xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “จักรภพ” ส่อ “ขัด รธน.”- ผิดอาญา “ม.157”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ตั้งแต่มี รมต.ที่กำกับดูแลสื่อมา คงไม่มี รมต.คนไหนใช้อำนาจล้วงลูก-แทรกแซงสื่อเกินหน้า “จักรภพ เพ็ญแข” เป็นแน่ เพราะตั้งแต่วันแรกที่ฝันเป็นจริง-ได้เป็น รมต.ก็ประกาศกร้าวว่าจะจัดระเบียบสื่อ แถมไม่ยี่หระว่าจะใครมองว่าล้วงลูกสื่อ เพราะถ้ากลัวเปลืองตัว ก็คงไม่มาเป็น รมต.มาถึงวันนี้ ไม่เพียงผลงานอื้อฉาวของเขาจะเริ่มนับไม่ถ้วน ทั้งแทรกแซงวิทยุกรมประชาฯ สั่งยึดคลื่นคืน, ทั้งล้วงลูก อสมท-ขู่ปลด ผอ., ทั้งแทรกแซงช่อง 11 สั่งปลดรายการไม่เป็นธรรม แถมส่อมุบมิบ-ฮั้วเอกชนบางรายให้ร่วมงานกับเอ็นบีที แต่ผลงานเหล่านี้ยังอาจทำให้เขาถูกถอดจากการเป็น รมต.แถมถูกดำเนินคดีอาญาได้

ขณะนี้ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่สังคมมองว่า ได้ดิบได้ดีมาเป็นรัฐมนตรีได้จากบทบาทแกนนำ นปก.ที่ต่อต้าน คมช.และปกป้องทักษิณ กำลังส่อว่าจะทำผิดกฎหมายหลายฉบับและหลายมาตรา อันเป็นผลพวงจากการลงไปล้วงลูกสื่อ-แทรกแซงสื่อ ทั้งสื่อของรัฐอย่างสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ล่าสุด ถูกนายจักรภพแปลงโฉมเป็น “เอ็นบีที” เพื่อรองรับพนักงานทีไอทีวี ส่วนสถานีวิทยุในเครือกรมประชาสัมพันธ์ นายจักรภพก็ไม่เว้น โดยสั่งให้กรมยึดคลื่นวิทยุคืนจากผู้รับสัมปทานถึง 5 สถานี ไม่เท่านั้น นายจักรภพ ยังแทรกแซงเลยไปถึงสื่อที่ไม่ใช่ของรัฐแล้วอย่าง อสมท ที่รัฐเป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่เจ้าของ การตัดสินใจหรือดำเนินการใดใดต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการหรือบอร์ด แต่ นายจักรภพ กลับลงไปเจ้ากี้เจ้าการ ทั้งจะเสนอรายชื่อบอร์ดที่ว่างอยู่ ทั้งขู่ปลด ผอ.อสมท ทั้งออกมาเผยผลประกอบการของ อสมท ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่มีอำนาจ ส่งผลให้หุ้น อสมท ร่วง 2 วันซ้อน!

ลองมาไล่เรียงพฤติกรรมและคำพูดของนายจักรภพแต่ละกรรมแต่ละวาระดูว่า เป็นไปด้วยเจตนาหวังดี ต้องการให้สื่อของรัฐเป็นกลาง หรือต้องการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องกันแน่

เริ่มด้วย เมื่อวันที่ 24 มี.ค.นอกจากนายจักรภพจะร่วมแถลงเปิดตัวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีที่แปลงโฉมมาจากช่อง 11 ซึ่งมีการนำอดีตพนักงานทีไอทีวีมาเป็นผู้ประกาศจำนวนมากแล้ว นายจักรภพ ยังยอมรับกรณีที่มีข่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้ยึดคลื่นวิทยุคืนจากผู้รับสัมปทาน 5 สถานี โดยนายจักรภพ บอกว่า ตนได้ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานี ประกอบด้วย เอฟเอ็ม 88 เมกะเฮิรตซ์, เอฟเอ็ม 93.5, เอฟเอ็ม 95.5, เอฟเอ็ม 97.0 และวิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม 105 (รายการของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่คลื่นนี้ก็ถูกปลดไปก่อนหน้าแล้ว) โดย นายจักรภพ อ้างเหตุที่ให้ยึดคลื่นคืน ว่า เพื่อให้การเสนอข่าวมีความสมดุล-เป็นกลาง ไม่ใช่ว่าเป็นสถานีวิทยุของรัฐแล้วมีแต่รายการที่ชี้แต่ความพินาศของบ้านเมือง!?!

