนื้อหาส่วนใดไปบ้าง นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการยุบพรรค จะอยู่ในมาตรา 68 ใหม่ หรือ มาตรา 63 เดิม ซึ่งได้ยกร่างไว้ว่า ต่อไปจะกระทำยุบพรรคได้ 3 สาเหตุเท่านั้น 1.ถ้ามีการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.การกระทำอันเป็นปฎิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ 3.การกระทำเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งในและนอกราชอาณาจักร ส่วนการเพิกถอนสิทธิ์ จะต้องเป็นการกระทำของกรรมการบริหารพรรค การเมืองและและหัวหน้าพรรคด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการวิจารณ์ว่า หลายมาตราไม่โปร่งใสนั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ในเรื่องการสรรหาองค์กรอิสระได้มีการแก้ไขไปแล้ว ในปี 2548 รวมทั้งแก้ไขกระบวนการสรรหาตุลากรรศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดตัวแทนพรรคการเมืองออกไป ทั้งนี้ ควรจะให้มีการแปรญัตติในขั้นกรรมาธิการ

ส่วนการแก้ไข มาตรา 309 นั้น มีสองแนวคิด คือ ส่วนหนึ่งเห็นว่า การนิรโทษกรรม เคยทำไว้แล้วใน รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ซึ่งการนิรโทษกรรม ควรมีครั้งก็พอ จึงมีความเห็นว่า ไม่ควรมีอีก และการนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษกรรมในอนาคต ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ถือว่าไม่เหมาะสม จึงเสนอให้ตัดทิ้งไว้ ขณะที่อีกส่วน เสนอให้คงไว้แต่มีเงื่อนไขในการนำมาใช้

เมื่อถามว่า มีเหตุผลอะไรที่ดึงอัยการกลับมาเป็นราชการ เช่นเดิม นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า อัยการเป็นส่วนราชการมาช้านาน มีหน้าที่หลัก ในการทำคดีแทนรัฐบาล และจะต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาล มีหน้าที่ให้ความเห็นต่อรัฐบาล หากเป็นองค์กรอิสระ ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะในส่วนท้องถิ่น และภูมิภาค จึงมีความเห็นให้กลับมาเป็นส่วนราชการเช่นเดิม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เดิมอัยการถูกแทรกแซงมากไม่เกรงถูกข้อครหาเนื่องจากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การพิจารณาหลายคดี นายสุขุมพงศ์ ยืนยันว่า ไม่มีการแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเดิมอัยการ ก็สังกัดอยู่ในกระทวงยุติธรรม เคยตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยมาแล้ว จึงไม่น่าจะมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก เพราะเชื่อมั่นสถาบันอัยการเชื่อถือได้

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ ยังสามารถตรวจแก้ไขได้ จนกว่าจะส่งร่างเข้าสู่สภา หรือแม้แต่ในวาระที่สอง ขั้นกรรมาธิการก็ยังแก้ไขได้

**ให้เวลา กกต.6 เดือน-ป.ป.ช.1 ปี
ส่วนกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่เห็นด้วยในการเร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ประธานวุฒิสภา ก็เป็นหนึ่งใน 630 คน ของสมาชิกรัฐสภา แต่พรรคพลังประชาชน รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตั้งแต่ต้น เมื่อได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ในการเลือกตั้ง ก็มีหน้าที่ที่จะดำเนินการตามสัญญาประชาคม คาดว่าภายในเดือนเม.ย. นี้ จะสามารถเสนอร่างแก้ไขได้

ส่วนกรณีการกำหนดในบทเฉพาะกาลของ กกต. และ ป.ป.ช. ในการทำหน้าที่นั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของ กกต. จะให้เวลาเคลียร์งานอีก 180 วัน ส่วน ป.ป.ช. จะให้ เวลาอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

**ปชป.ค้านให้ พปช.แก้ฝ่ายเดียว
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนได้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนว่า เป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่า อย่างน้อยควรจะมีการตั้งองค์กร หรือคณะบุคคลขึ้นมาศึกษาว่า เรื่องอะไรที่ควรจะปรับปรุงแก้ไข เรื่องอะไรที่ควรจะคงไว้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ควรให้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พิจารณาเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมองภาพรวมของทั้งประเทศ

