xs
xsm
sm
md
lg

ชลิตเตือนรธน.ศักดิ์สิทธิ์อย่าแก้เพื่อประโยชน์ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผบ.ทอ.เตือนสติรัฐบาล รธน.เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าจะแก้ต้องเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ด้าน " สุจิต บุญบงการ " ไม่เห็นด้วยแก้รธน. ระบุความชอบธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะแก้ต้องมีกระบวนการสาธารณะ แต่คงหาความชอบธรรมยากเพราะแก้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด "แม้ว" บอกเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แนะประเด็นไหนไม่ควรแก้ก็อย่าไปแตะ ประธานวุฒิสภา ยันเเงื่อนไขเวลายังไม่เหมาะควรใช้ก่อน 1 ปี วิปรัฐบาลไม่สนเสียงค้านทั้งคนนอกและพรรคร่วมรัฐบาล รีบยกร่างดันเข้าสภาวาระแรก 1 พ.ค.นี้

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. อดีตรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมคงไม่มีปัญหา รัฐธรรมนูญถือเป็น กฎหมายสูงสุด และ กฎหมายกลางเพื่อยังประโยชน์ให้คนไทยทุกคน มิใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าแก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์ก็ไม่มีใครคัดค้าน ไม่ว่าจะแก้ไขกี่ประเด็น หรือกี่มาตรา ซึ่งหากเป็นประโยชน์ต่อประเทศและผู้คนทั้งปวง ก็เป็นเรื่องดี เพราะว่าสิ่งแวดล้อมแต่ละเรื่องมันเปลี่ยนแปลงไปได้ตามระยะเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคพลังประชาชนอ้างเสียงของประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการตีขลุมมากเกินไปหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ผ่านการลงประชามติมาเหมือนกัน พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ก็ไม่ทราบ การลงประชามติครั้งที่แล้ว นั่นก็เสียงของประชาชน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ หากจะมีการแก้ไข เพื่อกลุ่มคนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนรวม ก็จะกลายเป็นข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งของกลุ่มคน
" ทุกอย่างผมคิดว่าต้องทำให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ริเริ่มมาจากกลุ่มบุคคล ซึ่งไม่น่าจะใช่กลุ่มทหาร เพราะกลุ่มคนที่พิจารณานั้นเป็นนักกฎหมายเป็นนักการเมือง และบุคคลอีกหลากหลายสาขา และ คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์ ลงมาเล่นการเมือง หรือทำงานการเมือง 2 ปี ดังนั้นกลุ่มคนที่ร่างและเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติเห็นชอบผมคิดว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ และ ศักดิ์สิทธิ์มากกว่านั้นก็คือ ได้รับพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำกันให้ดี ทำของศักดิ์สิทธิ์ให้ดี"
ส่วนที่กลุ่มคนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่มองกลุ่มคนที่คัดค้านว่าไม่เป็นประชาธิปไตยคิดว่ากลุ่มคนที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบ พวกท่านก็วิเคราะห์กันไปว่าควรจะเป็นอย่างไร ขณะนี้เป็นช่วงที่เกิดความสับสน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นตนเอง หรือ น้องๆ สื่อมวลชน เราก็มีส่วนช่วยทำให้ความร้อน ทางด้านการเมืองเพิ่มมากขึ้น จากอุณหภูมิที่มีอยู่ ต้องพยายามช่วยกันทำให้ไม่ให้ร้อนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะแก้ไข ควรเลื่อนเวลาออกไปเพื่อไม่ให้เอื้อต่อผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า หากทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหวังประโยชน์ต่อคนส่วนรวมก็คงไม่มีอะไร ส่วนที่จะมีการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นหลักในการปรับแก้ไขนั้น ตนคิดว่า ทุกคนทราบดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นพื้นฐาน แต่คงไม่ปรับปี 2540 เสียทีเดียว เพราะก่อให้เกิดข้อขัดข้องในบ้านเมืองมาเยอะแล้วอย่างที่เราเห็นมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงคำทำนายของ อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เป็นการชี้นำประชาชนหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ท่านไม่เคยให้สัมภาษณ์ใคร ต้องไปถามท่านว่าท่านให้สัมภาษณ์ใคร ตนไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าวว่าท่านให้สัมภาษณ์อย่างนั้นอย่างนี้ และ มีคนแนะนำท่านว่าควรจะฟ้องร้อง เพราะทำให้ท่านเสียหายเพราะถูกมองว่าไปยุยงให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น ต้องถามท่านว่าได้ให้ข้อมูลกับใคร ตนถามท่านว่าเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์