เหตุผลดังกล่าวของ นายจักรภพ คงสะท้อนแล้วว่า ความเป็นกลางที่นายจักรภพอ้าง ก็คือ สื่อของรัฐต้องเชียร์รัฐบาลอย่างเดียว ห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หาไม่แล้วต้องโดนยึดคลื่นคืนแบบนี้ นายจักรภพ ยังโกหกสาธารณชนด้วยว่า การยึดคลื่นคืนครั้งนี้ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นช่วงที่คลื่นดังกล่าวหมดสัญญาพอดี ทั้งที่ผู้บริหารคลื่นบางคลื่น เช่น วิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม 105 ยืนยันว่า สัญญาสัมปทานคลื่นดังกล่าวยังไม่หมด และอีกนานกว่าหมดสัญญา

ไม่เพียง นายจักรภพ จะแทรกแซงกรมประชาสัมพันธ์ด้วยการสั่งให้ยึดคลื่นวิทยุคืน 5 สถานี แต่เขายังพูดพาดพิงไปถึงการดำเนินงานและผลประกอบการของ อสมท ซึ่งไม่ใช่สื่อของรัฐแล้ว เพราะแปรรูปไปเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว รัฐจึงเป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่เจ้าของ โดยอยู่ๆ นายจักรภพ ก็ออกมาอ้างว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้านในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 7 ปี (เป็นที่น่าสังเกตว่า นายจักรภพ ไม่ยอมรวมรายได้ที่ อสมท ได้รับจากสัมปทานช่อง 3 และทรูวิชั่นเข้าเป็นรายได้ แล้วรีบชี้ว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้าน แถมอ้างผลประกอบการของ อสมท เพียงเดือนเดียว ทั้งที่ปกติแล้วการดูผลประกอบการต้องดูเป็นรายไตรมาส) นายจักรภพยังพูดทำนองดิสเครดิตผู้บริหาร อสมท ซึ่งหมายถึงนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ด้วยว่า มีการบริหารงานที่น่าสงสัย!?!

นอกจาก นายจักรภพ จะออกมาตั้งข้อกล่าวหาว่า นายวสันต์ บริหารงานไม่โปร่งใสและทำให้ อสมท ขาดทุนแล้ว นายจักรภพยังได้สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของ อสมท พร้อมตั้ง ตัวเองเป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว สรุปก็คือ ตนเป็นทั้งผู้กล่าวหาและเป็นประธานสอบ ไม่แค่นั้น นายจักรภพ ยังพูดชัด (25 มี.ค.) ว่า สัปดาห์หน้า (ซึ่งก็คือสัปดาห์นี้) ตนจะเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นกรรมการบริหาร(บอร์ด)อสมท ที่ว่างอยู่ 9 คน จาก 13 คน (ทั้งที่อำนาจและหน้าที่การเสนอชื่อบอร์ดเป็นของคณะกรรมการสรรหาในบอร์ด อสมท) โดยนายจักรภพ ยังยืนยันด้วยว่า รายชื่อบอร์ดที่จะตั้งจะไม่มี นพ.เหวง โตจิราการ,นายจรัล ดิษฐาอภิชัย หรือ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยแต่อย่างใด โดย นายจักรภพ บอก รายชื่อบอร์ดที่จะเสนอ ต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค.นี้ และจากนั้นจึงจะพิจารณา ต้องปรับเปลี่ยนผู้บริหารคนปัจจุบัน โดยเฉพาะ กก.ผอ.ใหญ่หรือไม่ หากผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลเสนอความคิดว่า อย่างนี้คงจะไปลำบาก ที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็อาจจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนตอนนั้น นายจักรภพ ยังส่งสัญญาณให้นายวสันต์พิจารณาตัวเองไม่ต้องรอให้ปลดออก โดยบอก “ผู้บริหารปัจจุบันอย่าลืมดูผลงานของตัวเองด้วย อสมท เคยขาดทุนมา แล้วได้กำไรสมัยที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ มาเป็น กก.ผอ.ใหญ่ จากนั้นเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร ผลประกอบการก็ลงเหวเรื่อยมา จากกำไรมาเป็นขาดทุนครั้งแรก 27 ล้าน...”

ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ให้สัมภาษณ์ (25 มี.ค.) ยืนยันว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาทำงาน อสมท ในเดือน มี.ค.2550 จะเห็นว่าผลประกอบการครึ่งแรกของปีสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ครึ่งปีหลัง ผลประกอบการก็สูงกว่าครึ่งปีแรก 35% และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นอีกในปีนี้ ส่วนผลประกอบการในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น นายวสันต์ ชี้แจงว่า ทุกคนก็รู้ว่ามีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์) แต่ยังมั่นใจว่า ผลประกอบการปีนี้จะเป็นไปตามเป้า คือ ขยายตัว 15-20%

ด้านโบรกเกอร์หลายราย ต่างแสดงความข้องใจว่า เหตุใดนายจักรภพจึงมองผลประกอบของ อสมท เพียงเดือนเดียว แถมเดือนดังกล่าว คือ เดือน ม.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ไม่เฉพาะ อสมท มักจะมีรายการพิเศษเพื่อถวายความอาลัยตลอดทั้งเดือน ส่งผลให้ไม่มีรายการบันเทิง รายได้จากการโฆษณาย่อมน้อยลงเป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นดังกล่าวที่หลายฝ่ายมองว่านายจักรภพทำไม่เหมาะสมที่จะมาล้วงลูกหรือส่งสัญญาณให้บอร์ดปลด กก.ผอ.ใหญ่ อสมท แต่สิ่งที่ นายจักรภพ นำมาเป็นเครื่องมือในการเล่นงานหรือเปลี่ยนตัว กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ครั้งนี้ คือ การนำผลประกอบการของ อสมท มาพูดต่อสาธารณะด้วยการอ้างว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้านนั้น ยังส่อว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ด้วย ฐานเผยแพร่ข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์หรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือปั่นหุ้น โดยเฉพาะมาตรา 238, 239, 240 (ม.239 ระบุว่า ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือผู้มีส่วนได้เสีย แพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า หลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง เว้นแต่จะเป็นการแพร่ข่าวในข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แล้ว)

