xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ยื้อชี้ชะตา "มช.-มฌ." โยนที่ปรึกษาแปลความ ม.103 วรรค 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.อ้างข้อกฎหมายไม่ชัด เลื่อนชี้ชะตายุบ-ไม่ยุบ “ชท.-มฌ.” ไปอีก 15 วัน โดยให้ที่ปรึกษา กม.ไปแปลความ ม.103 วรรณ 2 ของกม.เลือกตั้ง กรณีผู้สมัครที่เป็น กก.บห.ทำผิด ต้องมีหัวหน้าพรรรค และ กก.บห.ท่านอื่นรู้เห็นจึงจะถือเป็นความผิดหรือไม่ ส่วนคำว่า “ให้ถือว่า” นั้นจะเป็นข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาดหรือไม่ว่าหากกระทำผิดต้องเสนอยุบพรรค พร้อมให้นายทะเบียนพรรคฯใช้ดุลพินิจ ม.95 ด้วย ขณะเดียวกัน กกต.ส่งสำนวนใบแดง “ยงยุทธ” ถึงมือศาลฎีกาฯแล้ว นัดฟังคำสั่ง 20 มี.ค. “วีระ” ฉุนฯอนุฯสอบนอมินีไม่ให้บันทึกเสียง-ภาพ เลิกชี้แจง “ไพฑูรย์” เผยกลัวถูกนำไปเผยแพร่

วานนี้ ( 18 มี.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมพิจารณา ผลสรุปกรณียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย เนื่องจาก กรรมการบริหารพรรคถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังการประชุมว่า กกต.ยังไม่ได้มีมติในเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาผลสรุปที่อนุกรรมการฯซึ่งมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน เสนอมา มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย กรณีที่ว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ประกอบ พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.มาตรา 103 หากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดเอง จะถือว่าพรรค หรือกรรมการบริหารมีรู้เห็น ปล่อยปละ ละเลยโดยทันทีหรือไม่

ซึ่งอนุกรรมการมองว่า ถ้าจะเชื่อมโยงถึงพรรคได้ต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีส่วนรู้เห็น โดยต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เป็นครั้งๆ ไป และเห็นว่าการกระทำผิดที่จะเป็นตาม มาตรา 103 วรรค 2 จะต้องเป็นกรณีของคนอื่น ไม่ใช่หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้ที่กระทำผิดเสียเอง

“เป็นความเห็นของอนุกรรมการสืบสวนที่มีแนวคิดว่า เพราะมาตรา 103 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีการทุจริตที่นำไปสู่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พอวรรค 2 ก็บอกว่า หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารผู้ใด มีส่วนรู้เห็น ซึ่งอนุฯแปลความว่า ผู้ใดนั้นควรหมายถึงผู้อื่น ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคที่ทำผิดเสีย”

ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงนั้น เมื่ออนุกรรมการฯได้มีการตีความประเด็นข้อกฎหมายในลักษณะดังกล่าวแล้ว เมื่อมีการเรียกพยานทั้งที่เป็นหัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร หรือตัวผู้กระทำผิดเองมาให้ปากคำ จึงเป็นการหาพยานหลักฐาน มาพิสูจน์ จนได้ข้อเท็จจริง จากนั้นอนุฯจึงมีความเห็นว่าการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่เกิดขึ้นนั้นไม่เข้ากรณีมาตรา 103 วรรค 2

“ที่ประชุม กกต.เห็นว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงให้มีการส่งประเด็นปัญหา ข้อกฎหมายมาตรา 103 วรรค 2 ของพ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า กรณีที่กรรมการบริหารพรรคไปกระทำการซื้อเสียง โดยที่กรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคคนอื่นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นจะนำไปสู่การพิจารณาสั่งยุบพรรคได้หรือไม่ ให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย กกต.ที่มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธาน ไปพิจารณา โดยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งคณะที่ปรึกษาฯจะมีการประชุมในวันที่ 20 มี.ค.นี้ และจะครบกำหนดในวันที่ 4 เม.ย.”