"สุจิต" ค้านรัฐบาลรีบแก้ไขรธน.
ด้าน นายสุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากรณีที่พรรคพลังประชาชนผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีแม่บทตายตัว แต่ถ้าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้ไขทั้งฉบับ ในทำนองคงเพียงบางหมวดไว้ ส่วนหมวดอื่นแก้หมดนั้น ควรจะมีกระบวนการสาธารณะก่อนว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆจะมาแก้ไข หรือให้กลุ่มที่มีอำนาจในขณะนั้นกำหนดวาระ
นายสุจิต กล่าวว่า อย่างการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีกระบวนการสาธารณะ มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาวิเคราะห์จนเป้าหมายชัดว่า ต้องการปฏิรูปการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะทุกคนยอมรับว่า ระบบการเมืองของประเทศมีปัญหา มีการซื้อเสียงเป็นการทั่วไป รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ จึงมีองค์กรใหม่ๆ อย่าง กกต. , ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจ การอยู่ในอำนาจ และหลังจากการดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ปัญหาตอนนั้นไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดของใคร แต่ตอนนี้มองได้ว่า เป็นการแก้เพื่อลดโทษการซื้อเสียง และพยายามหลีกหนีจากคดี
" ถ้าจะร่างใหม่ หรือจะแก้ทั้งฉบับในทำนองร่างใหม่ ต้องมีกระบวนการสาธารณะเพื่อทราบปัญหา และกำหนดเป้าหมายให้ชัด จากนั้นก็มาดูว่า จะให้ใครมาทำ จะให้มีในทำนองสภาร่างรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ ถ้ามี ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อแก้ไขกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ส่วนรูปแบบ ถ้าเอาแบบส.ส.ร. 2540 หรือ 2550 ต่างก็มีปัญหาว่า จะได้คนเหมาะสมเท่าเดิมหรือไม่ แต่เรื่องนี้รูปแบบไม่ตายตัว อยู่ที่ความชอบธรรมหรือไม่มากกว่าในการเสนอแก้ไข ถ้าชอบธรรม เอารูปแบบใดก็ได้ แต่ถ้าไม่ชอบธรรม ถึงจะออกแบบที่มาของคนที่จะมาแก้ให้ดีเพียงใด ก็ไม่ชอบธรรมอยู่ดี หรือสมมติว่า ถ้าจะหาความชอบธรรมโดยการถามประชามติว่าจะแก้หรือไม่ ก็ใช้งบถึง 2,000 ล้านบาท สรุปแล้วปัญหามีมาก ดังนั้นไม่น่ารีบแก้"
นายสุจิต กล่าวว่า ความชอบธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะส่งผลถึงการออกแบบ กระบวนการแก้ไข ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขแบบไหนจะเหมาะสมนั้นพูดยาก ต่างประเทศก็ไม่ค่อยแก้กัน ถ้าจะแก้ก็เป็นเรื่องยาก ต้องโต้เถียงสาธารณะกันเยอะมากจนชัดว่า มีปัญหาอะไรแน่ในรัฐธรรมนูญ ครั้งใหญ่ๆ ก็ที่ฝรั่งเศสในปีค.ศ.1958 หลังจากมีปัญหามาเป็นสิบปี ส่วนที่อังกฤษ เรื่องสภาขุนนาง ก็พูดกันมานานแล้วมาคิดแก้ มีการศึกษา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็เลยยังไม่แก้ ส่วนของไทย กติกาเปลี่ยนทุกปี ดังนั้นกระบวนการและกติกาแบบไหนจะเหมาะสม ก็พูดยาก แล้วยิ่งคนมีอำนาจขึ้นมาจะเปลี่ยนกติกาตามใจฉัน ก็ยิ่งไปกันใหญ่
ทั้งนี้ตอนหาเสียง ไม่มีพรรคใดพูดวาระแก้รัฐธรรมนูญในมาตราที่มีการพูดกันตอนนี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็จะมาทำตอนมีข้อกล่าวหาเรื่องการซื้อเสียงเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็มาแก้เกี้ยวไปเรื่อยๆ ว่า จะแก้มาตราอื่นๆ บางมาตราด้วย จากนั้นก็มาบอกว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มาจากการปฏิวัติ จนวันนี้มาถึงจะร่างใหม่ หรือแก้ไขทำนองร่างใหม่ ฉะนั้นตอนนี้ทำอย่างไรก็ตาม คนก็ไม่เชื่อว่า การแก้ไขจะไม่เกี่ยวข้องกับคดีที่นักการเมืองเผชิญอยู่