อย่างไรก็ตาม นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาป้อง นายจักรภพ โดยบอก การที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแล อสมท ออกมาระบุว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้าน ไม่ถือเป็นความผิด แค่ไม่เหมาะสม ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.(ซึ่งเคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลต้องการให้นายธีระชัยไปเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แทน นางธาริษา วัฒนเกส) ก็ได้ออกมาป้องนายจักรภพเช่นกันว่าไม่น่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 239 และ 240 เพราะ นายจักรภพ ไม่ได้เป็นผู้บริหารหรือกรรมการใน อสมท เป็นเพียงรัฐมนตรีที่กำกับดูแล

ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แสดงท่าทีต่อกรณีที่ นายจักรภพ สั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานี แถมแสดงพฤติกรรมข่มขู่คาดโทษและสั่งตั้งกรรมการสอบ กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ว่า อาจเข้าข่ายกระทำการต้องห้ามตาม รธน.2550 มาตรา 266 และ 268 (ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินงานของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่...) ดังนั้น สมาคมวิชาชีพสื่อจะดำเนินการเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.

ขณะที่ ส.ว.บางส่วน ก็เห็นว่า คำพูดและการกระทำของ นายจักรภพ น่าจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตราเช่นกัน และได้เตรียมเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของนายจักรภพว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ หากตีความว่าขาด นายจักรภพก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีทันที

ด้าน นายจักรภพ ซึ่งแม้ปากจะบอกว่าพร้อมให้ตรวจสอบ แต่ดูเหมือนใจจะเริ่มฝ่อไปแล้ว จึงได้ออกมาแก้ตัวด้วยการพูดใหม่ (28 มี.ค.) ว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสรรหาบอร์ด อสมท ที่ว่างลง เพราะเป็นหน้าที่ของกรรมการสรรหา ที่ขณะนี้นายจุลยุทธ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน (น่าสงสัยว่า ถ้าปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธานกรรมการสรรหาบอร์ดที่ว่างลง แล้ว รมต.ประจำสำนักนายกฯ อย่างจักรภพจะไม่แทรกแซงหรือชี้นำการเสนอรายชื่อบอร์ดอย่างนั้นหรือ) และว่า การเปลี่ยนแปลงตัว กก.ผอ.ใหญ่ ตนก็ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของบอร์ดโดยตรง ส่วนที่ว่ารอให้ถึงเดือน เม.ย.แล้วค่อยจัดการนั้น ตนก็เพียงรายงานปฏิทินเวลาให้ทราบเท่านั้นว่านั่นคือเวลาของการประชุมผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ปัญหาของ นายจักรภพ ไม่ได้อยู่แค่การแทรกแซงสื่อเท่านั้น แต่การปรับโฉมช่อง 11 เป็นเอ็นบีทีเพื่อรองรับพนักงานทีไอทีวีที่ตกงาน แต่อ้างว่าเป็นการปรับเพื่อเพิ่มความสมดุลของข่าวสารและความเป็นมืออาชีพนั้น อาจเกิดปัญหาตามมาอย่างน้อย 2 จุด 1.นายจักรภพได้สั่งปลดรายการเดิมของช่อง 11 หลายรายการ ทั้งที่รายการนั้นยังไม่หมดสัญญากับทางช่อง 11 เช่น รายการ “ทิศทางเศรษฐกิจ” ของ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นักจัดรายการชื่อดังและอดีตสมาชิกสภาร่าง รธน.2550 2.นายจักรภพ อาจเข้าข่ายฮั้วหรือมุบมิบให้เอกชนบางรายเข้ามาร่วมงานกับเอ็นบีทีหรือไม่ เพราะ นายสุริยงค์ ปุณฑสาร รักษาการ ผอ.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ยอมรับว่า บริษัท ดิจิตอล มิเดีย โฮลดิ้ง ของอดีตพนักงานทีไอทีวี ได้รับเลือกให้มาร่วมงานกับเอ็นบีที เพราะเสนอสิทธิประโยชน์ให้เอ็นบีทีสูงกว่ารายอื่น คือ 45 ล้านบาทต่อปี (สัญญา 2 ปี)

ลองไปดูกันว่า ผู้เกี่ยวข้องและหลายๆ ฝ่ายในสังคมจะรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมต่างๆ ของนายจักรภพ เริ่มด้วย นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตสมาชิกสภาร่าง รธน.2550 เจ้าของรายการ “ทิศทางเศรษฐกิจ” ที่ถูกปลดออกจากผังรายการช่อง 11 ทันทีที่เปลี่ยนเป็นเอ็นบีที เผยว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมายอยู่ว่าจะฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะรายการของตนยังไม่หมดสัญญา จะหมดสัญญาสิ้นเดือน มิ.ย.การแจ้งยกเลิกกะทันหันโดยแจ้งล่วงหน้าแค่ 1-2 วัน ทำให้ตนและผู้ร่วมงานได้รับความเสียหาย ขณะที่เหตุผลในการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายการ ก็มีการอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีจักรภพ และอ้าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ

นายพิเชียร ยังบอกด้วยว่า เท่าที่ทราบมีรายการที่ถูกปลดออกจากผังประมาณ 6 ราย สำหรับรายการของตนอยู่กับช่อง 11 มานานถึง 11 ปี เปลี่ยนรัฐบาลมากี่รัฐบาล รายการก็ไม่เคยได้รับผลกระทบ และไม่อยากคิดว่า การที่รายการตนถูกปลด เพราะรัฐบาลมองว่าตนเป็นพวก คมช.เป็นคนที่ร่วมรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะถ้ารัฐบาลคิดอย่างนั้นก็คิดน้อยไปหน่อย นายพิเชียร ยังแฉถึงสารพัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลนี้ที่น่าจะผิดกฎหมาย ทั้งการแทรกแซงสื่อและการส่อฮั้วกับเอกชนบางรายในการให้มาร่วมงานกับเอ็นบีที โดยมีคอลัมนิสต์ใหญ่คนหนึ่งกับอดีตนักการเมืองใหญ่ภาคอีสานเป็นโต้โผ

“ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงหรือเข้ามายุ่มย่ามอะไรกับสื่อ เพราะมันก็จะซ้ำรอยเดิมของรัฐบาลชุดที่แล้ว ชุดทักษิณที่เข้ามาแทรกแซงถึงขั้นคุกคามสื่อเลย และที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน ก.พ.ก็มี อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ก็โดนปลดรายการไป ที่ เอฟเอ็ม 105 แล้วก็มาถึงรายการทีวีช่อง 11 (รายการ) ทิศทางเศรษฐกิจ แล้วก็จะมายึดคลื่นวิทยุคืนอีก 5 สถานีเอฟเอ็มของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็จะทำให้มีคนว่างงาน ตกงาน โอ้โห! ผมว่าหลายร้อยคน น่าจะเป็นพันเลยมั้ง 5 สถานีนี้ ซึ่งก็ เขา(จักรภพ) ก็อ้างว่าจะยึดไปเพื่อไปดำเนินกิจการเอง โดยอ้างว่ากลัวว่าเดี๋ยวมี กสช.หรือ กสทช.มา ก็จะกลายเป็นว่า เขาไม่ได้ดำเนินการเอง ก็จะถูกยึดคลื่นกลับ แต่ผมดูแล้วเหตุผลมันฟังไม่ค่อยขึ้น แต่จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสังเกตสำหรับเรื่องสื่อของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การที่เขาให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในช่อง 11 เนี่ย อันนี้ผมเกรงว่า อาจจะผิดกฎหมายนะ เท่าที่ผมดู เพราะ 1.ไม่ได้มีการเปิดให้มีการประมูลหรือให้เข้ามาแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขทีโออาร์ของการที่จะเข้ามาจัดรายการในช่อง 11 บริษัทอะไร (ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง) ที่ดึงเข้ามาก็ทุกคนก็เห็นว่า ไปดึงอดีตพนักงานสถานีไอทีวีเก่า”

“เห็นว่า มี “คอลัมนิสต์ใหญ่คนหนึ่ง” ที่เข้ามาบงการร่วมกับ “อดีตนักการเมืองที่ จ.อีสาน” 2 คนเป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งผมฟังอย่างนี้แล้วผมก็ไม่ค่อยสบายใจ และผมก็ไม่อยากจะคิดว่า มันเป็นอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเนี่ย จริงๆ แล้วผิดกฎหมาย รัฐมนตรีและรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และ ผอ.ช่อง 11 จะต้องรับผิดชอบ ถ้ารัฐบาลชุดนี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะคุณไม่ได้เปิดเงื่อนไขให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม อยู่ดีดีคุณก็ดึงบริษัทนี้เข้ามาทำ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย หลักเกณฑ์คุณมั่วมาก พูดตรงๆ นะ ที่ คุณสุริยงค์ (ปุณฑสาร รักษาการ ผอ.เอ็นบีที) ประกาศเนี่ย เป็นหลักเกณฑ์ที่ผิดเลย ถ้าเป็นอย่างที่คุณสุริยงค์ประกาศเนี่ย เพราะคุณไม่ได้ประกาศเปิดเผยหลักเกณฑ์ของคุณในระยะเวลาที่เพียงพอด้วย คุณต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์นี้อย่างน้อยต้อง 1 เดือน หรือ 2 เดือน และเปิดโอกาสให้มีบริษัทต่างๆ เข้ามาแข่งขันประมูล ที่คุณอ้างว่า บริษัทอะไรเนี่ยเขาเสนอมา 45 ล้านต่อปี อาจจะมีบริษัทอื่นเขาเสนอเยอะกว่านี้อีกเยอะก็ได้ ในเชิงของตัวเงินและในเชิงของหลักการนโยบาย บุคลากรที่เข้ามาทำงาน คือทุกคนก็มีประสบการณ์ทั้งนั้น แล้วบริษัทของคุณ (ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง) เพิ่งจดทะเบียนเมื่อเดือน ต.ค.หรือ พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง บริษัทยังไม่ครบ 2-3 เดือนด้วยซ้ำ หนังสือรับรองออกหรือยัง ยังไม่รู้เลย แล้วคุณมาให้เขาดำเนินการได้ยังไง อันนี้ผิดเต็มๆ เลยนะในเชิงข้อกฎหมายเนี่ย เพราะฉะนั้นแน่นอนล่ะ กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกำกับดูแล ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ถ้าเกิดกรณีข้อกฎหมายขึ้นมาอย่างหนึ่งอย่างใด เกิดมีใครไปฟ้องร้องทั้งศาล และทั้ง ป.ป.ช.ผมก็คิดว่ามันเลี่ยงไม่ออกน่ะ งานนี้ คือดูในมุมไหนก็แล้วแต่ มันผิดกฎหมายทั้งสิ้น”