นายสุทธิพล กล่าวว่า ขณะเดียวกันการจะดำเนินการเรื่องการยุบพรรคได้นั้น มาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองกำหนดว่าให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของ กกต. แต่ขณะนี้ นายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ได้มีความเห็น จึงส่งเรื่องไปให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการด้วย และเมื่อได้ข้อมูล และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนหมดแล้วกกต.จึงจะเริ่มมีการพิจารณาในประเด็นข้อเท็จจริง และถึงจะมีมติว่าจะดำเนินการอย่างไร

เลขาธิการ กกต.ปฏิเสธที่จะตอบว่า ในการประชุม กกต.มีความเห็นประเด็นข้อกฎหมายที่แตกต่างจากที่อนุกรรมการเสนอมาใช่หรือไม่จนเป็นเหตุให้ต้องมีการส่งประเด็นมาตรา 103 วรรค 2 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งไปให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย พิจารณาอีกครั้ง โดยกล่าวเพียงว่า กกต.ต้องการให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น และยืนยันว่าไม่ใช่การยื้อเวลาการยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่สงสัยว่ากรรมการบริหารพรรคคนเดียวกระทำการทุจริตการเลือกตั้ง แล้วทางอนุกรรมการฯ มองว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับกรรมการบริหาพรรคคนอื่นจะทำให้เป็นการเลี่ยงเหตุไม่ให้ถูกยุบพรรคได้หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เนื่องจากกฎหมายเขียนไม่ชัด เรื่องนี้ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ จะไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับกรณียุบพรรคไทยรักไทยไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายคนละฉบับ ส่วนเมื่อมีข้อสงสัยในมาตรา 237 แล้ว กกต.ยังไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น

ปีดยื้อเวลาแต่ กม.ไม่ชัดเจน

ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนฯ กล่าวว่า มีปัญหาเรื่อง ถ้อยคำของกฎหมาย ตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 103 วรรค 2 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ซึ่งใช้คำว่า “ให้ถือว่า” พรรครู้เห็น ทั้งนี้ กกต.ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบ โดยให้ที่ปรึกษากฎหมายจะพิจารณาว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาดหรือไม่ โดยยอมรับว่าเรื่องยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชน

“ไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป เพราะให้ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาเพียงแค่ 15 วัน ไม่ส่งผลเร็วหรือช้าอะไร และกกต.จะต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ ดูถ้อยคำให้รอบคอบ ส่วนความเห็นของอนุฯ ก็ส่วนอนุฯ ไม่เกี่ยวกับที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นผู้จาก มหาวิทยาลัยต่างๆ” นายสมชัยกล่าว และว่า การพิจารณาสำนวนดังกล่าวครั้งต่อไ ปคงจะลงมติได้ เพราะตระหนักดีว่าเป็นเรื่องที่สังคมอยากรู้ ถ้าตัดสินใจถูกต้องน่าจะดีกว่าถือเอาตัวเองเป็นใหญ่แล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการฯ เพราะมองว่า ก่อนจะพิจารณาข้อเท็จจริงควรพิจารณาข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้นเมื่ออนุฯสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว แต่ข้อกฎหมายยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะมาตรา 103 วรรค 2 ของพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ในประเด็น "ให้ถือว่า .." นั้น มีความหมายอย่างไร จึงต้องให้คณะที่ปรึกษาไปพิจารณา ขณะเดียวกันกกต.ก็ได้มอบให้ประธานกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ไปพิจารณามาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ว่า ความจริงแล้ว กกต.จะสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงได้เอง โดยสามารถ ลงมติยกคำร้องหรือไม่ยกคำร้องได้หรือไม่ เมื่อเรียบร้อยทุกประเด็นแล้วกกต.จึงจะนำเข้าที่ประชุมพิจารณาต่อไป

“เติ้ง”หนุนแก้ รธน.กรณียุบพรรค

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่างถึงการเลื่อนพิจารณาคดี ยุบพรรคชาติไทยของ กกต.ว่าเมื่ออนุกรรมการฯเสนอเรื่องเข้ามาก็ต้องให้โอกาส กกต.ไปพิจารณาสำนวน ก่อนที่จะมีการลงมติ ต่อข้อถามว่ามีรายงานข่าวว่าแนวโน้มจะไม่ถูกยุบพรรครู้สึกอย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ

ส่วนที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐธรรมนูญออกมาในช่วงที่บ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตยทำให้เกิดปัญหาดังนั้นควรจะแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรค นายบรรหาร กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข ในประเด็นนี้และอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.จึงไม่ฟังและร่างรัฐธรรมนูญบางอย่างก็ฝืนข้อเท็จจริง คนที่เป็นนักการเมืองมาเจอกติกาอย่างนี้ลำบากพอสมควร ทำอะไรไม่ได้เลย อย่างกรณีการ ยุบพรรคมันก็ง่ายเกิน หรือกรณี ส.ส.สัดส่วนถ้าส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครผิดโทษ ถึงการยุบพรรค ตรงนี้มันง่ายเกินไป ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็คงอีกระยะหนึ่งแล้วแต่เหตุการณ์ ต้องดูเวลาที่เหมาะสมด้วย

ศาลฎีกานัดชี้ "ยุทธ ตู้เย็น" 20 มี.ค.