ประธานวุฒิฯเงื่อนไขเวลายังไม่เหมาะ

นายประสพสุช บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ว่า ได้บรรจุญัตติทั้ง 2 ญัตติ ที่สมาชิกส่งมาเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 11 เม.ย.นี้แล้ว ซึ่งส่วนตัวได้พูดไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ แต่จังหวะที่จะแก้เป็นอย่างไร คิดว่าน่าจะใช้ไปก่อน 1 ปีจึงค่อยแก้ไข แต่ตนจะปล่อยให้เป็นความเห็นของที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วยังไม่เห็นมีอะไรเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข
ส่วนที่รัฐบาลตั้งกรอบเวลาว่าจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาดำเนินการแก้ไข รัฐธรรมนูญให้ได้ก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 ก.ค.นี้นั้น นายประสพสุข กล่าวว่า เท่าที่ฟังข่าว เห็นว่าสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน และคงต้องใช้เวลา ไม่ใช่ภายในสมัยประชุมนี้
ส่วนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไข ส.ว.ที่มาจากการ สรรหานั้น นายประสพสุข กล่าวว่า ถ้าเป็นประโยชน์ของประเทศชาติก็แก้ไขได้ แต่ต้องดูประเด็นว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร หากจะแก้ในส่วนที่มาของ ส.ว.ก็ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่า ส.ว.ทั้ง 150 คน ก็ไม่ได้ดูกันว่าใครมีที่มาอย่างไร เพราะพวกเราทุกคนตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้ติดใจว่า ใครมาจากไหน เราคงรอดูว่ารัฐบาลจะเสนอแก้ไขประเด็นใดบ้าง ตอนนี้มีแต่คิดกันไปเองว่าจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ เราจะวิจารณ์ได้ก็ต่อเมื่อเห็นร่างญัตติที่เสนอเข้ามา

"ทักษิณ" บอกต้องทำรธน.ให้เป็นปชต.

ด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่รักประชาธิปไตย ที่จะต้องทำรัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ฉะนั้นการแก้ไขใดๆต้องคำนึงถึง สิทธิเสรีภาพของประชาชน คำนึงถึงตัวแทนของประชาชน ที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง ได้อย่างโปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม ส่วนเรื่องอื่นๆไม่ต้องไปห่วง ให้มันเป็นไปตามกลไกของมัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าวิตกหรือไม่ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า อย่าไปหาเรื่องกัน ต้องพยายามช่วยกัน อะไรที่ไม่ดี ไม่ควรแก้ ก็อย่าไปแก้ อะไรที่ควรแก้ก็แก้ ต้องบอกกัน ต้องเตือนกัน มองโลกอย่างสร้างสรรค์จะได้เป็นประโยชน์อย่ามองโลกในแง่ร้าย
" ถ้าคนไทยไม่ทะเลาะกันเองให้กำลังใจส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตนว่าประเทศเราเป็นประเทศที่คนอยากจะมาเยอะ จากการที่ได้คุยกับนักลงทุน นักลงทุนนักธุรกิจ ผู้นำประเทศเขาอยากมาประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีคนไทยที่น่ารักคนอยากมาเที่ยว แต่ปัญหาคือเราอย่าไปส่งสัญญาณในทางความขัดแย้ง บางทีเรื่องหมอดูเราก็ทำเป็นเรื่องใหญ่ไป ซึ่งความจริงมันไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้สัญญาณเป็นบวกมากขึ้น"
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีคนพยายามดึงพ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องว่าอยู่เบื้องหลังรัฐบาล และความขัดแย้งต่างๆพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า "อย่ามองเห็นตัวผมมากนัก ตัวผมไม่มีอะไร เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อีกไม่กี่วันกี่ปีก็ตายจากกันไป ผมไม่ได้เป็นปัญหาอะไร อยู่ก็พยายามทำประโยชน์ให้ประเทศ ไม่ได้ไปยุ่งกับการเมือง"
เมื่อถามว่า เห็นมีรัฐมนตรีหลายคนเดินตามหลังตลอด พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า เขาคิดถึงตน เพราะไม่ได้เจอกันนาน เดี๋ยวก็คงหายคิดถึง