ส่วนกรณีที่ นายจักรภพ ออกมาพูดว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้านนั้น นายพิเชียร มองว่า แม้นายจักรภพอาจจะไม่ได้มีเจตนาด้านการเงินให้ได้กำไรหรือขาดทุนจากราคาหุ้น อสมท ที่ได้รับผลกระทบ แต่เจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารองค์กรมากกว่า ก็ถือว่าเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ อยู่ดี เพราะกฎหมายห้ามเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญของบริษัทหลักทรัพย์ก่อนแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์

ด้าน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ชี้เช่นกันว่า คำพูดและการกระทำของนายจักรภพหลายอย่างน่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งในแง่ขัด รธน.ซึ่งอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรี และอาจผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์เรื่องเผยผลประกอบการของ อสมท

“ผมคิดว่าคุณจักรภพเนี่ย คงจะไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเข้าใจว่า บริษัทมหาชนที่เข้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขาห้ามไม่ให้บอกผลประกอบการออกมาก่อนที่จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีสิทธิที่ผู้ใดจะนำผลประกอบการออกมาพูด เพราะถ้าคุณพูด มันจะทำให้คนมีส่วนได้เสีย ถ้าคุณบอกว่า ขาดทุน คนที่ถือหุ้นอยู่มันก็ขายก่อน ก่อนที่หุ้นราคาจะตก แต่ถ้าคุณบอกว่ามีกำไรมาก คนก็ซื้อหุ้นก่อน ก่อนที่ราคาจะขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มีกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ก็เพื่อไม่ให้ผู้ที่มีข้อมูลภายในออกมาพูดก่อน เพราะฉะนั้นคุณจักรภพจะมีเจตนาหรือไม่ ผมยังมองในแง่ดีว่า คงไม่มีเจตนาที่จะทำให้คนรวย แต่ผมยังมองเจตนาเพียงแค่ว่าเป็นผู้ที่ละเว้นและไม่รู้และเฟอะฟะไปตามเรื่อง นึกว่าเป็น รมต.แล้วจะทำอะไรก็ได้ ก็คล้ายๆ กับที่คุณสมัครเคยพูดว่า เป็นพวก “มะม่วงจำบ่ม” คือ มันยังไม่แก่พอ แกก็ไม่รู้ อาจจะมีเจตนาเพียงแค่เอาไว้กดดัน คุณวสันต์ ว่า ในช่วงที่ คุณวสันต์ เป็น ผอ.อสมท ขาดทุนไป 27 ล้าน ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ยอมพูดให้มันชัดเจนว่า อสมท เนี่ย ก็ต้องทำงานสนอง เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสิ้นพระชนม์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการทำงานสนองโดยการที่มีพระราชกรณียกิจเป็นระยะเวลายาวนาน ตกลงค่าสัมปทาน ค่าเช่าคลื่นอะไรต่ออะไรตอนนั้นก็ต้องงดเว้น แล้ว (จักรภพ) เอาเหตุนี้มาบีบ คุณวสันต์ ผมว่ามันก็ดูไม่ค่อยสวย”

“และการบีบ คุณวสันต์ ก็เป็นการจงใจหรือส่อให้เห็นว่า ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปล้วงลูกในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการกระทำผิด รธน.มาตรา 266, 268 ต่อเนื่องกัน ซึ่งไม่มีสิทธิในการเข้าไปล้วงลูกในรัฐวิสาหกิจ การที่จะอ้างว่า เป็น รมต.ที่กำกับดูแล อสมท จริงๆ แล้ว รมต.ที่กำกับดูแล อสมท หรือช่อง 11 เขามีหน้าที่ที่จะกำกับดูแลให้ใช้สื่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่ใช้สื่อเพื่อหากิน ไม่ใช่ใช้สื่อเพื่อจะได้กำไร แต่ที่ไปเน้นว่าขาดทุนว่าไง อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ รมต.สำนักนายกฯ บุคคลที่ถือหุ้นใหญ่ ก็คือ กระทรวงการคลัง หน้าที่ของกระทรวงคลังเขาในการที่เขาจะดูว่าได้กำไรหรือขาดทุน รมต.ประจำสำนักนายกฯ มีหน้าที่ในการที่จะต้องต่อรองกับ รมต.คลัง ว่า ถ้ามัน (อสมท) มีสาระ แล้วมันหาเงินไม่ได้เนี่ย สังคมได้ประโยชน์ คุณจะเอาเรื่องเงินไปจัดการกับเขาไม่ได้ นี่คือ หน้าที่ของ รมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่นี่ด้วยความเฟอะฟะ ความไม่ถูกใจ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจแม้กระทั่งบทบาทของ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็ทำอะไรออกไปอย่างสุ่มเสี่ยง อย่างไม่รู้เรื่อง อย่างย่ามใจ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ก็ให้ระมัดระวังว่า เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการแทรกแซงสื่อ โดยเฉพาะเรื่องการจะยึดคลื่นวิทยุ 5 คลื่นมาคืนด้วย โดยการที่บอกว่า มันมีบางคลื่นได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากเกินไป อันนี้ก็ให้ระมัดระวังว่าถ้าหากว่าจะมีคนดำเนินคดีคุณจักรภพก็ดำเนินการได้ 2 ทาง ทางหนึ่งก็เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็มาตรา 157 อีกทางหนึ่งก็คือ ถอดถอน (ออกจากการเป็น รมต.) เพราะส่อว่าหรือจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตาม รธน.อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา และเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ที่จะต้องคอยดูแลว่า ให้องค์กรต่างๆ ดำเนินการตามกฎหมาย”