วันเดียวกันเวลา 11.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง นายถวิล อินทรักษา ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำเอกสารพยานหลักฐานจำนวน 2 ชุดๆ ละ 3 แฟ้มใหญ่ มีความหนากว่า 1,000 หน้า พร้อมสำนวนคำร้อง ขอให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน และประธานสภาผู้แทนราษฎร กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 53 (2) และ 57 ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง จ.เชียงราย ด้วยการแจกเงินเพื่อจูงใจให้กับกลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นตัวแทน( หัวคะแนน) ของนายยงยุทธ แจกเงินซื้อเสียงเพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพรรคประชาชน โดยศาลรับคำร้องไว้เป็นคดีดำหมายเลข ลต.38/25551 และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 มีนาคม เวลา 13.30 น.

ภายหลัง นายถวิล กล่าวว่า เอกสารพยานหลักฐานที่ได้ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณา ส่วนใหญ่เป็นคำให้การของพยานที่เข้าให้การกับอนุ กกต. รวมทั้งความเห็นของอนุ กกต. และมติของ กกต.ชุดใหญ่ ที่มีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีพยานบุคคลกว่า 50 ปากที่พร้อมเข้าเบิกความในชั้นไต่สวน ส่วนศาลฎีกาจะพิจารณาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ผู้ถูกกล่าวหา ตามคำร้องของ กกต. หรือไม่นั้นตนตอบไม่ได้ แต่หากในวันที่ 20 มีนาคม ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องยุติการปฏิบัติหน้าทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 53(2) ระบุว่า ห้ามไม่ให้ผู้สมัครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร ให้เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่มีโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดสถาบัน การศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด ทั้งนี้ในมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ.เดียวกันระบุว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณแก่เป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

กกต.ไม่หวั่นถูก “ทั่นยุทธ” แจ้งความกลับ

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช แจ้งความดำเนินกับกกต.เสียงข้าง 3 คน ที่ลงมติสั่งเพิกถอนเลือกตั้ง ว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหวต่อการแจ้งความดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ทราบว่า เป็นการดิสเครดิตกกต.หรือไม่ แต่ยืนยันว่า กกต.ได้ทำหน้าที่ตามอำนาจตาม กฎหมายแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าการแจ้งความครั้งนี้จะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่

ส่วนนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ที่เป็นเสียงข้างน้อย กล่าวว่า เรื่องนี้ กกต.แต่ละคนมีดุลพินิจในการใช้สติปัญญาวินิจฉัยชี้ขาด ส่วนจะเป็นการดิสเครดิตหรือไม่นั้นตนไม่ทราบว่าคนแจ้งความดำเนินคดีเป็นอย่างไร จึงไม่อยากพูดเรื่องนี้

"วีระ" ไม่แจงอนุฯ สอบ พปช.เป็นนอมินี

นายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชน ต้านคอร์รัปชั่น ( คปต.) กล่าวภายหลังเข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับอนุกรรมการสอบสวน กรณีพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทยที่มีนายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ เป็นประธานว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก ก่อนเข้าชี้แจง ได้ขอบันทึกภาพวีดีโอและเสียงไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งอนุกรรมการได้หารือกันประมาณ 15 นาที โดยให้ตนออกจาก ห้องประชุม ก่อนจะบอกว่าไม่อนุญาตบันทึกภาพ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากคณะอนุกรรมการบริสุทธ์ใจจริง ก็น่าจะให้บันทึกภาพได้เหมือนกับการที่ตนชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดอื่น

“เมื่อไม่ได้บันทึกภาพ จึงตัดสินใจไม่ชี้แจงต่ออนุกรรมการและเดินทางกลับทันที แต่ก็ทราบว่าคณะอนุฯมีหนังสือ ให้ผมเดินทางมาชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง อีกครั้งในวันนี้ ( 19 มี.ค.) แต่ตัดสินใจแล้วว่า จะขอยุติการชี้แจงจากนี้ไป เพราะดูแล้วคณะอนุพยายามเบี่ยงเบนประเด็นการสอบสวนว่าเป็นเรื่องนอมินีที่ไม่มีบัญญัติในกฎหมาย แต่ตามหนังสือที่ตนเองร้องให้สอบ คือการที่พรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทย ไม่มีคำว่านอมินีสักคำ ซึ่งการกระทำของพรรคพลังประชาชน เป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