" หมอเลี้ยบ"ให้ดูเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาล

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ พรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และพรรคเพื่อแผ่นดิน มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนว่า ตนคิดว่าเราต้องไปทีละขั้น วันนี้ เราเริ่มต้นตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในหลักการมีคนจำนวนมากเห็นด้วยที่ควรจะแก้ไข แต่เรื่องวิธีการเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้มีการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่าแกนนำรัฐบาลได้เคยหารือกันบ้างหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนนี้จะให้วิปรัฐบาลที่ได้มีการประสานกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้ามาทำงานร่วมกัน เมื่อถามต่อว่าพรรคชาติไทยก็แสดงความเห็นว่าไม่ควรแตะมาตรา 309 ตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่หรอก เพราะก็มีความเห็นออกมาในหลายมาตรา เป็นเรื่องที่เราจะไปคุยกันต่อในกระบวนการว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรแก้มาตรานั้นๆ อย่างไร ก็จะได้ทำไปตามนั้น
ส่วนกรณีที่พรรคพประชาธิปัตย์ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญทำให้ต่างชาติไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองของไทย นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในทางตรงกันข้าม คือการที่เรามีทิศทางที่แน่นอนว่าจะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตรงนี้ต่างชาติจะเกิดความมั่นใจว่าเราได้พัฒนาเรื่องประชาธิปไตยให้รุดหน้าต่อไป วันนี้ทุกคนเห็นพ้องว่าควรแก้ ไม่เห็นมีใคร บอกว่าไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญเลย เพียงแต่ว่าจะแก้อย่างไรเท่านั้น

วิปรัฐไม่สนดันเข้าสภาก่อน19พ.ค.

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนมีมติเอกฉันท์ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดยให้เริ่มแก้ตั้งแต่หมวดที่ 3 จนถึงหมวดที่ 15 โดยให้รีบดำเนินการยกร่างฯ และนำมาแก้ไข
นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างฯ มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งตนและตัวแทนทุกภาคๆ ละ 2 คน รวม 13 คน หลักการเบื้องต้นให้ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ และยื่นเข้าสู่วาระการประชุมต่อประธานสภาฯ ในเดือน เม.ย. และให้พิจารณาวาระแรกได้ก่อนวันที่ 19 พ.ค.นี้ และในช่วงปิดสมัยประชุมจะมีพิจารณาในวาระ 2 ถ้าพิจารณาวาระ 2 เสร็จ ระหว่างที่งบประมาณเข้าในเดือนมิ.ย. รัฐบาลจะต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญอยู่แล้ว ก็จะพิจารณา ในวาระ 2 และวาระ 3 พร้อมกันได้ หากเสร็จไม่ทันคงต้องรอเปิดสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในเดือนส.ค.
นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ในการประชุมของวิปรัฐบาลจะไม่มีการคุยเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องของวิปรัฐบาลอีกแล้ว และไม่รู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคจะเห็นเป็นอย่างไร ดังนั้นการประสานงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงพูดคุยกันเอง เช่น หัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค และเมื่อพรรคพลังประชาชนมีมติเช่นนี้แล้ว พรรคอื่นๆ มีความเห็นอย่างไร จะแก้หรือไม่แก้ จะแก้มากแก้น้อย จะสำเร็จเมื่อไหร่ต้องคุยกันในรายละเอียด ทั้งนี้พรรคร่วมอาจจะไปยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำร่างของตัวเองมาเสนอให้พิจารณาร่วมกันได้
ส่วนที่ฝ่ายค้านคงไม่ต้องไปหารือเพราะเขาไม่เห็นด้วยมาตลอดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ต้องให้เร็ว ตามที่พรรคเคยให้สัญญาประชาคมช่วงรณรงค์โหวตโน
ส่วนที่พรรคชาติไทยไม่เห็นด้วยให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการแก้ทั้งฉบับส่วนจะแก้มาตราใดก็ต้องคุยกันในรายละเอียดก่อน ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จก่อนการวินิจฉัยคดียุบพรรคหรือไม่นั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกัน เราไม่คำนึงว่าพรรคไหนจะยุบ พรรคไหนไม่ยุบ คดีใครไปถึงไหนเราไม่ได้คำนึง ต้องว่ากันไปตามธรรมชาติและข้อเท็จจริง