ดร.เจิมศักดิ์ ยังถามรัฐมนตรีจักรภพ ด้วยว่า การที่ปรับช่อง 11 เป็นเอ็นบีที แล้วให้เอกชนบางรายเข้ามาร่วมงานนั้น มีการปฏิบัติตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ หรือไม่ และมีการประเมินแล้วหรือยังว่า มูลค่าการลงทุนทั้ง 2 ฝ่ายถึง 1 พันล้านหรือไม่ ถ้าถึงก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (พ.ร.บ.เข้าร่วมการงานของรัฐและเอกชน พ.ศ.2535) หรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะถือว่าสัญญาที่ทำขึ้นเป็นโมฆะ และผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

“ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่ว่า คุณจักรภพ คงเตรียมเอาช่อง 11 ไปให้บรรดาพรรคพวกเอาไว้ทำมาหากิน ไม่ว่าจะเปิดประมูลหรือทำอะไรก็ตาม ก็เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจำกัด และทำในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องเปิดซอง ไม่ต้องดูการเสนอ ทุกคนก็พอจะรู้กันอยู่ เพราะคุณสมัครได้ออกมาพูดไว้ก่อนแล้วว่า จะหาที่หาสถานีไว้ให้กับพวกไอทีวีที่คุณสมัครถือว่ามีฝีมือ ในความเป็นจริงก็คือ มีฝีมือในการคอยเชลียร์รัฐบาลและปกป้องรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องดูผลทุกคนเขาก็รู้ แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าวสอดคล้องกับระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ หรือไม่ในการที่ไม่ได้เปิดกว้างให้คนมาร่วมการงาน นั่นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 ได้เป็นไปตามกระบวนการร่วมการงานระหว่างรัฐกับเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐกับเอกชนปี 2535 หรือไม่ เพราะมีปัญหาว่า ถ้าหากว่าการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนมูลค่าการลงทุน 2 ฝ่ายรวมกันเกิน 1 พันล้านเนี่ย จะต้องยื่นผ่านกระบวนการ ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของหน่วยงานจะทำสัญญาได้เลย แต่จะต้องผ่านกระบวนการที่จะต้องผ่านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แล้วก็ไปผ่านกระทรวงการคลัง แล้วก็เข้า ครม.ต้องให้ ครม.เห็นชอบ”

“คำถามคือ ขณะนี้คุณจักรภพได้ทำแล้วหรือยัง ได้มีการประเมินแล้วหรือยัง เพราะคำว่า “เงินลงทุน” เฉพาะช่อง 11 เนี่ย ให้รวมถึงที่ดิน อาคาร เครื่องส่ง เครื่องใช้ทุกอย่างในสถานี เสาส่ง และรวมถึงสถานีที่อยู่ต่างจังหวัดอีก 6 แห่ง 6 ศูนย์ที่มีเสาส่ง มีจานรีเลย์ คือ มีจานรับสัญญาณและส่งสัญญาต่อทั่วประเทศ รวมทั้งคลื่นที่สำคัญคือตัวคลื่นเนี่ย มันมีมูลค่ามหาศาล เพราะแค่เขาประมูล อยากจะได้คลื่นไปทำเนี่ย ตัวคลื่นความเป็นเจ้าของคลื่นมันมีเงินลงทุนอยู่ และยังต้องรวมของเอกชนอีก เพราะฉะนั้นการลงทุนถ้าถึง 1 พันล้าน ผมไม่ได้บอกว่าถึงหรือไม่ถึงนะ ผมบอกว่า ถ้าถึง 1 พันล้าน แล้วไม่ได้กระทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน สัญญาที่ทำก็เป็นโมฆะ คนที่ทำสัญญาก็จะถูก ม.157 คือ ละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โทษจำคุก จะคล้าย ๆกับคิงส์พาวเวอร์กับสุวรรณภูมิ ที่ย่ามใจ นึกอยากทำอะไรก็ทำ และในที่สุดมันก็เกิน 1 พันล้าน สัญญาก็ต้องโมฆะ มันก็คล้ายๆ กัน”


ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีเงากระทรวงการคลัง มองกรณีนายจักรภพออกมาพูดว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้านจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือไม่ว่า ถ้าในแง่การใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์ เทรดดิ้ง) อาจไม่ผิด ถ้าไม่มีผู้ได้ประโยชน์ แต่ในแง่การเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์น่าจะผิด ถ้าจะบอกว่าไม่ผิดเลยไม่น่าจะเป็นไปได้

“ผมคิดว่า การใช้ข้อมูลภายใน มันต้องมีคนที่ได้ประโยชน์ พูดง่ายๆ สมมติว่า ผมมีข้อมูลภายใน ผมไปบอกใครสักคน แล้วคนคนนั้นเอาไปซื้อหรือขายหุ้นจะได้กำไร ผมว่าถ้าอย่างนั้นเนี่ย ผิด หรือสมมติคุณจักรภพ มีหุ้น ขายก่อนแล้วก็พูดออกมา ทำให้หุ้นตก หรือพูดออกมาแล้วหุ้นตก แล้วก็เลยซื้อหุ้นถูก อย่างนั้นน่ะผิด แต่ในกรณีนี้ผมเข้าใจว่า คุณจักรภพไม่ได้ขายหรือซื้อหุ้น เพราะฉะนั้นในแง่นั้นมันไม่ผิด แต่ยังไงก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่าต้องผิดในเรื่องของ เขาเรียกว่า การเปิดเผยข้อมูล เพราะคุณจักรภพ คือคุณธีระชัย (ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต.) ออกมาพูดบอกว่า (จักรภพ) ไม่ได้เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่บริษัท (อสมท) เพราะฉะนั้นที่ (จักรภพ) ออกมาพูดนั้น ไม่ผิด ผมคิดว่า (การตีความกฎหมายแบบนี้) มันจำกัดความกฎหมายมากเกินไป เพราะคุณจักรภพได้ข้อมูลในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล อสมท ในฐานะเป็น รมต.ผมเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้น ทีนี้การที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลในลักษณะที่สร้างความเสียหาย ผมว่าผิดแน่นอน เพราะมันมีขั้นตอนอยู่แล้วว่า บริษัทเนี่ยจะต้องเปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น และจะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยคณะกรรมการบริหารบริษัท และสาเหตุที่ต้องเปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เพื่อให้มีการเข้าถึงข้อมูลนั้นอย่างเป็นระบบ และทัดเทียมกันโดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การที่มีข้อมูลแล้วออกมาเปิดเผยลักษณะนี้เนี่ย ผมคิดว่าจะบอกว่าไม่ผิดอะไรเลย คงเป็นไปไม่ได้”

“คิดดูสิ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เนี่ย มาร์เก็ตแคปของตลาดเท่ากับกี่เปอร์เซ็นต์ฮะ 40% ถึงมั้ย ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นหมายความว่า รมต.เข้าถึงข้อมูลได้อยู่แล้วจากบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสมมติ รมต.คิดอยากเอาข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเอาออกมาพูดผ่านสื่อเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นไปได้เหรอ เป็นไปไม่ได้ อย่างนั้นกฎ กติกาทั้งหมดที่มีไว้ ก็ไม่มีประโยชน์ (ถาม-คุณจักรภพ อ้างได้มั้ยว่า ที่ผมพูดนี่ ต้องการให้มีการตรวจสอบ นี่ผมปกป้องผู้ถือหุ้นนะ?) ไม่ได้ เขามีกฎระเบียบชัดเจนว่า การเปิดเผยข้อมูลเนี่ย เพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย จะต้องเปิดเผยอย่างไร จะต้องเปิดเผยโดยใคร คุณจักรภพพูดอย่างนั้นไม่ได้แน่นอน สมมติว่า วันนี้ รมต.พลังงานออกมาบอกว่า โอ้โห! ผมไปเห็นแล้วข้อมูลผลกำไร ปตท.เดือน มี.ค.เนี่ย เจ๋งเลย อย่างนี้ ได้มั้ยล่ะ? คำตอบง่ายๆ คือไม่ได้”


ขณะที่ อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีกรณีที่นายจักรภพสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคลื่นวิทยุคืน 5 สถานี ว่า ถ้าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าต้องการทำเพื่อปิดปากรายการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ทำเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ก็ทำได้ แต่ถ้าคลื่นใดยังไม่หมดสัญญา ไม่สามารถยึดคืนได้ อย่างไรก็ตาม อ.อนุสรณ์ มองว่า จากการให้สัมภาษณ์ของนายจักรภพสะท้อนว่าต้องการยึดคลื่นวิทยุคืนเพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากกว่า

