xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดใหม่“อสมท”ยังมืด “เพ็ญ”ท้าตรวจสอบเอ็นบีที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การหาตัวบอร์ดอสมทใหม่ยังไม่ลงตัว ชี้มี 3 แนวทางที่จะเสนอชื่อเข้ามาได้ เผยคราวนี้อาจจะเสนอชื่อมากกว่า 9 คนที่ต้องการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น สุดท้ายคงต้องลุ้นผลโหวตคะแนนเสียง คณะกรรมการสรรหาฯเล็งชง 4 บอร์ดเก่าเข้ามา ด้านจักรภพบอกอยากจะยุ่งแต่ยุ่งไม่ได้ แต่ฝากบอร์ดใหม่ต้องดูเรื่องผลประกอบการด้วย ท้าฝ่ายค้านตรวจสอบช่องเอ็นบีทีต่อเนื่อง ส่วนวสันต์ยันถ้างบภาครัฐไหลไปช่องเอ็นบีทีไม่กระเทือน

นางวิลาสิณี อดุลยานนท์ (พิพิธกุล) คณะกรรมการสรรหากรรมการหรือ บอร์ด บมจ.อสมท เปิดเผยว่า การสรรหารายชื่อคณะกรรมการอสมท ที่ว่างลงในขณะนี้จำนวน 9 ตำแหน่ง จะมีที่มาได้จาก 3 ทางคือ 1.รายชื่อที่มาจากการเสนอของกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 2. การเสนอโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแล และ 3. การเสนอโดยคณะกรรมการสรรหาบอร์ด อสมท
โดยขั้นตอนนั้น เมื่อได้รายชื่อที่เสนอมาแล้ว ก็จะเสนอเข้าสู่บอร์ดอสมทเพื่อรับรอง และนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น อสมท ในวันที่ 24 เมษายนนี้ เพื่ออนุมัติ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เมื่อมีตำแหน่งที่ว่างลงเท่าใดก็จะมีการเสนอมาตามจำนวนที่เท่ากันนั้น แต่ในครั้งนี้มีแนวคิดกันว่า อาจจะมีการเสนอรายชื่อเข้ามามากกว่าตำแหน่งที่ว่างลง แล้วให้ทางที่ประชุมผู้ถือหุ้นโหวตคะแนนกัน
ในส่วนของ คณะกรรมการสรรหา จะเสนอรายชื่อ บอร์ดเดิม 4 คนที่ถูกจับฉลากออกไปในครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ คือ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต, นางพรพิมล จุรุพันธ์, นายสหัส ตรีทิพยบุตร และนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล และจะมีผลในวันที่ 24 เมษายนนี้ ซึ่งคาดว่ารายชื่อผู้ที่ถูกเสนอจะเป็นบอร์ดใหม่นั้นอาจจะทราบได้หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการไปร่วมพิธีฉลองครบรอบ 31 ปีของ อสมท เมื่อวานนี้ว่า มีหลายคนที่เสนอตัวเข้ามาหาผมเสนอตัวเป็นบอร์ดอสมท แต่ผมได้ตอบกลับไปว่า ปัจจุบันนี้อสมทไม่ได้เป็นรูปแบบเดิมๆอีกต่อไปแล้วที่ว่า รัฐมนตรีฯจะเป็นผู้เสนอเข้าไปแล้วแต่งตั้งได้เลย เพราะอสมทเวลานี้เป็นบริษัทมหาชนแล้ว มีคณะกรรมการสรรหาโดยตรง โดยมี นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการปฎิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ บมจ.อสมท เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งจะเป็นผู้สรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติและทรงคุณวุฒิเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้รัฐบาลจะเกี่ยวข้องเพียงแค่ 2 ประเด็นคือ 1.ในส่วนของกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถเสนอรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดได้ และ 2. ตัวของผมเองที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องดูแลกระบวนการทั้งหลายให้เรียบร้อย ผมไม่สามารถเสนอได้ อยากจะยุ่งแต่ก็ยุ่งไม่ได้