ฝ่ายค้านรอดูร่างแก้ไขของรัฐบาลก่อน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนมีมติตั้งคณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่รอมติวิปรัฐบาลว่า ต้องรอดูความชัดเจนของตัวร่างรัฐธรรมนูญก่อน เพราะถ้าวิปรัฐบาลมีความชัดเจนตามพรรคพลังประชาชน ที่จะยกร่างโดยเอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง ฝ่ายค้านจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร แล้วนำมาวิเคราะห์ก่อนจะแสดงความชัดเจนอีกครั้ง
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านเป็นห่วง มี 2 ประเด็นคือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ เป้าประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ของพรรคหรือนักการเมือง ตนเองหรือพวกพ้อง 2.การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ โดยไม่รอหรือฟังเสียงจากนักวิชาการ อดีต ส.ส.ร.หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ภาคประชาชน เพราะจะทำให้ความเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายที่สนับสุนนและคัดค้านรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตั้งรับโดยเฉพาะรัฐบาล
" จุดยืนของเราเห็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องมีกระบวนการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างที่ผ่านมา หากบอกว่าไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์นักการเมือง ให้ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้หลังจากร่าง 2 ปี ทั้งนี้ต้องดู ในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าในพรรคพลังประชาชนความคิดยังไม่ตกผลึก อาจจะชัดเจนแค่มาตรา 237 และมาตรา 309 แต่ส่วนอื่นเกี่ยวเข้ามาเพื่อเลี่ยงกระแสเท่านั้น ซึ่งก็เห็นว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญแบบอำพราง"

พิมพ์เขียวแก้ไขรธน.เสร็จแล้ว

นาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะอนุกรรมการย่างร่างแก้ไขของพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนานกว่า5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ2550โดยนำรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นฉบับประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งแล้วคงหมวด1-3ของรัฐธรรมนูญ 2550ไว้และแก้ไขเพียงมาตราที่กำหนดให้การประชุมสภานัดแรกต้องใช้องค์ประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ95 ส่วนที่เหลือจะใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งหมดเมื่อถามว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีจำนวนกี่มาตรา นายวรวัจน์ตอบว่าต้องนำไปพิมพ์ให้แล้วเสร็จก่อน จำนวนมาตราจะใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 ยกเว้นบทเฉพาะกาลที่จะมีการกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว.คงให้อยู่จนครบวาระ
เมื่อถามว่าจะมีการกำหนดการนิรโทษกรรมต่างๆไว้ในบทเฉพาะกาลอย่างไรนายวรวัจน์ กล่าวว่าต้องว่ากันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีสัดส่วนจากฝ่ายค้าน รัฐบาลและวุฒิสภาก่อน ขณะนี้จะกำหนดไม่ได้เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นายวรวัจน์ ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้มีการประชุมวิปรัฐบาลได้ถามวิปพรรคต่างๆก็เห็นด้วยในหลักการที่ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้
ด้านนาย สุขุมพงษ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะอนุกรรมการยกร่างแก้ไขของพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการแก้ไข จะเริ่มตั้งแต่หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550ในหมวดนี้ได้กำหนดเนื้อหาผูกมัดรัฐบาลมากเกินไป ไม่สามารถทำอะไรได้คล่องตัวหมวดรัฐสภา กำหนดให้ส.ส.มี 500 คนมาจากระบบเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และจากระบบบัญชีรายชื่อ100 คน ในส่วนของ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน หมวดรัฐมนตรียังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าเมื่อ ส.ส.ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากการเป็นส.ส.หรือไม่หมวดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คงไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ตัดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาในสัดส่วนของพรรคการเมืองออกไป
ทั้งนี้ โดยสรุปร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มฯจะใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เกือบทั้งหมด80% ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพียง 10% และปรับปรุงแก้ไขใหม่ 10%และจะรีบยกร่างเพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรองประธานรัฐสภา(ประธานวุฒิสภา)ก่อนสิ้นเดือนเม.ย.นี้มั่นใจว่าจะได้รับเสียงสนับสนุน ขอเสียงส.ว.เพียง 20เสียงก็เพียงพอสำหรับการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น