นายวีระ กล่าวด้วยว่า จากนี้ไปจะรอแค่ฟังมติที่ประชุมกกต.ว่าจะสรุปเรื่องนี้ อย่างไร หากไม่พอใจก็จะเดินทางฟ้องร้องคณะอนุกรรมการชุดนี้ และกกต.ต่อ ป.ป.ช. เพราะตนมีหลักฐานจำนวนมาก ที่ชี้ชัดว่าพรรคพลังประชาชนมีพฤติกรรม เป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยชัดเจน

อนุฯ แจงหวั่นถูกนำไปเผยแพร่

ด้านนายไพฑูรย์ กล่าวว่า ที่อนุกรรมการฯ ไม่ให้อนุญาตให้นายวีระ บันทึกเทป เพราะหากนายวีระ นำเทปไปเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งถือเป็นบางช่วงบางตอนจะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จนเกิดความสับสนได้ ทำให้นายวีระ เกิดความไม่พอใจ และเก็บข้าวของกลับออกไปโดยที่ไม่ได้ชี้แจงอนุฯ

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า หากนายวีระ ต้องการจะทำอะไร น่าจะมีการหารือกันก่อน เพราะเป็นเรื่องของมารยาท ซึ่งเราก็พร้อมที่จะนำเทปมาบันทึกข้อความและภาพการชี้แจงของนายวีระ แต่เราไม่อนุญาตให้นำเทปไปเปิดเผย เพราะถือว่าการพิจารณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่ต้องนำมาประกอบในสำนวน ให้สมบูรณ์ อีกทั้งการเชิญบุคคลมาชี้แจงถือเป็นความลับในสำนวนและไม่สามารถ นำไปเปิดเผยก่อนได้ ประกอบกับไม่มีคณะกรรมการชุดไหนอนุญาตให้นายวีระบันทึกเทปและภาพเป็นการส่วนตัว เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสำนวน

“ผมไม่รู้ว่านายวีระ เป็นคนแบบนี้ เข้ามาถึงก็มาตั้งกล้อง และอาละวาดใส่อนุกรรมการฯ ขึ้นต้นก็ต่อว่าเรา หากว่าเราปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และนำกล้องบันทึกภาพและเสียงมาติดตั้ง โดยมารยาทแล้วต้องมีการหารือกันก่อน แต่นายวีระ ไม่ได้ขอ คณะกรรมการชุดเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้บันทึกเหมือนกัน เพราะจะทำให้กระทบต่อสำนวน อย่างนี้ก็แย่”

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า อนุกรรมการต้องรับฟังข้อเท็จจริงทุกฝ่าย หากสอบถาม นายวีระซึ่งเป็นผู้ร้อง เขาก็ต้องบอกว่าพรรคพลังประชาชนได้กระทำผิดมีพฤติกรรม เป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทย แต่หากไปสอบถามฝ่ายผู้ถูกร้องเขาก็ต้องปฏิเสธว่า เขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ดังนั้น เราจะเอาคำพูดของทั้ง 2 ฝ่ายมาเขียนในสำนวน คงไม่ได้ แต่เราต้องนำความคิดของเราที่นำไปประกอบกับกฎหมายต่างๆ และเขียนเป็นคำวินิจฉัยจึงจะถูกต้อง

ส่วนกรณีที่ กกต.ให้สอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นในวันนี้(19 มี.ค.) น่าจะชัดเจนว่าเขาจะชี้แจงเป็นเอกสาร หรือจะมาชี้แจงด้วยตนเอง แต่เชื่อว่าเขาคงไม่มาชี้แจง และคงไม่ติดใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงพยานบุคคล ที่ถูกกล่าวอ้างว่าพูดบันทึกเทปลงวีซีดีและนำมาแจกในประเทศไทย ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร ส่วนการวินิจฉัยข้อกฎหมายก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะได้ข้อยุติในสำนวนดังกล่าว และคณะกรรมการจะสรุปเสนอคำวินิจฉัยสำนวนให้กกต.ภายในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น