นายจักรภพกล่าวต่อว่า ยังเป็นห่วงเรื่องผลประกอบการของ อสมท จึงอยากจะฝากคณะกรรมการอสมทชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานด้วย พร้อมทั้งให้ดูด้วยว่า ถ้าอะไรที่ดีก็ให้ทำต่อไป เพื่อให้องค์กร อสมท มีความก้าวหน้ามากขึ้น
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของอสมท ไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าน่าจะดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วพอสมควร ซึ่งยังต้องรอการประชุมผู้ถือหุ้นก่อนจึงจะเปิดเผยได้ ที่ผ่านมาเราพยายามทำงานกันเต็มที่ ซึ่งผลประกอบการที่ดีขึ้นนี้มาจากการพัฒนารายการต่างๆที่ดีขึ้น การมีโฆษณาเข้ามามากขึ้น รวมทั้งการปรับค่าโฆษณาด้วย ซึ่งขณะนี้เรามีแชร์เพิ่มขึ้นประมาณ 17-18% ของเม็ดเงินใช้โฆษณาโดยรวม
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า การที่ช่อง 11 ปรับเปลี่ยนเป็น ช่องเอ็นบีที จะทำให้งบประมาณโฆษณาของภาครัฐไหลไปที่ช่องเอ็นบีทีมากขึ้น จากเดิมที่งบประมาณโฆษณาของหน่วยงานภาครัฐนั้นจะใช้ช่องโมเดิร์นไนน์เป็นสื่อหลัก
นายวสันต์กล่าวว่า คงไม่กระทบเท่าใด เนื่องจากว่า อสมท ได้พยายามปรับสัดส่วนหันมาพึ่งงบประมาณโฆษณาจากภาคเอกชนและเอเจนซี่มากขึ้น เนื่องจากเรามองว่าหากจะแข่งขันกันในวงการสื่อทีวีแล้ว จุดหลักต้องอยู่ที่งบโฆษณาเอกชน ซึ่งในอดีตทางอสมทมีสัดส่วนงบประมาณโฆษณาจากภาครัฐค่อนข้างสูง แต่เดี๋ยวนี้เหลือประมาณ 10% เท่านั้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้งบโฆษณาจากภาครัฐไว้ที่ 400 กว่าล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีประมาณ 300 กว่าล้านบาท
นายจักรภพ ยังได้กล่าวถึงกรณีช่องเอ็นบีทีที่มีหลายฝ่ายรวมทั้ง นายอลงกรณ์ พลบุตรท พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตุถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องของการเปิดให้บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้บริหารงานด้านข่าวและการโฆษณา โดยให้ผลตอบแทนกับกรมประชาสัมพันธ์เพียง 40 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ ด้วยว่า
“ ผมดีใจที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจรวมทั้งนายอลงกรณ์ด้วยที่เข้ามาดูแลและตรวจสอบตรงนี้ เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่อของเอ็นบีทีเราสว่างไสวมากไปกว่าการที่มีฝ่ายค้านมาตรวจสอบ ซึ่งขอให้ตรวจสอบต่อเนื่องด้วย และขอให้เสนอแนะอะไรที่ยังขาดไปด้วย ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็น อสมท หรือ ช่องเอ็นบีที หรือกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่เป็นสมบัติส่วนตัวของใคร คนที่มาบริหารก็มาชั่วคราวทั้งสิ้น ผมรอมานานแล้วที่จะมีการตรวจสอบในระบบรัฐสภา”
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า ตนจะเรียกผู้จัดรายการของช่อง 11 เดิม ทั้งหมด เพื่อมาประชุมร่วมกันว่า แนวทางจะเป็นอย่างไร เพราะหลายคนกลัวหลุดผัง หรือใครมีอะไรก็เสนอแนะมาได้ จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งมีมากกว่า 100 รายทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น แต่ถ้ามีเราก้พร้อมที่จะสู้ในชั้นศาล รวมทั้งเรื่องการโฆษณาด้วย ภายหลังจากที่พรบ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีผลใช้เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้มีหลายคนยังทำผิดกฎหมายอยู่ทั้งเคเบิ้ล วิทยุชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น