“ถ้าให้นักการเมืองแก้ อาจจะแก้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งอาจจะถูกครหาอีก ทำไมไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย หรือเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ เช่น ผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ อย่างของปี 2550 ไม่ให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนเสนอความเห็น แต่ผมคิดว่า ผู้ร่างคงไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง หรือเขียนกับดักเอาไว้ เพราะทุกพรรคต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าใครที่เคยชินกับระบบซื้อเสียง ก็อันตรายหน่อย ถ้าใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะอันตรายได้ พรรคจึงได้ระมัดระวังเรื่องนี้มาก และถ้าจำได้จะเห็นว่า ตอนเลือกตั้งมีการสาบานกัน เราต้องนึกออกว่าใครกล้าสาบานบ้าง อันนี้คือที่มาของรัฐธรรมนูญที่มีความเข้มงวดกวดขันกับระบบเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองถูกยุบง่าย แต่ผมคิดว่า ถ้าเราจะคุยเรื่องนี้ ควรจะคุยทั้งระบบ และต้องดูต่อไปว่า จะมีมาตรการอื่นอีกหรือไม่ที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตยุติธรรมมากขึ้น มิเช่นนั้นการเมืองจะเลวร้าย เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การเมืองที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะการเมืองของเราอยู่ภายใต้การซื้อ การโกง และเข้าไปทุจริต ดังนั้นต้องหาทางที่ออกมาให้หลุดพ้นตรงนี้ให้ได้” นายชวนกล่าว

การที่พรรคพลังประชาชนยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเองโดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะก่อให้เกิดการคัดค้านจากภาคประชาชนหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่า จะลงเอยอย่างไร แต่ถ้าหวังดีว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีความเหมาะสม ทุกฝ่ายยอมรับได้ และสามารถที่จะเป็นเครื่องมือในการที่จะให้การเมืองดีขึ้น ก็น่าจะให้มีคณะบุคคลขึ้นมาศึกษาก่อน เพราะจะทำให้หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา

**ย้ำแก้ ม.237 เท่ากับโละคดียุบพรรค
นายสุเมธ อุปนิสากร กกต. ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้าหากรัฐบาลตัดเรื่องยุบพรรคทิ้งไป เรื่องทั้งหมดก็ต้องยุติ อัยการสูงสุดก็ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะมีผลกระทบต่อการทำงานของกกต.หรือไม่นั้น คงตอบไม่ได้ เพราะเมื่อกฎหมายเขียนมาอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่มีปัญหา สำหรับคดีที่ กกต.มีมติไปแล้วจำเป็นต้องเขียนยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาลหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้แก้ ว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนแนวคิดการแก้รัฐธรรมนูญที่จะลดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระเหลือเพียงครึ่งวาระ นายสุเมธ กล่าวว่า หากเขาเขียนจะให้ไปพรุ่งนี้ ก็ไปพรุ่งนี้ อยู่ที่การพิจารณาว่า จะแก้ไขให้อยู่หรือไป เพราะผู้แก้ไขมาจากราษฎร เมื่อราษฎรว่าอย่างไร เราก็ปฏิบัติตาม

**พันธมิตรฯ ลั่นค้านทุกรูปแบบ
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
กล่าวว่า นับวันแนวคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน ยิ่งเผยธาตุแท้ว่าต้องการฟอกผิดระบอบทักษิณ และขจัดขวางหนามต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่าย มาวันนี้ก็จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดวาระขององค์กรอิสระที่ตั้งโดยคำสั่งคมช. เช่น ป.ป.ช. และกกต. โดยอ้างว่ามาตราเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย

“ปากอ้างว่าเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีการ หรือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องให้มี ส.ส.ร.ภาค 3 นั้น น่าจะเป็นทางออกของวิกฤติรัฐธรรมนูญ และทุกฝ่ายรับได้ เพื่อให้สังคมเป็นเจ้าภาพแทนสภาฯเพราะถือว่า ส.ส.เป็นผู้มีส่วนได้เสีย”

นายสุริยะใส กล่าวว่า หากมี ส.ส.ร.ภาค 3 จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างความสมานฉันท์ในสังคมแทนที่จะเป็นการเผชิญหน้า จนเกิดความแตกแยกมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชาชนดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเสียงในสภาฯ โดยปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็เป็นเรื่องน่าละอาย จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะ ขนาดยุค คมช.ที่ประณามกันว่าเป็นยุคเผด็จการ ยังออกแบบให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทำโดย ส.ส.ร.รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย กระทั่งจัดให้มีการลงประชามติ

ดังนั้น ถ้าวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทำโดยมีวาระซ่อนเร้น ผู้มีส่วนได้เสีย และใช้เสียงข้างมากลากไป พันธมิตรฯ ก็คงไม่มีทางเลือกที่ต้องเคลื่อนไหวคัดค้านทุกรูปแบบ ทั้งช่องทางในสภาและนอกสภา.
กำลังโหลดความคิดเห็น