xs
xsm
sm
md
lg

อินไซด์ 30% ฟันกำไรบาทเลี้ยบขออุ้มธาริษา 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมอเลี๊ยบ" ขึงขังยังไม่ปลด "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ ยันยังเข้าขากันดี ปัดตอบ "ธีระชัย" เหมาะสมกว่า "ธาริษา" แบงก์ชาติหวัง พ.ร.บ.ธปท.ช่วยคุมบาทได้ผลดีขึ้น ขณะที่บาทวานนี้ถูกแทรกแซงจนอ่อนค่าที่ 31.60 เอกชนจวกยับเลิก 30% ไร้มาตรการควบคุม เชื่อมีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) รวยค่าเงิน เหตุ 7 วัน บาทแข็งค่า 5% แถมออกมาตรการทีหลัง-ไร้ผล ให้เวลา 1 สัปดาห์หากบาทยังแข็งกว่าภูมิภาค รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการและต้องเป็นยาแรง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดปลดนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตามการที่จะบอกว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คงบอกไม่ได้ แต่ขอเรียนว่าในระยะเวลาช่วงประมาณ 3-4 เดือนนี้ จะมีงานที่จะต้องประสานกันเรื่องการเงินการคลัง ตนยังมีความมั่นใจว่าการทำงานกับผู้ว่าฯธปท. สามารถทำได้ในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่มีเหตุใดๆ

"ในช่วงที่ผ่านมาตลอด 2 สัปดาห์ ภายหลังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าฯ ธปท.ในเรื่องมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ท่านผู้ว่าฯ ธปท.และผมเองมีแนวคิดแบบเดียวกันคือว่า ได้เวลาแล้วที่จะต้องมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับเมื่อมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง ดังนั้นการทำงานก็เป็นไปในรูปแบบที่มีการประสานสอดคล้องระหว่างนโยบายทางด้านการเงินและการคลัง จึงไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีการปลดผู้ว่าฯ ธปท.ในขณะนี้เลย" นพ.สุรพงษ์กล่าว

ส่วนกระแสข่าวนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะได้เข้านั่งในตำแหน่งดังกล่าว นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การคาดการณ์ว่าจะมีใครเข้าไปทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ธปท. เป็นเพียงการคาดการณ์จากผู้ที่อยู่วงนอก ซึ่งอาจจะผิดจากข้อมูลที่ตนมีอยู่ และการตัดสินใจว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็เป็นอำนาจของ รมว.คลัง ที่จะต้องเสนอต่อ ครม. ดังนั้นผู้ที่คาดการณ์อาจจะคาดการณ์ได้โดยที่ไม่สามารถกดดันใครได้ แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของ รมว.คลัง

เมื่อถามว่า หากผู้ที่ต้องการนั่งในตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.แทนนางธาริษา แสดงว่าเตรียมวืดได้เลยใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการดำรงตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นความต้องการการก้าวหน้าของทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องพิสูจน์ด้วยฝีมือในการทำงาน และขณะเดียวกัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เมื่อทำงานมีประสิทธิภาพสามารถที่จะทำให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าไปได้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดการหวั่นไหว และเป็นปัญหาในการทำงาน

เมื่อถามว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าฯธปท.จำเป็นต้องส่งสัญญาณก่อนหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งใดๆ ส่วนใหญ่จะมีที่มาที่ไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพหรือเรื่องการถูกกล่าวหา มันจะมีข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งมาถึงผู้บังคับบัญชาก่อนหน้านี้ จึงไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจใด ๆ จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ขอเรียนว่าในหลาย ๆ ส่วนที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่มีการประเมินผลการทำงานหรือการถูกกล่าวหาไว้ก่อนทั้งสิ้น

นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่า ไม่เคยถูกกดดันและก็ไม่มีใครสามารถกดดันได้ การที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต้องเกิดขึ้นจากการที่การทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชามีปัญหาจริง ๆ ตนเองมีความประสงค์ให้การทำงานร่วมกันระหว่างตนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ถ้าหากการทำงานมีปัญหาน่าจะขบคิดร่วมกันแก้ปัญหาก่อนเมื่อแก้ไม่ได้จริงๆ จึงจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล วันนี้ยังไม่เจอปัญหาในลักษณะที่ว่าการทำงานไม่สามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้

นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า ไม่มีการหารือมาตรการ 30% กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ตั้งใจไว้ว่า จะยังไม่ไปพบ และไม่นำเรื่องนี้ไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะว่าหากนำไปหารือเกรงว่าจะกลายไปเป็นประเด็นการเมือง และจะกลายไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รู้ข้อมูล คงรอให้ผลของมาตราการ 30% ยกเลิกชัดเจนก่อนก็จะเข้าพบ