อ.อนุสรณ์ ยังแนะให้สื่อและประชาชนช่วยกันจับตาด้วยว่า เมื่อ นายจักรภพ สั่งให้กรมประชาฯ ยึดคลื่นวิทยุคืนแล้ว จะมีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ หรือไม่ คือเจ้าของคลื่นต้องห้ามผู้ใดมาเช่าช่วงต่อ ดังนั้น ต้องติดตามว่า รัฐมนตรีจะนำคลื่นไปให้ใครเข้ามาทำหรือไม่ จะมีการแบ่งเค้กเหมือนกับที่แบ่งเค้กช่อง 11 อีกหรือไม่ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ยังกำหนดว่า สื่อสาธารณะประเภทที่ 1 (สื่อเกี่ยวกับการศึกษา-เทคโนโลยี)และประเภทที่ 3 (สื่อที่สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน) ซึ่งวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11 หรือเอ็นบีที) จัดอยู่ในข่ายดังกล่าว จะต้องห้ามมีการโฆษณาสินค้า จะโฆษณาได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นการโฆษณาในเชิงภาพลักษณ์เท่านั้น
อ.อนุสรณ์ ยังชี้ถึงความพยายามควบคุม-ครอบงำสื่อของรัฐบาลนี้ ที่กำลังส่งสัญญาณเลวร้ายให้กลับมาอีกครั้ง

“ผมคิดว่า รัฐบาลชุดนี้ เขาได้แสดงสัญญาณที่ชัดเจนก่อนที่จะมาแถลงนโยบายด้วยซ้ำไป คุณจักรภพ เนี่ยว่า ยังไงเขาก็คงจะทนไม่ได้ที่จะให้คลื่นเนี่ยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของเขา เราจะเห็นว่า พอเขาเข้ามาปุ๊บเนี่ย ไทยพีบีเอสจะเป็นเป้าแรกเลย จะแก้กฎหมายทำโน่นทำนี่ พอทำไม่ได้ ก็ถอยๆๆ สุดท้ายก็ถอยไปอยู่ที่ช่อง 11 รวมทั้งในเรื่องของ อสมท ซึ่งตามกฎหมายเนี่ย รมต.ประจำสำนักนายกฯ เนี่ยเป็นคนที่ควบคุมดูแลอยู่ แต่ในปัจจุบัน ก็ปรากฏว่า ผอ.อสมท (วสันต์ ภัยหลีกลี้)ไม่ใช่เป็นนอมินีของจักรภพ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องหาคนของเขาเพื่อจะทำการควบคุมดูแลสื่อ ซึ่งอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้ตำแหน่งของ ผอ.อสมท สั่นคลอน เขาก็ต้องพยายามทุกวิถีทาง แต่การพูดที่ไม่คิดหน้าคิดหลังเนี่ย ก็ก่อให้เกิดผลกระทบกับกรณีตลาดหลักทรัพย์ เพราะจริงๆ แล้ว อสมท เองเนี่ยมันไม่ได้เป็นลักษณะเหมือนกรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้การดูแล 100% ของ รมต.แต่ อสมท นั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์เข้ามากำกับ เพราะฉะนั้นจะพูดอะไรก็แล้วแต่ มันย่อมมีผลกระทบกับเรื่องของหุ้นแน่นอน”

“(ถาม-แม้ คุณจักรภพ จะส่งสัญญาณปลด ผอ อสมท และพูดเรื่อง อสมท ขาดทุน 27 ล้าน ซึ่งอาจผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครทำอะไรมั้ย เพราะ ผจก.ตลาดหลักทรัพย์ (ภัทรียา เบญจพลชัย) และเลขาธิการ ก.ล.ต.(ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) ก็ออกมาป้อง?) นี่คือ สิ่งที่ผมรู้สึกว่า ประเทศนี้นี่มันมีอะไรที่มันแปลกๆ ใครที่ควรจะมีหน้าที่ที่จะทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย มันไม่ทำงานกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า บรรยากาศเก่าๆ ในยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณเนี่ย มันได้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ข้าราชการประจำตามหน่วยงานต่างๆ อะไรที่จะไปแตะต้องรัฐบาล ไปแตะต้องผู้ที่มีอำนาจเนี่ย มักจะหลีกเลี่ยงเสมอ ตั้งแต่อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งเราจะเห็นในอดีตที่ผ่านมามักจะเป็นเช่นนั้น นี่คือสัญญาณที่เลวร้ายมันเริ่มส่งมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว”


อ.อนุสรณ์ ยังมองกรณีที่โทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีปิดตัวก่อนหน้าที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีหรือช่อง 11 เดิมจะเปิดตัวแค่ 1 วัน ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า พีทีวีเป็นสื่อเทียมที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ ดังนั้น เมื่อภารกิจสำเร็จแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป จึงไม่แปลกที่จะปิดตัวลง ซึ่งเชื่อว่า รัฐบาลนี้คงจะไม่ทิ้งคนพีทีวีที่สู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มาอย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลคงต้องหาที่ใหม่เพื่อคนเหล่านี้มีรายได้โดยไม่ต้องลงทุน นั่นก็คือ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และวิทยุ 5 คลื่นที่ยึดคืนมา!!

* หมายเหตุ * - แม้ รมต.จักรภพ จะเริ่มถอยฉาก โดยอ้างว่า ตนไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอรายชื่อบอร์ด อสมท ที่ว่างลง 9 คน แต่เริ่มมีข่าวแล้วว่า นักวิชาการบางคนแถวท่าพระจันทร์ ที่เคยขึ้นเวที นปก.และเป็นบุคคลที่นายจักรภพอยากให้มาเป็นโฆษกรัฐบาลแทนตนก่อนหน้านี้ อาจมีชื่อได้เป็นบอร์ด อสมท เร็วๆ นี้







กำลังโหลดความคิดเห็น