“ผมไม่ได้ไปพบหรือคุยทางโทรศัพท์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนี้เลย ให้เข้าเครื่องจับเท็จก็ได้” รมว.คลังกล่าวและว่า การขอคำปรึกษาจากพ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการขอให้เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เชื่อว่าหากพ.ต.ท.ทักษิณ จะให้คำปรึกษาอาจจะเป็นการแนะนำ เช่น การเขียนบทความลงในเวปไซต์ เป็นต้น โดยตนอาจจะนำความเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งมาประกอบการตัดสินใจหรือปรับใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากนักวิชาการ หรือข้อมูลจากตลาดทุน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ดี หรืออาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ธปท.เผยภาวะบาทหลังล้ม 30 %

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินทุนสำรองระยะสั้น ปรากฏว่าวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันขยับตัวอยู่ที่ระดับ 50-60 สตางค์ หลังยกเลิกมาตรการแล้ว ซึ่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีทั้งซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มสมดุลมากขึ้น และหากพิจารณาค่าเงินบาทระหว่างเงินบาทในประเทศ(ออน-ชอร์)และตลาดเงินบาทในต่างประเทศ(ออฟ-ชอร์)เริ่มเข้าหากันแล้ว ซึ่งห่างกันเพียง 52-55 สตางค์เท่านั้น

ขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ได้รับจากพันธบัตรลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อประกาศยกเลิกมาตรการนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ช่วยสนับสนุนให้กระทรวงการคลังและภาคเอกชนสามารถออกตราสารหนี้ระดมทุนได้โดยไม่ต้องรอให้ธปท.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ประกอบกับคลังออกมาตรการเสริมมาช่วยสนับสนุนหลังจากยกเลิกมาตรการนี้แล้ว เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนให้มีมากขึ้น

ลุ้น พ.ร.บ.ช่วยแบงก์ชาติคุมบาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พ.ร.บ.ธปท.ได้มีการลงนามราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีบังคับใช้ในวันนี้ (4 มี.ค.) โดยเชื่อว่ากฎหมายการเงินฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธปท.และคลังสามารถมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องและการดูแลค่าเงินบาทที่ดีขึ้น โดยธปท.สามารถรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์และจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในแง่การดูแลสภาพคล่องโดยไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรและกระทบผลตอบแทนพันธบัตรด้วย รวมทั้งไม่ต้องขอวงเงินออกพันธบัตรจากกระทรวงการคลัง ซึ่งส่วนนี้เมื่อมีข่าวออกมากระทบใดๆ พร้อมทั้งส่งผลให้ต่อไปธปท.มีความอิสระในการใช้เครื่องมือด้วยจากการลงทุนที่มีขอบเขตกว้างขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) ธปท.มีการเชิญเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 14.00-16.30 น. ประมาณ 200 คน โดยนางสุชาดา กล่าวว่าในการเชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์มา เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงเหตุผล รวมถึงการปฏิบัติต่างๆ หลังจากยกเลิกมาตรการนี้ โดยพบว่ามีเงินทุนไหลเข้าทั้งสิ้น 1,200 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนนี้โดนกั้นสำรอง30% คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 300-400 ล้านเหรียญ ซึ่งธปท.จะมีการคืนเงินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่วิธีป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedge) มีวงเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งอายุสัญญาสูงสุดจะมีอายุถึงปี 52 และส่วนใหญ่จะทยอยขอเงินคืน จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวเงินบาท ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอรับเงินคืนจากการกันสำรองและวิธีป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวนจะขอผ่านธนาคารพาณิชย์มายัง ธปท. ซึ่งธปท.จะพิจารณาภายใน 15 วัน

สำหรับประเด็นที่ ธปท.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ละเว้นการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ เพื่อบริหารฐานะเงินตราต่างประเทศในลักษณะการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อให้ค่าเงินบาทผันผวนจนเกินไป และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาครัฐที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรการดังกล่าวนั้น นางสุชาดา กล่าวว่า ยืนยันว่าการออกประกาศฉบับนี้ไม่ได้ออกมา เพราะพบว่ามีธนาคารพาณิชย์รายใดทำธุรกรรมในลักษณะการเก็งกำไรของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด แต่เพราะเห็นว่าเป็นช่วงปรับเปลี่ยนอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าออกอาจมีทั้งซื้อและขาย ธปท.จึงออกประกาศนี้ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันมีความสมูทมากขึ้น

แบงก์ยิ้มไม่กระทบลูกค้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % ของ ธปท.นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าผู้ส่งออกของธนาคารแต่อย่างใดเนื่องจากลูกค้าได้ทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าแลกกับเงินบาท (ฟอร์เวิร์ด) ไว้แล้ว แม้ว่าค่าเงินวานนี้ (3 มี.ค.) จะยังคงแกว่งตัวอยู่ แต่เชื่อว่าจะใช้เวลา 1-2 วันจะเริ่มทรงตัว ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ นั้นน่าจะดีขึ้นเนื่องจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับมาตรการกันสำรอง 30%

ด้าน นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ รองกรรมการผู้จัดการ สายบริหารเงิน ธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ ACL กล่าวว่า การยกเลิกมาตการดังกล่าวนั้นไม่ได้ส่งผลกับลูกค้ามากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งค่าเงินที่ยังแกว่งตัวจะเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวในอีกระยะ และมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวลงได้อีกเล็กน้อย

ธปท.แทรกแซงบาทอ่อนค่าที่ 31.60

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า วานนี้ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.60-31.62 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาด 31.50-31.52 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าสุดวันนี้อยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.68 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง ธปท.ได้เข้ามาแทรกแซง ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทวันนี้ (4 มี.ค.) จะยังคงผันผวน เนื่องจากยังมีธุรกรรมซื้อขายบาทเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังคงรอมาตรการที่ชัดเจนของ ธปท.ที่จะออกมาเพิ่มเติม

เอกชนจวกยับ-แนะควบคุมเก็งกำไร

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย ส.อ.ท.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย หรือกกร.เปิดเผยหลังการหารือ วานนี้ (3 มี.ค.) ว่า กกร.ได้หารือถึงผลกระทบของมาตรการยกเลิกกันสำรอง 30% ของ ธปท.ที่มีผลวันที่ 3 มี.ค.ว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเกรงว่าการยกเลิกจะมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมาตรการที่รัฐออกมานั้นคงไม่สามารถดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้ โดยเฉพาะส่วนที่จะเข้ามาเก็งกำไร ดังนั้นจึงขอติดตามภาวะค่าเงินบาทอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนว่าจะออกมาในลักษณะใดซึ่งหากเห็นว่าการยกเลิก 30% ไม่สามารถดูแลความผันผวนของค่าบาทให้สะท้อนตามภูมิภาคได้เอกชนคงจะประชุมด่วนเพื่อเสนอให้รัฐควรทบทวนมาตรการหรือหามาตรการมาดูแลที่เป็นยาแรง

“มาตรการ 30 % เมื่อออกมายอมรับว่าทำให้ค่าเงินบาทของไทยผันผวนลดลงระดับหนึ่ง โดยปี 2550 เฉลี่ยบาทแข็งค่าขึ้นมา 7-8% แต่พอรัฐบอกจะยกเลิก 30% บาทแข็งค่าทันทีสัปดาห์เดียว 5% แล้ว เอกชนมองว่าถ้ามีเงินเข้ามาเก็งกำไรจะยิ่งทำให้บาทแข็งและผันผวนเพราะดอกเบี้ยของไทยเองก็ยังไม่ได้ลดลงซึ่งที่หารือกันผู้ส่งออกไม่ได้ต้องการให้บาทคงที่แต่ทำอย่างไรไม่ให้ผันผวนและแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน”นายสันติ กล่าว

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือที่อิงประโยชน์ทุกฝ่ายมิใช่เฉพาะเพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้นและสิ่งที่เอกชนเรียกร้องปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าไม่ใช่การตรึงค่าเงินบาทไว้ให้คงที่แต่ขอให้สะท้อนภูมิภาคซึ่งสิ่งที่เรียกร้องคือการแข็งค่าขึ้นนั้นเกิดจากการเก็งกำไร รัฐบาลควรจะมีมาตรการจัดการซึ่งภาครัฐก็ทราบข้อมูลอยู่แล้วเพราะส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่การซื้อขายตลาดพันธบัตร ขณะที่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการยกเว้นมาตรการ 30% อยู่แล้ว

“เมื่อมีข่าวจะยกเลิกก็มีการขายดอลล์ทำกำไรอย่างรวดเร็วทำให้ค่าเงินขณะนี้แข็งขึ้นมากอีก เรายังไม่เห็นว่าจะมีมาตรการใดมาทดแทนหลังการยกเลิกเพราะมาตรการที่ออกมารองรับนั้นมีข้อจำกัดที่ควรจะเป็นมาตรการระยะกลางและยาวมากกว่าจะเป็นระยะสั้นที่จะมาดูแลความผันผวนได้ ดังนั้นระยะสั้นนี้หากการยกเลิกไม่ได้ดูแลความผันผวนได้ควรจะรีบทบทวน”นายธวัชชัย กล่าว

สัปดาห์เดียวบาทแข็งค่า 5 %

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนไม่ได้ต้องการว่าจะให้บาทอยู่ที่เท่าใดขอเพียงอย่าให้แข็งไปกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า 2 ปีที่ผ่านมาบาทไทยแข็งไประดับ 18% ขณะที่อาเซียนแข็งไปเพียง 9% เท่ากับเราเสียเปรียบเขาครึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อธปท.ออกมาตรการ 30% ปัญหาเริ่มดีขึ้นแต่เมื่อยกเลิกสัปดาห์เดียวบาทแข็งไปถึง 5% เท่ากับผู้ส่งออกขายสินค้า 100 บาทขาดทุนไปทันที 5 บาทแล้วคิดถึงส่งออกภาพรวมจะสูญเสียมากมายขนาดไหน

“ผู้ผลิตหยุดไม่ได้นะวันนี้อย่างออร์เดอร์ที่รับมาคิดว่า 1 เหรียญเราจะได้รับ 33 บาทก็ได้แค่ 31 บาทกว่าๆ เราหายไป 5% คิดดู 100 ล้านบาทเราหายไป 5 ล้านบาทแล้ว ออร์เดอร์ที่จะคุยใหม่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรคุณคิดดูว่าถ้าเราขอขึ้นราคาเขาบอกว่าบาทเราแข็งเขาง้อหรือวันนี้คู่แข่งมีมากมายที่จะขายต่ำกว่าเราผู้ผลิตส่งออกก็ต้องขายเท่าเดิมทั้งที่เริ่มขาดทุนแล้วจะมากน้อยก็ว่ากันไปแต่ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้หนักเข้าไม่ต้องบอกนะว่าจะเป็นยังไง”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เชื่อรีบเลิก 30 % มีอินไซเดอร์

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กกร. กล่าวว่า มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตของการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ว่าเหตุใด ธปท.จึงประกาศยกเลิกก่อนทั้งที่มาตรการที่ออกมารองรับเหล่านั้นเป็นมาตรการเก่าที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีการหารือกับ ธปท.อย่างไม่เป็นทางการของ กกร.ก่อนหน้านี้ ธปท.ระบุให้เอกชนคอยติดตามมาตรการที่จะออกมาดูแลความผันผวนที่จะมีเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 4 มี.ค. จึงเห็นว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมธปท.จึงไม่ประกาศมาตรการรองรับก่อนแล้วค่อยยกเลิก 30%

“เราเห็นว่าธปท.คงจะต้องใช้เงินในการดูแลค่าเงินบาทขณะนี้มากกว่าที่ผ่านมาแน่นอนเมื่อยกเลิก 30% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด”แหล่งข่าว กล่าวและว่า หากสังเกตพฤติกรรมผู้บริหาร ธปท.และกระทรวงการคลังที่ยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกมาตรการ 30% ในช่วงนี้ กับการแข็งค่า 5% ภายใน 1 สัปดาห์ แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) ไปใช้ในการเก็งกำไรค่าเงินบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้ กกร.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเข้าพบโดยจะมีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเสนอรวมไปถึงปัญหาค่าเงินบาทโดยจะขอดูความชัดเจนของทิศทางอีกครั้งหนึ่ง ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น ความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดหาพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ฯลฯ

ตลท.จี้ ธปท.คุมเงินบาทให้นิ่ง

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่คนในวงการตลาดทุนยอมรับ ซึ่งหลังจากนี้การดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพขึ้นอยู่กับนโยบายของ ธปท.ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการรองรับในเรื่องการอนุมัติวงเงินเพิ่มทุนให้นักลงทุนสามารถไปลงทุนยังต่างประเทศได้มากขึ้นรวมถึงอำนวยความสะดวกให้ขออนุมัติผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แทนการขออนุมัติจาก ธปท.ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยในระยะสั้นหลังการออกมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนจะเข้าสู่จุดสมดุลในท้ายที่สุด

"ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้นหลังการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ต่อจากนี้คงต้องดูนโยบายของแบงก์ชาติว่าจะดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้อย่างไร โดยช่วงแรกค่าเงินคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนจะเข้าสู่จุดสมดุล" นายปกรณ์ กล่าว

เลิก 30% ส่งผลดีอสังหาฯ ระยะยาว

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม โซเคอิ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มสหพัฒน์ฯ กับนักลงทุนญี่ปุ่น กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการ 30% ว่า ในระยะยาวจะส่งผลดีให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา ส่วนในระยะแรกไม่น่าจะมีผลชัดเจนต่อการเคลื่อนย้ายของเงินจากนอกประเทศ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม การยกเลิก 30% จะทำให้ลูกค้าต่างชาติรายย่อยตัดสินซื้อที่อยู่อาศัยนั้น คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 หรือประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีเป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น